โดย ประสงค์ ลือเมือง

18 มีนาคม – 18 กรกฎาคม 2566

JWD Art Space

คราส (ECLIPSE) โดย ประสงค์ ลือเมือง นิทรรศการเดี่ยวในรอบหลายปีของศิลปินไทยที่นำเอาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นล้านนามาหลอมรวมกับแนวทางศิลปะเฉพาะตนออกมาได้อย่างกลมกลืน งานนิทรรศการในครั้งนี้ประสงค์ใช้เวลาบ่มเพาะผลงานร่วม 3 ปี กล่าวได้ว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในช่วงที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิท 19 สร้างแรงกระเพื่อมทั้งต่อโลกและสรรพชีวิตบนโลก แต่ก่อนที่จะได้ชมผลงานชุดใหม่นั้น ภัณฑารักษ์ กษมาพร แสงสุระธรรม นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของประสงค์ผ่านผลงานในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อเป็นการปูเรื่องราวของศิลปินล้านนาผู้นี้เพื่อให้ผู้ชมได้นึกย้อนไปถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เราได้เผชิญมา เพราะแท้จริงแล้วผลงานของประสงค์เปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ

ก้าวเข้าสู่จักรวาล The Universe บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในการสร้างสรรค์ผลงานของประสงค์ เริ่มต้นจากพื้นฐานทางครอบครัวที่คุณพ่อเป็น สล่า (ช่างทางเหนือ) เข้าศึกษาวิชาศิลปะในระดับ ปวช.ที่จังหวัดเชียงใหม่ รับอิทธิพลการเขียนภาพแบบเหนือจริงซึ่งสามารถเห็นได้จากผลงาน ไม่มีชื่อ (2522) จากสีน้ำมัน ประสงค์ผสานร่างกายของมนุษย์เข้ากับสัตว์ซึ่งในงานชิ้นนี้เขาได้เลือกจระเข้ ที่ผิวหนังบริเวณแขนและขาปรากฏเกล็ด กลางภาพเป็นพระจันทร์กลมโต เรื่อยมาจนถึงช่วงที่เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาศิลปะไทยที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ประสงค์วาดภาพ ไม่มีชื่อ (2528) สีน้ำมันขนาดใหญ่ที่แสดงให้เห็นถึงอวัยวะภายในร่างกายของเพศหญิง โดยเฉพาะมดลูกและรังไข่ที่ถูกขยายใหญ่จนเต็มขนาดของภาพ (135 x 375 ซม.) สอดแทรกอวัยวะเพศชายจำนวนมากโดยแฝงนัยยะเรื่องการกำเนิด รูปทรงองค์ประกอบที่หนักแน่นและการใช้โทนสีดำ น้ำเงิน แดง เพิ่มความรู้สึกกดดันให้แก่ผู้ชม สภาวะที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดของศิลปินถูกแสดงออกมาผ่านผลงานชิ้นนี้

ผลงานในช่วงต่อมาประสงค์เริ่มแสวงหาเอกลักษณ์ในงานของตัวเอง หลังจากได้สั่งสมประสบการณ์ทั้งศิลปะล้านนาจากครอบครัว การศึกษาเล่าเรียนในสาขาศิลปะไทย คำแนะนำจากเพื่อนรุ่นพี่ และความสนใจส่วนตัวในเรื่องเชิงปรัชญาตะวันออก วิถีแห่งเต๋า หนังสือของรพินทรนาถ ฐากูร และปรัชญาชีวิตของ คาลิล ยิบราน เมื่อมีโอกาสสร้างงานสำหรับพิธีเข้าตุงหรือธงที่บ้านเกิด เขาได้สร้างผลงานที่ผสานทุกสิ่งที่เขาเล่าเรียนก่อเกิดจิตรกรรมสีฝุ่นบนกระดาษชิ้นสำคัญที่กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในงานของประสงค์ จากความหนักแน่นที่ปรากฏในงานชุดก่อน แปรเปลี่ยนเป็นเส้นสายที่บางเบาของชายผมยาวในอิริยาบถต่างกัน ความบางเบาของร่างกายสื่อสารถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสังขารมนุษย์ตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา การปล่อยพื้นที่วางแสดงพื้นผิวของกระดาษสีขาวล่อไปกับความพลิ้วไหวของตุงเมื่อกระทบกับสายลมเป็นการส่งวิญญาณของผู้วายชนให้ไปสู่สุขคติ ผลงานชุดนี้เปรียบเสมือนการค้นพบวิถีทางของตนเอง

