4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566
เตรียมปักหมุดรอ!! กับงานเทศกาลสุดสร้างสรรค์ระดับโลก “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566” หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ภายใต้ธีม “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี” ที่มีโจทย์หลักว่าการออกแบบ ‘ทำเมืองให้ดีขึ้น’ อย่างไร พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันพัฒนาให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นสำหรับวันข้างหน้า
สำหรับ #BKKDW2023 ปีนี้ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 พร้อมนำเสนอกว่า 530 โปรแกรม ทั้งนิทรรศการ โชว์เคส ดนตรี ทอล์ก เวิร์กช็อป ทัวร์ อีเวนต์ และตลาดนัดสร้างสรรค์ ใน 9 ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั่วกรุงเทพฯ เช่น 1) ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย 2) เยาวราช 3) สามย่าน – สยาม 4) อารีย์ – ประดิพัทธ์ 5) พระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง 6) วงเวียนใหญ่ – ตลาดพลู / คลองสาน 7) บางโพ 8) พร้อมพงษ์ 9) เกษตรฯ และพื้นที่อื่น ๆ

เปิดธีมหลัก “urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี”
Bangkok Design Week 2023 ยังคงมุ่งเน้นกับโจทย์ทำอย่างไรให้ ‘การออกแบบ’ พัฒนา ‘คุณภาพชีวิต’ ของผู้คน โดยอาศัยหลักการสร้างเมืองที่เป็นมิตรต่อคน และสร้างคนที่เป็นมิตรต่อเมือง และทำกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่ urban‘NICE’zation หรือเป็น เมือง – มิตร – ดี ต่อทั้งผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ รวมถึงสามารถค้นหาแนวทางแก้ปัญหาในมิติต่าง ๆ พร้อมผลักดันให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจหมุนเวียนในกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกคนที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ และอาศัยกลไกจากรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยร่วมกันขับเคลื่อนสร้างทางออกไปด้วยกัน
มาร่วมเป็น ‘มิตร’ ทำ ‘เมือง’ ให้เป็น ‘มิตรที่ดี’ สำหรับเราทุกคน urban‘NICE’zation – Let’s make ‘urban’ nice for us all.
‘urban‘NICE’zation เมือง – มิตร – ดี’ คือการตอบโจทย์ผู้คน เมือง เเละสังคม ผ่าน 6 มิติ
1. Nice for Environment เป็นมิตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เราจะฟื้นฟูและสร้างเมืองที่มีสีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างไร
2. Nice for Culture เป็นมิตรที่ดีต่อวัฒนธรรม การเปิดโอกาสให้ผู้คนในเมืองสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกหรือชื่นชมวัฒนธรรมที่หลากหลายได้อย่างไร
3. Nice for Diversity เป็นมิตรที่ดีต่อทุกความหลากหลาย ทำอย่างไรเมืองจะโอบรับสมาชิกที่แตกต่างและหลากหลายได้
4. Nice for Mobility เป็นมิตรที่ดีต่อคนเดินทาง ร่วมค้นหาไอเดียสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางของคนเมืองให้สะดวกสบายและปลอดภัยขึ้นอย่างไรได้บ้าง
5. Nice for Business เป็นมิตรที่ดีต่อธุรกิจ สร้างสรรค์บรรยากาศของเมืองให้ส่งเสริมธุรกิจได้อย่างไร
6. Nice for Community เป็นมิตรที่ดีต่อชุมชน ทำอย่างไรให้ชุมชนมีความสุขและแข็งแกร่ง
ส่องโปรแกรมไฮไลต์ 9 ย่านทั่วกรุงเทพฯ

ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย
- Seatscape & Beyond โดย One Bangkok วัน แบงค็อก นำเสนอคอลเล็กชัน ‘เฟอร์นิเจอร์สาธารณะสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง’ (Urban Furniture) ภายใต้โครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ ตอกย้ำการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบที่นั่งสาธารณะ ที่จะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างประสบการณ์ในพื้นที่สาธารณะที่ดีให้แก่คนเมือง
Venue: อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง, ลานจตุรัสไปรษณีย์

ย่านเยาวราช
- Academic Program: Bangkok City Trooper โดย SATARANA การทดลองออกแบบเมืองร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศกว่า 9 สถาบัน ให้สอดคล้องและรองรับปริมาณความหนาแน่นของการใช้งานพื้นที่ พร้อมนำเสนอวัฒนธรรมในมิติใหม่ในย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ใจกลางเขตเมืองเก่ากรุงเทพฯ ที่มีรูปแบบการใช้งานพื้นที่ตลอดทั้งวันเกือบ 24 ชั่วโมง
Venue: ย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด

ย่านพระนคร / ปากคลองตลาด / นางเลิ้ง
- ประ-ปา โดย FOS Design Studio ค้นพบเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ “ประปาแม้นศรี” ที่ข้ามผ่านกาลเวลาและได้กลายเป็นพื้นที่ปิดในปัจจุบัน ย้อนการเกิดขึ้นของอาคารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ คืนความมีชีวิตให้กับอาคารเก่าอันทรงคุณค่า ผ่านการจัดแสดงการออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรม (Architectural Lighting) โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Unfolding Bangkok-Living Old Building
Venue: ประปาแม้นศรี
- Pak Khlong Pop-Up: Bangkok Flower Market Festival โดย Humans of Flower Market by Arch SU ชวนสัมผัสประสบการณ์ใหม่ชมตลาดดอกไม้ที่เก่าแก่ของกรุงเทพฯ เพื่อทดลองสร้างสรรค์ ‘ภาพจำ’ ที่ร่วมสมัยในย่านปากคลองตลาด ทั้งชิ้นงานศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจจากดอกไม้ (Flower-Inspired Installation) เทคโนโลยีสร้างปฏิสัมพันธ์เสมือนจริงย่านปากคลองตลาด (Interactive Flower Experience) การแสดงภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของปากคลองตลาด (Street Photo Exhibition) เพื่อฟื้นฟูความมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
Venue: ปากคลองตลาด
A Garden Too Secret โดย ARCANE ‘สวนลับ’ แห่งนี้คือพื้นที่สีเขียวส่วนบุคคลของชาวกรุงเทพฯ ในอัตราส่วน 1:1 โดยเมื่อเดินเข้าไป ผู้ชมจะได้สัมผัสกับพื้นที่สีเขียว พืชพันธุ์ที่เขียวชอุ่ม และความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ เปิดโอกาสให้พืชกลายเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์เมืองอย่างแท้จริง สร้างประสบการณ์ที่ดื่มด่ำ ฉายให้เห็นความงามของพืชท้องถิ่นที่ผสานรวมกับแสงประดิษฐ์และหมอกอย่างน่าสนใจ
Venue: ย่านพระนคร, อาคารโดมชั้น 2

ย่านอารีย์ – ประดิพัทธ์
- Ari-Pradipat Open House #2 โดย AriAround ‘เปิดบ้าน เปิดย่าน เปิดเมือง’ สร้างความสัมพันธ์และสร้างโอกาสให้กับกลุ่มนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไปที่อาศัยและทำงานอยู่ในย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนในย่าน ที่จะสามารถผลักดันย่านฮิปแห่งนี้ให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งการเรียนรู้ และย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
Venue: โครงการ 33 space


ย่านพร้อมพงษ์
49 & FRIENDS: LUMINOUS 26 โดย A49 / A49HD ย่านสุขุมวิท 26 มีข้อดีที่ทุกคนจดจำได้คือมีต้นไม้ที่ร่มรื่น แต่ในทางตรงกันข้าม ต้นไม้เหล่านั้นกลับบดบังระบบไฟส่องสว่าง 49 & FRIENDS นำเสนอการสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างใหม่ ที่มอบความสว่างเพื่อความปลอดภัยของคนเดินถนนและรถยนต์ในตอนกลางคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Venue: บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด, ซอยสุขุมวิท 26

ย่านบางโพ
- Bangpho Wood Sale Festival โดย Bangpho Wood Street มหกรรมลดราคาครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 15 ปี จัดเต็ม จัดใหญ่ รวมทุกร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นงานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก สินค้าไม้แปรรูป รวมถึงของตกแต่งประเภทต่าง ๆ ที่นำมาให้ทุกคนได้เลือกช้อปกันแบบจุใจ โดยมีส่วนลดสูงสุดกว่า 50%
Venue: ถนนสายไม้บางโพ, ถนนประชานฤมิตร

นอกจากนี้ยังมีย่านอื่น ๆ ที่เข้าร่วมเทศกาลฯ ที่จะมาร่วมสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘เมือง – มิตร – ดี’ สำหรับทุกคนใน #BKKDW2023 ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.bangkokdesignweek.com, FB และ IG: bangkokdesignweek, Twitter: @BKKDesignWeek, Line: @bangkokdesignweek

เกี่ยวกับเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ หรือ Bangkok Design Week เป็นเทศกาลสำคัญที่ได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินกิจกรรมของกรุงเทพมหานคร และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งร่วมผลักดันกรุงเทพมหานครให้เติบโตและโดดเด่นในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) ในสาขาด้านการออกแบบ (Bangkok City of Design) อีกด้วย
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 60 หน่วยงาน รวมถึงนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย โดยมียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศรวมแล้วมากกว่า 400,000 คนในแต่ละปี
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ ไม่เพียงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ทั้งในแง่ของการเป็นเวทีแสดงผลงานของนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์ การกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ยังส่งผลกระทบเชิงบวกที่ขยายผลสู่ธุรกิจแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การตลาด การพิมพ์ สื่อออนไลน์ แกลเลอรี ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ธุรกิจของฝาก-ของที่ระลึก โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม บริการขนส่งมวลชน ฯลฯ
เกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2561 โดยการยกระดับ TCDC ขึ้นเป็นองค์การมหาชน ในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ CEA คือการสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง โดยการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสู่ชุมชนโดยรอบให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ CEA ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโตจากการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย
#BKKDW2023 #BangkokDesignWeek #urbanNICEzation