9 สิงหาคม – 26 พฤศจิกายน 2566

ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สูงวัย … ขยาย (ความ) นิทรรศการที่นำผู้ชมเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (ที่ไม่ได้เป็นเพียงการคาดเดา แต่คือข้อเท็จจริงจากสถิติที่ปรากฏ) ในสภาวะที่ผู้สูงวัยกำลังขยายตัวกลายเป็นกลุ่มประชากรที่มากที่สุดในโลก แม้เราจะตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้มาสักพัก ทว่าแนวทางการจัดการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุกลับยังไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถแสดงประสิทธิผลออกมาได้อย่างเต็มที่

เริ่มต้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยการปรับสายตา โฟกัสข้อความเกี่ยวกับนิทรรศการที่อยู่ข้างหน้า รูปแบบและขนาดตัวอักษรที่ไม่คุ้นเคยปรากฏให้เห็น และเมื่อไล่สายตาอ่านไปทีละบรรทัดจึงพบว่าเป็นข้อความที่ออกแบบมาให้อ่านง่าย ทั้งขนาด ความหนา และช่องไฟของแต่ละตัวอักษร ล้วนถูกออกแบบโดยมีงานวิจัยรองรับ การสำรวจและศึกษาข้อมูลจากสถิติ ลักษณะทางกายภาพ ความสามารถด้านสมมรถภาพของกลุ่มผู้สูงอายุพบว่า ทุกรายละเอียดล้วนส่งผลต่อการรับสาร ทั้งสิ่งที่มนุษย์ออกแบบได้อย่าง ตัวอักษร สี ขนาด และบางสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ อาทิ อากาศ แสงอาทิตย์ สภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่เข้ามากระทบ สิ่งต่างๆ ล้วนส่งผลต่อการตอบสนองไม่เพียงแต่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกกลุ่มวัยต่างมีลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของเราได้ดี ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ถูกนำมาใช้ออกแบบงานนิทรรศการในครั้งนี้

นอกจากตัวอักษรที่ออกมาแบบมาอย่างดีแล้วสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาและสร้างความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบกับห้องแสดงงานอื่นๆ คือ จำนวนเก้าอี้ที่กระจายอยู่ในห้อง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการนั่งพักคือสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ (เราก็เช่นกัน) เพื่อยืดอายุการใช้งานของร่างกาย และยืดระยะเวลาในการทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เก้าอี้ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ บุญแชร์ (Boon-Share chairs) คอนเลคชั่น ประกอบไปด้วย บุญส่ง เก้าอี้โยกที่เมื่อแอนตัวมาข้างหน้าจะเพิ่มแรงส่งให้ผู้สูงอายุสามารถลุกขึ้นยืนได้ง่ายขึ้น บุญค้ำออกมาแบบเพื่อให้เป็นเครื่องพยุงช่วยเดิน ซึ่งเมื่อเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้วสามารถสลับมาเป็นที่นั่งพักก่อนเดินต่อได้ เก้าอี้ที่มีช่องเก็บไม้เท้า ไอเท็มส่วนตัวที่ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต้องใช้  เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง วิสาหกิจชุมชน และ พงศกร กันทะวงศ์ (นักออกแบบ) ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองสรีระและลักษณะการใช้งานของผู้สูงอายุ ด้วยดีไซน์ที่สวยงามและวัสดุที่ทนทานด้วยไม้สักจากจังหวัดแพร่ โดยผลงานชุดนี้แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากผลิตภัณฑ์ในชุมชน ทว่าได้รับการต่อยอดและสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จนกลายมาเป็นต้นแบบเครื่องไม้ของผู้สูงวัยที่สามารถพัฒนาไปในระดับสากลได้

