นิทรรศการกลุ่ม โดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล, กฤตภัทร์ ฐานสันโดษ, วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ, และรุ่งเรือง สิทธิฤกษ์

ภัณฑารักษ์ อริญชย์ รุ่งแจ้ง

จัดแสดงที่ The Jim Thompson Art Center

ถึงวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566

  • นิทรรศการ UNCOUNT-ABLE TIME เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Future Project ดำเนินการโดยหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอกลุ่มผลงานศิลปะ ร่วมสมัยที่มีความหลากหลายภายใต้บริบทของสงครามเย็นในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอื่นๆ จากมุมมองของศิลปินชาวไทยและนานาชาติ ตลอดจนการนำเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเป็นจริงในระดับท้องถิ่นและระดับสากลโลก
  • บทความนี้มีการเรียบเรียงข้อมูลจากงานเสวนา “Whatever is broken can be fixed and can be even more beautiful” ที่ขึ้นจัดโดย The Jim Thompson Art Center เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566

หาก “เวลาที่นับได้” คือ สิ่งพึงประสงค์ที่ถูกเลือกให้ประทับลงบนความทรงจำร่วมของผู้คน จนกลายเป็นสิ่งที่สามารถจำแนกประเภทได้ ดั่งเช่น ตัวเลขวันสำคัญบนปฏิทิน เรื่องราวในพงศาวดาร หรือเนื้อหาบนตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้ว เรื่องราวของผู้คนชายขอบ การอุ้มหาย และประวัติศาสตร์ที่ต้องการจะให้ถูกลืม ก็คงจะเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ที่ถูกปฏิเสธจากการบันทึกลงไปในสารบบของสายธารกระแสหลัก หรือ “เวลาที่นับไม่ได้”

นิทรรศการ UNCOUNT-ABLE TIME เวลาที่นับไม่ได้ นิทรรศการกลุ่มโดยสี่ศิลปินไทย ภายใต้แนวคิด “Duration” ที่แสดงให้เห็นถึงอีกแง่มุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจดบันทึก แต่ยังรวมไปถึงความทรงจำส่วนตัวที่ความเจ็บปวดได้ฝังไว้ในจิตสำนึกของผู้ถูกกระทำ รวมถึงความรู้สึกด้านลบทั้งหลาย ที่ผุดขึ้นมาฉับพลันจากส่วนลึกของความทรงจำ ณ ขณะใดก็ตามที่ถูกกระตุ้น โดยไม่สอดคล้องไปกับการไหลของเวลาที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต ปัจจุบัน หรือ อนาคต แต่อยู่ในจิตสำนึกของผู้คน

“แนวคิด Duration ของอ็องรี แบร์กซอน (Henri Bergson) นักปรัชญาและนักเขียนชาวฝรั่งเศส แสดงให้เห็นว่าศิลปินพยายามนำเสนอแนวคิด ความเข้าใจเรื่องเวลามาโดยตลอด เพื่อทำให้ตนเองและผู้ชมมีทางเลือกในการพิจารณา มองเห็นความเป็นจริงที่มันแตกต่างกันออกไป เกิดทางเลือกที่จะตัดสินใจว่าอนาคตควรจะต้องเป็นอย่างไร ทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ควรจะต้องถูกแช่แข็ง ทำให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และทำให้เรื่องธรรมดาสามารถกลายเป็นเรื่องโรแมนติก” – อริญชย์ รุ่งแจ้ง ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ

ผลงานทั้งสามชุดภายในนิทรรศการมีความเชื่อมโยงกันในแง่ของการใช้ TIME-BASED MEDIA หรือ งานศิลปะที่มี “เวลา” เป็นส่วนประกอบพื้นฐานของกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน โดยมีต้นแบบมาจากนิทรรศการ Les Immatériaux จัดแสดงที่ the Centre Pompidou Paris ในปี 1985 โดยมี Jean François Lyotard นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเป็นภัณฑารักษ์ ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของวิธีคิดและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบ TIME-BASED MEDIA นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงมุมมองและวิธีคิดของมนุษย์

