โดย ปรัชญา เจริญสุข
จัดแสดงที่ Art4C, Gallery and Creative Learning Space
วันที่ 13 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน 2556

หลายคนอาจจะเคยพบเห็นข่าวตามสื่อออนไลน์ และภาพของเต่าทะเลที่ว่ายไปติดแพขยะกลางมหาสมุทร นกนางนวลที่จมอยู่ในคราบน้ำมันดิบ หรือเศษขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เข้าไปอุดตันอยู่ในระบบทางเดินอาหารของวาฬหัวทุยในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีข่าวการค้นพบพลาสติกขนาดเล็กหรือ “ไมโครพลาสติก” โดยนักวิจัยทางทะเล ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในตะกอนทรายที่กระจายอยู่ทั่วริมหาด รวมไปถึงปะปนเข้าไปอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลนับไม่ถ้วน และยังคงมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาตลอดช่วงสองทศตวรรษที่ผ่านมา

เรื่องราวดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ปรัชญา เจริญสุข ศิลปินรุ่นใหม่ชาวจังหวัดชุมพร ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุด หาดทรายรี ซึ่งเคยจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) มาแล้วเมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ต่อยอดแนวคิดของผลงานมาสู่นิทรรศการ Mapping Human Journey กับการสํารวจร่องรอยความเสียหายที่มนุษย์ทิ้งไว้ให้แก่ธรรมชาติ โดยการเก็บรวบรวมไมโครพลาสติกจากหาดทรายรี แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในจังหวัดบ้านเกิด เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ทางทะเลที่กำลังก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ นี้ ล้วนเป็นภัยต่อทุกชีวิตบนโลก และค่อยๆ คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวเรามากเพียงใด

ปรัชญา เจริญสุข ศิลปิน

“เราอยากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์สร้างขึ้น จากการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซี่งสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้กับโลกไว้มากมาย และสุดท้ายเราก็ต้องรับผลนั้นเอง”

ปรัชญาเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุดปัจจุบัน เมื่อครั้งที่เธอยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีชั้นปีสาม ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากการค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อนำมาทำงานสร้างสรรค์ส่งในวิชาเรียนภายใต้หัวข้อ “ประเพณีและวัฒนธรรม” เธอเลือกที่จะกลับไปสำรวจพื้นที่บ้านเกิดของเธอ “หาดทรายรี” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลสำคัญต่างๆ ของทางจังหวัด ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเป็นช่วงเวลาหลังเทศกาลลอยกระทงพอดี ทำให้ปรัชญาได้พบเห็นสภาพของหาดทรายรีที่เต็มไปด้วยขยะจำนวนมหาศาลกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เธอจึงเลือกเก็บรวบรวมขยะที่พบได้ตามหาดทรายรีมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะจากวัสดุเก็บตก การทำงานชุดนี้เป็นเหตุให้ปรัชญาเริ่มสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยน้ำมือมนุษย์ และยึดเป็นแนวทางสร้างสรรค์ผลงานของตนมาอย่างต่อเนื่อง

ของเล่น ศิลปะการจัดวางจากของเล่นโมเดลพลาสติกที่ปรัชญารวบรวมไว้ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ศิลปินนิยามพวกมันว่าเปรียบเสมือนกับตัวแทนของกาลเวลาและสิ่งของที่ถูกละทิ้งไว้ในอดีต
รองเท้า วัสดุเก็บตกจากริมหาดทรายรี เพรียงหิน สัตว์ทะเลประเภทขาปล้องที่ดำรงชีวิตด้วยการยึดเกาะโขดหินตามธรรมชาติ หรือตามสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ทว่าในปัจจุบันเราจะสามารถพบเห็นเพรียงหินเกาะติดอยู่ตามใต้ท้องเรือหรือแม้กระทั่งขยะที่ลอยอยู่ในท้องทะเล แสดงให้เห็นการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติร่วมกับขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ท้องทะเลจากน้ำมือของมนุษย์

จนกระทั่งเมื่อปรัชญาได้ทราบข่าวการพบขยะไมโครพลาสติกในกระเพาะอาหารของปลาทู ทำให้เธอเกิดความสงสัยในรูปร่างหน้าตาของมัน และตั้งคำถามว่าเธอจะสามารถหาไมโครพลาสติกตามจากบ้านเกิดได้หรือไม่ ปรัชญาลองนำทรายจากหาดทรายรีมาร่อนด้วยกระชอนจนพบไมโครพลาสติกจำนวนมาก นั่นทำให้เธอตระหนักว่า ปัญหามลพิษจากไมโครพลาสติกนั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เธอคิดไว้มาก แม้กระทั่งในอาหารที่รับประทานในทุกๆ มื้อ หาดทรายที่พบเห็นในทุกๆ วัน เพียงแค่เราไม่เคยสังเกต หรือรับรู้ได้ถึงการมีอยู่ของพลาสติกขนาดเล็กเท่าเม็ดทรายเหล่านี้

