
Somewhere Only I Know นิทรรศการที่เปรียบเสมือนการเปิดพื้นที่ให้เข้าไปสำรวจจักรวาลของ อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ ด้วยการใช้ผลงานศิลปะสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างศิลปิน ผลงาน และผู้ชม
อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 1966 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านศิลปะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ The Art Institute of Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะร่วมสมัย ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีจากการหยิบจับสิ่งของรอบตัว วัสดุเหลือใช้ที่สัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวัน ผ่านกระบวนการทดลองและสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะเชิงความคิดที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ไม่จำกัดรูปแบบและเทคนิค อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะการจัดวาง
นิทรรศการสำคัญที่ผ่านมาของอุดมศักดิ์ ได้แก่ Gavin Brown’s Enterprise, นิวยอร์ก (2007, 2012); Kunstverein Freiburg, เยอรมนี (2011); VER Gallery, กรุงเทพฯ (2006, 2016); Gallery Side 2, ญี่ปุ่น (2005); Giti Nourbakhsch Gallery, เยอรมนี (2004); Kunsthalle Basel, สวิตเซอร์แลนด์ (2003); Wexner Centre for the Arts, โคลัมบัส (2000); Fruitmarket Gallery, เอดินบะระ สกอตแลนด์ (1999).

Somewhere Only I Know นิทรรศการที่รวบรวมผลงานของอุดมศักดิ์ตั้งแต่ปี 1996 จนถึงปัจจุบัน นำเสนอผลงานที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้เข้าไปในจักรวาลที่ศิลปินได้จัดแสดงไว้ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

อุดมศักดิ์ต้อนรับผู้ชมด้วยผลงานวิดีโออาร์ต Page-Tuner แสดงภาพของสมุดบันทึกที่เปิดเผยการเดินทางของอุดมศักดิ์ผ่านหน้ากระดาษไปอย่างช้าๆ มีทั้งภาพถ่ายในอดีต หน้ากระดาษที่ถูกเฉือนปะติดด้วยเทปกาว ข้อความตัวอักษรที่ถูกขีดคั้นด้วยวงกลมสีดำอย่างไร้ความหมาย

หากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของสัญลักษณ์บางอย่างที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการของอุดมศักดิ์ คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1996 ช่วงเวลาที่เขาเริ่มกลายเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะร่วมสมัยต่างประเทศจากผลงานภาพวาดนามธรรมชุดขาว-ดำ ที่อุดมศักดิ์สร้างสรรค์ขึ้นมาในชื่อ “O” or zero จัดแสดงที่ Gavin Brown Enterprise ใจกลางมหานครนิวยอร์ก


ผลงานชุดดังกล่าวเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการทดลองใช้ดินสอหรือหมึกขีดเขียนลงไปบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ก่อนจะนำมาปะติดลงบนแคนวาสจนกลายเป็นระนาบสีขาว-ดำขนาดใหญ่ จากความพยายามเรียนรู้ภาษาอังกฤษในต่างแดน ขีดเว้นคำศัพท์ที่ตนไม่รู้ความหมายเอาไว้ แต่แทนที่อุดมศักดิ์เลือกที่จะเว้นคำศัพท์ที่ไม่รู้ความหมาย เขากลับเว้นพื้นที่ (Space) ที่ไม่มีความหมายแทน หรือแม้กระทั่งการเลือกที่จะใช้“วงกลม”ขีดเส้นเพื่อขับเน้นพื้นที่ในส่วนนั้น ต่อมาจึงมีการนำการหยิบจับเอาวัสดุสิ่งของรอบตัว (found object) ที่ดูธรรมดาสามัญมาใช้ร่วมกับการทำงานศิลปะ สอดแทรกรายละเอียดที่ดูซับซ้อนแต่กลับมีการจัดการที่มีแบบแผน สลายรูปทรงของวัตถุให้กลายเป็นผลงานนามธรรม
อุดมศักดิ์มักเลือกใช้รูปทรงพื้นฐานอย่าง “วงกลม” ที่สามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ล้อรถจักรยานยนต์ รอยคราบน้ำก้นแก้ว สัญลักษณ์ของวัฏจักรตามธรรมชาติ หรือเลขศูนย์ที่อาจสื่อความหมายถึงความว่างเปล่าก็ตาม ไม่ว่าผู้ชมจะนิยามความหมายของวงกลมไว้ว่าอย่างไร การยึดติดกับเรื่องราวและคำอธิบายที่ชัดเจน จะกลายเป็นสิ่งชี้นำความคิดและปิดโอกาสในการใช้จินตนาการของผู้ชม การมอบอิสระในการเชื่อมโยงวัตถุที่อยู่ตรงหน้าเข้ากับเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้สึกส่วนตัวเพื่อรับชมผลงานต่างหากที่เป็นสาระสำคัญ