เมื่อเราเข้าไปในนิทรรศการ จะพบกับผลงานของนนทวัฒน์ นำเบญจพล และ กฤตภัทร์ ฐานสันโดษ กับการตั้งคำถามถึงอิทธิพลของสงครามเย็นที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการหยิบยกประเด็น “ต้องห้าม” ขึ้นมาพูดถึงกันอย่างเปิดเผยท่ามกลางกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่สืบค้นประเด็นของกลุ่มอำนาจหลังคณะราษฏรที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นปี 2490 ตลอดจนปรากฏการณ์เกี่ยวเนื่อง และความสงสัยใครรู้ในความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ศิลปินทั้งสองนำเสนอผลงานในชื่อ A chip off the old black (2023) มีลักษณะเป็นผลงานวิดีโอบนจอโทรทัศน์สามชิ้น ที่บังคับให้ผู้ชมต้องหันหน้าเข้าหาวิดีโอนี้ ผู้ชมได้เข้าไปเป็นพยานร่วมฟังบทสนทนาระหว่างบุคคลทั้งสาม ที่อยู่ในตำแหน่งหน้าจอของตัวเอง ผลัดกันเล่าเรื่องของบุคคลอันเป็นที่รักที่หายตัวไป ภาพขาวดำค่อยๆ เปลี่ยนไประหว่างฉากเต็มตัวและครึ่งตัว ใบหน้าที่เป็นภาพบุคคล เน้นให้เห็นความทรงจำที่แยกจากและเชื่อมต่อกันเป็นช่วงๆ ทำให้เห็นความปวดร้าว และความเจ็บปวด ที่ พวกเขาต่างแบ่งปัน ถักทอความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิด ถึงภาพความฝันทางการเมืองและอนาคตของประเทศ

ในพื้นที่สี่เหลี่ยมที่ความทรงจำของผู้ถูกสัมภาษณ์ค่อยๆ ถูกรวบรวมให้กลับมาไว้ ณ ที่เดียวกัน ขณะที่หญิงสาวกำลังพูดถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย อันเป็นผลมาจากการเข้าร่วมสนับสนุนการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ร่างกายที่อยู่ไม่สุขของเธอยังคงแสดงให้เห็นถึงพลังของการพยายามที่จะจดจำและหลงลืมความเจ็บปวด กลายเป็นภาชนะที่ถูกแย่งชิงไปจากพวกเขาและคนที่พวกเขารัก ขณะที่พวกเขาจมจ่ออยู่กับอดีตที่เจ็บปวด และเป็นพลังแห่งความพยายามที่จะค้นหาทางออกให้กับความจริงที่เกิดขึ้นกับเธอ

ถัดมาคือผลงาน Another depth (2021) ของวิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ นำเสนอภาพถ่ายขาว-ดำโดยการใช้เทคนิคเจลาติน ซิลเวอร์ปรินต์ (Gelatin Silver Print) ในการล้างอัดภาพ ถูกติดตั้งไว้ให้อยู่เหนือระดับสายตา องค์ประกอบของมุมกล้องแสดงความเป็นกระจกเงาของผืนน้ำ กำลังสะท้อนภาพของพืชพรรณตามธรรมชาติที่โผล่พ้นเหนือผิวน้ำที่นิ่งสงบ ภาพถ่ายของสิ่งธรรมดาสามัญที่เราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันที่ไร้ซึ่งความหมายหรือคุณค่าใดๆ นี้ มิได้ถูกนำเสนอในแง่ของตัวแทนการมีอยู่ของความจริง หรือสะท้อนความเป็นภาพจำลองของวัตถุที่ไม่สามารถจับ แต่เป็นการสะท้อนจิตสำนึกของศิลปิน อันเต็มไปด้วยความคลุมเครือ

ศิลปินสร้างสถานการณ์ให้ผู้ชมต้องเผชิญกับการจ้องมองสิ่งที่ไม่มีความหมายคล้ายกำลังตกอยู่ในห้วงของฝันกลางวัน ราวกับเวลานั้นได้หยุดชะงักลง ภาพเสมือนที่ได้แปลงสถานะภาพถ่ายของสิ่งไร้ค่าให้กลับกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของการค้นหาสาระทั้งมวล เช่นเดียวกับภาพถ่ายอื่นๆ ที่ถูกทำซ้ำให้อยู่ในบริบทเดียวกัน เกิดเป็นโครงสร้างเครือข่าย ประหนึ่งแสงของดาวฤกษ์ท่ามกลางระบบสุริยะ ที่ความมืดและแสงสว่างสลับสับเปลี่ยนกันทำหน้าที่ขับเน้นตัวตนที่ไร้ความหมายซึ่งกันและกันอย่างเป็นอิสระ ไร้ซึ่งการขีดเขียน กดทับจากกรอบระเบียบใดๆ

สุดท้าย รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ ศิลปินจากจังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอ TO AND FRO (2023) ประกอบไปด้วยผลงานหลากหลายเทคนิค ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม วิดีโอ และศิลปะจัดวาง บอกเล่าความทรงจำร่วมของผู้คนผ่านการถอดรื้อประวัติศาสตร์ของพื้นที่บ้านเกิดและเส้นทางของถนนโชตนา ถนนเพียงเส้นเดียวที่เชื่อมต่ออำเภอฝางสู่เมืองเชียงใหม่

