หากกล่าวถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 หลายคนคงจะนึกถึงการเกิดขึ้นของลัทธิทางศิลปะต่าง ๆ และผลงานศิลปะจากศิลปินที่มีชื่อชวนคุ้นหู ทั้ง Impression Sunrise โดย Claude Monet , The Starry Night โดย Vincent van Gogh ฯลฯ บริบททางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในโลกตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าต่างต้องการที่จะแสวงหาการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งไม่ยึดโยงอยู่กับองค์ความรู้หรือ กรอบทฤษฎีที่สถาบันศิลปะกระแสหลัก ณ ช่วงเวลานั้นยึดถือ พวกเขาได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกต่อต้านจากผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังคงมีมุมมองทางศิลปะแบบจารีตนิยมแต่ศิลปินเหล่านี้ก็ได้พิสูจน์ตนเองด้วยผลงานศิลปะอันน่าประทับใจจนเป็นที่ยอมรับในที่สุด ถือเป็นรุ่งอรุณของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern art) ยุคสมัยทางศิลปะในเวลาต่อมา

William-Adolphe Bouguereau จิตรกรชาวฝรั่งเศส ผู้ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวในตำนานปกรณัม ศาสนาในพระคัมภีร์ ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าปรัมปรา

อีกด้านหนึ่ง พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ศาสตร์ของการทำงานศิลปะตามขนบและมีแบบแผนที่เรียกว่า “ศิลปะตามหลักวิชา” (Academic art) ที่เคยรุ่งโรจน์มาตลอดตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ถูกลดทอนความสำคัญและกลับกลายเป็นศิลปะกระแสรอง ส่งผลให้ศิลปินในกลุ่มอะคาเดมิค เหล่านี้ถูกลืมเลือน ไม่ถูกพูดถึง และไม่ถูกบันทึกเรื่องราวของเขาลงในตำราวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างละเอียดเหมือนเช่นที่เหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าได้รับ

เรื่องราวดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ ศิลปินรุ่นใหม่ผู้จบการศึกษาปริญญาโทจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการกลับไปขุดคุ้ยเรื่องราวของศิลปินอะเคเดมิคที่ถูกลืมมานำเสนอใหม่ด้วยกระบวนการทางศิลปะในนิทรรศการ The Oblivion

ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ ศิลปิน

แนวคิดของนิทรรศการคืออะไร

ผมต้องการนำเสนอศิลปินที่มักจะไม่ถูกพูดถึงบนหน้าประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มักนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์ที่มีความสำคัญและถือเป็นจุดเปลี่ยนของช่วงเวลานั้นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและลัทธิของงานศิลปะในช่วงรอยต่อกรณีของนิทรรศการนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอศิลปินอะเคเดดมิคในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากผมมองว่าเรื่องราวของพวกเขาเป็นเหมือนกับรอยต่อไปสู่ศิลปินอีกยุคสมัยหนึ่งก็คือกลุ่มอินเพรสชั่นนิส (Impressionism)

โดยข้อมูลต่างๆที่นำมาใช้ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากสื่อ หนังสือ หรืออินเตอร์เนต งานศิลปกรรมต่างๆที่เราพบเห็น มาประกอบสร้างขึ้นมาใหม่เป็นงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบของภาพเสมือนจริง ภาพเหล่านี้มันไม่มีความสมบรูณ์ในตัวต้นแบบอยู่แล้ว ต้องอาศัยกระบวนการทางจิตรกรรมเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งภาพเหล่านี้ก็จะแฝงไปด้วยมุมมองของผมเอง ที่ชื่นชมในความยิ่งใหญ่ พยายามนำเสนอความสำคัญในตัวของของเขา

Emile Friant เป็นจิตรกรฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเริ่มต้นอาชีพด้านศิลปะตั้งแต่อายุยังน้อย และมีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานในรูปแบบ Naturalist เขาอายุเพียง 15 ปีเมื่อเขาจัดแสดงครั้งแรกที่ Salon des Amis des Arts ใน Nancy และถูกเรียกว่า “le petit Friant” หรือ “little Friant” ในวัย 16 ปีครึ่ง

