ผลงาน Dragonerpanzer โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
จัดแสดง ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2023
ณ โถง Atrium ชั้น G MOCA BANGKOK
บทความนี้มีการนำเสนอบทสัมภาษณ์ร่วมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ศิลปินเคยนำเสนอไว้บนหน้าสื่อออนไลน์ส่วนตัว
เมื่อมองย้อนกลับไปในปี 2020 กับ Bangkok Art Biennale หรือ BAB 2020 นิทรรศการระดับนานาชาติที่รวบรวมผลงานของศิลปินทั้งไทยและต่างเทศมาจัดแสดงทั่วเมืองกรุงเทพมหานครได้อย่างน่าประทับใจ และถ้าหากจะต้องพูดถึงผลงานของศิลปินชาวไทยที่โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ คงจะหนีไม่พ้นผลงานประติมากรรมรถถังเซรามิกที่มีลวดลายแบบเครื่องเคลือบลายครามเป็นไม่ได้
ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานของวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินชาวราชบุรี ผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะร่วมสมัยด้วย การทำงานที่หลากหลายตั้งแต่ประติมากรรม ออกแบบเซรามิก และศิลปะเฉพาะพื้นที่
และในปี 2022 นี้ วศินบุรีได้หยิบยกเรื่องราวของผลงานชิ้นดังกล่าวกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง ด้วยรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปเดิม สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผู้ชมยิ่งกว่าผลงานที่ผ่านมา กับประติมากรรมรถถังที่มีขนาดเทียบเท่ารถถังจริง!

เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่คุณได้นำเสนอผลงาน DRAGONERPANZER มาถึง ณ ตอนนี้ มุมมองที่คุณมีต่อประเด็นของ Porcelain มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เรื่องราวตรงนี้มัน universal กับทางความคิดมากๆ เลยนะ สุดท้ายทุกคนก็มีเป้ากับวิธีการเพื่อบรรลุถึงความปรารถนาของตนเอง ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเรื่องของหัวข้อหรือวิธีการนำเสนองาน แล้วเราเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก เราก็จะมีวิธีการนำเสนอได้อีกมากมายหลายรูปแบบเลยด้วยซ้ำไป แต่นี่คือตัวอย่างหนึ่งของวิธีการเสียมากกว่า
การได้ไปเรียนที่ต่างประเทศยิ่งทำให้คุณเข้าถึงและซึมซับกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของต่างชาติด้วยไหม
จริงๆ แล้วต้องบอกก่อนว่าผมจบไฟน์อาร์ตนะไม่ใช่ออกแบบ แต่ด้วยความที่ผมมีเพื่อนที่เรียนด้านออกแบบค่อนข้างเยอะ มหาวิทยาลัยของผม (University Gesamthochschule Kassel Germany) ก็ออกจะกึ่งๆ เบาเฮาส์ (Bauhaus) ณ จุดหนึ่งผมเคยเห็นเพื่อนที่กว่าจะออกแบบเก้าอี้มาได้ซักตัวหนึ่งก็ต้องมาวางฟอร์ม มีการวางอนาโตมี่คนนั่งว่าจะต้องลักษณะอย่างไร มันเริ่มมาจากจุดนั้น ก่อนที่จะมาถึงเก้าอี้ได้ ผมจึงติดเรื่องอะไรอย่างนี้มาด้วยจากการได้เห็นวิธีการทำงานของคนอื่น และเราก็นำมาประยุกต์รูปแบบในหลายๆ อย่าง
ผมคิดว่ามันเรื่องของการประยุกต์ใช้ Know-how หลายๆ อย่างที่เราทำ อย่างตอนนี้ที่ผมทำเรื่อง สีน้ำเงิน (โคบอลต์) มันก็เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่นเดียวกัน แร่โคบอลต์ซึ่งเป็นโลหะหนักชนิดหนึ่ง มีที่มาจากเปอร์เซียเข้าไปสู่ยุโรปและจีน ต่อมาจีนได้นำแร่โคบอลต์มาเผาไฟให้สูงขึ้น เรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเหมือนตัวเชื่อมทางวัฒนธรรมในความรู้สึกของผม

