หากจะกล่าวถึงศิลปินไทยผู้มีบทบาทในการสร้างสรรค์งานศิลปะสะท้อนสังคมมาอย่างยาวนาน ทวี รัชนีกร คงเป็นหนึ่งในศิลปินคนแรกๆ ที่คนรักศิลปะจะนึกถึง ด้วยวัยเกือบเก้าสิบปีในปัจจุบัน ถือได้ว่าเขาเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยคุ้นชื่อนัก ทว่าตลอดระยะเวลากว่าหกสิบปีในเส้นทางสายศิลปะ แทบไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่ชื่อของทวีจะเงียบหายไปจากการรับรู้ของผู้คน ด้วยความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักและครุ่นคิดถึงปัญหาต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทำให้ทวียังคงมีการแสดงผลงานอยู่เป็นระยะๆ ทั้งในพื้นที่ศิลปะส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาคที่หอศิลป์ทวี รัชนีกร ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา

ผลงานศิลปะที่กลายเป็นภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่อทวีคืองานศิลปะแบบรูปลักษณ์ (figurative art) อันประกอบไปด้วยรูปทรงของสิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ ทว่ามีสัดส่วนของเรือนร่างและท่าทางแปลกประหลาดไปจากความเป็นจริง จนในบางครั้งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันดูน่ากลัว อย่างไรก็ดี กลวิธีการนำเสนอผ่านลายเส้นและสีสันที่ทวีเลือกใช้กลับมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา สะท้อนกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่นแบบอีสาน

จินตภาพบรรเจิดเหล่านี้มุ่งสะท้อนปรากฏการณ์อันบิดเบี้ยวในสังคมที่ตัวศิลปินได้รับรู้ในช่วงเวลานั้นๆ ตั้งแต่ประเด็นความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ไปจนถึงความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ ทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในมโนสำนึกของศิลปินได้ถูกตีความผ่านมุมมองของเขา ก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะอันน่าประทับใจในหลากหลายรูปแบบสื่อ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และสื่อผสม

จากซ้าย: ณรงศักดิ์ นิลเขต (ภัณฑารักษ์ร่วม) ทวี รัชนีกร และวุฒิกร คงคา (ภัณฑารักษ์)

‘ทวี รัชนีกร: ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์’ เป็นนิทรรศการเดี่ยวชุดใหญ่ในรอบหลายปีของทวี คัดสรรผลงานโดย ผศ. วุฒิกร คงคา ภัณฑารักษ์ และณรงค์ศักดิ์ นิลเขต ภัณฑารักษ์ร่วม จัดแสดงผลงานศิลปะกว่าเจ็ดสิบชิ้นจากช่วงเวลาต่างๆ ในชีวิตของทวี ย้อนกลับไปตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จนถึงปัจจุบัน คือหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นศักยภาพในการสร้างสรรค์ของศิลปินรุ่นใหญ่ที่ไม่เคยถดถอยลงไปตามกาลเวลา

ปีศาจสงคราม, 1967

แน่นอนว่าเมื่อมีผลงานจำนวนมากที่ต้องจัดแสดง ตัวนิทรรศการจึงแบ่งพื้นที่ออกเป็นหมวดหมู่ของผลงานตามแนวเรื่องที่คล้ายๆ กัน 7 หมวด แต่ละหมวดมีจำนวนงานที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป เริ่มด้วยหัวข้อที่หลายคนคงนึกออกทันทีเมื่อพูดถึงงานของทวี รัฐบาล นักการเมือง และระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ นำเสนอผลงานที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองในประเทศไทย ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้มีที่มาจากปัจจัยภายในเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความขัดแแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองระดับนานาชาติอันนำมาซึ่งความวุ่นวายในสังคมไทย ดังเช่นภาพ ปีศาจสงคราม (1967) ทวีถ่ายทอดมุมมองที่เขามีต่อบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เริ่มแผ่อิทธิพลทางการทหารเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสงครามเวียดนาม ภาพหมวกทหารสวมอยู่บนหัวกะโหลก มีธงชาติไทยและธงชาติสหรัฐอเมริกาเป็นฉากหลัง ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่ง่ายต่อการรับรู้ได้ในทันทีเมื่อหวนนึกถึงสถานการณ์ในช่วงนั้น

ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมของนักการเมืองไทยที่มีชื่อเสียงด้านการทุจริตคอรัปชั่นก็ถูกนำเสนอผ่านเรือนร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ของสมาชิก ครอบครัวนักการเมืองผู้รักชาติ (1996) และ เสพสุขกันอยู่ในกลุ่ม (1999) สะท้อนให้เห็นปัญหาที่มาจากระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

ครอบครัวนักการเมืองผู้รักชาติ, 1996

ผลงานในกลุ่มนี้ล้วนเป็นงานแบบที่เรียกว่า “ศิลปะเพื่อชีวิต” หรือ “ศิลปะเพื่อประชาชน” ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยที่สอดคล้องกับบริบทของยุคสมัยมากที่สุด กล่าวคือ ช่วงทศวรรษ 1960–1980 ประเทศไทยถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมาอย่างยาวนาน กลุ่มคนรุ่นใหม่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการชุมนุมที่ลุกลามไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐหลายต่อหลายครั้ง ตลอดจนการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบการปกครอง ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนกับรัฐมากขึ้นไปอีก ศิลปะเพื่อชีวิตก็คือพื้นที่รองรับการแสดงออกซึ่งความเห็นต่างเหล่านี้

นอกจากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองไปมา สังคมไทยช่วงก่อนทศวรรษ 2000 ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตลาดเสรี ลัทธิบริโภคนิยม หรือโลกาภิวัตน์ ประเทศไทยก็ได้โอบรับกระแสสมัยใหม่เหล่านี้เข้ามาใช้งานภายใต้วาทกรรมการพัฒนา โดยแทบไม่ได้ตระหนักเลยว่ามันได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ตลอดจนค่านิยมที่ผู้คนในสังคมยึดถือกันมาเนิ่นนานมากเพียงใด

โลกาภิวัตน์ บริโภคนิยม วัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นกลุ่มงานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทวีมีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วนี้อย่างไร ในฐานะของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมสมัยทันได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ซึ่งกินเวลาอยู่ในช่วงทศวรรษ 1990–2010 ล้วนชี้ให้เห็นผลเสียของระบบทุนนิยม แม้ระบบตลาดเสรี จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีสิทธิในการทำมาหากินมากขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นในบริบทของสังคมแบบไทยๆ ที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ การผูกขาดโดยกลุ่มนายทุนยักษ์ใหญ่จึงทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นถ่างกว้างขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือเหล่าชนชั้นกลางที่ต้องตกอยู่ในวังวนของการบริโภคอันไม่มีที่สิ้นสุด

สภาวะวิกฤตอันเป็นผลมาจากลัทธิบริโภคนิยมถูกนำเสนอผ่านผลงานสองชิ้นที่ดูคล้ายกัน บริโภคนิยมย่อมไม่รู้อิ่ม (2003) และ ไล่ตามบริโภคนิยม (2004) เหล่าตัวอ่อนยั้วเยี้ยรุมสูบกินเลือดเนื้อของสิ่งมีชีวิตตัวใหญ่กว่าที่ให้กำเนิดมันออกมา ดูราวกับวัฏจักรของชีวิตอันน่าหดหู่ที่ดำเนินไปไม่หยุดพักทั้งกลางวันและกลางคืน ศิลปินแสดงให้เห็นว่าการบริโภคอย่างไม่รู้จบนั้นคือวงจรอุบาทว์ที่จะย้อนกลับมาทำลายตัวตนของมนุษย์เองในที่สุด

