CHAOS MANDALA: NATIONAL COLORATION COMPLEX
โดย ธนัช ธีระดากร
จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY
ตั้งแต่ 15 July – 19 August 2022
“ถ้าเกิดประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ได้ถูกประกอบสร้างจากทางฝั่งตะวันตกเพียงอย่างเดียว แล้วตอนนี้มันจะมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร?” คือโจทย์ตั้งต้นของธนัช ธีระดากร สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการ CHAOS MANDALA: NATIONAL COLORATION COMPLEX นำเสนอการซ้อนทับระหว่างประเด็นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมสมัยจากหลากหลายแหล่งที่มา หล่อหลอมกันเป็นผลงานเขิงทดลองที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์อันไร้ซึ่งพรมแดนระหว่างยุคสมัย
ธนัช ธีระดากร ศิลปินผู้ใช้การแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานด้วยการข้ามศาสตร์ระหว่างการออกแบบ ดนตรี ศิลปะ และการวิจัย เขาร้อยเรียงความทรงจำเข้ากับความสนใจส่วนตัวรอบด้าน อาทิ การเมือง ตำนานท้องถิ่น เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมกระแสหลักและกระแสรอง ฯลฯ ปะติดปะต่อกันจนเกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่จำกัดเพียงแค่งานสองมิติ แต่ยังหมายรวมไปถึงงานสร้างสรรค์ในรูปแบบของเสียง ดนตรี ศิลปะการจัดวาง และศิลปะการแสดงสด ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสื่อร่วมสมัยเพื่อสร้างความท้าทายต่อการรับรู้ของผู้ชม ผลงานของเขาได้รับการจัดแสดงในระดับนานาชาติ เช่น เบอร์ลิน ฮัมบูร์ก (เยอรมัน) อาร์นเฮม ซานดัม (เนเธอแลนด์) และซูริค (สวิตเซอร์แลนด์)

“เมื่ออยู่ที่ต่างประเทศ ผมมีโอกาสได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่นๆ ที่แตกต่างจากไปสถานที่ที่เราเติบโตมา ค้นพบวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งก็ส่งผลไปยังความหลากหลายของงานศิลปะด้วยเช่นกัน ทว่าสำหรับผม การรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เข้าไปดูงานแสดงดนตรีตอนกลางคืน กลับสามารถสร้างความรู้สึกร่วมให้กับผมได้มากกว่าการเข้าไปเสพงานศิลปะในแกลเลอรี่หรือมิวเซียม เพราะผมรู้สึกได้ถึงระยะห่างของอะไรบางอย่าง อาจด้วยวิธีคิดหรือมุมมองที่ฝังอยู่ในผลงานแต่ละชิ้น
“ผมอยากนำเสนอสิ่งที่เป็นตัวแทนของฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้มิติทางด้านวัฒนธรรม วิธีคิดเรื่องเวลาแบบพุทธ หรืออะไรก็ตาม เช่นที่ผมเคยตั้งโจทย์เอาไว้ว่า ‘ถ้าเกิดประวัติศาสตร์ศิลปะไม่ได้ถูกประกอบสร้างจากฝั่งตะวันตกเพียงอย่างเดียว แล้วตอนนี้มันจะมีรูปร่างหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร?’”
“ผมเริ่มต้นพัฒนาโปรเจคนี้ มาเมื่อตั้งแต่ 3-4 ปีก่อน ในช่วงที่ผมใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่ยุโรป แต่ผมยังคงสนใจและติดตามสถานการณ์ของประเทศไทยอยู่เสมอ แม้ว่าเราอยู่กันคนละสถานที่และต่างบริบท ทั้งนี้เพราะอินเทอร์เน็ตได้ทำหน้าที่เหมือนกับประตูที่เชื่อมต่อผมให้สามารถติดตามเรื่องราวและหาข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ เช่น การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือ การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ธนััชเล่าถึงที่มาของนิทรรศการ
“เมื่อผมกลับมาที่ประเทศไทยในปี 2022 ซึ่งตรงกับช่วงหลังโควิด ทุกอย่างจึงค่อยๆ ชัดเจนขึ้น จากการได้พบเจอกับปรากฏการณ์ที่วัฒนธรรม pop ได้เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือแม้กระทั่งไปอยู่บนโลกเสมือนอย่าง Metaverse ขณะเดียวกันผมก็ออกไปสำรวจพื้นที่ต่างๆ รอบกรุงเทพฯ เพื่อค้นหาพื้นที่ที่เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจขนาดย่อยอันเป็นผลผลิตจากสิ่งที่เรียกว่า subculture ด้วยความที่ผมประกอบอาชีพเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์และดีเจอยู่แล้ว จึงมีความคิดที่จะผสมผสานการทำงานโดยใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกัน”
หนึ่งในแนวทางที่ธนัชนำมาใช้ นั่นคือ วิธีการเล่าเรื่อง (narrative) ของกลุ่มศิลปิน K-pop ที่อยู่ใน music video ผ่านการออกแบบต่างๆ ทั้ง แสง สี เสียง เครื่องแต่งกาย ฯลฯ นับเป็นผลผลิตจากระบบอุตสาหกรรม pop และ subculture ที่ส่งอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ รวบตัว นิทรรศการนี้จึงมีลักษณะของ scenography design (การออกแบบฉากการแสดง) ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานหลายๆ ชิ้น ที่ทำขึ้นมาสำหรับนิทรรศการ
“ผมได้นำทุกสิ่งที่ผมสนใจไม่ว่าจะเป็น เรื่องราวของประวัติศาสตร์ เทคโนโลยี สภาวะหลังโควิท ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง ฯลฯ ผสมผสานเข้าไปด้วย และแตกธีมออกมาเป็น CHAOS MANDALA : NATIONAL COLORATION COMPLEX จากการตั้งสมมติฐานที่ว่า ถ้าหากวัฒนธรรมเหล่านี้ มันพูดถึงเรื่องการเมือง วิกฤต หรือ ประเด็นทางสังคมขึ้นมา มันจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร”
ธนัชรังสรรค์โรงมหรสพของเขาขึ้นมาด้วยแนวทาง scenography design ที่แปรสภาพพื้นที่ของห้องนิทรรศการให้กลายเป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ประดับประดาด้วยชิ้นงานคอลลาจจากชิ้นส่วนของเสื้อผ้า เครื่องแบบ ป้ายเครื่องหมาย อินทรธนู หลากอาชีพหลากสถาบัน แขวนติดตั้งไว้บนผนังคล้ายภาพประดับโบสถ์วิหาร โดยมีเวทีขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายกับรอยแยกของแผ่นเปลือกโลก แบ่งพื้นที่ของห้องนิทรรศการออกเป็นสองส่วน


