นิทรรศการ ชั่วฟ้าดินสลาย โดย ตะวัน วัตุยา
จัดแสดง ณ Xspace Gallery, Bangkok
ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2565
ภัณฑารักษ์ : กฤษฎา ดุษฎีวนิช

ตะวัน วัตุยา เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะของศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีลักษณะเฉพาะตัว ด้วยเทคนิคการใช้สีน้ำที่ฉับพลัน เร็วรวด เช่นในนิทรรศการ Keep in the dark (2564) ที่จัดขึ้นภายในหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ตะวันนำเสนอภาพใบหน้าของบุคคลสำคัญที่มีบทบาททางการเมืองนับตั้งแต่ปี2519-2564 ภายใต้สถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด2ปีที่ผ่านมา

ตะวันสนใจการวาดพอร์ตเทรต นับตั้งแต่ที่เขาได้เข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนักที่ต่างประเทศ ก่อนที่ตะวันจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย โดยตะวันเลือกที่จะวาดภาพกลุ่มคนชายขอบในสังคม เช่น คนงานก่อสร้าง ผู้ลี้ภัย เด็กกำพร้า จนกระทั่งตะวันมีโอกาสได้ร่วมงานกับแกลลอรี่แห่งหนึ่งในย่านพัฒน์พงษ์

ตะวัน วัตุยา ศิลปิน

ด้วยบรรยากาศอันน่าตื่นตะลึงได้เปิดประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้แก่ตะวันกับการพบเจอสิ่งต่างๆ และทำให้เขาได้พบกับมิวเซี่ยมแห่งหนึ่งที่นำเสนอประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของพื้นที่ย่านพัฒพงษ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ที่หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ เลือกที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในช่วงสงครามเย็น ก่อนจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติเช่นในปัจจุบัน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตะวันเลือกที่จะศึกษาข้อมูลของสงครามเย็นให้มากยิ่งขึ้น

“มิวเซี่ยมแห่งนี้ ทำให้ผมมองเห็นภาพของสงครามเย็นที่มากยิ่งขึ้น ตั้งแต่สงครามเวียดนาม การเข้ามาสนับสนุนของCIA การทำโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์”

ย้อนกลับไปในยุคของสงครามเย็นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่2 เกิดการแบ่งขั้วอำนาจออกเป็นสองขั้ว ระหว่างโลกเสรีนิยมเผชิญหน้าโลกคอมมิวนิสต์ เมื่อครั้งที่เหมา เจ๋อตุงก้าวขึ้นมามีอำนาจในแผ่นดินจีน การสิ้นสุดของสงครามเกาหลี ไปจนถึงสงครามอินโดจีน ส่งผลให้แนวคิดคอมมิวนิสต์แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชีย สร้างความหวาดกลัวให้แก่ฝ่ายเสรีนิยมเป็นอย่างมาก ทางด้านประเทศสหรัฐอเมริกาฯ มหาอำนาจของโลกในขณะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการที่จะต่อต้านการแพร่กระจายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ทุกรูปแบบและวิธีการ

โดยมี 3หน่วยงานของอเมริกา ได้แก่ กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักข่าวกรองกลาง(CIA) ที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่คอยเคลื่อนไหวทั้งทางด้านการทหารและข่าวกรองทั่วทั้งโลก

ซึ่งในส่วนของCIAนั้น มีหน้าที่ในการจัดการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง หน่วยงานดังกล่าวกระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาคเอเชีย รวมถึงภายในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

เรื่องราวข้างต้นทำให้ตะวันได้ค้นพบกับกลยุทธ์ของการผลิตสื่อ “โฆษณาชวนเชื่อ/propaganda” เพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ประกอบกับการสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของตะวันในครั้งนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกับผู้ช่วยด้านข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และยังได้เชิญณัฐพล ใจจริง นักเขียนชื่อดังเข้ามาเป็นที่ปรึกษาทางด้านข้อมูล เป็นที่มาของข้อสรุป จุดเริ่มต้นของ propaganda ในประเทศไทย ซึ่งยังสามารถขยายผลไปถึงวิธีการสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทย แม้กระทั่งวิธีการสร้างจุดศูนย์รวมจิตใจเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์

“ทำไมนางสาวไทยต้องมีรูปร่างแบบนี้ ทำไมการแต่งตัวต้องเป็นแบบนี้ ทำไมคนทำสื่อชาวไทยหลายๆคนจึงได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย วิธีการหาเสียงต่างๆนาๆล้วนมีแม่บทมาจากบริษัทอเมริกัน เขาเข้ามาเทรนต์พวกเรา ถึงขั้นส่งพวกเราไปเรียนที่อเมริกา แล้วให้เรากลับมาสร้างสื่อเพื่อสนับสนุนพวกเขา ทั้งหมดนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยฝ่ายสหรัฐอเมริกาฯ” คำถามต่างๆของตะวันได้ถูกไขจนกระจ่างชัด

“ผมอยากทำโชว์ที่พูดถึงอดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เพราะคนไทยตอนนี้ก็แบ่งข้างกันอยู่แล้ว” ตะวันได้นำมุมมองที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมไทยในปัจจุบัน มาใช้โดยการสร้างกำแพงขนาดใหญ่ขึ้นมาแบ่งพื้นที่ภายในห้องนิทรรศการออกเป็นสองฝั่ง กำแพงดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากกำแพงเบอร์ลินที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกประเทศเยอรมนีให้กลายเป็นสองส่วน