ผลงานวิดีโอของรุ่งเรือง แสดงภาพของทิวทัศน์ระหว่างการเดินทางจากชนบทสู่เมืองหลวง บรรยายด้วยสำเนียงคำเมือง (ภาษาเหนือ) ของน้าชายกำลังเล่าย้อนถึงความทรงจำเมื่อครั้งที่ตนยังคงประกอบอาชีพคนขับรถบรรทุกขนส่งผลไม้ตามทางหลวงสายกรุงเทพ-ภาคเหนือ สลับกับภาพสแนปชอร์ตตัวบุคคลและสิ่งของ ภาพมวลคลื่นนามธรรมที่เรนเดอร์แบบดิจิตอล ภาพทั้งหลายนี้ถูกตัดสลับกับภาพของศิลปิน ซึ่งกำลังใช้กระดาษและแท่งถ่านทำการ rubbing คัดลอกพื้นผิวของวัตถุตามสถานที่ต่างๆ ระหว่างการเดินทางบนถนนโชตนา

เนื้อหาภายในวิดีโอค่อยๆ เผยให้เห็นภูมิหลังของผู้เล่า ศิลปิน รวมไปถึงผู้คนในชุมชนที่ต้องเดินทางย้ายถิ่นฐานเข้าไปแสวงโชคลาภในกรุงเทพฯ พร้อมกับเสียงของผู้หญิงกำลังบอกเล่าพงศาวดาร เมืองฝาง คล้ายกับสารคดีประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับเรื่องราวของนโยบายการสร้างถนนหลวงของคณะราษฎรในปี 2490 เพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น พร้อมกับการพัฒนาเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศ ถนนถนนหลวงเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนกับเส้นเลือดใหญ่ที่คอยลำเอียง เม็ดเลือดแดงไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย

อีกหนึ่งชิ้นงานที่น่าสนใจคือ ประติมากรรมอะลูมิเนียมต้นวาสนาจากชิ้นส่วนป้ายจราจรที่ถูกขัดจนเกิดผิวเงา รุ่งเรืองสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อระลึกถึงความทรงจำที่มีต่อแม่ของตน ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยปลูกต้นวาสนาไว้เพื่อเสริมดวงชะตาและโชคลาภ ทว่าด้วยการประกอบอาชีพเป็นแรงงานและปัญหาสุขภาพได้ทำให้ต้องจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร เหลือไว้เพียงอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่ตั้งตระหง่าเคียงข้างบ้านของครอบครัวที่ค่อยๆ ผุพังลงไปตามกาลเวลาเพียงท่านั้น

รุ่งเรืองแสดงความอุตสาหะจากการร้อยเรียงเศษเสี้ยวความทรงจำที่พร่าเลือนของผู้คนนับไม่ถ้วน ซึ่งวางรากฐานให้กับทางหลวงชนบทของประเทศแห่งนี้ ด้วยการผสานประวัติศาสตร์ของพื้นที่เข้ากับความทรงจำร่วมของผู้คน ซึ่งเต็มไปด้วยความปรารถนาและความใฝ่ฝันที่ออกเดินทางเพื่อแสวงหาหนทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดียิ่งขึ้น

“ดังเช่นที่เพลโตเคยกล่าวเอาไว้ว่า ‘การเขียนเป็นเหมือนยาพิษของความทรงจำ’ เห็นได้จากสิ่งที่คอยกดทับเราเอาไว้อยู่ตลอดเวลานั่นคือ การเขียนของรัฐ ที่สามารถทำให้ไม่มีตัวตนไปแบบกรณีของคุณที่ถูกอุ้มหาย ทำให้มีชีวิตคนคนหนึ่งกลับกลายไปเป็นอีกแบบหนึ่ง หรือทำให้ทุกๆ อย่างชัดเจนจนเราไม่มีเวลาที่จะกะพริบตา

“มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเล่าเรื่อง และศิลปะก็คือส่วนหนึ่งของการเล่าเรื่อง เมื่อเราเจอเรื่องที่ไม่สามารถเล่าได้ เราก็มักจะเจอหมุดที่คอยยึดความทรงจำเอาไว้ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่รัฐคอยควบคุมเราอยู่

“ทว่าอะไรที่มันก้าวข้ามไม่ได้และถูกกดเอาไว้ต่างหากที่เราควรจะพูดถึงมัน ศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันก็กำลังพูดถึงสิ่งนี้ จึงได้หยิบเอาความชอบธรรมของประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกเขียนมานำเสนอ โดยศิลปินก็คือคนที่ใช้งานศิลปะบอกเล่าเรื่องราวแทนการเขียนด้วยตัวอักษร แสดงให้เห็นว่าศิลปะนั้นสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐได้เช่นกัน” – อริญชย์ รุ่งแจ้ง