The City & The City : The Fool’s Garden and The Glass Human (สวนคนเขลาและมนุษย์แก้ว)

โดย อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ และ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล

22 พฤศจิกายน 2565 – 7 มกราคม 2566

Art4C Gallery, 3rd Floor

สวนคนเขลาและมนุษย์แก้ว เป็นผลงานจาก โครงการแลกเปลี่ยนระหว่างศิลปินกรุงเทพฯ และโตเกียว The City & The City: Mapping from Home (2021) ที่ขยายความหมายของ “บ้าน” สู่ “เมือง” ศิลปินทั้งสองคนไม่เพียงแค่สำรวจเมืองเท่านั้นยังเป็นผลงานที่ศิลปินทั้งสองได้สำรวจตัวตนอีกครั้ง ในช่วงเวลาแห่งการกักตัวที่ยาวนาน การทำงานกับตัวเองเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างต่อเนื่อง การทำงานกับตัวเองในที่นี้ไม่ได้หมายเพียงแค่ว่าการใช้ร่างกาย แต่เป็นการสำรวจลึกลงไปในจิตใจ ภาวะที่ไม่สามารถออกไปปฏิสัมพันธ์กับภายนอกได้อย่างปกติ คือช่วงเวลาที่อาจพบคำตอบของคำถามที่ค้างอยู่นาน

Imitation Leak โดย อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
Photo : Art4c

ผลงานของฟิล์ม – อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ เริ่มต้นที่พื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน ภายในบ้านและล้อมด้วยรั้วบ้านอีกชั้น เล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว เริ่มต้นจากการเดินทางของแสงสลัว ที่พุ่งผ่านช่องที่เกิดจากรอยขาดของมุ้งลวดในห้องนอน จากรอยขาดของมุ้งลวด นำไปสู่การค้นพบรอยแตกบนกำแพง เรื่อยไปจนถึงสิ่งชำรุดที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วทั้งเมือง จุดเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้มองเห็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้างของสังคม และถูกนำมาเป็นประเด็นหลักที่ฟิล์มชวนผู้ชมมาขบคิด

ความชำรุดมีจุดเริ่มต้นจากอะไร? ต้องมีสิ่งที่จะชำรุดก่อนถึงจะเกิดการรชำรุด สิ่งชำรุดเกิดขึ้นได้อย่างไร โครงสร้างที่ฟิล์มเข้าไปสำรวจพบการชำรุดเริ่มต้นมาจากมุ้งลวดที่ทำหน้าหน้าปกป้อง ปกปิด สิ่งภายในและภายนอกจากกัน ถัดมาเป็นผนังห้องผนังบ้าน ที่ทำหน้าที่แบ่ง กักกัน จำกัด ปกป้อง ให้กับพื้นที่ ขยับออกมาเป็นรั้วบ้านที่ทำหน้าที่ปกป้องสร้างความปลอดภัยให้แก่คนภายในบ้านกับสภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งสามสิ่งที่สังเกตพบสิ่งชำรุดล้วนมีหน้าที่หนึ่งเหมือนกันคือ “ปกป้อง” เพราะเหตุใดการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมร่วมกันจึงต้องการการปกป้องจากมนุษย์ด้วยกันมากขนาดนั้น สิ่งนี้กลายเป็นคำถามของงานชุดนี้

ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับสังคมของมนุษย์เรามีมากแค่ไหน เราควรจะต้องกังวลกับสิ่งที่อยู่รอบๆ หรือไม่ และหากชีวิตไม่มีความปลอดภัยแล้วนั้น เราต้องทำอย่างไร? คำตอบคือต้องสร้างสิ่งที่สามารถปกป้องชีวิตเราให้ปลอดภัยขึ้นมาเพื่อทดแทนความรู้สึกไม่ปลอดภัยภายใน ทีนี้ความปลอดภัยที่มนุษย์แต่ละคนจะเข้าถึงได้นั้นควรต้องเท่ากันหรือไม่? หากพูดในแง่ของความเท่าเทียมและสิทธิ์ในร่างกายและความปลอดภัยแล้ว คำตอบคือ ควรเท่ากันและต้องเท่ากัน จะมีอะไรที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากันได้?