ช่วยเล่าย้อนถึงที่มาที่ไปของผลงานชิ้นนี้อีกครั้งได้ไหม
เรื่องราวทั้งหมดเกิดจากการที่ผมได้ค้นพบกับเรื่องสั้นโดยบังเอิญ เกี่ยวกับเจ้าชายพระองค์หนึ่งที่คลั่งไคล้ในเครื่องเคลือบเป็นอย่างมาก ถึงกับต้องเอาทหารม้าแลกกับถ้วยดินเผา
ด้วยความโชคดีที่ผมได้มารู้จักกับ อ.ตุลย์ (ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และได้มีการพูดคุยและวิเคราะห์เรื่องราวร่วมกัน จนเป็นที่มาของงานชุดนี้
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่คุณสนใจและหยิบยกมานำเสนอเป็นอย่างไร
ผมสนใจวิธีการที่จะทำให้คนคนหนึ่งได้บรรลุในสิ่งที่ตนเองปรารถนา
อ.ตุลย์ได้พูดสรุปเอาไว้โดยย่อว่า หนทางที่จะเข้ามามีอำนาจในช่วงศตวรรษที่18 มันขึ้นอยู่กับสถานะด้วย การจะขึ้นสู่สถานะผู้ปกครองแคว้นแซกโซนี (Elector of Saxony) ได้ จากเดิมที่ Friedrich August I เขามีสถานะเป็นแค่เจ้าชาย (Prince) ไม่ได้สูงส่งเทียบเท่ากษัตริย์ (king) หรือ จักรพรรดิ (emperor) ทุกคนจึงต้องอัพเกรดตนเองให้อยู่ในสถานะที่เท่าเทียมหรือสูงส่งเพื่อที่จะทำให้ตนเองได้บรรลุเกียรติยศและชื่อเสียงเท่ากับผู้อื่น จากเจ้าผู้ปกครองรัฐภายหลังเมื่อตนรบชนะสวีเดน จึงได้เถลิงราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ของโปแลนด์ (King August II of Poland) ในเวลาต่อมา
เมื่อตนบรรลุเป้าหมายได้เป็นกษัตริย์ ได้มีสถานะอยู่เทียบเท่ากับพระเจ้าหลุยส์ที่14 (Louis XIV) แห่งฝรั่งเศส หรือเจ้าคนอื่นๆ แล้วเขาจะทำอย่างไรให้สถานะและอำนาจของเขายังอยู่ยงต่อไปได้ ?
ยุคสมัยที่พวกเขาอยู่ เรียกว่า “The Age of Glory” การสะสมงานศิลปะก็คือหนึ่งในเส้นทางที่ทำให้เขาบรรลุในสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่จะทำให้เขาอยู่เหนือคนอื่นๆ ก็คือการได้ครอบครองสิ่งที่คนอื่นไม่มีนั่นคือ การสะสมงานศิลปะชิ้นเอก
Porcelain เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นศิลปะชิ้นเอก ไม่ใช่สิ่งที่คนมีอำนาจก็สามารถครอบครองได้ ดินเผา Porcelain จึงเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทอง
August II เองก็มีปัญหาเรื่องท้องพระคลัง เพราะต้องใช้เงินไปกับการสร้างบารมี สร้างสิ่งของ จนเขาต้องจ้างนักเคมี (นักเล่นแร่แปรธาตุ) ทั้งหลายมาทำให้สิ่งของที่ไม่มีค่า ให้มีค่าได้ แปรเงินให้กลายเป็นทอง แต่ความบังเอิญเนี่ย ทำให้เกิดการค้นพบสารที่ทำให้มีลักษณะคล้ายกับ Porcelain เมื่อทำการเผา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานเครื่องปั้น Porcelain ในยุโรปเช่นเดียวกัน Porcelain จึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ White gold หรือทองคำขาว เป็นสิ่งที่มีมูลค่าไม่แตกต่างจากทองในสมัยนั้น
นี่ก็เป็นหลักฐานว่า คนเรามักจะค้นวิธีการต่างๆ ที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเขา

นอกการเรื่องของการเมืองระหว่างแคว้นในสมัยนั้นแล้ว แนวคิดของศาสนาเองก็เข้ามามีอิทธิพลกับการกระทำของพวกเขาด้วยเช่นกัน
ใช่ครับ คำถามต่อมาคือ ทำไม August จึงต้องส่งมอบทหาร? เขาไม่ต้องการทหารเหรอ? เขาเพิ่งรบชนะสวีเดนไป ทหารจำนวนกว่า 600 นาย หากเลี้ยงดูไม่ดีก็อาจจะปฏิวัติหรืออาจจะจะก่อกบฏกับเขาก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องหาทางที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
มันก็มีเรื่องของคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ที่เข้ามาอีก เพราะทั้งสองนิกายต่างนิยามความหมายของเรื่องบาปบุญไว้แตกต่างกัน ฝ่ายคาทอลิกเชื่อว่ายิ่งหรูหรา ฟุ่มเฟือยคือการเชิดชูพระเจ้า แต่โปรเตสแตนต์กลับพูดถึงความสมาถะ การอุทิศตน ต้องประหยัดเพื่อให้เกียรติพระเจ้า
ทางฝั่ง Friedrich Wilhelm I เจ้าผู้ครองแคว้นในตระกูล Hohenzollern ผู้ครองบรันเด็นบวร์กของปรัสเซีย ซึ่งประกาศตัวเองว่าเป็นโปรเตสแตนต์ นิกายคัลแวง (Calvinism) เขาเป็นผู้นับถือพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ แนวคิดของโปรเตสแตนต์ที่ดีจะต้องสละทรัพย์สมบัติ เขาเสีย Porcelain ไปแต่ได้ทหารมา เพราะแคว้นที่เขาอยู่มีภูมิประเทศที่เป็นกระจุก การรักษาฐานอำนาจไว้ให้ได้จึงจำเป็นที่จะต้องมีทหาร
เมื่อหลักความเชื่อต่างกัน แต่ทั้งสองต่างหาทางออกให้กับตนเองได้ และเป็นการได้รับผลประโยชน์ด้วยกันทั้ง2ฝ่าย ทั้งหมดจึงไม่ใช่เรื่อง ศิลปะยิ่งใหญ่กว่าอำนาจ หรือ อำนาจไม่สำคัญ ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเรื่องของวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพียงแค่นั้น

ต้องการที่จะเชื่อมโยงนัยของสัญลักษณ์เข้ากับสถานการณ์ของประเทศไทยไหม
นัยของผลงานชิ้นนี้เป็นเรื่องของการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งที่เป็นของประเทศเยอรมณี มาทำการออกแบบใหม่แทนที่จะใช้ทหารม้าก็ปรับเปลี่ยนเป็นรถถังเยอรมันรุ่น Leopard II แม้จะไม่เหมือนเป๊ะร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่เมื่อคนไทยมองมา สิ่งแรกที่ปะทะก็คือรูปทรงของรถถัง เราก็จะมองเป็นเรื่องประเด็นของการเมือง หรือนัยของหลายสิ่งหลายอย่าง ผมว่าการเมืองเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้
มากกว่าเรื่องของการเมือง แต่เป็นเรื่องของความปรารถนาของมนุษย์ มันไม่ได้อยู่ที่รูปแบบของการเมืองเท่านั้น แต่ความปรารถนา เกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้กระทั่งศิลปินเองก็เหมือนกัน อยากให้มองไปที่ประเด็นเดียวว่า ทุกฝ่ายนั้นสามารถมีวิธีการที่ทำให้ตนบรรลุทุกอย่างที่ตนต้องการเหมือนกัน

ในบทบาทของศิลปิน คุณใช้ศิลปะชิ้นนี้เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายใด
ส่วนตัว ผมมีความปรารถนาที่อยากจะพูดถึงประเด็นของรูปแบบและพลัง (power) ด้วยรูปแบบที่เราเคยจำลองมาในรูปของ Porcelain แล้วในอดีต ผลของภาพจำลองเหล่านั้นและผลงานในปัจจุบันจะทำให้เรารู้สึกแตกต่างกันไหม เมื่อมาเจอกันในขนาด 1:1 เราจะรู้สึกอย่างไร เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับรถถัง (งานศิลปะ) ที่มีขนาดเท่าจริง ก็อยากจะเข้าใจตรงจุดนี้มากกว่า เราต้องการที่จะรู้สึก และอยากจะรู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร




ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากศิลปิน วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่ silpa-mag