นิทรรศการโดยศิลปิน Gabriella Hirst, Hu Yun และ Nana Buxani
ภัณฑารักษ์ Patrick Flores
จัดแสดงที่ Warin Lab Contemporary, กรุงเทพฯ
3 กันยายน – 29 ตุลาคม 2565

Nature of Work นิทรรศการที่นำเสนอผลการสำรวจความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศผ่านกิจกรรมของมนุษย์ ในฐานะของแรงงานผู้พลัดถิ่นและผู้อยู่อาศัย เปิดเผยให้เห็นถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ จากการตีความโดยศิลปินสามสัญชาติอย่างน่าสะเทือนใจ

การแกะรอยนี้ เริ่มต้นด้วย “เมล็ดข้าว” พืชผลทางการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ถูกนำเสนอผ่านผลงาน Names for Clouds แบ่งออกเป็นสองส่วนได้แก่ ผลงานจัดวางจากเมล็ดข้าวที่ถูกสลักตัวอักษรไว้อย่างประณีตโดยช่างฝีมือชาวจีน สิ่งที่ถูกบันทึกโดยศิลปินจีน Hu Yun ตัวงานคือรายชื่อของแรงงานชาวจีนในเหมืองขุดทองที่ประเทศออสเตรเลียในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีที่มาจากการที่ศิลปินได้เข้าไปสืบค้นข้อมูลจากคลังเก็บเอกสารสำคัญที่ระบุรายชื่อของแรงงานชาวจีนเหล่านั้น

อีกส่วนหนึ่งของ Names for Clouds นำเสนอภาพถ่ายของผลงานชิ้นก่อนหน้า จัดวางเรียงทอดยาวไปกับผนังห้องนิทรรศการ ภาพถ่ายเมล็ดข้าวที่ถูกขยายขนาด เผยให้เห็นรายชื่อของเหล่าแรงงานได้เด่นชัดขึ้น ทว่าจำนวนของรายชื่อที่มากมายเหล่านี้ กลับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายชื่อทั้งหมดเท่านั้น ชวนให้คิดถึงรายชื่ออีกมากมายที่ตกหล่นและสูญหายไประหว่างการสำรวจระบบนิเวศของเหล่าแรงงานที่ผ่านมา

อีกด้านหนึ่งของห้องนิทรรศการ คือผลงานของศิลปินฟิลิปปินส์ Nana Buxani นำเสนอผลงานภาพถ่ายจำนวน 10 ชิ้น ในชื่อ Romblon Series แสดงภาพชีวิตของแรงงานเหมืองผลิตหินอ่อนแห่งหนึ่งในจังหวัดรอมบลอน (Romblon) ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมหินอ่อน จนได้รับฉายา “เมืองหินอ่อนแห่งฟิลิปปินส์” อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามของเกาะที่รายล้อมไปด้วยหาดทรายขาว ภูเขา และป่าฝนอันอุดมสมบูรณ์

ทว่าความสวยงามของภูมิทัศน์ดังกล่าว กลับสวนทางกับคุณภาพชีวิตของแรงงานในพื้นที่ กระบวนการแปรรูปก้อนผลึกจากธรรมชาติให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามมีมูลค่ามหาศาล ต้องอาศัยความยากลำบากและความอุตสาหะแลกกับค่าตอบแทนสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตและปากท้องของพวกเขา ชีวิตของเหล่าแรงงานเหมืองจึงไม่ต่างไปอะไรกับฟันเฟืองเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมนี้เพียงเท่านั้น

ถัดไปที่อีกส่วนหนึ่งของนิทรรศการจะพบกับผลงานวิดีโออาร์ต จำนวน 2 ชิ้น โดยศิลปิน Gabriella Hirst ได้แก่ Force Majeure เธอได้เดินทางกลับไปยังสถานที่แห่งหนึ่งและเฝ้ารอจนพายุมาถึง เพื่อบันทึกภาพของเธอที่กำลังวาดภาพของพายุที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจากลมมรสุมที่พัดกรรโชกเข้ามา สร้างความยากลำบากต่อการทำงานของเธอเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นหน้าที่ของศิลปินที่จะต้องต่อสู้กับปรากฎการณ์ธรรมชาติเพื่อให้เป้าหมายของตนสำเร็จลุล่วงไปตามที่วางไว้

กระบวนการทำผลงานศิลปะชิ้นนี้ของ Hirst มีที่มาจากสิ่งที่ Caspar David Friedrich (ค.ศ. 1774–1840) จิตรกรแนวโรแมนติกชาวเยอรมัน หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่ศิลปิน เริ่มที่จะตั้งคำถามต่อระบบแนวคิดทางสังคมและการเมืองแบบเก่าที่ตนกำลังเผชิญอยู่ ณ ช่วงเวลานั้น

Wanderer above the Sea of Fog โดย Caspar David Friedrich ภาพของชายหนุ่มที่ยืนหันหลังให้ผู้ชมและประจันหน้ากับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่ถูกสะท้อนผ่านทิวเมฆสุดลูกหูลูกตา ให้อารมณ์ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติอันเป็นที่ประจักษ์เมื่ออยู่ต่อหน้ามนุษย์