ในความเป็นจริงการเข้าถึงความปลอดภัยของมนุษย์นั้นไม่เท่ากัน สิ่งนี้สังเกตได้จากสิ่งชำรุดที่เราตั้งข้อสงสัยในตอนต้น มุ้งลวด ผนังกำแพง และรั้วบ้าน การที่บ้านหลังหนึ่งจะสามารถติดมุ้งลวด มีกำแพงหนา และมีรั้วรอบขอบชิดได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจเข้าช่วยมากมาย หากต้องการความปลอดภัยและการปกป้องมากเท่าไหร่ยิ่งต้องใช้ทุนในการสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมามากเท่านั้น ความแตกต่างของบ้านเรือนในกรุงเทพฯ เป็นเครื่องยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมที่บ่งชี้ว่าความแตกต่างนี้มาให้เห็นมากเท่าใด สะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลือมล้ำทางชนชั้นที่ก่อตัวขึ้นในสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน

The Fool’s Garden โดย อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
Photo : Art4c

หลังจากสำรวจบ้านแล้วเขาขยับมาสำรวจพื้นที่จัดแสดงอย่าง Art4c พื้นที่ศิลปะใจกลางเมือง ด้วยสถานที่ตั้งริมถนนพระราม 4 อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดิน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ตลาด สวนสาธารณะ และสถานศึกษา ด้วยตัวบริบทของพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ตั้งอยู่บนระบบทุนนิยม ทำให้ฟิลม์สนใจนำบริบทรอบพื้นที่แสดงงานมาเป็นโจทย์หนึ่งในการสร้างผลงานชุดนี้ “สวนคนเขลา” กินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของห้องจัดแสดง เป็นการจำลองสวนที่แตกต่างไปจากสวนทั่วไป เขาใช้เสาเป็นศูนย์กลางให้สวนแผ่ขยายออกไปได้ทั้ง 4 ทิศทาง ทว่าด้วยข้อจำกัดของพื้นที่โดยรอบที่ต้องจัดแสดงร่วมกับผลงานอีกชิ้นทำให้สวนที่สมควรจะขยายได้อย่างอิสระถูกบังคับให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น เมื่อสำรวจไปตามทิศทางการแผ่ขยายของสวนแล้วจะพบว่าปลายทางเป็นจอโทรทัศน์ที่กำลังฉายเรื่องราวที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันอยู่ เสมือนกับสวนสาธารณะในบริเวณนี้ที่รายล้อมไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมายที่มีเรื่องราวแตกต่างกัน สวนสาธารณะที่เกิดขึ้นได้จากการไล่รื้อที่อยู่อาศัย การเวนคืนที่แม้จะถูกกฎหมาย การเข้ามาแทนบ้านเรือนของห้างสรรพสินค้า ภาพวาดคือสัญลักษณ์ของสวนสาธารณะมีทั้งต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์ สายน้ำที่ให้ความรู้สึกสดชื่น เพิ่มภาพลักษณ์ความเป็นมิตรให้แก่พื้นที่ แต่เมื่อโชว์ในครั้งนี้จบลง ทุกสิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะต้องถูกรื้อเพื่อรองรับโชว์ครั้งใหม่ เสมือนพื้นที่ในย่านนี้ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกโชว์เป็นที่อยู่อาศัย ก่อนจะเปลี่ยนมาโชว์พื้นที่สาธารณะ และไม่รู้ว่าโชว์ต่อไปนั้นจะมีรูปร่างเป็นเช่นไร

Hello Stranger โดย พิชชาภา หวังประเสริฐกุล
Photo : Art4c

มนุษย์แก้ว และ คนแปลกหน้า ผลงานของ น้ำอุ่น – พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ที่นำคำว่าบ้านมาเป็นคีย์เวิร์ดในการสร้างงาน โดยเริ่มต้นจากการหาความหมายให้แก่บ้านของตัวเอง นอกจากพื้นที่รูปทรงเหลี่ยม มีผนังกำแพงล้อมรอบ หลังคาป้องกันแดดและฝน นอกจากความหมายเชิงกายภาพ บ้านยังมีความหมายอย่างไรได้อีก? บ้านของน้ำอุ่นมีปรากฏใสนความทรงจำ 2 แห่ง คือ บ้านที่เธออาศัยอยู่กับครอบครัว และบ้านที่เธอพักอาศัยอยู่ด้วยตัวเองในปัจจุบัน ความเชื่อมโยงของสถานที่ที่เธออยู่นั้นคืออะไร? เมื่อไม่อาจตอบคำถามได้ด้วยความรู้สึก น้ำอุ่นจึงเริ่มต้นมองหาจากสิ่งที่จับต้องได้

ความเชื่อมโยงของพื้นที่ทั้ง 2 แห่งในเชิงกายภาพ เริ่มต้นจากการที่ตั้งอยู่บนระนาบเดียวกัน “พื้นดิน” ในจังหวัดเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ความอยู่ที่เดียวกันทำให้น้ำอุ่นคิดลงไปอีกขั้นว่า ที่เดียวกันนั้นมันคือจุดไหน บ้านทั้งสองหลังไม่ได้อยู่ติดกันแบบแค่กำแพงกั้น แต่อยู่คนละเขต จนไม่อาจจินตนาการได้ว่าพื้นที่ที่อยู่ระหว่างเขตทั้งสองคือที่ไหนบ้าง น้ำอุ่นเริ่มต้นเดินทางจากบ้านที่ห้วยขวาง และพยายามนึกว่าอะไรคือสถานที่ถัดไปที่จะขยับเข้าใกล้บ้านอีกหลังมากที่สุด

