Compilation Exhibition
by POD ART
ภัณฑารักษ์ ไหม วงศ์สวัสดิ์
จัดแสดงที่ 333Gallery
5 September – 8 October 2023

หลายคนอาจจะเคยได้ยินบทเพลงยอดฮิตวงดนตรียุคอัลเทอร์เนทีฟอย่าง Moderndog กับการขับร้องด้วยเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของธนชัย อุชชิน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ป๊อด Moderndog ในบทบาทของนักร้องนำ นักแต่งเพลงที่สร้างความทรงจำความประทับให้กับผู้ฟังและวัยรุ่นยุค90 เป็นอย่างดี

ทว่าหลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่านักดนตรีคนนี้ยังมีความสามารถในด้านศิลปะอีกด้วย ตลอดระยะเวลากว่ายี่สิบปีในวงการดนตรี เขายังทำงานศิลปะควบคู่ไปกับงานเพลง และมีงานแสดงนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับ Compilation นิทรรศการล่าสุดที่รวบรวมผลงานของป๊อดตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน แสดงให้ผู้ชมได้เห็นมุมมองและความสามารถด้านศิลปะของนักดนตรีผู้นี้ ผ่านการใช้โครงสร้างของเพลง (Song Structure) เข้ามาเรียบเรียงช่วงเวลาของการเดินทางบนเส้นทางสายศิลปะ ตั้งแต่ ท่อนแรกจนถึงท่อนสุดท้าย

“ก่อนท้องฟ้าจะสดใส
ก่อนความอบอุ่นของไอแดด”

พาร์ทแรก Intro คือ การนำเสนอจุดเริ่มต้นการเดินทางของป๊อดผ่านของสะสมและ collage book ที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงปี 2000 ภายหลังจากที่ Moderndog ปล่อยอัลบั้มเพลงชุดที่2 ป๊อดตั้งใจเดินทางไปที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการแต่งเพลง และที่นั่นก็ทำให้ป๊อดเกิดความคิดที่จะทำงานศิลปะขึ้นมาด้วยเช่นกัน

ขณะใช้ชีวิตในต่างแดน ป๊อดเริ่มสร้าง visual diary ของตนขึ้นมา จากการนำวัสดุต่างๆ มาปะติดลงบนสมุดบันทึกส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จร้านค้า, ใบเสร็จจากร้านกีต้าร์ที่ป๊อดซื้อมาใช้แต่งเพลง, ตั๋วคอนเสิร์ตของ David Bowie, ห่อขนม, ใบปิดภาพยนตร์, และการจดบันทึกไอเดียต่างๆ ของเขา ซึ่งระบุวันที่และปี ค.ศ. ตั้งแต่ปี 1998–2001 โดยหนึ่งในนั้นได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับการออกแบบปกอัลบั้มของ Moderndog ชุดที่3 Love Me Love My Life (2001) และยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับป๊อดทุกครั้งที่กลับมาย้อนดูบันทึกเล่มนี้

ผลงานในส่วนแรกของนิทรรศการจึงเปรียบเสมือนกับท่อน intro ของบทเพลงที่ทำให้ผู้ชมได้มองเห็นและเข้าใจในตัวตนของป๊อดในฐานะนักสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นได้ทั้งนักดนตรีและศิลปินผู้สร้างานศิลปะ

พาร์ทที่สอง Verse นำเสนอการเกริ่นนำเรื่องราว และอารมณ์ของบทเพลงต่างๆ ซึ่งจะพาให้ผู้ฟังไปยังช่วงต่อไป โดยปกติท่อนนี้จะมีการใช้เนื้อร้องที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้คนฟังรู้สึกสดใหม่อยู่ตลอด

“สุดท้าย เรื่องราว ว่างเปล่า (ในใจ)
ต้องเจอ ต้องเป็น แล้วจะเห็น ใช่ไหม”