บริโภคนิยมย่อมไม่รู้อิ่ม, 2003

กลุ่มผลงานเล็กๆ สะท้อนให้เห็นแง่มุมของวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ไหลบ่าเข้ามาทำลายวิถีชีวิตของผู้คนเฉพาะกลุ่ม ในหัวข้อ การกดขี่เพศหญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ ทวีกล่าวถึงการที่สิทธิในการมีชีวิตอยู่ของสตรีในสังคมไทยถูกกดทับอย่างรุนแรง ทั้งจากบริบทดั้งเดิมของสังคมไทยที่ชายเป็นใหญ่อยู่ก่อนแล้ว ซ้ำเติมด้วยการเข้ามาของชาวต่างชาติต่างวัฒนธรรม โดยเฉพาะการที่ทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในหลายจังหวัดของประเทศไทยช่วงสงครามเวียดนาม เป็นเหตุให้ธุรกิจสถานบันเทิงต่างๆ ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของชายชาวหนุ่มเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ร้านเหล้า คลับบาร์ ไปจนถึงซ่องโสเภณี สถานที่ซึ่งสตรีไม่ต่างอะไรกับสินค้ามีชีวิต การค้าบริการทางเพศคือธุรกิจที่ลดทอนตัวตนและสถานภาพของสตรีอย่างรุนแรง และได้กลายมาเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจอย่างจริงจังมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ความสะเทือนใจจากการได้เห็นความเป็นไปดังกล่าว เป็นเหตุให้ทวีสร้างสรรค์ผลงานที่มีเรือนร่างสตรีเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ภาพ หญิงไทยในพัทยา (1984) โสเภณีตีตรา (1985) และ เอ็นจอยไทยแลนด์ หมายเลข 11 (1996) แตกต่างจากภาพวาดชุดอื่นๆ ของทวี ภาพทั้งสามประกอบขึ้นด้วยสีโทนเย็น ดูสบายตา ทว่าเรื่องราวที่บอกเล่ากลับชวนหดหู่และน่าเศร้า เช่นเดียวกันกับประติมากรรมผู้หญิงแกะสลักจากไม้วางนิ่งอยู่ในกล่อง สินค้าส่งออก (1994) ตีแผ่ข้อเท็จจริงของธุรกิจค้าบริการทางเพศที่ได้กลายมาเป็นสินค้าส่งออกอันเลื่องชื่ออย่างหนึ่งของประเทศไทยไปโดยปริยาย

โสเภณีตีตรา, 1985
สินค้าส่งออก, 1994

การวิพากษ์วิจารณ์สังคมของทวีไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แต่ในประเด็นทางสังคมการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยเช่นกัน ด้วยความเป็นคนรักธรรมชาติ การได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่ค่อยๆ เสื่อมโทรมไปในหลายพื้นที่ของประเทศ เป็นบ่อเกิดของผลงานภาพวาดและประติมากรรมหลายชิ้นที่ศิลปินมุ่งสื่อสารให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่กำลังสูญเสียไป

ดังปรากฏให้เห็นในภาพวาดขนาดใหญ่รูปเหล่าต้นไม้ที่มีใบหน้ากำลังกรีดร้องอย่างทรมานท่ามกลางเทือกเขาสีแดงเพลิง ป่าร้อง (2015) มีที่มาจากการเดินทางไปญี่ปุ่น และได้เห็นกระบวนการอนุรักษ์ป่าไม้ของภาครัฐอันมีประสิทธิภาพ ตรงข้ามกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรืองานประติมากรรม บ่อนอก (2001) ทวีนำไม้หัวเรือเก่าของชาวประมงที่ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาประกอบเข้าด้วยกันให้ดูคล้ายปลาวาฬพุ่งทะยานขึ้นเหนือน้ำ บอกเล่าเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่แถบนี้ในอดีตที่เคยมีปลาวาฬมาหากิน ผลงานชิ้นนี้ต้องการต่อต้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน

ป่าร้อง, 2015

ต่อกันด้วยผลงานในหัวข้อ ความเชื่อ ศาสนา ท้องถิ่นนิยม ทั้งสามสิ่งนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือนกรอบคิดให้ทั้งรูปแบบและเรื่องราวในงานสร้างสรรค์ของทวี ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง ความโหดร้ายของสงคราม การแพร่ระบาดของลัทธิบริโภคนิยม ปัญหาการค้าบริการทางเพศ หรือสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย ทุกหัวข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้นล้วนปรากฏสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นรากฐานวิธีคิดทางพุทธศาสนา อย่างเรื่องของเวรกรรม ความดี-ความชั่ว ผลงานที่ถูกคัดสรรเอาไว้ในหมวดหมู่นี้คืองานที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และสื่อความหมายในเชิงศีลธรรมมากกว่างานชุดอื่นๆ

ตัวละครหลักในงานกลุ่มนี้คือ “เปรต” สัตว์นรกที่ทวีใช้แทนกลุ่มคนที่ชอบเอารัดเอาเปรียบประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักการเมือง นายทุน หรือชนชั้นนำ เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึง พวกเขาต้องกลายเป็นเปรตชดใช้กรรมที่เคยกระทำเอาไว้อยู่ในนรกภูมิ อิทธิพลทางความคิดจากวรรณคดีอย่างไตรภูมิกถาปรากฏให้เห็นเด่นชัดผ่านภาพวาดอันน่ากลัวเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่นภาพนรกสองขุม อนันตนรก (2010) และ อวังสิรนรก (2010) ที่ประกอบไปด้วยเรือนร่างอสุรกายบิดเบี้ยวในอากัปกริยาทุกข์ทรมานชวนขนหัวลุก โดยเฉพาะภาพหลังนั้น ปรากฏสายสะพายและเหรียญตราห้อยอยู่บนร่างเปรตทุกตัว สื่อให้เห็นว่าแท้จริงแล้วพวกมันเคยมีบทบาทอะไรมาก่อนเมื่อตอนมีชีวิต

