สัตว์ประหลาดรูปร่างแปลกตา หลากหลายสีสันและท่วงท่า เริงระบำอยู่บนผืนผ้าใบ คือผลงานศิลปะชุดใหม่ส่งท้ายปี 2021 ของ อลงกรณ์ หล่อวัฒนา ศิลปินไทยผู้เป็นที่รู้จักจากงานสร้างสรรค์ในแนวทางศิลปะไทยประเพณีร่วมสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นไทยและความเชื่อทางพุทธศาสนา ทว่าสำหรับผลงานชุดนี้ ลายเส้นประณีตบรรจงแบบไทยๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของอลงกรณ์กลับถูกนำมาใช้ในเชิงพิสดารมากเป็นพิเศษ เมื่อมันก่อร่างประสานกันเป็นเหล่าสิ่งมีชีวิตในจินตนาการหลายสายพันธุ์

อลงกรณ์ หล่อวัฒนา

ต้นตอของผลงานชุดนี้ เกิดจากการที่อลงกรณ์ได้มีโอกาสไปเห็นผลงานของนักออกแบบคาแรกเตอร์การ์ตูนชาวไทย สมศักดิ์ มหามงคล ซึ่งทำงานให้กับสตูดิโออะนิเมชั่นญี่ปุ่นเป็นหลัก โดยผลงานชุดที่ว่าคือภาพวาดเส้นขาวดำด้วยเทคนิคพู่กันจีนบนกระดาษ ศิลปินใช้การวาดและปาดสีดำที่มีน้ำหนักแตกต่างกันเพื่อสร้างแสงเงาให้กับสัตว์ประหลาดแต่ละตัว ถ่ายทอดให้เห็นความซับซ้อนในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างน่าทึ่ง

แม้ว่ารูปลักษณ์ของสัตว์ประหลาดเหล่านี้จะมีความซับซ้อน แต่ก็มีหลายส่วนประกอบที่แสดงให้เห็นถึงการหยิบยืมเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตในตำนานหรือนิทานปรัมปรา นำมาดัดแปลงเข้ากับลักษณะทางกายภาพของพืชหรือสัตว์ตามธรรมชาติ สอดคล้องกับ “ชื่อ” ของสัตว์แต่ละตัวที่สมศักดิ์ขนานนามเอาไว้พร้อมบทบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับพวกมัน เป็นต้นว่า “เหรา” คือการนำเอาสัตว์ป่าหิมพานต์มาตีความใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น จากสัตว์เลื้อยคลานที่เรามักพบเจอตามบันไดทางขึ้นพระอุโบสถในวัดไทย สู่สัตว์ที่ดูคล้ายมังกรที่มีกรงเล็บแหลมคม หรือ “อัสดรเหราสองหัว” อันมีที่มาจากการผสมระหว่างสัตว์สองชนิด กลายเป็นม้ามังกรสองหัว สัตว์ประหลาดที่ว่องไวและน่าอันตราย

New God 1 และ Vajra
เหรา และ อัสดรเหรา

นอกจากเหล่าสรรพสัตว์ตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตพิสดารที่มีรูปลักษณ์คล้ายมนุษย์อยู่สองสามตัวด้วย เช่น “New God 1” ที่ดูคล้ายนักรบล่ำสันในชุดเกราะหนาหนัก กำลังถืออาวุธรูปทรงคทาดูน่าเกรงขาม หรือ “Vajra” อันปราดเปรียว ผู้ทรงไว้ซึ่งสายฟ้าแห่งพระอินทร์ ศิลปินต้องการสื่อถึงพลังอำนาจของแสงสว่าง ที่สามารถขจัดม่านหมอกแห่งความโง่เขลาในจิตใจคนได้

นัยแห่งการคิดพิจารณาถึงหลักธรรมความดีงามเช่นนี้ยังปรากฏให้เห็นในผลงานอีกหลายชิ้น สะท้อนให้เห็นตัวตนของศิลปิน สมศักดิ์ มหามงคล ที่มีความเชื่อความศรัทธาในพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นภาพสัตว์ประหลาดนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นจากความสนุกสนานแต่เพียงอย่างเดียว ดังที่เขากล่าวเอาไว้ว่า “หลายคนอาจจะเข้าใจว่างานชุดนี้ผมแค่มาวาดเหล่าส้ตว์ประหลาดเอามันอย่างเดียว ไม่เห็นจะมีอะไร แต่จริงๆ แล้วแฝงแนวคิดต่างๆ ไว้มากมาย”

ผลงานที่มีความพิเศษมากที่สุดและดูจะแฝงแนวคิดเาอไว้ได้อย่างน่าสนใจมากที่สุด คือภาพการรวมตัวของเหล่าสัตว์ประหลาดจำนวนนับไม่ถ้วน เกี่ยวกระหวัดกันอย่างสับสนวุ่นวาย หากมองรวมๆ ก็ดูเหมือนเรือนร่างของสัตว์ประหลาดตัวใหญ่หนึ่งตัว สมศักดิ์กล่าวว่าเขาค่อยๆ วาดภาพนี้ขึ้นทีละนิดๆ เพื่อสื่อสารหลักธรรมเกี่ยวกับการเวียนว่ายตายเกิด และมันก็ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผลงานชุด สรรพสัตว์ สังสารวัฏ ของเขาในเวลาต่อมา

ย้อนกลับมาที่ผลงานทั้งสิบสองภาพในนิทรรศการ Monster Ink แม้ว่าอลงกรณ์จะเลือกใช้ชื่อเดียวกันกับชุดผลงานดั้งเดิมของสมศักดิ์ แต่การนำเสนอทางศิลปะนั้นกลับแตกต่างออกไปในทางตรงกันข้าม จากภาพวาดลายเส้นขาวดำเรียบง่าย เน้นการให้น้ำหนักแสงเงาที่ดูลึกลับ กลายมาเป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ แสดงให้เห็นเรือนร่างของสัตว์ประหลาดแต่ละตัวอย่างเต็มตา พวกมันได้ถูกแต่งเติมสีสันจากจินตนาการส่วนตัว จัดวางอยู่บนฉากหลังที่เต็มไปด้วยลวดลายนามธรรมตามสไตล์ของเขาเอง

นอกจากนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปอีกประการหนึ่งคือนามของสัตว์แต่ละตัว แทนที่จะใช้ชื่อที่สมศักดิ์ตั้งเอาไว้แต่แรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดและเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างสรรค์ อลงกรณ์กลับเลือกที่จะตั้งชื่อใหม่ขึ้นมา โดยอาศัยการตีความรูปลักษณ์ ท่าทาง และอารมณ์เฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละตัว ซึ่งแต่ละชื่อนั้นก็ให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ น่าเกรงขาม ราวกับตัวละครในเทพนิยายเลยทีเดียว

การกำเนิดใหม่ของสัตว์ประหลาดที่แตกต่างกันสองรูปแบบจากสองศิลปิน สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของศิลปินแต่ละคน ผู้มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นำมาสู่การจัดแสดงผลงานศิลปะที่น่าตื่นตาตื่นใจ และถ่ายทอดความเป็นตัวตนของพวกเขาได้อย่างลึกซึ้ง.