ผลงานในส่วนที่สอง คือการรวบรวมภาพวาดดิจิทัลของป๊อดที่ถูกสร้างและเผยแพร่บนบัญชี instagram ส่วนตัวของเขาในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เมธี น้อยจินดา มือกีต้าร์ของวงได้แนะนำให้ป๊อดรู้จักกับ Art Studio แอพลิเคชั่นที่สามารถใช้สร้างสรรค์งานศิลปะบนโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ป๊อดสร้างสรรค์ผลงานของตนออกมาได้อย่างต่อเนื่องนับแต่นั้น

“ยังคงเป็นดั่งเหมือนกับเมื่อวาน
อยู่ในส่วนลึกความทรงจำ
แต่ต่างกันแค่เพียงในตอนนี้”

Pre-Chorus คือ ท่อนที่จะช่วยเร่งเร้าอารมณ์ให้ผู้ฟัง ซึ่งถูกบอกเล่าผ่านพาร์ทที่สามของนิทรรศการ Pre-Chorus เป็นการนำเสนองานศิลปะของป๊อดที่นับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการเข้าสู่วงการศิลปะในฐานะศิลปิน กับการได้ทำงานเขียนภาพบนเฟรมผ้าใบด้วยสีอะคริลิกครั้งแรก จากการที่เขามีโอกาสได้รู้จักกับวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินและผู้ก่อตั้งหอศิลป์ D Kunst จังหวัดราชบุรี ชักชวนให้ป๊อดมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานกับศิลปินท่านอื่นในนิทรรศการ ‘Happy Accidents’ เมื่อปี 2013

นิทรรศการดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ที่เรื่องราวการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมกันระหว่างป๊อดและศิลปินคนอื่นๆ โดยป๊อดนั้นได้เข้าไปขอใช้พื้นที่สตูดิโอของชลิต นาคพะวัน รวมทั้งหยิบยืมอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ มาใช้สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะของตน นอกจากนี้ ผลงานดิจิทัลของป๊อดยังได้รับการแต่งเติมสีสันให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วยฝีมือของสมยศ หาญอนันทสุข พร้อมกับลงชื่อของศิลปินทั้งสามไว้ร่วมกันบนชิ้นงาน

จากการทำงานรูปแบบดิจิทัลสู่การได้ลงมือทำงานศิลปะบนผืนผ้าใบ ทำให้ป๊อดเริ่มตั้งคำถามต่อขีดจำกัดและการแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ของตนเอง การตั้งโจทย์ของการทำงานศิลปะภายใต้เงื่อนไขที่ต้องใช้อุปกรณ์วาดภาพเพียงแค่ แคนวาส พู่กัน และ สี เป็นที่มาของงานศิลปะในพาร์ทที่สี่ Chorus ประกอบไปด้วย ผลงานจิตรกรรมนามธรรมหลากหลายขนาดที่ป๊อดสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2013-2020

การได้ปลดปล่อยตนเองออกจากกรอบของการทำงานศิลปะอย่างที่เขาคุ้นเคย สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดของโครงสร้างเพลง ซึ่งเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ทุกอย่างที่ศิลปินพยายามสร้างขึ้นมานั่นคือ Chorus หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันติดปากว่า “ท่อนฮุค”

“บรรจงร้อยเป็นมาลัย สนุกสุขใจหนักหนา
เป็นประจำทุกวันเวลา ไม่เคยเหนื่อยล้า… กับมาลัย”

ในส่วนของพาร์ทที่ห้า Verse 2 เป็นการรวบรวมผลงานที่ป๊อดพยายามค้นหาเทคนิคอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการทำงานจิตรกรรมบนผ้าใบ โดยป๊อดได้มีโอกาสทำงานกับสตูดิโอศิลปะภาพพิมพ์ต่างๆ จัดทำผลงานภาพพิมพ์เทคนิคซิลค์สกรีน(silkscreen) และ ภาพพิมพ์โลหะ (etching) ซึ่งถูกนำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมื่อการเดินทางผ่านโครงสร้างเพลงมาถึงในส่วนนี้ ป๊อดได้นิยามการทำงานศิลปะของเขาว่า เปรียบเสมือนการได้ปลดปล่อยตนเองออกสภาวะที่คุ้นเคย ได้มองเห็นร่องรอยการเดินทางของตัวเองในทุกฝีแปรงที่ปรากฏอยู่บนผ้าใบ เป็นกระบวนการค้นคว้าและการเรียนรู้ชีวิตผ่านการทำงานศิลปะ ไม่ต่างไปจากการเขียนเพลง ที่ต้องทำความเข้าใจต่อทุกข้อความที่ตนเขียน และไม่ว่าจะเป็นการเขียนเพลงหรือการทำงานศิลปะ ทั้งสองสิ่งนี้ก็คือ เครื่องมือในการทำความเข้าใจต่อชีวิตของตนทั้งสิ้น