“การสร้าง stage ก็เป็นส่วนหนึ่งของ scenography design เพื่อให้ผู้ชมได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง และยืนอยู่ร่วมกันบนพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายกับโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งถูกยกระดับให้ลอยเหนือหัวขึ้นมาจากพื้นดินที่ยืนอยู่ มีที่รองรับ ถูกผ่าออกเป็นสองฝัง และเชื้อเชิญให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามกับตนเองในฐานะของประชากรที่มีส่วนร่วมกับระบบการผลิตว่า เรายืนอยู่บนโครงสร้างแบบไหน และโครงสร้างเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาอย่างไร ขณะเดียวกันก็ใช้พรมแดงเพื่ออ้างอิงไปถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ที่มันถูกใช้ในหลายบริบท ทั้งทางด้านศาสนา การเมือง หรือ การปฏิวัติ
“ถ้าความเป็นจริงทุกวันนี้มันถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากเรื่องเล่า ชีวิตของเราทุกวันนี้มันก็คือ fiction ผมได้สร้าง fiction ขึ้นมา เพื่อให้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับผลงาน ได้มอง ได้ชม ได้มีประสบการณ์ร่วมกับมัน แล้วนำกลับไปตั้งคำถามต่อว่า เราคือ ส่วนใดของ fiction นี้”


