by Somyot Hananuntasuk
at ATT19, 19 มกราคม – 19 มีนาคม 2566
Photo: ATT19 / Preecha Pattara
“คงกลัวว่าไม่ได้ทำงาน การทำงานศิลปะมันเป็นอาหารของผม” คำตอบที่เกิดจากคำถามที่ว่า “ตอนนี้อาจารย์กลัวอะไรอีกบ้าง?”
หากเป็นเมื่อก่อนสมยศคงตอบได้อีกมากว่าสิ่งที่เขากลัวคืออะไร ความกังวลที่เกาะกินภายในจิตใจของเขาเริ่มต้นตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่บังคับให้เขาแตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ครอบครัวใหญ่ที่แต่ละคนต่างมีหน้าที่หลายอย่างนอกเหนือจากการเรียน ความกดดันสะสมไม่มีที่ทางให้ระบายหรือไม่มีโปรแกรมพูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหาดังเช่นปัจจุบัน ส่งผลออกมาให้เห็นผ่านผลงานในยุคแรกของเขา
Surrealism งานศิลปะเหนือจริง เกิดขึ้นจากความกดดันภายในที่ถูกปลดปล่อยออกมา เมื่อไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดหรือแสดงออกเป็นรูปธรรมได้ ผลงานเหนือจินตนาการจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการอธิบายสิ่งที่ยากจะอธิบาย ความที่เป็นคนชอบวาดรูปปั้นดินมาตั้งแต่เด็ก สมยศจึงเลือกศิลปะเป็นทางออกของความกดดันที่เกิดขึ้นภายใน ผลงานในช่วงนั้นส่วนใหญ่เต็มไปด้วยความอึดอัด มืดมน และความกดดัน ทั้งจากเทคนิค โทนสีที่ใช้อย่าง ลายเส้นสีน้ำมันบนผ้าใบ โดยสมยศเลือกที่จะย้ำเตือนความเครียดภายในของตนด้วยการใช้พู่กันเส้นเล็ก ตวัดลากเส้นไปทีละเส้น สร้างรูปทรง ก่อเป็นรูปร่าง ที่หากเข้าไปสำรวจในรายละเอียดแล้วเราจะเห็นถึงเรื่องราวที่ร่อยเรียงทับซ้อนอยู่ภายใน และเมื่อถอยหลังออกมาก็จะพบกับความกดดันที่กดทับลงมาโดยที่เราไม่อาจรู้ตัว ซึ่ง ณ ขณะนั้นสมยศก็ไม่รู้ตัวเช่นกันว่างานของเขาสร้างแรงกดดันที่แผ่ออกมาภายนอกได้มากขนาดนี้ เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่ใช้ปลดปล่อยภาวะที่อยู่ภายในจิตใจของตนเองเท่านั้น

หลังจากเข้าศึกษาที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมยศได้รับคำแนะนำให้ยื่นขอทุนจาก สถาบันเกอเธ่ (Goethe-Institut Thailand) และได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะ เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ในสมัยนั้นห้องสมุดของเกอเธ่ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอด หนังสือศิลปะจากต่างประเทศสามารถเข้าไปอ่านและค้นคว้า อีกทั้งยังมีการฉายภาพยนตร์เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้แล้วห้องสมุดของสถาบันต่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Britist Council, Japan Foundation และ Alliance Française ก็ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอด บริบทในยุคสมัยที่โลกศิลปะเอียงไปทางตะวันตก กระแสธารของความรู้ไหลมาจากฝั่งตะวันตก นอกจากการเดินทางที่ใช้เวลานานแล้ว การเข้าถึงก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหาได้ทั่วไปในรั้วมหาวิทยาลัย เกอเธ่จึงเป็นสถานที่ที่ผู้สนใจในศิลปะเดินทางเข้าไปแสวงหา และการพบปะก็คือจุดเริ่มต้นของบทสนทนาที่ทำให้สมยศตัดสินใจยืนของทุนไปเรียนต่อในครั้งนั้น
การเดินทางไปศึกษาต่อเยอรมนีเปรียบเสมือนการเดินทางครั้งสำคัญ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปย่อมส่งผลต่อชีวิตและความคิด แม้ในช่วง 10 ปีแรกที่สมยศที่เดินทางไปพร้อมความกดดันภายในจิตใจ กับแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานที่ออกมายังคงเต็มไปด้วยความอึดอัด กดดัน และความตึงเครียด หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีช่วงเวลาหนึ่ง เขาค้นพบว่าภาวะความกดดันที่เกิดขึ้นจากปัญหาที่เขาเคยเผชิญมา เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้โดยการพูดคุย รายการโทรทัศน์หลายรายการนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม การนำคนสองหรือหลายกลุ่มคนมานั่งพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน และคลี่คลายปมปัญหาที่เกาะกินอยู่ในใจ ส่งผลให้สมยศรับรู้ว่าเรื่องราวทุกอย่างนั้นมีทางออก และเขาไม่ใช่คนเดียวที่เผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ เมื่อความกดดันภายในจิตใจที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้างสรรค์งานคลี่คลายลง ผลงานที่สื่อออกมาย่อมคลี่คลายไปในรูปแบบอื่นเช่นกัน