“สุดท้าย เรื่องราว ว่างเปล่า (ต่อไป)
ต้องเจอ ต้องเป็น แล้วจะเห็น ใช่ไหม”

พาร์ทที่หก Solo คือความต้องการของป๊อดที่ต้องการจะสร้าง cooperative space ไว้ในพื้นที่กลางห้องแสดงผลงาน ด้วยการสร้างเวทีทรงกลมขนาดย่อมและเปียโนตัวจิ๋วไว้สำหรับเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับนิทรรศการในครั้งนี้ และยังสามารถนำเครื่องดนตรีชิ้นอื่นเข้ามาสร้างเสียงบรรเลงและการแสดงท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยผลงานศิลปะของป๊อด เช่นเดียวกับนักดนตรีที่แสดงความสามารถของเขาให้ผู้ชมหันมาจับจ้องผ่านการบรรเลงท่อน Solo ของบทเพลง

ก่อนที่บทเพลงจะบรรเลงไปสู่ช่วงสุดท้าย ผู้ฟังมักจะเคยได้ยินเนื้อร้องบางท่อนที่มีความแตกต่างไปจากเนื้อร้องของบทเพลงในท่อนอื่นๆ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหลัก ที่ทำหน้าที่สร้างความแปลกใหม่และลดทอนความจำเจของคำขับร้อง เรียกว่า “ท่อนแยก” หรือ “Bridge” ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของผลงานวิดีโอดิจิทัลอาร์ตที่ติดตั้งไว้ด้านนอกของห้องนิทรรศการ

“ที่แล้วมาให้มันผ่านไป แม้เรื่องราวมากมายแค่ไหน
ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร แต่เธอยังมีคนเข้าใจ”

พาร์ทที่เจ็ด Bridge เป็นผลงานที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลาที่วงการศิลปะเพิ่งจะได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “NFT” ซึ่งเข้ามาสร้างนิยามของงานศิลปะ ให้เปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย ความก้ำกึ่งระหว่าง สินทรัพย์ดิจิทัล และ งานศิลปะ นี้เอง คือสิ่งที่ป๊อดได้หยิบยกขึ้นมาตีความและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานดิจิทัลในบริบทที่แตกต่างไปจากผลงานดิจิทัลในยุคแรกเริ่ม

ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ Compilation คือ การนำเสนอตัวตนที่แท้จริงของป๊อดใน Outro ท่อนสุดท้ายของบทเพลงที่เป็นการสรุปเรื่องราวการเดินทางที่ผ่านมาทั้งหมดของป๊อด บอกเล่าผ่านการจัดวางผลงานชิ้นต่างๆ ที่ถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน เสมือนกับสมุดบันทึกเล่มหนึ่งที่ถูกปะติดไปด้วยงานศิลปะและใช้การแต่งเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่อง

แม้ว่าบทเพลงนี้จะดำเนินมาถึงท่อนสุดท้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่การเดินทางของป๊อดไม่ได้สิ้นสุดไปด้วย บทเพลงต่อไปกำลังจะเริ่มต้นใหม่ในท่อน Intro เปรียบเสมือนการเดินทางของป๊อด Moderndog ไม่ว่าจะในฐานะศิลปินนักร้องหรือศิลปินนักวาด ชายคนนี้ยังคงตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานอันน่าประทับใจ ฝากเอาไว้ในความทรงจำของใครหลายคนต่อไป

“นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุด
แม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้นสั้น (เพราะเธอ)”

ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด Moderndog (ศิลปิน) และ ไหม วงศ์สวัสดิ์ (ภัณฑารักษ์)