นิทรรศการ OPEN WORD: เปิดคำ
โดย Pootorn Connect: Decentralized Autonomous Art Operation Network
จัดแสดงที่ Kai Kaew Lamphun ไก่แก้วลำพูน
ระหว่างวันที่ 23 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2023


คำ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่ง ๆ, เสียงพูด หรือตัวหนังสือที่เขียนขึ้น มีความหมายในตัว ไม่ว่าจะมีกี่พยางค์ก็ตาม มนุษย์ประดิษฐ์คำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความไม่สิ้นสุดทางวัฒนธรรมและรองรับความต้องการด้านการสื่อสาร ชุดตัวอักษรเพียงไม่กี่ตัวสามารถประกอบขึ้นเป็นคำได้จำนวนมาก และคำเพียงหนึ่งคำที่ประกอบขึ้นจากตัวอักษรไม่กี่ตัวก็สามารถให้ความหมายได้หลากหลายเช่นเดียวกัน
ภูธรคอนเนค คำประสมระหว่างคำว่า ภูธร ที่หมายถึง ภูเขา หรือความหมายโดยสามัญสำนึกของคนไทย คือพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองหลวง กับคำว่า คอนเนค คำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ ที่หมายถึง การเชื่อมต่อกัน ซึ่งเมื่อรวมกัน จึงหมายถึง การเชื่อมต่อหรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่นอกเมืองหลวง


นิทรรศการ OPEN WORD จึงเป็นนิทรรศการเปิดตัวเพื่อการเปิดคำ “ภูธรคอนเนค”: เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ โดยรวบรวมผลงานศิลปะของเครือข่ายศิลปินภูธรจากภูมิภาคต่างๆในประเทศไทย มาจัดแสดงร่วมกัน เพื่อประกาศถึงที่มาและความสำคัญของการก่อตั้งองค์กรเครือข่าย เป็นการแสดงจุดยืนต่อการสร้างความร่วมมือในการเปิดพื้นที่ทางศิลปะบนพื้นที่ภูธร และรื้อถอนความเป็นศูนย์กลางนิยมของสังคมศิลปะ


Pootorn Connect: Decentralized Autonomous Art Operation Network หรือ ภูธรคอนเนค: เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ เป็นเครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ ถูกจัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายศิลปินภูธรในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน เรื่องราว ข่าวสาร ประสบการณ์ ข้อมูล องค์ความรู้ วัฒนธรรม โอกาส และการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะร่วมกันระหว่างศิลปินท้องถิ่นที่อยู่นอกเมืองหลวง ซึ่งเป็นการลดการกระจุกทางโอกาส เปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย ส่งเสริมการเข้าถึงฐานการรับรู้ของผู้คนที่แตกต่าง สร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อสังคมศิลปะในประเทศไทยให้มีฐานราก เติบโตกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค และที่สำคัญเป็นการผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าทียมกัน

ภายใต้การเกิดขึ้นของสังคมและการเมืองของมนุษย์ ที่ต้องมีการสร้างกระบวนวิธีในการบริหารจัดการสังคม ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์ถูกนำมาใช้ เพื่อจัดสรรอำนาจการปกครอง และกำหนดทิศทางของการบริหารจัดการ โดยให้อำนาจแก่องค์กร หรือกลุ่มองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ในการกำหนดภาพรวมของสังคมให้มีเอกภาพหรือสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งเป็นเครื่องมือกำหนดบรรทัดฐานและควบคุมกลไกทางสังคมอีกด้วย แต่ในโลกแห่งความหลากหลาย การกำหนดเอกภาพ หรือความเป็นหนึ่งเดียว ด้วยการใช้อำนาจแบบรวมศูนย์ กลับเป็นการสร้างสภาวะการไหลรวม ค่อยๆทำลายอัตลักษณ์เฉพาะของผู้คน ชาติพันธุ์ ชุมชน วัฒนธรรม และโดยเฉพาะศิลปะ ที่ซึ่งความแตกต่างหลากหลาย ควรกลายเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ศิลปะเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์อย่างแท้จริง การกำหนดให้รูปแบบ ทฤษฎี หรือสุนทรียศาสตร์ แบบใดแบบหนึ่ง รวมถึงอุปสงค์-อุปทานแบบทุนนิยม มาเป็นตัวกำหนดชี้วัดความเป็นศิลปะ นั่นอาจทำให้อิสรเสรีของการแสดงออกทางศิลปะสิ้นสุดลงด้วยข้อจำกัดเหล่านี้