ในทำนองเดียวกัน ขุมที่ 15 หน้าตาพิลึก (2007) ก็เป็นชุดภาพวาดเก้าภาพที่น่าประทับใจไม่น้อย สัตว์ประหลาดรูปลักษณ์ไม่ซ้ำกันเลยเก้าตัวปรากฏกายในลักษณะภาพพอร์เทรตเก้าภาพเรียงกัน ภายใต้ลายเส้นคล้ายภาพการ์ตูนสีสันสดใสเหล่านี้ คือจินตนาการล้ำลึกของศิลปินในการออกแบบสภาวะอันน่าขยะแขยง ทว่าก็แฝงอารมณ์ขันไปในเวลาเดียวกัน

ขุมที่ 15 หน้าตาพิลึก, 2007

ภาพวาดสัตว์ประหลาดหลายตัว บ้างมีแค่ใบหน้า บ้างเต็มตัว ปรากฏให้เห็นบนแผ่นพับกระดาษสายาวเหยียดกว่าเจ็ดเมตร คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นจินตนาการอันไม่ที่สิ้นสุดของทวีได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ แนวทางการใช้ภาษาทางศิลปะ อันถือเป็นบทสรุปของนิทรรศการ ผลงานชุดสุดท้ายพยายามเน้นประเด็นเกี่ยวกับกลวิธีการสร้างสรรค์ที่ทวีพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ครั้งศึกษาอยู่ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้อิทธิพลของการเรียนการสอนโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ทำให้เขาได้เรียนรู้ศิลปะสมัยใหม่หลายแขนง ทั้งงานอิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ แอ็บสแตร็กต์ และแอ็บสแตร็กต์เอ็กเพรสชันนิสม์ แม้ต่อมาจะมีการพัฒนาเรื่องราว สัญลักษณ์ และแนวทางการแสดงออกเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลงานของทวียังคงสะท้อนกลิ่นอายของศิลปะสมัยใหม่เหล่านี้ออกมาอย่างชัดเจน

แนวทางการใช้สัญลักษณ์อย่างแยบยลคือสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับผลงานของทวีเสมอมา แม้ว่าจะนำเสนอประเด็นที่ผูกพันกับเรื่องราวทางสังคมอันเป็นที่เข้าใจกันดีมากแค่ไหนก็ตาม แต่ศิลปินก็มักจะมีวิธีการออกแบบกระบวนการสื่อความหมายให้ผลงานแต่ละชิ้นนั้นมีความลุ่มลึก ถึงจะดูตรงไปตรงมา แต่ก็แฝงไปด้วยการเชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมกันค้นหารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จำนวนมหาศาล

ชุดผลงานภาพวาดนามธรรม

ลักษณะดังกล่าวอาจฟังดูเหมือนแนวทางของศิลปินนามธรรม ซึ่งอันที่จริงแล้ว ทวีก็เคยสร้างสรรค์งานในลักษณะนี้มาก่อน ทว่าก็มีจำนวนไม่มากเท่าศิลปะแบบรูปลักษณ์ก็ตาม ดังแสดงให้เห็นในผลงานกลุ่มเล็กๆ ที่ภัณฑารักษ์ตั้งชื่อว่า นามธรรม อินทรียรูป และพลังของชีวิต องค์ประกอบสีขาว (1964) รูปทรงสีดำบนพื้นดำ (1997) รูปทรงในอวกาศ (1997) ฟังจากชื่อก็คงเดาได้ไม่ยากนักว่าต้องเป็นงานแอ็บสแตร็กต์ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่ารูปทรงไม่กี่ชิ้นบนฉากหลังเรียบๆ เหล่านี้คือตัวอย่างการแสดงออกทางศิลปะอันเรียบง่ายที่สุดของทวี

ภายใต้โครงร่างสีขาวดำ เส้นสายโปร่งบาง และพื้นที่ว่างกว้างใหญ่ อาจซุกซ่อนเอาไว้ด้วยพลังอันบริสุทธิ์ที่ศิลปินใช้เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์อันน่ามหัศจรรย์ทั้งหลายที่เราได้เห็นในนิทรรศการนี้.