รูปแบบงานของสมยศในช่วงที่จิตใจเต็มไปด้วยความกดดันได้รับอิทธิพบมาจากงานของ Salvador Dali อย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นศิลปินหลายคนมีแนวทางการสร้างสรรค์งานในรูปแบบ Surrealism มากมาย จนถึงช่วงปี 1970 เรื่อยมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของยุคศิลปะ เป็นที่สังเกตว่าทุก ๆ 10 ปีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นมาเสมอ เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ หากมองในแง่ของการพัฒนาก็คือวิวัฒนาการ วิทยาการณ์สมัยใหม่ที่เข้ามาเพื่อให้สังคมมนุษญ์ก้าวขึ้นไปอีกขั้น ทว่าหากมองในแง่ของตลาดการค้าเวลา 10 ปีก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ สมยศเล่าว่าในสมัยนั้นกระแสของงานศิลปะเปลี่ยนแปลงไปมาก จาก Surrealism เป็น New expressionism ศิลปินหลายคนสามารถปรับตัว เปลี่ยนแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานได้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกเลิกอาชีพนี้ไป ในช่วงเวลานั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของการเริ่มต้นใหม่ สมยศที่คลี่คลายภาวะกดดันในจิตใจได้แล้ว จึงเริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางใหม่ออกมา
สมัยก่อนเขาเคยมีความคิดและเชื่อว่าศิลปินหลายคนก็มีแนวคิดเช่นนี้ “เมื่อเราค้นพบแนวทางศิลปะของเราแล้ว เราควรยึดถือมันไปให้ถึงที่สุด” ความคิดข้างต้นสร้างความกดดันก้อนใหม่ขึ้น ความกดดันที่ไม่อาจสร้างสรรค์ และไม่อาจจบงานสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ผ่านไป 3 สัปดาห์ เมื่อมีเวลาในการพิจารณาตนเอง เขาค้นพบว่างานมันออกมาจากภาวะกดดันในจิตใจของเรา กระแสของความเครียด อึดอัด ที่แผ่ออกมากลายเป็นสิ่งที่กลับมาสร้างความเครียดให้แก่เขา ประกอบกับความกดดันนั้นได้ถูกคลี่คลายไปแล้ว เขาจึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องเลิกยึดติดกับแนวทางเดิม เลิกยึดติดกับปัญหาที่ได้รับการแก้ไขไปแล้ว การลงเมื่อสร้างทางขึ้นมาใหม่จึงเริ่มต้น

จาก Surrealism มาเป็น Abstract บางคนมองว่าเขาได้ละทิ้งทักษะไป ทว่ามันคือการละทิ้งปัญหาที่ได้รับการแก้ไขแล้ว ละทิ้งพื้นที่เดิมเพื่อเริ่มต้นเดินทางไปบนพื้นที่ใหม่ สมยศเปรียบการทำงานของเขาคือการเดินทาง เมื่อเข้าไปในพื้นที่ใหม่ย่อมมีสิ่งใหม่อื่นๆ ตามมา ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี สิ่งที่ทำได้คือการเผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ไขมัน การทำงานในช่วงแรกออกมาจากการตั้งคำถามที่ว่า “งานรูปแบบที่ตึงเครียดคือสิ่งที่เราต้องการนำเสนอให้แก่สังคมจริงหรือ?” ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นสงคราม วิกฤตการณ์การขาดแคลนอาหาร ความอดยากที่แผ่กระจายไปทั่วทุกแห่ง คำตอบคือการทำงานที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการอีกต่อไป การจัดการกระบวนการทางความคิดขึ้นใหม่ก่อร่างเป็นผลงานนามธรรมที่เต็มไปด้วยสีสัน โดยงานในครั้งนี้สมยศได้ใช้ทักษะที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านช่วงชีวิตที่ผ่านมา เขาเลือกใช้ชีวิตต่อที่เยอรมนีหลังจากครบกำหนดทุนการศึกษา ทั้งที่การใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนั้นย่อมยากลำบากกว่าการเดินทางกลับมาที่เมืองไทย ทว่าการเริ่มต้นใหม่ที่เมืองไทยนั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ ความต้องการของเขาคือการสานต่อเรื่องราวบทใหม่ที่เยอรมนีให้สมบูรณ์ลุล่วง