มาค้นพบว่าตนเองชอบผลงานศิลปะอะคาเดมิคตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อได้มาเรียนที่ศิลปากร ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะ หนึ่งในนั้นก็คือพี่พัทธ์ (พัทธ์ ยิ่งเจริญ) ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้และชื่นชอบงานศิลปะด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาทำให้ผมได้รู้จักกับศิลปินจากสายอะเคาเดมิค ต่างๆ ที่ในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์มักจะไม่ค่อยกล่าวถึง

กระบวนการค้นคว้าเป็นอย่างไร

ส่วนหนึ่งผมได้มาจากการพูดคุยกับพี่พัทธ์ ประกอบกับความชอบสะสมข้อมูลต่างๆ เป็นเวลานาน เพราะผมเป็นคนชอบฟังบรรยาย ทุกอย่างคือข้อมูลพื้นฐานที่เรามีในหัว มีข้อมูลที่ผมต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตหรือจากหนังสือที่เราชอบซื้อเก็บสะสมไว้ ซึ่งมีมากพอสมควรเลย มากจนเราสามารถที่จะดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้

Sir Lawrence Alma-Tadema จิตรกรชาวดัตช์ ผู้ได้รับการฝึกฝนใน Royal Academy of Antwerp ในเบลเยี่ยม และไปประสบความสำเร็จในฐานะจิตรกรผู้มีชื่อเสียง จนได้รับการพระราชทานยศเป็นท่านเซอร์ โดยมีผลงานที่ชื่อเสียงอย่าง “The Roses of Heliogabalus”

เมื่อมีข้อมูลมากพอ เวลาทำงานเราจึงสามารถเลือกข้อมูลมาทำงานได้อย่างอิสระ

ใช่ครับ พอเรารู้จักเกี่ยวกับศิลปินคนนั้นมากเพียงพอ เราก็สามารถที่จะหยิบชิ้นส่วนเหล่านั้นมาเรียบเรียงใหม่ อย่างส่วนที่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมก็คือรูปภาพ พวกภาพถ่ายเก่าๆ หลายๆ ชิ้นเข้ามาประกอบกัน เพื่อให้ได้เป็นภาพที่สมบูรณ์ มีการหยิบยืมองค์ประกอบจากภาพพิมพ์ (engraving) ของเหล่าศิลปินในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่แปลกในสมัยนั้น

ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกชีวิตและผลงานศิลปินคนหนึ่งมานำเสนอ

ส่วนมากผมจะเลือกจากความมีเอกลักษณ์ในผลงาน ซึ่งทำให้เราเห็นความสามารถของเขาตรงนั้น ผมคิดว่านี่คือเกณฑ์สำคัญเลย ผมเคยไปดูงานของศิลปินในแกลเลอรีหรือมิวเซียมที่ต่างประเทศ งานของพวกเขาจะมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างที่ทำให้เราต้องเข้าไปโฟกัสกับมัน ถึงแม้ว่างานหลายๆ ชิ้นจะสวย แต่ว่าบางชิ้นก็ดึงดูดเรา บางชิ้นก็ไม่ ในความเหมือนที่มาจากยุคสมัยเดียวกัน เมื่อมองจากภาพรวมงานพวกนี้จะเหมือนกันทั้งหมดเลย แต่ในรายละเอียดของเทคนิคมักจะมีความต่างอยู่ ซึ่งมันคลิกกับผม ผมจึงใช้เกณฑ์ตรงนี้ในการคัดเลือก

John Singer Sargent ศิลปินชาวอเมริกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นจิตรกรภาพเหมือนในระดับแนวหน้าของโลก ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ด้วยความแม่นยำและการใช้ทีแปรงที่เด็ดขาดอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาเช่น “Madame X”