นอกจากตัวอักษรและเก้าอี้ที่สะดุดตาตั้งแต่เข้ามาในพื้นที่แล้ว ภายในนิทรรศการยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มผู้สูงวัยที่ผ่านการตีความและนำเสนอจากนักคิดนักสร้างสรรค์หลายท่าน เริ่มต้นกันที่การทำความเข้าใจความแตกต่างจากภายใน สังคมไทยอาจพูดได้เต็มปากว่าเรามีศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งยึดเหนี่ยวที่ไม่ได้สอนให้เรายึดติด พระไพศาล วิสาโล พระนักเทศน์ชื่อดังกับหลักคำสอนเรื่อง ภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาในชีวิต ฉันศูนย์เสียเวลาไปกับความทุกข์หรือว่าเสียเวลาไปกับเรื่องที่มันไม่เป็นเรื่องมานานแล้ว ตอนนี้ฉันเหลือเวลาน้อยแล้วไม่อยากเสียเวลากับเรื่องนี้อีกต่อไป”ที่มีการเผยแพร่กันบทสื่อสาธารณะเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การปรับตัวของพระสงฆ์ที่ต้องการเผยแพร่คำสอนแก่ผู้คนโดยใช้สื่อสมัยใหม่เข้ามาเป็นช่องทางหลักที่จะเข้าถึงชาวบ้านและเป็นช่องทางให้ชาวบ้านเข้าถึงศาสนา ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปที่วัดได้ก็สามารถเข้าฟังหลักธรรมได้ทางสื่อรูปแบบใหม่

มหานครผลัดใบ ของ แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ นำเราเข้าสู่โลกของผู้สูงอายุกับพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร ภาพวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการกิน อยู่ หลับนอน ซึ่งทำให้เห็นว่าการออกแบบผังเมืองและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นั้นไม่ได้ถูกคิดมาเพื่อการใช้ชีวิตที่มีจุดประสงค์เพื่อมนุษย์เป็นหลัก อาทิ สะพานลอย ที่ต้องเดินขึ้นไปสูงมากกว่าจะข้ามไปอีกฝั่งถนนและทางเดินลงที่ชันและแคบ ซึ่งหากคำนึงถึงมนุษย์เป็นหลัก ทางข้ามถนนที่ควรมีคือ ทางม้าลาย ทางเดินแนวราบที่เอื้ออำนวยกับทุกคน (แต่อาจสร้างความลำบากให้ผู้ใช้รถยนต์เล็กน้อย) หรือแม้แต่บาทวิถีที่กลายเป็นพื้นที่ขายของ พื้นผิวที่เปรียบเสมือนการเล่นเกมส์สุ่มว่าคุณจะเดินเหยียบลงไปเจอหลุมที่ตรงไหน ปัญหาเหล่านี้แม้จะเล่าเรื่องผ่านผู้สูงอายุทว่ากลับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบกับทุกคน

ผลงานของ สุพรรณิการ์ ติรณปริญญ์ นำเสนอความเปราะบางของผู้คนไม่ได้แสดงออกผ่านลักษณะทางกายภาพเพียงเท่านั้น เพราะส่วนที่เปราะบางที่สุดนั้นซ้อนอยู่ภายใน R.I.P. – Rebirth in pieces การเกิดใหม่จากชิ้นส่วนที่แตกสลาย ผลงานที่เกิดขึ้นจากห้องทดลองเล็กๆ ที่นำมนุษย์ต่างวัยเข้ามาทำงานร่วมกัน ปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาและกิจกรรมการซ่อมแซมสิ่งที่แตกสลายกลายเป็นสะพานเชื่อมคนสองวัยเข้าด้วยกัน ทั้งในเรื่องของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านการนำศิลปะเข้าไปผสมผสานกับการการทำมาหาเลี้ยงชีพของกลุ่มผู้สูงอายุที่จะนำของที่ถูกทิ้งขวางและชำรุดมาซ่อมแซมก่อนนำกลับไปใช้หรือขายอีกครั้ง ศิลปะที่กำลังบอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอะไรก็สามารถนำมันมาใช้ได้ กิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่เพียงซ่อมแซมสิ่งที่ที่แตกสลายให้กลับมาใช้งานและเพิ่มมูลค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมรอยแตกที่แยกกลุ่มผู้สูงอายุออกจากผู้คนในสังคม ความรู้สึกโดดเดี่ยวและจิตใจที่บอบช้ำก็ได้รับการเยียวยาผ่านกระบวนการนี้ด้วยเช่นกัน

