นิทรรศการ ‘We will leave and never return…’
บทกวีถึงความไม่จีรัง เมื่อมนุษย์กำลังสร้างเครื่องมือในการนิยามถึงสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง
สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ – 25 ธันวาคม 2565
ณ Gallery VER (เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ 12:00-18.00 น.)
อริญชย์ รุ่งแจ้ง เกิดในปี พ.ศ. 2518 ศิลปินร่วมสมัยที่มีความโดดเด่นจากการสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านมุมมองแปลกใหม่ ที่นำเสนอการเชื่อมโยงกันระหว่างเนื้อหาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เข้ากับประเด็นร่วมสมัย เพื่อให้เกิดการย้อนกลับไปตั้งคำถาม ทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และในนิทรรศการครั้งนี้ อริญชย์เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขอบเขตการรับรู้ความจริงของมนุษย์ และปรากฏการณ์ที่ทำให้มโนทัศน์ของผู้คนในสังคมสั่นคลอน
กลิ่นกำยาน และ ปริศนาธรรม
กลิ่นของธูปและกำยานได้คละคลุ้งเข้าสู่ประสาทการรับรู้ของผู้ชมเมื่อเข้ามาถึงที่ห้องนิทรรศการ อาจเพราะ“กลิ่น” คือหนึ่งในสิ่งแรกที่มนุษย์สามารถรับรู้และสัมผัสได้เมื่อพวกเขาเกิดขึ้นมาบนโลก กลิ่นเหล่านี้มีที่มาจากผลงานที่มีลักษณะคล้ายกับฝาผนังขนาดใหญ่ที่ถูกฉาบด้วยธูปและกำยาน
ผลงานชิ้นดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ของงานจิตรกรรมฝาผนัง “ปริศนาธรรม” ภายในวัดบรมนิวาสฯ ที่สะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ของชาวสยามที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อครั้งที่แนวคิดจักรวาลทางพุทธศาสนายังคงยึดตามคติไตรภูมิ มีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรรอบเขาพระสุเมรุ และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทว่าเมื่ออิทธิพลของแนวคิดจักรวาลวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกได้เข้ามาทำให้การรับรู้ต่อความจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ศูนย์กลางของระบบสุริยะได้ถูกแทนที่ด้วยดวงอาทิตย์ จักรวาลแบบคติไตรภูมิจึงกลับกลายเป็นแนวคิดที่ล้าหลังไปในที่สุด
หรือแม้กระทั่งกลวิธีนำเสนอเนื้อหาทางศาสนาในรูปแบบของภาพเชิงอุปมา เช่น ภาพดอกบัวขนาดยักษ์ที่อยู่กลางบึงของขรัวอินโข่ง มีการนำหลักทัศนียวิทยา (perspective) เข้ามาใช้ในการเขียน ซึ่งช่วยสร้างความมีมิติให้กับภาพเขียนจิตรกรรมไทย การเปิดรับใหม่ที่แตกต่างไปจากขนบธรรมเนียมเดิม และความพยายามของชนชั้นนำสยามที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขานั้นมีความ “ศิวิไลช์” ทัดเทียมกับชนชาติตะวันตก สะท้อนให้เห็นถึงมโนทัศน์ของผู้คนที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงของประวัติศาสตร์ยุคล่าอาณานิคมได้เป็นอย่างดี

สัดส่วนของวงกลม และ นิพพาน
ก่อนที่มนุษย์ใช้ปัญญาในการเข้าถึงความรู้และความจริง มนุษย์กลับถูกถูกจำกัดให้อยู่ไว้ภายใต้ของเขตการรับรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะความไม่เข้าใจในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ จึงทำให้มนุษย์พยายามที่จะนิยามความหมายเพื่ออธิบายสิ่งเหล่านั้น เช่น ผู้คนในอดีตมีความเชื่อที่ว่าโลกของเรานั้นมีลักษณะที่เป็นแผ่นแบนราบ จนกระทั่งต่อมาจึงได้ค้นพบว่าแท้จริงแล้วโลกใบนี้ไม่ได้แบนราบอย่างที่คิดแต่เป็นทรงกลม

