โดย สะรุจ ศุภสุทธิเวช
Nova contemporary
29 Apirl – 24 June 2023
นิทรรศการ If I can make one wish . . . ของสะรุจ ศุภสุทธิเวช กับความสนใจต่อพื้นที่บริเวณแม่น้ำแคว สถานที่แห่งความทรงจำและการก่อร่างอนุสรณ์แด่เหล่ากรรมกรและเชลยศึกที่จากไประหว่างการสร้าง “ทางรถไฟสายมรณะ”
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นมีแผนการที่จะสร้างทางรถไฟทหารสายใหม่เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งสำหรับใช้ลำเลียงอาวุธ และกำลังพลของญี่ปุ่น เพื่อไปโจมตีเมียนมาและอินเดีย โดยเริ่มต้นจากเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยต่อไปจนถึงเมียนมาจำนวนสองเส้นทาง ได้แก่ ทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี (ทางรถไฟสายคอคอดกระ) และทางรถไฟสายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ตันบูซายัด (ทางรถไฟสายไทย-เมียนมา) หรือชื่อที่เรารู้จักกันในเวลาต่อมา “ทางรถไฟสายมรณะ”
ทางรถไฟสายมรณะ เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) โดยกองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบไปด้วย ทหารอังกฤษ, อเมริกัน, ออสเตรเลีย, ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ รวมทั้งจ้างเกณฑ์กรรมกรชาวไทย, ทมิฬ, พม่า, ชวา, ญวน, มลายา และจีน มาใช้เป็นแรงงานในการสร้างเส้นทางรถไฟ โดยทางด้านพม่าเริ่มก่อสร้างจากเมืองตันบูซายัต ทางภาคใต้ของพม่า และทางด้านไทยเริ่มทางเมืองกาญจนบุรี โดยมีสะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นสะพานที่สำคัญที่สุดของเส้นทางรถไฟสายมรณะ

สะรุจนำเสนอผลงานวิดีโอชิ้นแรก เริ่มต้นด้วยข้อความภาษาฝรั่งเศสจากหนังสือ Le Pont de la rivière Kwaï โดยPierre Boulle ภาพจากมุมกล้องเสมือนกับมุมมองของผู้โดยสารกำลังเดินทางบนขบวนรถไฟที่เคลื่อนตัวผ่านช่องแคบกลางหุบเขาไปอย่างช้าๆ เสียงขุดเจาะของเหล็กที่กระทบกับหิน แสงสีฟ้าที่สว่างขึ้นพร้อมกับเศษชิ้นส่วนของภาพพิกเซลที่ล่องลอยอยู่ ค่อยๆ ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน เผยให้เห็นสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของ “ช่องเขาขาด” ซึ่งเป็นภูเขาที่ถูกตัดให้เป็นช่องสำหรับวางรางรถไฟ เดินทางต่อไปผ่านทางโค้งเลียบผาริมแม่น้ำแควจนถึงถ้ำกระแซ ที่พักของเชลยศึกในอดีต ตัดสลับไปที่บรรยากาศอันเงียบสงบภายในห้องพักโฮมสเตย์ หมอนและผ้าห่มถูกวางไว้อย่างเป็นระเบียบเพื่อต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ สถานที่ที่เต็มไปด้วยร่องรอยความทรงจำอันขมขื่นของหลายหมื่นชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้

ผลงานที่สอง ถูกติดตั้งไว้ที่กลางห้องนิทรรศการ ประกอบไปด้วย เก้าอี้นั่งอัฒจันทร์ขนาดใหญ่ และผนังสีขาวทำหน้าที่เป็นจอภาพถ่ายทอดบรรยากาศภายในงานสัปดาห์ข้ามแม่น้ำแคว เทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและรำลึกถึงความโหดร้ายของสงคราม โดยนำเสนอในลักษณะของการจำลองเหตุการณ์การก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ เหล่านักแสดงกว่าร้อยชีวิตต่างสวมบทบาทของตนเองอย่างแข็งขัน ทั้งกรรมกรที่ทำหน้าที่แบกหาม เชลยศึกที่ถูกทรมาณอย่างทารุณ และเมื่อฉากการทิ้งระเบิดทำลายสะพานข้ามแม่น้ำแควโดยเครื่องบินทหารฝ่ายสัมพันธมิตรได้มาถึง ใบหน้าของผู้ชมต่างโห่ร้องด้วยความตื่นเต้นเหล่าเชลยต่างจับปืนลุกขึ้นสู้ จบลงที่ความพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น และชัยชนะของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร


ความบันเทิงเบื้องหน้าได้ทำให้ผู้ชมหลงลืมมวลเหตุและแก่นสารของสงครามไปจนหมดสิ้น สะรุจถ่ายทอดบรรยากาศทั้งหมดภายในเทศกาล ด้วยการสร้างสภาวะที่ไม่ปกติโดยใช้เทคนิค invert สลับค่าแสง-สี จากดำเป็นขาวและขาวเป็นดำ พร้อมหน่วงการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ให้เคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ เสียงทุกอย่างถูกยืดยาวจนฟังไม่ได้ศัพท์ราวกับเวลาถูกเหนี่ยวรั้งไว้ในห้วงภวังค์อันน่าพิศวง

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้รื้อถอนแนวรางบางส่วนของเส้นทางที่เชื่อมต่อกับประเทศพม่าออก ส่วนสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำแควก็ได้รับการซ่อมแซมและสถาปนาเป็น “สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ” ในขณะเดียวกัน ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามก็ได้ให้ความมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของประเทศในเอเชียในการสร้างอนุสรณ์สถานไว้ตามสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสงคราม สำหรับในประเทศไทยเองก็มีอนุสรณ์สถานที่สำคัญ ได้แก่ สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก และ สุสานทหารสัมพันธมิตรเขาปูน ส่วนทางประเทศญี่ปุ่นผู้แพ้สงครามก็ได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์คารวะแด่ดวงวิญญาณของเหล่าเชลยศึกและกรรมกรในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ก่อนจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดกาญจนบุรีในเวลา
แต่กับเรื่องราวของ อนุสาวรีย์ทหารจีน (孤軍墓) นั้นช่างแตกต่างออกไป อาจเป็นเพราะด้วยชาติกำเนิดของพวกเขาที่เป็นชาว “ผิวเหลือง” หรือเพราะบริบทของฝักฝ่ายในช่วงสงครามที่ทำให้เรื่องราวของเชลยศึกชาวจีนจึงไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในหน้าประวัติศาสตร์ของการสร้างสะพานแม่น้ำแคว และเมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปกว่า 60 ปีนับจากการสร้างสุสานทหารสัมพันธมิตร นางวรรณนิภา กวนด้วง จึงใช้ทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเธอ สร้างอนุเสารีย์แห่งนี้ขึ้น ณ พื้นที่เล็กๆ ในตำบลท่ามะขามใกล้สะพานแม่น้ำแคว เพื่อระลึกถึงชะตากรรมอันน่าเศร้าสลดของเชลยศึกชาวจีน เมื่อครั้งที่พวกเขาถูกใช้เป็น “โล่มนุษย์” ปกป้องสะพานข้ามแม่น้ำแควจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินฝ่ายสัมพันมิตร ซึ่งต้องสังเวยชีวิตของเชลยชาวจีนกว่าสามร้อยคน ย้อมแม่น้ำทั้งสายให้กลายเป็นสีเลือด เหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในช่วงหนึ่งของคำจารึกบนอนุสรณ์และยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน อนุสาวรีย์ทหารจีน จึงเปรียบดั่งอนุสรณ์ของเชลยศึกผู้ถูกหลงลืมประหนึ่งส่วนเกินทางประวัติศาสตร์ที่ขาดหายจากความทรงจำร่วมของยุคสมัย
สถานที่แห่งนี้ปรากฏอยู่ภายในผลงานช่วงที่สามของนิทรรศการ บอกเล่าความอาวรณ์ของผู้สูญเสียผ่านผลงานวิดีโอและประติมากรรมช่อดอกไม้ถูกจัดวางไว้ ที่อีกด้านหนึ่งของห้องนิทรรศการ วิดีโอเริ่มต้นด้วยฉากพื้นหลังสีน้ำเงินซึ่งค่อยๆ เปิดเผยให้ได้ยินเสียงกระดิ่งที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของลิทธิเต๋า พร้อมกับคำบรรยายที่มีเนื้อหาจากบทสนทนาถึงผู้วายชนม์ระหว่างเด็กสาวกับแม่ของเธอ กับการกล้ำกลืน ฝืนทนต่อการหลั่งน้ำตาถึงผู้เป็นที่รัก