การอยู่ร่วมกันของคนต่างวัยยังสามารถพบเห็นได้จากครอบครัวขนาดใหญ่ กมลลักษณ์ สุขชัย ศิลปินภาพถ่ายที่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของคุณป้าทั้ง 7 ท่าน กมลลักษณ์ ที่นำเอาวิถีชีวิตของครอบครัวมาใช้สร้างงานศิลปะ เริ่มต้นจากผลงานภาพถ่ายที่เธอนำสมาชิกในครอบครัวมาเป็นบุคคลต้นแบบในการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ มาในงานครั้งนี้เธอเลือกนำสิ่งที่เธอมีปฏิสัมพันธ์มาเกือบทั้งชีวิตที่นอกเหนือจากสมาชิกในครอบครัวมานำเสนอ เป็นสิ่งเชื่อมโยงผู้คนต่างวัยเข้าไว้ด้วยกัน สะพานข้ามบึงบัว เบาะรองนอน ที่ครอบครัวของเธอเพื่อเอง เบาะขนาดพอดีตัวที่คุณยายและคุณป้าเย็บไว้ใช้ในครอบครัว ด้วยความที่เป็นครอบครัวใหญ่ที่ใช้ห้องนอนร่วมกัน นำเอาเรื่องราวภายในครอบครัวมาเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสรรค์งานศิลปะ

การส่งต่อองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และการอยู่ร่วมกันของครอบครัวใหญ่ ปรากฏให้เห็นผ่านผลงาน ประยุกต์หัตถกรรมผูกมัดความสุข ของกรกต อารมณ์ดี ศิลปินนักออกแบบที่นำเครื่องไม้ เครื่องจักรสานมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าด้วยดีไซน์และการใช้งานที่ร่วมสมัย กรกตเริ่มต้นเรียนรู้เทคนิคและวัสดุจากครอบครัว ปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นผู้นำเรื่องหัตถกรรมจักรสานของชุมชน นำรูปแบบเฉพาะของการทำว่าวอย่างเช่นการมัด การผูก โดยไม่ได้ใช้วัสดุสังเคราะห์มาทำงาน ผลงานที่นำเสนอในครั้งนี้นำไม้มาผูกและสานต่อกัน ลื่นไหลคล้ายสายน้ำ เกิดการเคลื่อนไหวไม่สิ้นสุด คล้ายกับกาลเวลาที่กำลังดำเนินต่อไปข้างหน้าและไม่อาจหวนกลับ

นอกจากงานที่สื่อสารถึงกลุ่มผู้สูงวัยแล้ว ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อนำเสนอศักยภาพของผู้ที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในแวดวงการสร้างสรรค์ ความเปราะบาง Performance Art ของ นพวรรณ สิริเวชกุล การเคลื่อนไหวน้อยแต่ (เจ็บปวด) มาก ศิลปินเลือกกระบวนการนั่งถักไหมพรมเป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง กิจกรรมที่ผู้สูงวัยหลายคนเลือกใช้ในยามว่าง แม้จะไม่ได้ออกแรงในการถักมาก แต่การนั่งอยู่บนเก้าอี้เป็นเวลานานก็สร้างความปวดร้าวให้แก่ร่างกายของเราเป็นอย่างมาก ผู้สูงวัยที่นั่งถักไหมพรมตามลำพัง ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามคลื่นของกาลเวลาที่รับรู้ผ่านสิ่งภายนอกที่เข้ามากระทบ ลมหายใจ การเคลื่อนไหว ที่บ่งบอกจังหวะของชีวิตที่ค่อยๆ ช้าลงไปเรื่อยๆ