ชิ้นส่วนแผ่นโลหะที่ตั้งเด่นอยู่บริเวณกลางเวที ทำหน้าที่เป็นฉากประดับแท่นบูชาจากเทคนิคแอร์บลัชชวนให้นึกถึงภาพประกอบของตัวการ์ตูนที่มักปรากฏอยู่บริเวณตัวถังและฝากระโปรงรถโดยสารไม่ประจำทาง แสดงภาพของเหล่าอสูรและเทวดากำลังชักลากพญานาควาสุกรี ผู้อุทิศร่างกายเป็นเชือกสำหรับการประกอบพิธีกวนเกษียรสมุทร ตามท้องเรื่องเทวตำนานของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ธนัชเล่าถึงกระบวนการสังเคราะห์ข้อมูลจำนวนจากหลายแหล่งที่มาของตนเพื่อนำมาประกอบกันเป็นผลงานในนิทรรศการเอาไว้ว่า
“ก่อนอื่น ผมตั้งโจทย์ของตนเองขึ้นมาว่า ‘เราจะสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างไร’ นำไปสู่การหาแนวทางสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่าง พร้อมกับค้นหาบางสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่น่าสนใจ ที่จะผสานอารมณ์อันหลากหลายนี้เอาไว้ด้วยกัน โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ physical, sound และ visual ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันทั้งในรูปแบบและกระบวนการ
“‘physical’ ผมจะสังเคราะห์ข้อมูลกับการอ้างอิงจากบริบทรอบข้าง ทั้งพื้นที่แสดงนิทรรศการ หรือ สถานการณ์ทางสังคม อย่างช่วงที่ผมกลับมาที่ประเทศไทย ก็มีเรื่องของวัฒนธรรม K-pop ที่กำลังเป็นที่นิยมในเมือง ขณะเดียวกัน ผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของกลุ่มวัฒนธรรมชายขอบ รวมตัวกันแต่งรถ เปิดดนตรี ปาร์ตี้สังสรรค์ ซึ่งผมได้ค้นพบกับประเด็นของการรวมกลุ่มที่ก่อร่างการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่ตรงนั้น และยังเชื่อมโยงไปกับความทรงจำส่วนตัวของผมได้ในอีกความหมายหนึ่ง
“ในบริบทดิจิทัล ก็มีแพลตฟอร์มที่คนทำเพลงเขารวมกลุ่มกันขึ้นมา มีคลับมิวสิคที่เรียกว่า contemporary electronic music มีกลุ่มคนทำงานดนตรีที่เรียกว่า Deconstructed club ที่เกิดขึ้นมาในช่วงปี 2012 และปัจจุบันก็พัฒนามาเป็น Post-deconstructed club ไปแล้ว ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเปรียบเสมือนวัฒนธรรมย่อยที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ผลงานให้กระจายออกไปได้ทั่วโลก คนทำงานสร้างสรรค์ก็ยิ่งนำสิ่งที่ได้จากทั้งอินเตอร์เน็ตและสิ่งรอบตัวเอามาใช้ทำงานได้อย่างเต็มที่ การแลกเปลี่ยนและส่งต่อกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นการสร้างเครือข่ายที่ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าหากัน ส่งผลไปที่การทำ ‘sound’ ของผม กับการเข้าไปจัดการในมุมของคนทำงานดนตรี และในมุมของงานศิลปะร่วมสมัยที่ให้ความสุนทรีย์และความรู้สึกต่อการทำงานในอีกรูปแบบที่แตกต่างกัน”


“‘visual’ ด้วยความที่ผมประกอบอาชีพออกแบบกราฟิกดีไซน์ จึงมีเรื่องของการสืบค้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมสนใจประเด็นทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ไทยที่ผมมองว่ามีสถานะคล้ายกับเรื่องเล่า ซึ่งมีบทบาทต่อโครงสร้างสังคมการเมือง สิ่งที่ผมหยิบมาใช้ ก็เป็นเรื่องที่ถูกฝังรากลึกอยู่ในโครงสร้างวัฒนธรรมและความเชื่ออยู่แล้ว การที่เรื่องเล่าจะสามารถทำงานได้มันจำเป็นที่จะต้องมีสื่อที่เป็นตัวกลาง เช่น ทีวี หนังสือพิมพ์ ซึ่งในอดีตก็มีแค่สื่อกระแสหลักเพียงเท่านั้น ที่คอยหล่อหลอมความคิดและมุมมองของคนให้ออกมาในทิศทางเดียวกัน แต่ปัจจุบันนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ประวัติศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่กว้างไกล หลั่งไหลเข้ามาจากหลายทิศทางแตกต่างไปเดิม เพราะทุกคนมีอินเทอร์เน็ตที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้และไม่ใช่ข้อมูลจากแหล่งที่มาเดียว
“คำถามต่อมาคือ แล้วใครหล่ะที่เป็นคนคอยควบคุมสื่อเหล่านั้นอยู่ ? เป็น ‘คน’ หรือ ‘เครื่องจักร’ ? และถ้าหากเป็นเครื่องจักรจริงๆ มันมีรากฐานโครงสร้างทางความคิดเป็นอย่างไร แล้วมันจะหล่อหลวมให้กับโครงสร้างความคิดทางสังคมของมนุษย์เราไปในทิศทางไหน?
“ผมมองไปที่ปรากฏการณ์นี้และประวัติศาสตร์ในอดีต พร้อมกับหาจุดเชื่อมโยงในการทำความเข้าใจต่อภาวะปัจจุบัน ผลงานของผมจึงเป็นการเข้าไปจัดการกับโครงสร้าง (deconstruction) ของประเด็นทางประวัติศาสตร์ ในส่วนภาพแทนของระบบ (representation) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ ผมสร้างเก้าอี้ขึ้นมาหนึ่งตัวแล้วทำการถอดรื้อมัน เพื่อทำความเข้าใจว่าเก้าอี้ตัวนี้ ประกอบสร้างกันขึ้นมาอย่างไร ซึ่งกระบวนการนี้ (reverse engineering) มันอยู่ในกระบวนการทำงานของผมทั้งหมดเลย ทั้งในงานเสียงและงานภาพ”