ในเมื่อเลือกใช้ชีวิตต่อในต่างแดน การทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพอย่างเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากต้องการทำงานศิลปะที่ตนเองรัก เขาต้องจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจของตัวเองให้ได้เสียก่อน การต้องดำรงชีวิตด้วยตัวเองจึงเริ่มต้นขึ้น สมยศทำงานมากมายทั้งงานในร้านอาหาร งานออกแบบ เรื่อยมาจนถึงงานช่างทาสีที่เขายึดมาเป็นอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงชีพในขณะที่ต้องการสร้างงานศิลปะ จากลูกจ้างทาสีที่เมื่อมีงานที่ต้องการความละเอียดนายช่างจะต้องส่งเข้าไปเก็บงานทุกครั้ง พัฒนามาเป็นนายช่างเสียเอง การทำงานทาสีช่วยให้เข้าได้ทำงานศิลปะมาเป็นเวลานานก่อนที่จะเลิกอาชีพนี้ไป (10 ปีที่แล้ว) ทักษะที่ได้จากครั้งเป็นช่างทาสีปรากฎให้เห็นในผลงานของเขา เทคนิคการฉาบพื้นผิวเรียบ ทิ้งพื้นที่นูน ทีแปรง และร่องรอย การใช้สีเพื่อสร้างมิติของงาน ทักษะเหล่านี้คือสิ่งที่สะสมมาตลอดช่วงชีวิต ผลงานของสมยศในช่วงนี้สร้างความสงบ สบาย สดใส ให้แก่ผู้ชม

50 Years in Munich รวบรวมผลงาน 50 ปีที่สร้างสรรค์ที่มิวนิก เยอรมนี สถานที่ที่เปลี่ยนแปลงเขาทั้งภายนอกและภายใน จากเด็กชายขี้อายไม่มีความมั่นใจในตัวเอง กลายเป็นศิลปินที่เต็มไปด้วยพลังงานบวกที่พร้อมจะส่งต่อแก่คนรอบข้าง ATT19 เปิดพื้นที่ทั้งหมดในชั้น 2 เพื่อบอกเล่าชีวิตของสมยศผ่านผลงานตั้งแต่งาน Surrealist เรื่อยมาจนถึงงานยุคปัจจุบัน ความตึงเครียด ถูกคลี่คลายให้เห็นผ่านพัฒนาการของงาน ทว่าหากเราเดินดูผลงานไล่ไปตามปีที่สร้างสรรค์ เราจะพบว่าผลงานหลายชิ้นในช่วงปีที่ต่างกันมีความคล้ายคลึงกัน และบางครั้งงานในปีเดียวกันกลับมาความต่างกัน อย่างที่เคยกล่าวว่า การทำงานศิลปะของเขาคือการเดินทาง เมื่อเราเดินทางไปพื้นที่ใหม่ ผ้าใบผืนใหม่ ความรู้สึกต่างๆ วนกลับเข้ามาอีกครั้ง อาจมีแปลกใหม่ไปจากพื้นที่เดิมบาง แต่ทุกการเรียนรู้จะมอบประสบการณ์ที่ล้ำค่ากลับมาเสมอ ผลงานที่ปรากฏจึงผสมผสานความรู้สึกสลับไปมาอยู่ตลอด เหมือนชีวิตที่มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ
สมยศในวัยกว่า 70 ปี ยังคงเดินทางอยู่เสมอ เดินทางไปในโลกจริงและบนผืนผ้าใบ และยังคงดูแลร่างกายในแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก นั่งสมาธิ วิปัสสนา ไทเก๊ก คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตชะลอลง ทำให้พิจารณาอะไรได้ถี่ถ้วนขึ้น ความกลัวที่เคยเกิดขึ้นตอนนี้แปรเปลี่ยนเป็นความกลัวที่จะไม่ได้แก้ปัญหาตรงไหน ปัญหาไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่เป็นเพียงเรื่องราวของชีวิตอนหนึ่งที่เราต้องเข้าไปจัดการเพื่อเดินทางไปในตอนต่อไป