กระโดดข้ามไปอีกห้องผลงาน บันทึกทำไมของมิสเตอร์ทัมไม ภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ของ สุทิน ตันติภาสน์ เล่าเรื่องของมนุษย์ต่างดาวที่ชื่อว่า ทัมไม (ทำไม) ที่เดินทางข้ามจักรวาลเพื่อมาเตือนชาวโลกถึงภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้น ระหว่างการเดินทางทัมมัยได้เรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์โลก ศึกษาเรื่องภาษาเพื่อให้สามารถสื่อสารกับเราได้ นอกจากเรื่องราวบนผืนผ้าใบแล้ว ยังนำเสนอมนุษย์ต่างดาวทัมมัยในรูปแบบของ Art Toy งานศิลปะที่กำลังเป็นที่นิยมและสามารถเข้าถึงได้ง่ายในยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย

ผลงานอีกชุดหนึ่งที่บ่งบอกถึงศักยภาพของศิลปินได้เป็นอย่างดีคือ ศิลปะจากสิ่งทิ้งขว้าง ประติมากรรมของ จุมพล อุทโยภาศ ประติมากรสลักหินอายุ 58 ปี ที่ยังคงทำงานสลักหินอยู่จนถึงปัจจุบัน (ทำต่อเนื่องมา 34 ปี) โดยปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การใช้รูปทรงตามธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นงาน ลดทอนการแกะสลักแต่มุ่งเน้นรูปทรงจากธรรมชาติเพื่อสื่อสารถึงสัจธรรมที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ การใช้ไม้และเหล็กเข้ามาเป็นส่วนประกอบเสริม เพิ่มความรู้สึกที่อ่อนโยน นุ่มนวลจากสีของไม้และความแข็งแกร่งหนักแน่นของเหล็ก

จุดประกายฉายฝัน ผลงานของ ธนิตย์ จิตนุกูล กับภาพยนตร์สั้นเรื่องแสงสุดท้ายบอกเรื่องราวความในใจของคนทำหนังหลายคน ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทั้งรูปแบบการเสพหนังของผู้คน และเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิต หนังสั้นเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของโรงฉายหนังกลางแปลงที่ปัจจุบันนี้การฉายหนังกลางแปลงปรากฎให้เห็นน้อยลง กับเด็กชายคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจและก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ผ่านโรงฉายหนังกลางแปลงแห่งนี้ ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องในแบบที่เราไม่คาดคิด ภาพยนตร์ไม่ได้พาเราย้อนกลับไปยังยุคแห่งความรุ่งเรือง แต่กลับนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปสู่คนรู่เก่าที่กำลังปรับตัวให้ทันสมัย การเปิดใจรับรูปแบบการฉายหนังและการผลิตแบบใหม่เปรียบเสมือนการปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันที่เคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

            ผลงานสองชิ้นสุดท้ายเป็นผลงานที่ส่งต่อแรงบันดาลใจถึงกัน จากผลงานวรรณกรรมเรื่อง เวลา (2536) ของชาติ กอบจิตติ สู่ภาพยนตร์ Anatomy of Time (2564) ของจักรวาล นิลธำรงค์ โดยประเด็นหลักของหนังสือและภาพยนตร์เล่าถึงบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงวัย ทั้งในมุมของคนหนุ่มสาวที่ต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว และอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุตามบ้านและสถานพักฟื้น ความหมายเบื้องหลังของหน้าที่รับผิดชอบที่บางครั้งสร้างเงื่อนไข และกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้ชีวิต

เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ เขียนขึ้นในปี 2536 โดยการเข้าไปสังเกตการณ์สถานพักฟื้นผู้สูงวัยแห่งหนึ่ง ชาติ บันทึกเรื่องราวที่เขาประสบพบเจอ กิจวัตรประจำวันของกลุ่มผู้สูงอายุ งานอดิเรกที่เกิดขึ้นภายในศูนย์ เรื่องราวจากโลกภายนอกที่พวกเขาได้รับรู้ ทั้งข่าวสารบ้านเมือง ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเป็นรับตำแหน่งนางงานของคุณปุ๋ย พรทิพย์ เรื่องราวดำเนินไปเหมือนเดิมเกือบทุกวัน แต่บางวันก็เกิดเรื่องไม่คาดคิด (สำหรับชาติ) ขึ้น การนำผู้สูงอายุมาปล่อยทิ้งไว้หน้าศูนย์แล้วญาติก็จากไป คนที่นั้นเห็นจนชินตาและชินชา รูปแบบการนำเสนอภายในงานภัณฑารักษ์นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มผู้สูงอายุในศูนย์และเรื่องราวของผู้ดูแลที่ต้องรับความกดดันและความคาดหวังผ่านการคลี่หน้ากระดาษบันทึกของชาติ เสมือนการคลี่คลายเรื่องราวด้านหลังรั้วให้คนภายนอกได้รับรู้ กระบวนการทำงานของชาติ และกระบวนการทำหนังสือที่ที่ทุกวันนี้เหลือน้อยลงไปทุกทีก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ภัณฑารักษ์ต้องการส่งสารออกไป

จากตัวอักษรถูกขยายขอบเขตการรับรู้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ผ่านมุมมองและบทบาทของอุบล ผู้ดูแลผู้สูงอายุ Anatomy of Time ภาพยนตร์ยาว 118 นาที นำเสนอควบคู่ไปกับเรื่องทางสังคม การเมือง อาชีพทหาร และความทรงจำ แต่ประเด็นหลักที่สื่อสารผ่านตัวละครอุบลกำลังเล่าเรื่องถึงการทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ที่เต็มไปด้วยความคาดหวังของคนในสังคมและครอบครัว สังคมไทยที่ยังคงความเชื่อมั่นในเรื่องความกตัญญู การดูแลผู้สูงอายุหรือญาติผู้ใหญ่ในบ้าน การละเลยถือเป็นเรื่องผิด ทว่าความกดดันและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในใจของผู้ดูแลนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย ช่วงวัยที่แตกต่าง ความโรยราและความรุ่งโรจน์ การเริ่มต้นชีวิตและปั้นปลายชีวิต การที่กลุ่มคนหนึ่งต้องเสียโอกาสในการใช้ชีวิตของตนเองไปนั้น บางครั้งก็สร้างบาดแผลและกลายเป็นจุดปเลี่ยนที่ก่อตัวกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อการใช้ชีวิต

ภาพยนตร์และหนังสือของทั้ง 2 คนกำลังบอกเราให้ขบคิดถึงทางออกที่สามารถประคับประคองเรื่องราวชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปของคนทั้งสองวัย (ทุกวัย) และอาจกลายเป็นบทสรุปที่ถูกต้องและลงตัวที่สุดของนิทรรศการในครั้งนี้ นิทรรศการ สูงวัย ….. ขยาย (ความ) ที่จำนวนผู้สูงวัยกำลังขยายตัว ซึ่งเราต้องขยายความเข้าใจ ขยายขอบเขตการรับรู้ และขยายมุมมอง สร้างองค์ความรู้เพื่อรองรับสังคมที่วันหนึ่งข้างหน้าเราจะต้องดำรงชีวิตอยู่กับมันโดยที่ไม่เป็นภาระของคนรุ่นหลังที่กำลังก้าวเข้ามา

ภัณฑารักษ์: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ, ดร.วีรยา เอี่ยมฉ่ำ, ดร.อรอนงค์ กลิ่นศิริ และ คุณสืบแสง แสงวชิระภิบาล

นักสร้างสรรค์: กมลลักษณ์ สุขชัย, จักรวาล นิลธำรงค์, ชาติ กอบจิตติ, จุมพล อุทโยภาศ, สุทิน ตันติภาสน์, แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์, นพวรรณ สิริเวชกุล, สุพรรณิการ์ ติรณปริญญ์, กรกต อารมย์ดี, ธนิตย์ จิตนุกูล, พระไพศาล วิสาโล และพงศธร กันทะวงศ์