โดย ประทีป สุธาทองไทย
ภัณฑารักษ์ ชล เจนประภาพันธ์
ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ภัทฐิชา ฐิติธรรมาภรณ์
8 ตุลาคม พ.ศ.2565 ถึง 21 มกราคม พ.ศ. 2566
ชั้น 1 อาคารหอศิลป์ เอส เอ ซี แกลเลอรี
จิตรกรรมนั้นมีความหลากหลายแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและแนวคิด โดยกายภาพของจิตรกรรมที่ทุกคนต่างรู้ว่าเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยชั้นสีบนระนาบที่มองเห็นได้ ไม่ว่าอุปกรณ์ วัสดุ หรือเทคนิคจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่จิตรกรรมก็ยังคงอยู่บนเงื่อนไขที่ต้องมีชั้นสีอยู่บนพื้นผิวสองมิติ แม้องค์ความรู้หรือแนวความคิดต่างๆ จะเป็นส่วนเสริมให้จิตรกรรมเกิดสุนทรียภาพ ไม่ว่าจะเป็นความลวงตา ความเหมือนจริง การจำลองมิติความลึก กลไกการเล่าเรื่องในภาพเขียน คำอธิบายอันซับซ้อนได้ถูกคิดขึ้นเพื่อให้การวาดภาพกลายเป็นศิลปะที่มีคุณค่าด้วยการใช้ “ฝีมือ” ของจิตรกรเอง

นิทรรศการ แผลเก่า / Old Wound โดย ประทีป สุธาทองไทย คืออีกพัฒนาการหนึ่งของศิลปินที่สนใจในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผ่านเอกสาร สิ่งพิมพ์ รวมถึงการบอกเล่า สิ่งเหล่านี้เป็นช่องทางสำคัญหนึ่งที่ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลในอดีต การคัดลอกด้วยจิตรกรรมอย่างตรงไปตรงมามีความหมายที่แตกต่างจากการผลิตซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังพูดถึงการทำให้ “กลาย” เป็นงานศิลปะ ด้วยการถ่ายทอดกายภาพของวัตถุไปสู่อีกระบบภาษาหนึ่ง ประทีปเลือกที่จะให้จิตรกรรมได้พูดถึงหน้าที่อันสำคัญในฐานะสื่อ ด้วยการวาดวัตถุให้กลายเป็นภาพอย่างตรงไปตรงมา ราวกับว่าการวาดภาพของเขาคือกระบวนการพิจารณา ถ่ายทอด โดยไร้อคติ ไร้อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งการหลีกเลี่ยงที่จะแสดงให้เห็นรอยฝีมือ เพื่อกดทับการ “สำแดง” ของอะไรก็ตามที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจำลองวัตถุในครั้งนี้

การ “แปล” วัตถุในประวัติศาสตร์ให้อยู่ในรูปแบบของจิตรกรรม ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่าประทีปไม่ได้คัดลอกในฐานะภาพสู่ภาพ แต่ในทางกลับกันเป็นการคัดลอกวัตถุไปสู่ภาพ ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยที่สื่อสารกับผู้ชมว่าวัตถุนั้นมีความเก่าแค่ไหน มีตำหนิอย่างไร หากการวาดภาพเป็นการใช้เวลากับการจ้องมอง การบรรจงถ่ายทอดวัตถุขึ้นมาใหม่ หรืออาจจะเรียกอีกอย่างว่าเป็น การถูกทำให้ “มองเห็นอีกครั้ง” ด้วยความเข้าใจที่แตกต่างทางเวลาและสถานการณ์ การทิ้งขอบขาวให้เป็นพื้นของภาพวาด บ่งชี้ให้เห็นถึงความจงใจในการขับเน้นสิ่งพิมพ์เหล่านั้นในฐานะกายภาพที่ตาเห็น ราวกับว่าจิตรกรรมคือกระบวนการถ่ายทอดสภาวะของวัตถุเสียยิ่งกว่าการถ่ายภาพ

ภาพวาดในนิทรรศการครั้งนี้ได้กลายเป็นสัญญะที่มองเห็นได้ ทั้งชัดเจน ไม่ผิดเพี้ยน สามารถเชื่อมโยงสื่อความไปยังสิ่งที่มองไม่เห็น วัตถุที่ถูกคัดลอกขึ้นใหม่เหล่านี้คือสัญญะที่สื่อสารกับผู้ชมอย่างมีทิศทาง หรืออาจจะไม่มีทิศทางก็ย่อมเป็นไปได้ จากยุคสมัยที่สิ่งพิมพ์เต็มไปด้วยเรื่องที่ถูกรับรู้ในระดับสาธารณะ หรือเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนหมู่มาก จิตรกรรมทำให้สิ่งที่ถูกถ่ายทอดมีความสำคัญเสมอ ไม่เว้นแม้แต่คำกำกับภาพบนปกหนังสือ สายตาของผู้ชมในฐานะ “ตัวแปร” สำคัญ จะช่วยขยายบาดแผล และอย่างที่เกริ่นในตอนต้นถ้ากายภาพของจิตรกรรมคือชั้นสีบนระนาบแบนๆ ก็ยิ่งน่าคิดว่าวัตถุที่เราเห็นในฐานะภาพวาดนั้นจริงแท้แค่ไหน กาลเวลาทำงานกับความทรงจำอย่างไร “แผลเก่า” อาจเป็นหลักฐานที่ไม่ได้ให้ภาพทางประวัติศาสตร์ที่ชัดแจ้ง แต่ได้ซ่อนเรื่องราวภายใต้ความคาดหวัง ความใคร่รู้ ที่ไม่อาจจะแง้มเปิดได้อีกครั้ง เราได้เพียงแต่เชื่อมโยงจิตรกรรมเหล่านี้เข้ากับความทรงจำหรือความคิดที่ลางเลือน แต่ในทางกลับกัน นี่อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่ชัดเจนที่สุดสำหรับประวัติศาสตร์ของประเทศสารขัณฑ์นี้
โดย ชล เจนประภาพันธ์