การนำลักษณะทางกายภาพของสัตว์มาใช้ปรากฏให้อีกครั้งในผลงานชุดต่อๆ มา ทั้งการผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์อย่างตัวละครในจินตนาการที่เขาสร้างขึ้นมา ตายิ้ม และ ลุงอินตา และการวาดภาพสัตว์เดียวๆ ที่กำลังเล่าเรื่องของตัวมันเอง อย่างเช่น ภาพแมวที่กำลังตั้งท้องแต่ในใจยังคิดคำนึงถึงหนู ความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมถูกนำเสนออย่างเสียดสีผ่านผลงานของเขา นอกจากนี้องค์ประกอบในภาพหาพิจารณาจะพบว่าทุกอย่างมาจากสิ่งที่มีอยู่จริงแต่นำมาจัดองค์ประกอบให้คล้ายกับบิดเบือนไปจากความเป็นจริง คือภาวะก่ำกึ่งที่เขาต้องการสื่อสารออกมา

ดังเช่นผลงานชุดล่าสุด คราส (8 ชิ้น) กัปกัลป์ (4 ชิ้น) และ จันทร์สว่าง ที่กำลังเสียดสีถึงสภาวะที่กำลังดำเนินอยู่และบอกไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดลงอย่างไร ปลายปี 2563 (2019) การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั่วโลก การเข้ามาอย่างเฉียบพลันสร้างแรงสั่นสะเทือนเกิดผลกระทบทั้งในระดับโลกและระดับปัจเจก ประสงค์เฝ้ามองและเก็บรวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนเข้ามาจำนวนมาก ก่อนจะประมวลผลออกมาเป็นผลงานชุดนี้

คราส ถูกนำมาใช้เป็นชื่อนิทรรศการ ที่บ่งบอกถึงช่วงเวลาผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ปรากฎการณ์การเกิด คราส ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความเชื่อเหนือธรรมชาติ การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ที่ทาบทับกับโลกก่อให้เกิดปรากฎการณ์จันทรคราส หรือจันทรุปราคา จะเกิดดวงจันทร์สีแดงซึ่งหากอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วแสงสีแดงที่เห็นเกิดจากการหักเหของแสงอาทิตย์ที่กระทบผ่านผิวโลก ทว่าปรากฎการณ์จันทรคราสมักถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อท้องถิ่นมากมาย พระจันทร์สีแดงเป็นสัญญาณของเรื่องผิดปกติที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งตำนานเรื่องมนุษย์หมาป่า การกลายร่างของมนุษย์เป็นสัตว์หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตนี้คือแกนเรื่องหลักของนิทรรศการครั้งนี้

คราส ผลงานสีฝุ่นบนกระดาษเยื่อไผ่ขนาด 8 ชิ้นต่อกัน ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากภาวะปกติไปสู่ความไม่ปกติ หรืออาจเป็นการกลับคืนสู่สัญชาตญาณดิบของความเป็นมนุษย์มีฝังอยู่ในตัวเราตั้งแต่แรก ผลงานเล่าเรื่องเรียงต่อกัน จากจุดเริ่มต้นในช่วงของการแพร่ระบาดโลกเริ่มมาตรการณ์แรกด้วยการบังคับให้มนุษย์รับผิดชอบชีวิตของตัวเองด้วยการจำกัดพื้นที่ มาตรการณ์กักตัว ปิดกันพื้นที่ จำกัดการใช้ชีวิต นำเสนอกรงขังสี่เหลี่ยมที่เต็มไปด้วยใบหน้าของมนุษย์และสัตว์อัดแน่นอยู่ภายใน ใบหน้าที่แสดงออกถึงความวิตกกังวล เหนื่อยล้า ตึงเครียด หวาดกลัว ไปถึงถึงโกรธเกรี้ยว