ภาพเรนเดอร์มวลของเหลวสามมิติ ค่อย ๆ หลอมรวมกันจนเป็นภาพสลัวของอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ในสุสานทหารจีน ธงผืนเก่าที่ขาดวิ่นของรัฐบาลจีนพรรคก๊กมินตั๋งก็ยังคงโบกสะบัดลู่ลมอยู่ท่ามกลางความเงียบเหงา และแล้วห่าฝนสีน้ำเงินก็ได้นำพาผู้ชมไปสู่เรื่องราวอีกบทหนึ่ง สะรุจบรรยายด้วยบทพรรณนาของหญิงสาวผู้เขียนจดหมายถึงชายผู้ล่วงลับกับความปรารถนาถึงช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้พบเจอกันอีกในสักวันหนึ่ง ทว่าภาพของช่อดอกไม้และซองจดหมายปิดผนึกที่ถูกวางไว้เคียงข้างอนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ กลับช่วยย้ำความคร่ำครวญถึงการส่งมอบความรู้สึกที่ไม่รู้ว่า “ผู้รับ” จะสามารถสัมผัสได้หรือไม่


สุดท้ายกับผลงานวิดีโอที่ถูกติดตั้งไว้ที่ด้านหลังของโครงสร้างผนังกลางห้องนิทรรศการ แสดงบรรยากาศอันเงียบสงบของสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก มวลช่อดอกไม้และกองจดหมายถูกวางไว้ท่ามกลางทุ่งสุสานที่ตกแต่งไว้อย่างสวยงามเป็นระเบียบ บนสถานที่ที่ร่างของเชลยศึกผู้วายชนม์เกือบเจ็ดพันร่างหลับใหลอยู่ แสงอ่อนๆ จากดวงอาทิตย์ยามเย็นสาดลงบนแผ่นจารึกบนหลุมฝังศพที่ระบุตัวตนพร้อมด้วยคำไว้อาลัย ก่อนที่ภาพจะตัดสลับไปที่แสงรำไรจากหลอดไฟนีออนตามท้องถนนที่ลอดผ่านริ้วม่านกับบรรยากาศอันเงียบเหงาของห้องพักตากอากาศ


Videos Installation
สะรุจนำพาผู้ชมกลับไปที่ถ้ำกระแซอีกครั้ง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่พักอาศัยของกรรมกรเชลยศึกหลังจากการทำงานหนักเช้าจรดเย็น ปัจจุบันกลับเต็มไปดอกไม้ธูปเทียนจากชาวบ้าน นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนนำเครื่องสักการะมาถวายแด่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน แสงสีน้ำเงินที่ส่องสว่างบนผนังถ้ำ ช่วยขับเน้นความเป็นเอกภาพต่างๆ ไว้ภายในที่ที่นิยามของการหลับใหลระหว่างคนทั้งสองภพถูกผสานเข้าไว้ด้วยกัน
ไม่มีอีกแล้วความเจ็บปวด ความอดอยาก หรือความเหนื่อยล้า มีเพียงแค่สำนึกร่วมของผู้คนที่ลดน้อยถอยลงไปทุกชั่วขณะ ก่อนจะเลือนหายไปตามกาลเวลาเพียงเท่านั้น

นิทรรศการ If I can make one wish . . . โดย สะรุจ ศุภสุทธิเวช
จัดแสดงที่ Nova contemporary ถึงวันที่ 24 June 2023