สถานที่แรกที่นึกถึงและใช้เป็นจุดหมายถัดไปคือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วงเวียนขนาดใหญ่ที่มีถนนแยกไปตามทิศทางต่างๆ พื้นที่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางเพื่อเดินทางไปที่อื่นๆ ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นเดินออกจากห้วยขวาง เมื่อเจอคนจึงเริ่มต้นถามถึงเส้นทางการเดินไปที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ น้ำอุ่นแทนคนที่เธอได้มีโอกาสพูดคุยด้วยระหว่างทางว่า คนแปลกหน้า (Stanger) คนแปลกหน้าคนแรกที่เธอได้คุยด้วยหลังจากทราบจุดหมายของเธอก็แนะนำให้เธอใช้เส้นทางเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ รถเมล์สายนี้นะ แต่เมื่อเธอถามกลับไปอีกครั้งว่า “แล้วถ้าเดินไปต้องเดินไปทางไหนคะ” คนแปลกหน้าต่างตกใจกับการตัดสินเดินทางครั้งนี้ของเธอเพราะจากจุดนั้นถึงจุดหมายแรกไม่ใช่ระยะที่คนทั่วไปจะเลือกการเดิน เมื่อเดินตามทางมาเรื่อยๆ พอถึงจุดแยกของเส้นทางหรือเกิดความไม่มั่นใจในทางข้างหน้า เธอจะหยุดถามคนแปลกหน้าคนต่อไป คำตอบที่ได้เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ รถเมล์สายนี้นะ นั่งสายนี้ไปถึงเลย และแปลกใจที่เธอถามหาเส้นทางเดิน

เส้นทางที่เดินผ่านเมื่อขยับเข้าใกล้จุดหมายที่ตั้งไว้คำตอบของคนแปลกหน้าค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่มีใครแปลกใจที่น้ำอุ่นเลือกการเดินอีกต่อไป ตอบเพียงแค่ให้เดินไปทางไหน ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่ที่เดินนั้นคือเส้นทางที่เดินไปตามถนนใหญ่ หรือตัดผ่านพื้นที่ที่คนใช้สัญจรเป็นปกติ ไม่มีคนแปลกหน้าคนไหนแนะนำให้เดินเข้าทางลัดที่ไม่มีคนใช้ การเลือกเส้นทางที่ปลอดภัยก็เป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงผู้คนในเมืองได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการแนะนำให้ใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ มากกว่าแท็กซี่นั้นก็สะท้อนอะไรบางอย่างผ่านคนแปลกหน้าที่เป็นผู้แนะนำเส้นทาง สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่กำหนดการเลือกของเราด้วยเช่นกัน

Hello Stranger โดย พิชชาภา หวังประเสริฐกุล
Photo : Art4c

เมื่อเดินมาถึงจุดหมายแรก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดหมายถัดไปที่น้ำอุ่นเอาไว้ถามทางต่อคือ หลานหลวง ซอย 5 บ้านของเธอกับครอบครัว เหตุการณ์และบทสนทนาวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง นั่นคือความสงสัยว่าเธอจะเดินไปจริงๆ หรือ เพราะเส้นทางค่อนข้างไกล และยังคงมอบคำตอบแรกเป็นการให้เลือกเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะดั่งเช่นครั้งแรก และเมื่อเดินเข้าใกล้พื้นที่จุดหมายมากขึ้น ความสงสัยที่คนแปลกหน้ามีต่อในการเดินของน้ำอุ่นก็หมดไป

ระยะทางความใกล้และไกล ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของมนุษย์ เมื่อเห็นว่าจุดหมายนั้นไกลจากจุดเริ่มต้น ทุกคนเลือกที่จะใช้เครื่องทุ่นแรงเพื่อให้เข้าใกล้จุดหมายได้ง่ายและไวที่สุด เมื่ออยู่ใกล้เท่าไหร่ความน่ากลัวลดลง ความปลอดภัยมีมากขึ้นตามลำดับ ทว่าเมื่อน้ำอุ่นเดินมาถึง หลานหลวง ซอย 5 เธอหยุดถามทางเข้าบ้านเธออีกครั้ง เดินเข้าไปอีกไม่กี่เมตรก็เป็นบ้านของเธอแต่ความคลุมเครือย้อนกลับมาในบทสนทนากับคนแปลกหน้า แม้จะอยู่หน้าปากซอย 5 แต่คนแปลกหน้าคนนั้นกลับไม่รู้ว่าบ้านเลขที่นี้อยู่ตรงไหน และไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีบ้านเลขที่นี้อยู่ในซอยแห่งนี้ด้วย แต่เมื่อเดินเข้าซอยไป คนแปลกหน้าข้างบ้านยังคงจดจำเธอได้และบอกทางไปบ้านเธอได้อย่างถูกต้อง และคนแปลกหน้าคนสุดท้ายที่เธอคุยด้วยก็คือแม่ของเธอนั่นเอง