เมื่อถูกจำกัดการใช้ทั้งในแง่ของร่ายกายและจิตใจความกระหายในการครอบครองยิ่งมีมากขึ้น การแย่งชิงทรัพยากร กักตุนโดยคำนึงถึงเพียงความอยู่รอดของตนเองโดยเพิกเฉยต่อบุคคลอื่น ความรุนแรงยิ่งทวีขึ้นเมื่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้กินเวลานานขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดหรือมีแนวทางแก้ไข ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสังคมเข้าไปกระตุ้นสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนปรากฎการณ์จันทรคราสตามความเชื่อที่หากเกิดขึ้นมนุษย์จะกลายร่างเป็นสัตว์ร้ายและความขาดความยังยั้งชั่งใจ สื่อสารผ่านใบหน้าขนาดใหญ่ดวงตาเบิกกว้างบิดเบี้ยวผิดขนาด อวัยวะเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งจนท้ายที่สุดกลายร่างเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์

ถัดมากับผลงาน กัปกัลป์ หลังจากที่มนุษย์ถูกรุกล้ำความเป็นมนุษย์จากภายนอก กลืนกินสติสัมปชัญญะจากภายใน การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดถูกกระตุ้นขึ้นอีกครั้ง ผลงานชุดนี้ประสงค์เล่าเรื่องการต่อสู่ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เมื่อเชื้อโรคแพร่กระจายเข้าสู่อวัยวะภายใน เกาะกินไปตามกระดูก แพร่พันธุ์และแตกกระจายไปทั่วร่าง การดิ้นรนครั้งสุดท้ายจึงถูกแสดงออกผ่านการจัดวางองค์ประกอบที่หนักและแน่น ความรุนแรงของเส้น แสงเงา และความเบาบางของพื้นที่ว่างที่ประสงค์ชอบทิ้งไว้เพื่อให้ภาพของเขายังคงมีชีวิตซึ่งในห้วงขณะนั้นการมีชีวิตรอดไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพิจารณารายละเอียดในภาพจะพบว่าร่างกายกำลังต่อสู้อย่างเต็มกำลังทั้งส่วนที่เป็นของแข็งอันประกอบไปด้วยกระดูก ผม เล็บ ฟัน และส่วนที่เป็นของเหลวอย่างเลือด และน้ำในร่างกาย รวมทั้งมวลความร้อนและลมหายใจที่ไหลเวียนอยู่ภายในซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบสร้างเป็นมนุษย์จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ การต่อสู้ร่วมกันจากทุกส่วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เสมือนสังคมปัจจุบันที่หากต้องการเอาชนะวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ก็ต้องต่อสู้อย่างเต็มกำลังโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แม้จะผ่านการแก่งแย่งและความเห็นแก่ตัวดังเช่นภาพผลงานส่วนล่างที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง แต่ปัจจุบันที่กำลังต่อสู้อย่างเต็มความสามารถจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในอนาคต เสมอนธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ต่อสู้คัดสรร และอยู่รอดกำเนิดขึ้นใหม่

ผลงานชิ้นสุดท้าย จันทร์สว่าง หลังปรากฎการณ์จันทรคราสผ่านพ้นไป พระจันทร์กลับมาส่องสว่างเต็มดวงอีกครั้ง ทุกอย่างเหมือนกลับสู่สภาวะปกติ ทว่าการซ้อนทับของลำแสงและการกระจายของแสงที่เป็นได้ทั้งการเข้าและการออก เส้นสายตวัดไปมาอย่างฉับพลันบอกใบ้ความหมายของอนาคตไปได้อีกทิศทางหนึ่ง ความไม่แน่นอนยังคงแฝงเร้นอยู่ภายใต้ความสว่างความมืดยังไม่หายไปไหน การซ้อนทับของดวงตาปรากฏลักษณะของดวงตา ดวงตาที่กำลังจ้องมองความเป็นไปของโลกและมนุษย์ ดวงตาของประสงค์ที่เฝ้ามองความเป็นไปและเฝ้ารอห้วงเวลาในการสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ชุดใหม่ผ่านผลงานของเขาอีกครั้ง