ปรัชญาสร้างสรรค์ผลงาน หาดทราย เพื่อบันทึกสภาพความเป็นจริงของชายหาดบ้านเกิด โดยใช้กระบวนการกดประทับเฟรมผ้าใบลงบนพื้นทราย สิ่งที่ติดขึ้นมานอกจากเม็ดทรายและเปลือกหอยตามธรรมชาติแล้ว ยังมีสิ่งแปลกปลอมปะปนขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน ทว่าสิ่งเลวร้ายที่สุดก็คือความแนบเนียน จากการที่เราแทบจะไม่สามารถจำแนกได้เลยว่าสิ่งที่ตาเห็นนั้นคือ เม็ดทราย เปลือกหอย หรือ เศษพลาสติก

พื้นที่ที่ควรจะเป็นหาดทรายขาวสะอาด กลับกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติก ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้พลาสติกของมนุษย์ที่ขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่ต่อธรรมชาติ

ปรัชญายังสังเกตว่าเมื่อเวลาผ่านไป ขยะพลาสติกที่ตนสะสมเอาไว้จากเดิมที่เคยแข็งแรงคงทน กลับเปราะบางและแตกหักง่าย เป็นเพราะว่าพลาสติกเหล่านั้นค่อยๆ เกิดการย่อยสลายในระดับโมเลกุล ทำให้ชิ้นส่วนค่อยๆ เสื่อมสภาพและแตกหักจนมีขนาดที่เล็กลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับ “ไมโคร” (micro) หรือเล็กลงไปอีกที่ระดับ “นาโน” (nano) แทรกตัวกลับไปสู่ห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์เองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงผ่านการบริโภคอาหารทะเล

ผลงานชุด หาดทรายรี แสดงให้เห็นการมีอยู่ของไมโครพลาสติก ศิลปินนำเศษไมโครพลาสติกที่ได้จากกระบวนการคัดแยกขยะด้วยการร่อนทรายจากหาดทรายรี มาจัดเรียงไว้บนระนาบวัสดุชนิดต่างๆ ที่มีการแบ่งช่องตารางขนาด 5 x 5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดสัดส่วนอนุภาคของไมโครพลาสติก ซึ่งเธอก็ได้ต่อยอดแนวคิดดังกล่าวไปสู่ผลงานชิ้นอื่นๆ ด้วยการดัดแปลงรูปร่างของเส้นตาราง ปรับเปลี่ยนไปเป็นตารางคลื่น ที่เชื่อมโยงถึงปัญหามลพิษในปัจจุบันที่ขยะไมโครพลาสติกได้แพร่กระจายปะปนไปในทุกสภาพแวดล้อม บนผืนดิน ใต้ผืนน้ำ หรือในอากาศ โดยใช้สีที่แตกต่างเป็นสัญลักษณ์แทนตัวสภาพแวดล้อมแต่ละแบบ

นอกจากนี้ การจัดการกับขยะก็นับว่ามีความซับซ้อนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากความหลากหลายของขยะชนิดต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการที่แตกต่างกันไป ปรัชญามองว่าการคัดแยกขยะถือเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เช่นในกรณีของขยะอันตราย อย่างกระป๋องสเปรย์หรือไฟแช็ค ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลของแก๊สที่ยังหลงเหลืออยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้หากจัดการกับขยะเหล่านั้นอย่างผิดวิธี ปรัชญาจึงได้จำลองสภาพพื้นที่ของหาดทรายแบบย่อมๆ มาไว้ในห้องนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาพปริมาณขยะชนิดต่างๆ ที่กองสุมปะปนกันอยู่บนผืนทราย ศิลปินเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรมเวิร์คช็อปเรียนรู้การคัดแยกขยะ ก่อนจะนำขยะเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะผ่านมุมมองและจินตนาการของผู้ชมเอง

“เราไม่ได้มองว่าพลาสติกเป็นวายร้าย แต่พฤติกรรมของมนุษย์ต่างหากที่ทำให้พลาสติกพวกนี้เป็นวายร้าย

“อยากให้ผลงานชุดนี้สามารถส่งสารไปหาผู้ชมได้ จึงอยากจะชวนคนมาเวิร์คช็อปด้วยกัน เช่น การคัดแยกขยะตรงนี้ จะทำให้ได้เห็นถึงความยากของการคัดแยกขยะออกจากธรรมชาติ ซึ่งมันยากมากๆ ที่เราจะลงมือทำคนเดียว ทุกคนต้องช่วยกัน เรียนรู้กระบวนการตรงนี้ไปด้วย” ปรัชญากล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการจะมีกิจกรรมเวิร์คช็อปในวันที่ 27 พค 2566 สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Art4C,Gallery and Creative Learning Space (ชั้น 2)