แม้จะแตกต่างด้วยบริบทของยุคสมัย แต่ผลงานของศิลปินทั้งสองกลับแสดงถึงนัยของการเผชิญหน้ากับพลังอำนาจของธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะนำเสนอความยิ่งใหญ่ที่อยู่ภายในตัวมนุษย์

และผลงานอีกหนึ่งชิ้น Red Zone วิดีโออาร์ตที่ถ่ายทอดเรื่องราวความสะเทือนขวัญบนพื้นที่ที่เกิดการทับซ้อนกันระหว่างตะกอนความทรงจำร่วมของสงครามและปรากฏการณ์ธรรมชาติภายในแวร์เดิง (Verdun) เมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส

วิดีโดดังกล่าวแสดงภาพบรรยากาศของเมือง ทุ่งดอกไม้และแม่น้ำลำธารอันเงียบสงบพร้อมกับบทสนทนาของชาวเมืองและศิลปิน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อเกิดพายุขนาดใหญ่พัดถล่มเข้ามา แผ้วถางทำลายต้นไม้ใหญ่ให้โค่นล้มอย่างราบคาบความเสียหายจากปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้ กลับเผยให้เห็นถึงเศษซากของอาคารบ้านเรือนที่ผุพัง หลุมหลบภัยที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ ยังคงหลงเหลืออยู่ภายในผืนป่าเขียวขจี

สิ่งปลูกสร้างเหล่านี้คือหลักฐานที่ช่วยยืนยันว่า แวร์เดิง (Verdun) คือสถานที่ที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็นสมรภูมิรบครั้งสำคัญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในชื่อเหตุการณ์ “Battle of Verdun” ซึ่งคร่าชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก

ด้วยจำนวนของลูกกระสุนปืนใหญ่ที่ตกลงมาราวกับห่าฝน จากการที่ฝ่ายทหารเยอรมันใช้โจมตีชาติฝรั่งเศสได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่และความหวาดผวาให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะล่วงเลยมากว่าหลายทศวรรษ ทว่าบาดแผลที่สงครามได้ฝากไว้นั้นยังคงฝังรากลึกในความทรงจำของชาวฝรั่งเศสเป็นเสมอมา

ผลงานชิ้นดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่บันทึกและเปิดเผยร่องรอยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์บนแผ่นดินเดียวกันนี้

เกี่ยวกับศิลปินและภัณฑารักษ์

Gabriella Hirst (ศิลปิน) เกิดและโตในดินแดนของชนเผ่า Cammeraygal ในประเทศออสเตรเลีย โดยปัจจุบันแบ่งเวลาพำนักอยู่ระหว่างกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลงานศิลปะของGabriellaเป็นงานด้านภาพเคลื่อนไหว และการแสดงในพื้นที่สวนพันธุ์ไม้ งานวิจัยทางศิลปะของเธอสำรวจเรื่องนัยทางการเมืองของการยึดครอง ซึ่งระยะหลังมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ สวน อุทกวิทยา และประวัติศาสตร์ด้านการล่าอาณานิคม ในปี 2563

Nana Buxani (ศิลปิน) เกิดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เธอทำงานด้านภาพนิ่งแนวสารคดี ภาพยนตร์ และงานจิตรกรรม โดยทำงานในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานเด็ก เด็กและผู้หญิงในสถานการณ์ยากลำบาก เด็กที่ถูกกักขัง ความแร้นแค้นของคนไร้บ้าน ชุมชมในดินแดนสงคราม กลุ่มชาติพันธุ์และการเรียกร้องดินแดนของบรรพบุรุษ ชุมชนยากจนในเมืองใหญ่ และกลุ่มผู้อาศัยในอาคารสหกรณ์การเคหะ

Hu Yun (ศิลปิน) เกิดที่นครเซี่ยงไฮ้ จบการศึกษาจาก China Academy of Art ปัจจุบันพำนักอยู่ระหว่างเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และเบลเกรด ประเทศเซอร์เบีย ผลงานศิลปะของHu Yun มุ่งเน้นไปที่การย้อนกลับไปศึกษาช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เพื่อนำเสนอการตีความที่แตกต่าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ตัวเขาเองได้สะท้อนความเป็นเชื้อชาติและความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อประวัติศาสตร์นั้นๆ

Patrick Flores (ภัณฑารักษ์) เป็นอาจารย์ด้านศิลปศึกษา ในคณะศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์ประจำที่ Vargas Museum ในกรุงมะนิลา นอกจากนี้ยังเป็นผู้อำนวยการเครือข่ายศิลปะร่วมสมัยของฟิลิปปินส์ ในปี 2562 แพทริคได้รับเลือกให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ (Artistic Director) ของเทศกาลศิลปะสิงคโปร์ เบียนนาเล่ และในปี 2565 ได้รับตำแหน่งประธานกลุ่มทำงานของไต้หวัน พาวิลเลี่ยนในเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ประเทศอิตาลี

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก Warin Lab Contemporary