ด้านหนึ่งของกำแพง ด้วยความสนใจและความชื่นชอบในการเก็บสะสมสิ่งพิมพ์เก่าๆ เช่น โปสตอร์ หนังสือ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้กับตะวัน นำเสนอจิตรกรรมของภาพโฆษณา(ชวนเชื่อ) ที่ถูกใช้ในประเทศไทยในยุคสงครามเย็น โดยตะวันเลือกที่จะตัดทอนองค์ประกอบและรายละเอียดบางส่วนของภาพต้นฉบับ เพื่อให้ลักษณะของความเป็น “painting” ของตะวันได้ทำงานออกมาอย่างเต็มที่

ภาพของการใช้แรงงานเหมือนวัวเหมือนควาย ชีวิตที่เต็มไปด้วยความยากแค้นทุกข์ระทม คือภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานำเสนอให้แก่ชาวไทย ในขณะเดียวกัน ความสุขสบาย อยู่ดีกินดี มีสิทธิมีเสียง กลับกลายภาพลักษณ์ของฝ่ายเสรีนิยม ไม่ต่างอะไรกับการสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าในรูปแบบของลัทธิความเชื่อทางการเมือง ที่อวดอ้างสรรพคุณอันสวยหรู

ตะวันได้ค้นพบว่า ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสานต่อนโยบายของการสร้างชาติมาจากจอมพล ป.พิบูลสงครามนั้น เป้าหมายของโฆษณาชวนเชื่อคือ การพยายามส่งผ่านความคิดด้วยตัวอักษร ซึ่งสามารถรับรู้ได้ไวและทรงประสิทธิภาพมากกว่าภาพเขียนที่มีสถานะเป็นเพียงแค่ภาพประกอบ

“หัวใจของ propoganda คือ ตัวอักษร และ ภาษา คือ อาวุธที่ทรงพลัง ผมจึงให้ความสำคัญกับ ‘ภาษาและตัวอักษร’ ที่อยู่ในผลงานครั้งนี้เป็นพิเศษ”

อีกด้านหนึ่งของกำแพง Haunted คือการนำเสนอผลผลิตจากการถ่ายทอดวัฒนธรรมคลั่งชาติ ภาพลักษณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กลายเป็นสิ่งชั่วร้าย ขั้วตรงข้ามของความดีงามในรูปของแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย เหล่าผีร้ายที่ตามหลอกหลอนผู้คน สัตว์นรก อสูรกายที่กำลังถูกลงทัณฑ์อย่างทุกข์ทรมาณ ภายใต้บรรยากาศที่น่าสยดสยองดั่งนรกอเวจี

ตะวันรับแรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนผีเล่มละบาท สื่อสิ่งพิมพ์ในอดีต ที่มีราคาถูกซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย รูปปั้นของสัตว์นรก อสูรกายต่างๆ ที่สามารถพบเห็นได้ตามจิตรกรรมฝาผนัง รูปปั้นตามวัดวาอาราม ประโยคคำพูดและตัวอักษรที่ถูกใช้กันในชีวิตประจำวัน ที่มีทั้ง “คำหยาบและเรื่องที่ห้ามพูดถึง” ถูกเขียนทับสลับกันไป ด้วยกระบวนการเขียนสด (improvise) ที่ไร้แบบแผนและภาพ sketch ของตะวัน

“ผมใช้การ์ตูนผีเล่มละบาทเพื่อเป็นตัวแทนของความเรียบง่าย รากหญ้า ด้วยเนื้อหาที่มีความวกวนเหมือนละครน้ำเน่า ปลูกฝั่งให้เชื่อและเกรงกลัวในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการสร้างความหวาดกลัว ก็คือวิธีหนึ่งที่ผู้มีอำนาจใช้ในการปกครองผู้คน”

Haunted (2022), acrylic on canvas, 22 x 2.2 m

ขณะเดียวกัน ถ้อยคำและตัวอักษรบนกำแพง กลับปรากฏร่องรอยของความพยายามที่จะลบถ้อยคำเหล่านั้น โดยตะวันได้เลือกการทำความสะอาดแบบ“บ้านๆ”เข้ามาใช้เพื่อปกปิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ตามกำแพงและรั้วอาคารของสถานที่ต่างๆที่เต็มไปด้วยร่องรอยของกราฟฟิกตี้ และการทำความสะอาดอย่างหยาบๆด้วยสีทาบ้านราคาถูก

ผลงานนี้ชวนให้นึกถึงวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ที่ถูกใช้ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อปลุกระดมให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านคอมมิวนิสต์ เข้าห้ำหั่นประหัตประหารผู้เห็นต่างทางการเมืองได้อย่างง่ายดาย ราวกับว่าชีวิตของผู้คนเหล่านั้นเป็นเพียงแค่สิ่งชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ ไร้ซึ่งคุณค่า และมีราคาที่แสนถูกไม่ต่างอะไรกับการ์ตูนผีเล่มละบาท ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าว ล้วนเป็นผลมาจากกระบวนการปลูกฝังความคิดผ่านการเผยแพร่สื่อโฆษณาชวนเชื่อในช่วงเวลานั้นทั้งสิ้น

หากเราพยายามที่จะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ในอดีต และเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นกับเมืองไทยในปัจจุบัน จะทำให้เราพบว่า ปรากฏการณ์ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นเพียงหนึ่งในผลผลิตจากความขัดแย้งที่ชาติมหาอำนาจได้หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังทิ้งไว้ในอดีต และเมื่อใดก็ตามที่เรายังคงไม่ตระหนักถึงเรื่องราวดังกล่าว ความขัดแย้งก็ยังจะดำเนินต่อไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตราบ“ชั่วฟ้าดินสลาย”

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Xspace Gallery