วงกลมคือรูปทรงพื้นฐานที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์และสอดแทรกอยู่ในทุกสรรพสิ่งได้อย่างสมบูรณ์แบบ มนุษย์จึงต้องพัฒนาวิธีการค้นหาค่าของสัดส่วนวงกลมเพื่อลอกเลียนที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์
จากค่าคงที่ 3.125 ชาวบาบิโลนค่าคงที่ ไปจนถึงชาวอียิปต์ที่ใช้ค่าคงที่ 3.1605 หรือแม้กระทั่งชาวกรีกที่อาศัยการวาดภาพหลายเหลี่ยมทับซ้อนร้อยต่อกันกว่า96ด้านจนเกิดเป็นพื้นที่วงกลมในที่สุดนั้น แสดงให้เห็นว่าการรับรู้ของมนุษย์ที่มีต่อ “ความจริงแท้” ที่อยู่ในค่าของพื้นที่วงกลมนั้นไม่มีความแน่นอน พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกช่วงเวลา
อริญชย์นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวผ่านสตริงอาร์ต (String Art) ผลงานคณิตศิลป์จากเส้นด้ายบนหมุดตะปู สายสิญจน์ที่ทำหน้าที่ระบุอาณาเขตของสถานที่ประกอบพิธีกรรม ถูกนำมาร้อยอย่างเป็นระเบียบเข้ากับหมุดบนฐานทรงสี่เหลี่ยมที่หล่อขึ้นมาจากเทียนไข ชวนให้เกิดการตั้งคำถามต่อขอบเขตการรับรู้ที่เหนือกว่าตรรกะของมนุษย์ เมื่อพิธีกรรมและศาสนาได้เข้ามามีอิทธิพลต่อความเชื่อ แม้กระทั่งการกำหนดว่านิพพานคือจุดสูงสุดของพื้นที่หลังความตาย ทว่านับประสาอะไรกับสูตรการหาพื้นที่วงกลมที่แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สภาวะนิพพานที่มนุษย์โหยหาอาจไม่ใช่สิ่งสุดท้ายที่ผู้คนจะได้รับก็เป็นได้

Möbius strip, ไข่มุก และ การรับรู้ที่ยืดหดได้
การเป็นมนุษย์ ทำให้บ่อยครั้งที่เรามักจะใช้ปัญญา ตอบสนองต่อความต้องการที่จะแสวงหาคำตอบและนิยามความหมายให้กับสิ่งที่เราไม่เข้าใจ มนุษย์จึงใช้องค์ความรู้สร้างสรรค์เครื่องมือ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆเพื่อค้นหาความเป็นไปได้และขยายขอบเขตของการรับรู้ให้ไกลออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่นที่นิพพานกลายเป็นภาพแทนของโลกทัศน์หลังความตายอันแสนสงบสุข หรือสิ่งประดิษฐ์อย่างโทรทัศน์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือหลักในการนำเสนอภาพแทนและการรับรู้ทางสายตา
อีกมุมหนึ่งของห้องนิทรรศการ Peal เป็นงานศิลปะจัดวาง (Installation art) ที่เชื่อมโยงทุกอย่างภายในนิทรรศการเข้าหากัน โดยมีเสียงบรรยายบทกวีที่เป็นเหมือนลายเซ็นของอริชญย์ คอยบอกเล่าแนวความคิดที่มีต่อวัฏจักรการแปรเปลี่ยนของทุกสรรพสิ่ง สายสิญจน์ด้ายแดงที่ถูกลากทแยงไว้บนผนังชวนให้นึกถึงผังความคิดที่แสดงการปะติดปะต่อโครงสร้างความสัมพันธ์ของการรับรู้อย่างเป็นระบบ

เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ได้สร้างไข่มุก (Peal) ซึ่งเป็นผลผลิตจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปภายในตัวของหอยมุก ก่อนที่จะผ่านกระบวนการผลิตสร้างและกลายเป็นอัญมณีจากสิ่งปฏิกูล ที่ไม่ถูกบริโภค ไม่เป็นที่ต้องการของสัตว์ชนิดใด ไม่อยู่ในวังวนวัฏจักรของธรรมชาติ จนกระทั่งเมื่อมนุษย์ได้มาค้นพบและให้คุณค่ากับสิ่งแปลกปลอมนี้
ทว่าสิ่งแปลกปลอมที่หล่นหายไปจากวัฏจักรของการรับรู้ อาจจะเคยเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโครงสร้างนั้นเอง เช่นที่โทรทัศน์ เคยเป็นเครื่องมือนำเสนอภาพแทนของความจริงสูงสุด แต่กำลังจะตกยุคและหลุดหายไปจากวงโคจรเพราะการมาถึงของเทคโนโลยีทางเลือกที่ล้ำสมัยยิ่งกว่า
Motion Graphic ที่ฉายอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ที่นำเสนอภาพการแปรเปลี่ยนของรูปทรง จากสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง วนลูบ กลับไปยังจุดเริ่มต้นอย่างไม่รู้จบ เช่นเดียวการเดินทางของมดในภาพเขียน Moebius Strip II (1964) โดย Maurits Escher (1898-1972)

ภาพเขียนดังกล่าวมีที่มาจากเมื่อปี ค.ศ. 1848 นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน เอากุสต์ แฟร์ดินันด์ เมอบิอุส (August Ferdinand Möbius) ได้คิดพบ แถบโมเบียส (Möbius strip) พื้นผิวที่มีลักษณะคล้ายกับริบบิ้นที่มีด้านเดียว ขอบเดียว โดยที่สามารถลากเส้นและวนกลับมายังจุดเริ่มต้นได้โดยที่ไม่ต้องข้ามขอบของพื้นผิว และยังสามารถขยายขนาดของเส้นรอบวงให้ยาวเป็นสองเท่าได้เมื่อตัดแบ่งตามแนวเส้นรอบวง


ในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ เสียงหยดน้ำและบทสวดของพระสงฆ์ที่จับใจความได้ไม่ชัดเจนนัก ถูกบันทึกไว้จากบริเวณวัดบรมนิวาสฯ พร้อมกับภาพฉายบนผนังทั้งสามด้าน Motion Graphic จากจอโทรทัศน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผลงาน Peal โดยการเริ่มต้นที่การนำภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดบรมนิวาสฯ ค่อยๆแปรเปลี่ยนรูปร่างด้วยการไปอย่างช้าๆ จากวงกลมบิดเกลียวสู่ก้นหอย และจากก้อนหอยแตกหน่อไปเป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากขอบเขตของการรับรู้ที่ความจริงจะหาคำนิยามได้


“แต่ถึงกระนั้น ดวงอาทิตย์ย่อมดับสูญ ดอกบัวร่วงโรย มนุษย์แก่เฒ่า และหินผาผุกร่อน เฉกเช่นนิพพานก็อาจไม่ใช่จุดจบที่แท้ สายลมเท่านั้นที่จะพาเถ้าธุลีของเราที่กุมเสียงกระซิบนี้ไปไกลแสนไกล เราจะจากโลกวัตถุนี้ไป เราจะจากไป และไม่หวนกลับมา”

เมื่อการสร้างสูตรคำนวน สิ่งประดิษฐ์ โลกหลังความตาย หรือแม้กระทั่งงานศิลปะ เป็นเพียงแค่การพยายามลอกเลียนสิ่งที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์ และมีไว้เพื่อจำกัดขอบเขตการรับรู้ที่มนุษย์ได้นิยามขึ้น ‘We will leave and never return…’ จึงเปรียบเสมือนนิทรรศการที่เปิดประเด็นให้กับผู้ชมได้กลับไปทบทวนและตั้งคำถามต่อความไม่จีรีงที่ซ่อนเร้นอยู่ในรูปร่างของความจริงแท้ แล้วเราควรจะรู้สึกอย่างไร เมื่อสิ่งที่เราเคยยึดถือกลับมีหน้าตาที่ผิดแปลกไป ไม่เหมือนอย่างที่เคย?