เสียงบรรยากาศภายในห้องนิทรรศการเปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะ เนื่องจากเซนเซอร์ที่ถูกติดตั้งไว้กับเครื่องขยายเสียงได้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของวัตถุที่อยู่เบื้องหน้า และเมื่อเวลาล่วงเลยไป สภาพภูมิทัศน์ของพื้นที่จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปตามแสง สีที่แปรสภาพของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นสถานบันเทิงเริงรมณ์ เตรียมพร้อมสู่เวทีมหรสพสำหรับการแสดงของธนัช

ธนัชทำการแสดงที่มีความยาวกว่าสามสิบนาทีด้วยแล็ปท็อปและดีเจ คอนโทรลเลอร์ ด้วยการบรรเลงบทเพลงในชื่อ PROCESSION OF GHOST VOICE ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ไตรภูมิิพระร่วง บทเพลงธรณีกรรแสง แนวคิดพุทธปรัชญาผสมผสานการใช้เทคโนโลยีด้วยเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถแบ่งการแสดงออกเป็นสี่องค์ โดยแต่ละองค์นั้นจะสร้างผลทางอารมณ์และความรู้สึกผ่านเสียงดนตรีที่แตกต่างกันไป
เริ่มต้นจากบทโหมโรง Birth ด้วยเสียงจากเครื่องดนตรีวงปี่พาทย์ที่ถูกขับเน้นความอลังการด้วยเสียงจากออร์แกนที่ถูกบรรเลงภายในโบสถ์คริสต์หรือโรงละครโอเปร่า สอดแทรกเสียงสังเคราะห์ (Synthesizer) หลากรูปแบบสลับกับเสียงขับเสภาว่าด้วยการอวตารของนารายณ์เทพ องค์ที่สอง Life กับเสียงเพลงจากเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตราเคล้าคลอไปกับจังหวะของดนตรีร็อคที่มีเสียงจากกลองชุดเป็นตัวคุมจังหวะตลอดช่วงของการแสดง องค์ที่สาม Death กับการสร้างบรรยากาศผ่านดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้ความรู้สึกอ้างว้าง ล่องลอยอย่างไร้จุดหมายนำไปสู่ช่วงสุดท้ายของการแสดงในองค์ที่สี่ Rebirth กับเสียงเคาะจังหวะของกระดิ่งที่คอยกำหนดจังหวะการหายใจเข้า-ออกยามนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ราวกับเสียงของเข็มนาฬิกาที่เป็นสัญญาณของการนับถอยหลังสำหรับจุดสิ้นสุดและจุดเริ่มต้น

“หลักคำสอนของศาสนาพุทธนั้นมีหลากหลายแบบ ทั้งที่เป็นธรรมะปรัชญา หรือกระทั่งธรรมะที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง ผมบังเอิญได้พบกับเรื่องราวของนักบวชชาวเวียดนามชื่อ Thich Nhat Hanh ผู้เขียนแนวคิด Interbeing มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของสรรพสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เช่น ‘เวลาที่เรามองไปที่กระดาษ เราเห็นพระอาทิตย์ที่อยู่บนนั้นไหม?’
“กระดาษเกิดขึ้นมาได้ เพราะว่าพระอาทิตย์นั้นมีส่วนที่ทำให้ต้นไม้เติบโต ซึ่งก็เป็นแนวคิดแสดงให้เห็นวัฏจักรของวัตถุที่เกิดขึ้นบนโลก และสอนให้เรามองโลกด้วยความละเอียดอ่อนได้ยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา ผมทำงานเชิง speculative fiction ซึ่งพูดถึงเรื่องราวในอนาคตมาซะเยอะ เราอยู่ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยวัตถุ ความวุ่นวายและความโกลาหล ซึ่งคอยกดทับเราอยู่ตลอดเวลา ผมจึงอยากที่จะเคลื่อนตัวออกมา ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทำในสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุข การทำงานศิลปะก็เช่นเดียวกับหลักพุทธปรัชญา ที่สามารถทำให้ผมได้จดจ่ออยู่กับสภาวะในปัจจุบัน”


ภาพถ่าย : รชฏ ไทรวิมาน