Curator : Sarana Wiriyaprasit

Artist : Adisak Somkong, Trinnapat Chaisitthisak, and Thar Gyi

1 June – 2 July 2023

Opening reception : 1 June 2023 18:00 hrs.

At Matdot Art Center

การแทรกสอดเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคลื่นสองขบวนที่มีความถี่และเฟสตรงกัน เคลื่อนที่อยู่บนตัวกลางเดียวกัน มาพบกัน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นไปได้สองรูปแบบ คือ การแทรกสอดแบบเสริมกัน และการแทรกสอดแบบหักล้าง สำหรับการแทรกสอดแบบเสริม หากเป็นคลื่นแสงจะเห็นแถบมืดและแถบสว่างสลับกัน แต่ถ้าเป็นคลื่นเสียง ก็จะได้ยินเสียงดังและเสียงค่อยสลับกัน

นิทรรศการ Constructive Interference นำเสนอผลงานนามธรรมเชิงแนวความคิดของศิลปินสามคน ที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่เทคนิคและรูปแบบการสร้างสรรค์ ทว่าประกอบไปด้วยนัยของการแทรกสอดบางสิ่งบางอย่างที่ช่วยส่งเสริมภาพองค์ประกอบในการมองเห็น หรือแม้กระทั่งสร้างความหมายใหม่ให้กับตัวชิ้นงานในท้ายที่สุด

ผลงานศิลปะเหล่านี้นำเสนอมุมมองที่แปลกใหม่เกี่ยวกับธรรมชาติของการรับรู้ ประสบการณ์ของมนุษย์ และการค้นหาความหมายของชีวิต การสำรวจหลักทัศนียภาพของตฤณภัทรท้าทายการรับรู้มิติของผู้ชมรายละเอียดซับซ้อนที่ซ่อนตัวอยู่ในชิ้นงานชวนให้เกิดบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับผลผลิตของเวลาภายใต้บริบทสังคมร่วมสมัย ส่วนผลงานภาพวาดกลุ่มคนทำสมาธิของทาจี เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ลองใคร่ครวญถึงสัจธรรมของชีวิต และค้นหาความสงบในการมีสติอยู่กับปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน ผลงานชุด Genesis ของอดิศักดิ์ก็กำลังพยายามสืบย้อนต้นกำเนิดของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง พร่าเลือนขอบเขตระหว่างความเป็นจริงและจินตนาการ.

Artist : Thar Gyi

Artist : Trinnapat Chaisitthisak

Artist : Trinnapat Chaisitthisak

Artist : Adisak Somkong

Artist : Adisak Somkong

เกี่ยวกับศิลปิน

ทาจี (Min Han Pyone) ศิลปินชาวเมียนมา เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะศิลปินแนวนามธรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของประเทศเมียนมา เกิดเมื่อปี 2509 ณ กรุงย่างกุ้ง เขาเติบโตมาในครอบครัวศิลปิน มีคุณลุงเป็นประติมากรสมัยใหม่ที่ได้รับการนับถือ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Lokanat Art Galleries ที่กรุงย่างกุ้ง ทาจีเริ่มต้นอาชีพของเขาไม่นานก่อน “การก่อการกำเริบ 8888” (การกำเริบระดับชาติเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาเมื่อปี 2531) เขาได้พบปะกับศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายตลอดระยะเวลาที่ทำงานอยู่กับลุงของเขาในละแวกตลาดโบยกที่กรุงย่างกุ้ง ผลงานช่วงแรกของเขาแสดงออกถึงความเชี่ยวชาญในแนวคิดแบบสัจนิยม อิมเพรสชันนิสม์ ไปจนถึงเอ็กสเพรสชันนิสม์ ช่วงทศวรรษ 2000 ทาจีได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่มและกิจกรรมทางศิลปะระดับนานาชาติมากมาย อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงนิทรรศการเดี่ยวอีกหลายต่อหลายครั้ง สำหรับนิทรรศการ *Constructive Intefernce* นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่เขาได้นำผลงานมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ผลงานของทาจีได้รับการสะสมโดยนักสะสม และพิพิธภัณฑ์ในหลากหลายประเทศ ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย

ทาจี

ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ เกิดที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2525 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตฤณภัทรทำงานเกี่ยวข้องกับร่างกายและการสำรวจตัวตนผ่านสื่อต่างๆ ตั้งแต่งานจิตรกรรม  ผลงานจัดวาง วีดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ และศิลปะแบบมีส่วนร่วม ผลงานส่วนใหญ่ของตฤณภัทรจะแสดงให้เห็นถึงการรับรู้ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย การเข้าถึงวิธีคิดในเรื่องของการลำดับของเวลา การรับรู้กับพื้นที่ และการตระหนักรู้ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับผัสสะของผู้ชม ตฤณภัทรเข้าร่วมแสดงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยว “A Memoir of Mind”  ณ หอศิลป์ราชดำเนินร่วมสมัย กรุงเทพฯ (2561) นิทรรศการ “Glories of Greyscale” ณ หอศิลป์ตาดู กรุงเทพฯ นิทรรศการ “DRAW” Contemporary Drawing ณ G23 กรุงเทพฯ, นิทรรศการ “What We Paint About  When We Talk About Painting”  ณ Artist+Run กรุงเทพฯ (2562) ไปจนถึง นิทรรศการ “Visions of Light,” 16 albermarle project space ออสเตรเลีย,  นิทรรศการ “Land form: ภูมิลักษณ์” ณ SAC Gallery กรุงเทพฯ (2564)

ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

ความหลงใหลในศิลปะของ อดิศักดิ์ สมคง เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเขาได้เห็นภาพจิตรกรรมของคุณปู่ ซึ่งจุดประกายความสนใจในสุนทรียศาสตร์ด้านนี้ แม้ว่าพ่อกับแม่ของเขาจะไม่เห็นด้วยในการศึกษาต่อด้านศิลปะ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดจะสามารถหยุดยั้งเขาจากการเรียนรู้สร้างสรรค์ศิลปะด้วยตัวเองได้

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี อดิศักดิ์ได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสายงานด้านศิลปะมากมาย จนนำไปสู่การจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก “Wall” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป และนิทรรศการกลุ่ม “Moods” ณ Dialogue Coffee and Gallery  ในปี 2556 อดิศักดิ์ได้มีส่วนร่วมในนิทรรศการกลุ่มอีกหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือ “Soul Splash” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2565 ผลงานของอดิศักดิ์สะท้อนความคิดคำนึงที่เกิดจากใคร่ครวญ แสดงออกถึงมุมมองส่วนตัวที่มีต่อประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต ศิลปินต้องการที่จะแบ่งปันชุดความคิด และสร้างแรงดึงดูดให้เข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่มีความหมายจากผลงานของเขา

ชุดผลงาน GENESIS ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นที่ MATDOT Art Center เปรียบเสมือนการเดินทางครั้งใหม่ในเส้นทางศิลปะของอดิศักดิ์ หลังจากห่างหายจากการจัดแสดงผลงานเดี่ยวไปนานกว่าแปดปี การได้สัมผัสกับสภาพแวดล้อมทางศิลปะ หลอมรวมกับบทสนทนาที่มีกับธวัชชัย สมคง ผู้ก่อตั้ง MATDOT ทำให้เขาพบเจอแรงบันดาลใจที่จะเสาะแสวงหานวัตกรรมในการทำงานชุดใหม่ ตลอดจนผลักดันพรมแดนของการสร้างสรรค์ของเขาให้กว้างขวางออกไปมากยิ่งขึ้น

อดิศักดิ์ สมคง

เกี่ยวกับภัณฑารักษ์

สรณ วิริยะประสิทธิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี 2014 ด้วยความสนใจเฉพาะตัวด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปะร่วมสมัย ทำให้เขาสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ นิตยสารไฟน์อาร์ท ประเทศไทย นอกจากบทความด้านศิลปวิจารณ์ที่ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2016–2021 สรณยังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะสำหรับหนังสือของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม อีกหลายเล่ม

นอกจากนี้ สรณยังเคยรับตำแหน่งผู้ช่วยภัณฑารักษ์ให้กับนิทรรศการ ‘โลกยังคงหมุนไป’ สำหรับศาลาไทย ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 เมื่อปี 2019 และภัณฑารักษ์ร่วมในนิทรรศการสำหรับพาวิลเลียนนานาชาติพิมานทิพย์ ในการแสดงศิลปกรรมร่วมสมัยนานาชาติ ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ โคราช 2021

สรณ วิริยะประสิทธิ์

เกี่ยวกับแมตดอท อาร์ต เซนเตอร์

แมตดอท อาร์ต เซนเตอร์ คือพื้นที่ทางศิลปะ ณ ย่านเมืองเก่าใจกลางกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งโดยคุณธวัชชัย สมคง บรรณาธิการบริหารนิตยสารไฟน์อาร์ท เมื่อ พ.ศ. 2563 เพื่อเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างผู้คนในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักสะสมงานศิลปะ นักศึกษา หรือผู้รักงานศิลปะ ภายในกลุ่มอาคารสามหลังย่านถนนหลานหลวง พื้นที่ใช้สอยอันหลากหลายตั้งแต่คาเฟ่ สตูดิโอ ห้องประชุมอเนกประสงค์ ห้องทำงานส่วนรวม ไปจนถึงห้องพัก เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาใช้เวลาร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่การขยายความร่วมมือไปยังชุมชนภายนอกทั้งในไทยและต่างประเทศ

นอกจากผลงานศิลปะที่สอดแทรกอยู่ในทุกซอกทุกมุมของพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดีผ่านสายตาของภัณฑารักษ์ ภายในอาณาบริเวณของแมตดอทยังประกอบไปด้วยห้องแสดงนิทรรศการสองแห่ง ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกในการนำเสนอศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ได้แก่ Blacklist Gallery สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนโดยศิลปินที่ได้รับเชิญให้เข้ามาทำงานร่วมกับเรา และ Matdot Gallery สำหรับแสดงผลงานของศิลปินในพำนัก

ติดต่อเรา

47 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส

เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 10100

โทร. 02 163 4550

อีเมล matdot@matdotart.com

เว็บไซต์ matdotart.com

เวลาทำการ

วันอังคาร–วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์)

10.00–18.00 น.