ก่อนที่จะทำนิทรรศการชุดนี้ คุณเคยได้ไปชมผมงานจริงๆ ของพวกเขามาก่อนบ้างแล้วหรือยัง
เคยครับ แต่ไม่ใช่ศิลปินในกลุ่มศตวรรษที่ 19 นี้ เป็นศิลปินอะเคดามิค จากช่วงศตวรรษอื่น ซึ่งพวกเขาจะมีอิทธิพลส่วนหนึ่งในเชิงแนวความคิดเสียมากกว่า อย่างเมื่อตอนผมไปที่ญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้ว ผมไปด้วยความชื่นชอบในตัวของ Caravaggio แต่พอผมไปเห็นผลงานจริง ผมรู้สึกเฉยๆ กับผลงานของเขา แต่กลับสนใจวิธีการเขียนรูปของ Jusepe de Ribera ที่หยิบยืมวิธีการเขียนรูปมาจาก Caravaggio มากกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จัก และด้วยตัวผลงานเอง ผมคิดว่ามันสามารถดึงดูดผมได้ดีกว่าผลงานของ Caravaggio เสียอีก

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศส ผมก็ไปเจองานของเขาอีก มันดีมาก แต่ผมไม่ได้หยิบเอาผลงานของเขามาทำในนิทรรศการครั้งนี้นะครับ เพราะว่าตัวศิลปินเอง เขาไม่ได้อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19

Adolph von Menzel ศิลปินแนวสัจนิยมชาวเยอรมัน ผู้มีชื่อเสียงในด้านของการทำงานวาดเส้น งานภาพพิมพ์ และงานจิตรกรรม เขาถือเป็นหนึ่งในศิลปินที่โด่งดังและประสบความสำเร็จมากที่สุดในศตวรรษที่ 19 ของเยอรมัน และได้รับยศอัศวินในปี 1898 แม้เขาจะเป็นที่ยอมรับและมีมิตรภาพที่ดีมากมายในสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเขานั้นมีความแปลกแยกต่อสังคมในด้านกายภาพ ด้วยขนาดศรีษะที่ใหญ่และส่วนสูงเพียง 4 ฟุต 6 นิ้ว

คิดว่าเสน่ห์ของศิลปินอะคาเดมิคคืออะไร

ผมคิดว่า เสน่ห์ตรงนี้คือจุดสูงสุดของการใช้ทักษะ ในช่วงศตวรรษที่ 19 มันยากมากๆ ถึงแม้ว่าศิลปินในยุคปัจจุบันจะเขียนรูป realistic ก็ตาม effect บางอย่างที่อยู่ในงานมันเทียบไม่ได้เลยกับงานในศตวรรษที่ 19 อาจจะด้วยกระบวนการต่างๆ การมีวัสดุอุปกรณ์ มีเดี่ยมต่างๆ (สื่อผสมสีน้ำมัน) ที่มันอำนวยความสะดวกให้กับศิลปินในยุคนี้ ให้สามารถเขียนภาพได้ด้วยความรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับศิลปินในยุคนั้นที่ต้องอาศัยกรรมวิธีต่างๆ ที่เป็นแบบแผน ค่อยๆเขียนรูปขึ้นมา และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในยุคนั้นก็ทำให้เหล่าศิลปินต้องมีความจริงจังในการทำงาน มากกว่าศิลปินในสมัยนี้ที่มีแนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายกว่าแต่ก่อน สามารถทำงานร่วมสมัยโดยไม่จำเป็นต้องทำงานที่อาศัยเพียงแค่ทักษะอย่างแต่ก่อน

Ivan Shishkin เป็นจิตรกรชาวรัสเซีย ผู้มีความโดดเด่นในการเขียนภาพทิวทัศน์ และเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม Peredvizhniki มุ่งเน้นไปที่การสร้างศิลปะแนวสัจนิยมสมัยใหม่ในรัสเซีย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนชั้นกลางและชาวนา

จากการที่คุณได้ไปเห็นผลงานจริงๆ ของเหล่าศิลปินมาแล้ว คุณได้นำเทคนิคกระบวนการเหล่านั้นมาปรับใช้ในผลงานอย่างไร