The Glass Human โดย พิชชาภา หวังประเสริฐกุล
Photo : Art4c

คนแปลกหน้าที่เรียกว่าแม่ นำเราเข้าสู่ผลงานอีกชิ้นของเธอ มนุษย์แก้ว ผลงานศิลปะจัดวางฝ่ามือที่โผล่พ้นพื้นขึ้นมาหลายคู่ ลักษณะของฝ่ามือนั้นหากมองว่ากำลังพยายามคว้าบางอย่างเพื่อให้หลุดพ้นขึ้นมาบนพื้นก็อาจจะไม่ผิด แต่เมื่อพิจารณากับขวดน้ำเกลือที่บรรจุเลือดปลอมที่จัดวางในตำแหน่งห้อยลงมาเพื่อให้เลือดค่อยๆ หยดลง จะพบว่ามือเหล่านั้นกำลังรองรับเลือกที่หยดลงมาทีละหยดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด น้ำอุ่นเปรียบมือเหล่านั้นคือตัวเองที่รองรับความกดดันต่างๆ จากสิ่งรอบๆ เสมือนภาชนะแก้วที่มีน้ำเทลงมาอย่างต่อเนื่องจนวันหนึ่งน้ำในแก้วนั้นล้นออก ความเต็มตึงทางอารมณ์ที่ได้รับมาตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่บ้านทำให้เธอเลือกที่จะเดินออกมาจากพื้นที่นั้นและสร้างพื้นที่ที่เรียกว่าบ้านด้วยตัวเอง นำมาซึ่งการมองย้อนกลับไปหาความหมายของบ้านทั้งสองแห่งของเธออีกครั้ง

แม้จะพบความเชื่อมโยงผ่านเส้นทางที่เธอเดินมา เส้นถูกลากผ่านจุดต่างๆ ที่เธอเดินผ่าน เชื่อมโยงด้วยบทสนทนากับคนแปลกหน้าระหว่างทาง สร้างความเชื่อมโยงของสองพื้นที่ออกมาเป็นรูปธรรมให้น้ำอุ่นและผู้ชมได้เห็น ทว่าในแง่ของความรู้สึกกลับไม่สามารถตอบได้ว่าทั้งสองแห่งมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่มีอะไรเลยกันแน่ แต่การเดินทางครั้งนี้ทำให้น้ำอุ่นเข้าใจเมืองที่ตัวเองอยู่มาตั้งแต่เกิดมากขึ้น ไม่เพียงแค่การมองเห็นเส้นทางที่ต้องเดินเท่านั้น แต่เรื่องราวระหว่างทางที่ได้สร้างบทสนทนา ได้เห็น ได้รู้สึก และได้สัมผัส เพิ่มความหมายให้กับนิยามของเมืองแก่เธอได้เป็นอย่างดี จากบ้านที่สุดท้ายแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจ ขยายขอบเขตออกมาสู่เมืองที่เข้าใจมากขึ้น การเดินทางในครั้งนี้ก็ไม่เรียกว่าเสียเปล่า

ศิลปินทั้งสองคนนำเสนอมุมมองต่อสังคมโดยเริ่มต้นจากการสำรวจสิ่งใกล้ตัวอย่างบ้าน หน่วยย่อยที่สุดของสังคม ก่อนจะก้าวข้ามไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ถึงแม้ว่า พิชชาภา หวังประเสริฐกุล จะสำรวจเพื่อหาความหมายให้แก่ตัวเองทว่าระหว่างทางกลับค้นพบความหมายและเข้าใจความเป็นเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่เข้าไปอีกขั้น ในขณะที่ อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ จากสิ่งชำรุดที่เป็นผลลัพธ์ที่ปรากฏ เขาพาเราย้อนกลับไปมองหาต้นเหตุของการเกิดสิ่งชำรุดนั้นจนมองเห็นสิ่งชำรุดที่ใหญ่และส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าเดิมอย่างปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม การสำรวจบ้านตัวเองในครั้งนี้ ทำให้ทั้งสองคนเข้าใจเมืองของตนเองมากขึ้น และเข้าใจผู้คนรอบตัวมากขึ้นเช่นกัน