การสร้างสรรค์ของอุดมศักดิ์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในงานจิตรกรรมเพียงเท่านั้น เนื่องจากตัวของเขาเองมีความชื่นชอบและหลงใหลในเกมกีฬาและการละเล่นต่างๆ เช่น ปิงปอง กอล์ฟ หมากรุก ฯลฯ เขาจึงนำความชอบเหล่านี้เข้ามาผสมผสามกับการทำงานศิลปะ เพราะเสน่ห์ของเกมกีฬาคือการทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้กันและกันได้ดีกว่าการสนทนา

โดยเฉพาะการเล่นหมากรุก กีฬาที่จะดึงให้ผู้เล่นเข้าไปอยู่ในห้วงภวังค์ของความสงบนิ่ง หยั่งเชิงความคิดผู้อื่น ด้วยการเดินหมากเปิดเกม วางแผนเส้นทางการเดินของตัวเอง คาดเดาความคิดของอีกฝ่ายอย่างสุขุม ก่อนจะไล่บี้กินตัวหมากของกันและกันให้ได้มากที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเล่น

หากการเล่นหมากรุกคือการแลกเปลี่ยนบทสนทนาที่โต้ตอบกันไปมาอย่างสุขุม การเล่นปิงปองก็คือการเข้าจังหวะอย่างกระฉับกระเฉง ตั้งแต่การเสิร์ฟ ไปจนถึงการตบลูกด้วยความรวดเร็วจนอีกฝ่ายหมดหนทางโต้ตอบ
อุดมศักดิ์ได้นำกิจกรรมการเล่นปิงปองกลับมาจัดแสดงอีกครั้งในชื่อ Ping Festival และ Mini Me โต๊ะปิงปองที่มีความแตกต่างกันทั้งเรื่องของขนาดและวัสดุ ช่วยสร้างความท้าทายและความสนุกสนานให้กับผู้เล่นเป็นอย่างมาก แนวทางของผลงานดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2017-2019 ที่ผ่านมา ในรูปแบบของการจัดทัวร์นาเมนต์การแข่งขันตีปิงปองในพื้นที่แสดงงานศิลปะ N22 โดยมีเหล่าศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงอย่างอุดมศักดิ์ ปรัชญา พิณทอง และฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นผู้ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าว มีจุดประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำไปบริจาคสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก (คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ทว่าครั้งนี้มิใช่การจัดการแข่งขันในรูปแบบทัวร์นาเมนต์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงบริบทราวกับการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่แสดงงาน ให้ผู้ชมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ร่วมกันในพื้นที่แห่งนี้จากบรรยากาศของหอศิลป์ที่เคยเงียบสงบ กลายเป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ตามมาด้วยเสียงกระทบของลูกปิงปอง การขานนับคะแนน เสียงพูดคุยหรือเสียงหัวเราะด้วยความสนุกสนาน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ และพื้นที่ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน



อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่ไม่สามารถนำมาใช้ทำงานศิลปะได้ในทัศนะของอุดมศักดิ์ และปฏิเสธไม่ได้ที่กิจกรรมต่างๆ(ผลงานศิลปะ) ของอุดมศักดิ์ จะถูกนิยามความหมายซึ่งเชื่อมโยงไปสู่แนวคิดศิลปะเชิงสัมพันธ์ (Relational Art) หรือ สุนทรียศาสตร์เกี่ยวเนื่อง (Relational Aesthetics) อย่างไรก็ตามแต่ ในท้ายที่สุดการตีกรอบเพื่อจำแนกประเภทการเคลื่อนไหวของศิลปินคงมิใช่สาระสำคัญอย่างที่ศิลปินต้องการ
Somewhere Only I Know จึงเปรียบเสมือนนิทรรศการที่หยิบนำชีวิตทั้งหมดของอุดมศักดิ์ ออกมานำเสนอในรูปของผลงานศิลปะที่มีความหลายหลาย และไม่จำเป็นต้องมีคำหรือตัวอักษรมาอธิบายประกอบความหมายใดๆ แต่ผลงานของอุดมศักดิ์จะคอยกระตุ้นให้ผู้ชมค่อยๆ พิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกของศิลปะกับชีวิตประจำวัน ที่ถูกหลอมรวมทุกสิ่งรอบกาย ให้อยู่ในเนื้อเดียวกันอย่างเช่นวลี “ศิลปะก็คือชีวิต ชีวิตก็คือศิลปะ”
นิทรรศการ Somewhere Only I Know โดย อุดมศักดิ์ กฤษณมิษ
จัดแสดงที่ Art Centre, Silpakorn University
ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม ถึง 24 ธันวาคม 2022