ศิลปินช่วงศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่เขาจะขึ้นภาพด้วยการ draft จากภาพร่างที่พวกเขาเขียนเอง วิธีการวาดแบบนี้มันสามารถถ่ายทอดลักษณะของเส้น outline ได้ดี งานพวกนี้ถ้าชิ้นไม่ใหญ่มากจนเกินไป มันจะยากมากๆเลยถ้าเราไม่ใช้การ draftศิลปินกลุ่มนี้เขาจึงจะให้ความสำคัญกับการร่างภาพผลงานมากๆ

ในการทำ sketch ผมเองจะมีสองรูปแบบ คือ เมื่อเรามีภาพต้นแบบที่มันสมบูรณ์มากๆ จึงไปค้นหาสีจากการค้นคว้าผลงานที่ศิลปินคนนั้นวาด เช่น ผมไปพบภาพของสตูดิโอเบื้องหลังที่ศิลปินคนนั้นทำงานอยู่ ผมจึงสามารถที่จะหยิบยืมสีเหล่านั้นมาใช้ได้ และอีกรูปแบบก็คือผมจะนำภาพหลายๆ ภาพมาปะติดปะต่อใหม่เข้าด้วยกัน นำมาจัดวางอย่างคร่าวๆ เมื่อภาพมันมาจากหลายที่มา แน่นอนว่า perspective ที่อยู่ในผลงานมันจะไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการร่างของเรานี่แหละ แต่งเติมเข้าไปใน sketch โดยหยิบยืมมาจากภาพที่เราค้นคว้ามา ส่วนใหญ่ผมจะเน้นไปที่การร่างด้วยมือมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย สุดท้ายก็ขึ้นงานบนเฟรมด้วยมือ มันเป็นความเคยชินของผมไปแล้ว

ภาพ sketch ของก้องภพ

ถ้าสังเกตดู ผลงานของผมมักจะมีการหยิบยืมวิธีการเหล่านั้นมาใช้อยู่แล้ว ทั้งวิธีการหยิบยืมองค์ประกอบ การใช้เส้น grid ของศิลปินโบราณ การขับเน้นในส่วนของแสงและทิ้งส่วนเงาให้เกิดความโปร่งแสง การ glazing (การระบายสีแบบเคลือบด้วยสีที่มีความโปร่งแสง) หรือ scumble (การป้ายสีเคลือบทับบนสีชั้นแรกเพื่อให้เกิดมิติจากการซ้อนทับของสี) ก็ยังคงถูกนำมาใช้อยู่ เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับกระบวนการหลัก แต่ว่าทั้งหมดก็ยังคงทิ้งลายมือของผมไว้อยู่

ผมอาจจะเขียนรูปบางกว่าศิลปินในยุคนั้น แต่ยังคงมีการสร้างบรรยากาศบางอย่างในผลงานให้ได้นึกถึงงานเหล่านั้นอยู่ ถ้าเราได้ไปดูผลงานจริงๆ ของศิลปินเหล่านั้น จะเห็นว่ามีการทำให้ส่วนของแสงทึบกว่าส่วนของเงา มีเนื้อสีที่มากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเขียนสีบางหรือเขียนสีหนาอย่างไร มีการทิ้งโปร่ง เน้นสีให้ทึบ แต่ระบบการมองภาพมักจะเป็นอย่างนั้น เราจะเห็นได้เลยว่าเมื่อมองจากภาพรวม ผลงานเหล่านี้จะมีกระบวนการที่คล้ายกันมาก ตรงนี้คือสิ่งที่น่าสนใจ

ภาพขั้นตอนการทำงานของก้องภพ

ขอขอบคุณ

ภาพ: number1gallery
ข้อมูลประกอบผลงาน: ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์

The Oblivion โดย Kongpop Benjanirat
จัดแสดงที่ number1gallery สาขา Silom
ถึงวันที่ 25 June 2022