ถึงแม้ในโลกศิลปะของประเทศไทย จะไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีสิทธิ์ในการผูกขาดอำนาจการปกครองหรือการจัดการการเมืองทางศิลปะ(ในทางนิตินัย) แต่(ในทางพฤตินัย)สังคมแบบรวมศูนย์ กลับฝังรากลึกและเติบโตอยู่คู่กับสังคมศิลปะไทยเสมอมา เนื่องจากองค์กร มูลนิธิ สถาบัน หน่วยงาน ด้านศิลปะ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ต่างก็กระจุกการบริหารจัดการจากศูนย์กลาง วัฒนธรรมของการดำเนินกิจกรรมทางศิลปะ แหล่งทุน รวมถึงโอกาสต่างๆ จึงไม่ถูกกระจายไปยังภูมิภาคหรือท้องถิ่นอื่นๆเท่าที่ควร ในขณะที่องค์กรทางศิลปะของรัฐจะพยายามกระจายอำนาจโดยการก่อตั้งองค์กรศิลปะในส่วนท้องถิ่นขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เพราะก็ยังต้องมีการบริหารจัดการและการตัดสินใจจากศูนย์กลาง และกลุ่มคนที่ยังผูกขาดการเข้าถึงแหล่งโอกาสต่างๆ ส่งผลกระทบต่อโอกาสของศิลปินท้องถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญด้านศิลปะ ที่พวกเขาเหล่านั้นพยายามส่งเสียงแห่งมาตุภูมิของพวกเขาออกไป แต่ด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบรวมศูนย์ที่กล่าวมา ทำให้เสียงเหล่านั้นเบาเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะได้ยิน การรับรู้ถึงตัวตนของการมีอยู่ทั้งด้านพื้นที่และบุคคล การถูกยอมรับ การแก้ไขปัญหา และโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทางศิลปะจึงหล่นหายไปด้วย

Artist:

  1. กอบพงษ์ ขันทพันธ์ Gobpong Khanthapan
  2. ชินดนัย ปวนคำ Chindanai Phuankam
  3. พงษธร นาใจ Pongsaton Najai
  4. วีรยุทธ นางแล Veerayut Nanglae
  5. พงศ์ธร กิจพิทักษ์ Pongthon Kitpithak
  6. อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต Anusorn tunyapalit
  7. อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต Anurak tanyapalit
  8. โรจน์วิรุฬห์ วรรณแก้ว Rodwiroon Wannakaew
  9. พัชรา นันต๊ะนา Patchara Nantana
  10. ประเชิญ จันทร์ตา Prachoen janta
  11. มนพร รอบรู้ Manaporn Robroo
  12. พิชิต สอนก้อม Pichit Sonkom
  13. อทิตยาพร แสนโพธิ์ Atittayaporn Saenpo
  14. ญานุศักดิ์ สืบเมืองซ้าย Yanusak Suebmuangsai
  15. ไพศาล อำพิมพ์ Paisarn Am-pim
  16. นิติพงศ์ นิกาจิ Nitipong Nikaji
  17. มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ Muhammadtoha Hajiyusof
  18. มูฮัมหมัดซุรียี มะซู Muhammadsuriyee Masu
  19. อิซูวัน ชาลี E-suwan Chali
  20. อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล Anuwat Apimukmongkon
  21. บุษราพร ทองชัย Bussaraporn Thongchai
  22. วิลาวัณย์ เวียงทอง Wilawan Wiangthong
  23. อวิกา สมัครสมาน Awika Samukrsaman
  24. ประภัสสร คอนเมือง Prapassorn Konmuang
  25. กฤตพร มหาวีระรัตน์ Krittaporn Mahaweerarat
  26. สุธีธิดา สีบุดดี Sutheethida Seebuddee
  27. อรชุน ทองรักษ์ Arjun Tongrak