เมื่อพูดถึงศิลปะไทยหรือจิตรกรรมไทยประเพณี สิ่งที่คนทั่วไปจะนึกถึงเป็นอย่างแรกคงหนีไม่พ้นลายกนกหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอาราม ภาพลักษณ์ของศิลปะไทยที่ถูกนำเสนออย่างยิ่งใหญ่อลังการ ความปราณีต วิจิตรบรรจงด้วยทักษะฝีมือขั้นสูงจากเหล่าปรมาจารย์ศิลปิน สอดแทรกเรื่องราวหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา เป็นรูปแบบที่ถูกผลิตซ้ำอยู่บนหิ้งบูชาเลยเถิดจนกลายเป็นค่านิยมดังวลี “ศิลปะที่ดีนั้นต้องนำเสนอเพียงแค่เรื่องความจริง ความดี ความงาม” ทำให้รสชาติของศิลปะไทยกลายเป็นสิ่งจำเจและน่าเบื่อหน่าย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของศิลปินที่จะคอยแสวงหาการนำเสนอรสชาติแปลกใหม่เพื่อพัฒนาให้ผลงานศิลปะไทยได้ก้าวเดินต่อไปตามแต่ละแนวทางของบุคคล

Sweet Dystopia โลกที่สาม โดย สุบรรณกริช ไกรคุ้ม คือโลกสมมุติในจินตนาการที่เกิดจากการหยิบยกแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันหรือรวมไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นกระแสในโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตและสิ่งที่ผู้คนในสังคมไทยต้องเผชิญในแต่ละวัน แอบซ่อนสัญลักษณ์ รายละเอียดยิบย่อย หลากหลายเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับการจดจ่อและตีความ ถ่ายทอดเป็นผลงานจิตรกรรมไทยประเพณีที่มีความร่วมสมัยตามแบบฉบับของสุบรรณกริช
สุบรรณกริช ไกรคุ้ม คือศิลปิน gen Y ที่สำเร็จการศึกษาศิลปะไทยจาก คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ผลงานไทยประเพณีในแนวทางเฉพาะตน “จิตรกรรมไทยขนาดเล็ก (Thai miniature painting)” จิตรกรรมเทคนิคสีฝุ่นที่สกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติตามกรรมวิธีไทยโบราณถูกสร้างสรรค์ลงบนแผ่นไม้ขนาดเล็ก อัดแน่นไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยที่เกิดจากการผสมผสานเรื่องราวของผลงานวรรณกรรม ค่านิยม ความเชื่อทางศาสนา เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และร่วมสมัย ทำให้ผลงานของสุบรรณกริชมีความน่าสนใจ โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

สีฝุ่นและทองเปลวบนแผ่นไม้สัก, 30.5 x 20.5 cm

สีฝุ่นและทองเปลวบนแผ่นไม้สัก, 23 x 17 cm
ในโลกที่สุบรรณกริชรังสรรค์ขึ้นมาทั้งหมดนั้น ล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากโลกแห่งความเป็นจริงที่ทุกคนกำลังเผชิญ ตัวอย่างเช่น การนำกิจกรรมที่เป็นที่นิยมของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน การรับชมคลิปวิดีโอจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Youtube, Instagram และ Tiktok ทำให้เห็นว่าโลกในปัจจุบันได้ถูกเชื่อมต่อเข้าหากันและพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด เมื่อการเล่นเกมสามารถต่อยอดและกลายมาเป็นอาชีพ ทั้ง Steamer, Youtuber, E-sport pro player ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาล บริบทของการเล่นเกมในสายตาของเด็กผู้ชายตัวน้อยจึงมิใช่เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายยามว่างอีกต่อไป แม้จะต้องแลกมากับอาการ “หัวร้อน” เป็นครั้งคราว

สีฝุ่นและทองเปลวบนแผ่นไม้สัก, 23 x 31 cm
อีกด้านหนึ่ง เหล่า creator ล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์คลิปวิดีโอลงบนสื่อออนไลน์อย่างแข็งขัน ตัวอย่างเช่น ผลงานคลิปวิดีโอจาก “เด็กเซราะกราว” ซึ่งนำเสนอการเต้น cover ที่แปลกใหม่ สร้างรอยยิ้มและเสียงฮือฮาเป็นกระแสในโลกออนไลน์อยู่ระยะหนึ่ง ทำให้เห็นว่ากระแสจากวัฒนธรรม K-pop นั้นมีอิทธิพลต่อความคิดของเยาวชนมากเพียงใด จึงมีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่อยากจะก้าวขึ้นไปในระดับเดียวกับเหล่านักร้องวงดนตรีที่เป็นดั่งไอดอลของพวกเขา เป็นความฝันที่ต้องแลกมาด้วยความพยายามและการฝึกฝนเป็นอย่างมาก
อนาคตที่เด็กๆ เฝ้ามองหาล้วนเป็นภาพฝันที่หอมหวาน หากแต่บนโลกแห่งความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อสังคมรอบตัวที่ไม่เอื้ออำนวยให้แก่ความฝันใดๆ แม้แต่รัฐสวัสดิการขั้นพื้นฐานและระบบสาธารณสุขที่ย่ำแย่ เศรษฐกิจที่ถดถอยและถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโรคระบาด ผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้จึงต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตไปอย่างตามมีตามเกิดเนื่องมาจากคุณภาพชีวิตที่น่าอดสู
เมื่อเรื่องของการเมืองกลายเป็นสิ่งที่หลายคนพร้อมจะพูดคุยกันอย่างการแสดงออกบนพื้นที่สาธารณะและโลกออนไลน์อย่างเปิดเผย เพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า “ตนได้ตระหนักถึงปัญหาในสังคมแล้ว” กลับกลายเป็นกระแสและสิ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นพวกที่เพิกเฉย แต่เพราะความเพิกเฉยทางการเมืองมีหลายระดับ การถูกตราหน้าว่าเป็น “อิกนอร์แรนซ์ (ignorance)” หรือ “พวกไม่อินการเมือง” กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่น่ารังเกียจในสายตาผู้ที่เรียกตนเองว่า “เป็นผู้รักประชาธิปไตย”

สีฝุ่นและทองเปลวบนแผ่นไม้สัก, 25 x 20 cm
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลงานบางส่วนในนิทรรศการ Sweet Dystopia โลกที่สาม โดย สุบรรณกริช ไกรคุ้ม โลกแห่งจินตนาการที่บันทึกเหตุการณ์ร่วมสมัยซึ่งเกิดขึ้นมาและพร้อมที่จะถูกลืมเลือนอย่างรวดเร็ว ในยุคสมัยที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน พร้อมทั้งสอดแทรกทัศนคติและการวิพากษ์สังคมในปัจจุบันได้อย่างแสบสัน แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใช้รูปแบบของจิตรกรรมไทยประเพณีเพื่อนำเสนอผลงานได้อย่างน่าสนใจ
ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานทั้งหมดได้ที่ห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 1 Joyman Gallery จนถึงวันที่ 9 มกราคม 2022
บทความโดย ณัฐกมล ใจสาร
รูปภาพโดย Joyman Gallery



