ปวเรศวร์ โชคแสน

16 มีนาคม – 30 เมษายน 2566

ณ Mini Xspace Gallery (Fl.1)

บทความโดย  อติ กองสุข

จากหน้าที่การงานที่ล้ำเส้นเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ให้ทุกอณูพื้นที่ชีวิตเต็มไปด้วยการผลิตอยู่ตลอดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนกับความมั่นคง ที่ไม่มีแก่นแท้ตายตัว ประหนึ่งเส้นขอบฟ้าที่ไปไม่เคยถึง การดิ้นรนให้อยู่รอดของในแต่ละวัน คือปรากฎการณ์ที่ดูเป็นปกติวิสัย เมื่อมโนทัศน์เรื่องความมั่นคงคือแก่นแกนสาระของชีวิตถูกผลักให้กลายเป็นภาระปัญหาของปัจเจก ปัญหาที่ไม่รู้ว่าเป็นปัญหาเหล่านั้นค่อยๆก่อรูปความคิด นำไปสู่ทัศนคติบางอย่างที่ทำให้เกิดความหดหู่  ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว  สิ่งปรากฎเหล่านั้นถูกอธิบายผ่านภาษาในงานจิตรกรรมของ ปวเรศวร์ (โด้) โชคแสน

การเฝ้าสังเกตสิ่งรอบตัว เรื่องราวอันเป็นปกติวิสัยในชีวิตประจำวัน จากการรับรู้ต่อสิ่งภายนอกและย่อกลับเข้ามาคือการเชื่อมโยงกับสิ่งอื่น ๆ ที่มันประกอบขึ้นเป็นตัวตน พฤติกรรมชีวิต สังคมที่รายรอบ ถูกแปรเปลี่ยนเป็นความหมายทางสุนทรียะ แสดงออกในงานจิตรกรรมแบบเฉพาะตนสะท้อนสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทางสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายให้ปรากฏด้วยกระบวนการทางศิลปะของเขา คือความหวังและเป็นหนทางหนึ่งในการประนีประนอมความขัดแย้งทางอารมณ์จากโลกความจริงที่กัดเซาะชีวิตตลอดเวลา การพาตัวเองแหวกว่ายหลบลี้หลีกเร้นเพื่อสร้างระยะห่าง ด้วยการบันทึกจับช่วงขณะของสิ่งต่าง ๆ ที่สะท้อนกับชีวิตของเขาและสิ่งปรากฏที่เขาได้พบเจอเหล่านั้นถูกสร้างเป็นผลงานลงบนผืนผ้าใบ ด้วยท่าที ก้ำกึ่ง คลุมเครือ ไหลลื่นอย่างเป็นอิสระ

ด้วยลักษณะของวัตถุตัวบุคคลในภาพแสดงอากัปกิริยาในชีวิตประวัน บางส่วนถูกปล่อยเป็นพื้นที่ว่าง โดยไม่ทำให้มันเสร็จสมบูรณ์อย่างจงใจ องค์ประกอบโครงสร้างบรรยากาศพื้นหน้าพื้นหลังเลื่อนไหลอย่างไร้ขอบเขต ราวจะเป็นการเชื้อเชิญให้จินตนาการจากการเห็น ได้มีส่วนร่วมมาเติมเต็มกับอนาคตที่กำลังเคลื่อนไหวอย่างเลือนราง ภาพบนผืนผ้าใบจากการบันทึกชีวิตประจำวันเพื่อหาพื้นที่อิสระส่วนตัวที่ระบายออกนั้น ในขณะเดียวกัน กลับได้กระตุ้นเร้าก่อกวนการรับรู้ คละเคล้าเชิงวิพากษ์ต่อสิ่งที่เกิดปรากฏในสังคม จากประสบการณ์มุมประชิดที่เผยถึงความไม่ปกติที่ซ่อนตัวอยู่ในความปกติ