UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER
โดย เล็ก เกียรติศิริขจร
ภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช
8 กรกฎาคม – 3 กันยายน 2566
HOP PHOTO GALLERY ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์

UNDER THE BURNING SUN THE GRASS IS GREENER THAN EVER นิทรรศการที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจปรากฏการณ์ทางสังคมและการก่อร่างความขัดแย้งจนนำไปสู่เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เล็ก เกียรติศิริขจร เกิดปี พ.ศ. 2520 จบการศึกษาด้านจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปศึกษาต่อด้านการถ่ายภาพต่อที่ The Art Insititute at Bournemouth ประเทศอังกฤษ เขาเป็นศิลปินภาพถ่ายที่นำเสนอเรื่องราวธรรมดาสามัญในระดับปัจเจกไปจนถึงสิ่งที่เกี่ยวโยงวิถีชีวิตของผู้คนเข้าหากัน ผ่านการสะท้อนภาพของประเด็นทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เช่น ผลงานชุด Lost in Paradise (2011-2013) นำเสนอชีวิตแรงงานต่างจังหวัดที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาแสวงหาโอกาสในเมืองหลวง ผ่านภาพถ่ายทิวทัศน์ในพื้นที่รกร้างรอบกรุงเทพฯ

เล็กเนรมิตพื้นที่ของห้องนิทรรศการทั้งหมดให้กลายเป็นสนามหญ้ากลางแจ้งขนาดย่อม นำเสนอผลงานที่ดูคล้ายกับโปสการ์ดส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยยุค 60-70 ถูกปรับแต่งโทนสีให้ฉูดฉาดเกินจริงเช่นเดียวกับภาพประกอบเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนชั้นประถม แสดงภาพถ่ายทิวทัศน์ของสถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น สวนหลวง ร.9, สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร, เมืองโบราณ สมุทรปราการ ฯลฯ พิมพ์ลงบนแผ่นอะคริลิคใส ด้วยเทคนิค UV print ที่ถูกใช้ในกระบวนการพิมพ์ภาพโฆษณา หนังสือ โปสการ์ดในปัจจุบัน พื้นผิวมันวาวของชิ้นงานเล่นล้อไปกับแสงภายในห้องนิทรรศการ ปรากฏตัวอักษรที่ใช้ชุดอักขระของพาดหัวข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งค่อยๆ บอกเล่าลำดับสถานการณ์ ตั้งแต่ก่อนและหลังการสังหารหมู่นักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

POSTCARDS FROM HEAVEN 01 (2023) พาดหัวจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2519 ใจความ “พระราชดำรัชวันปีใหม่ / อย่าตกใจ / บ้านเมืองเรายังดีอยู่”

ต้นทศวรรษ 2510 นับตั้งแต่การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2501 ประเทศไทยต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบทหารมาอย่างยาวนานถึง 16 ปี นำไปสู่การลุกฮือของนักศึกษาและประชาชนในรุ่งเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จากเหตุปะทะของนักศึกษาประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร ลุกลามจนทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ความโกลาหลจบลงที่ผู้นำรัฐบาลทหาร จอมพลถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเดินทางหนีออกจากประเทศ พร้อมกับจอมพลประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

ชัยชนะของประชาชนภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วยการรับเอาองค์ความรู้ด้านการเมือง การปกครอง ประวัติศาสตร์ ฯลฯ จากประเทศจีนที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในยุคสมัยของรัฐบาลก่อนหน้า เข้ามาศึกษากันอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษา ปัญญาชน จนเกิดการตื่นตัวและการตระหนักในสิทธิ เสรีภาพ

ความเฟื่องฟูของอุดมการณ์สังคมนิยมนี้ ถูกแสดงออกผ่านการเคลื่อนไหวของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้ง นักศึกษา กรรมกร ชาวนา รวมไปถึงข้าราชการ ซึ่งได้สร้างความสั่นคลอนผลประโยชน์ของชนชั้นนำของสังคมไทยเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวา และกลุ่มอันธพาลการเมืองโดยฝ่ายรัฐและผู้อำนาจ มีการสร้างสถานการณ์ ใช้สื่อประชาสัมพันธ์ทำลายภาพลักษณ์ต่างๆ ของขบวนการนักศึกษา เชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่าฝ่ายนักศึกษามีเป้าหมายที่จะล้มล้างระบอบสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความรังเกียจ ชิงชัง หวาดกลัวต่อขบวนการนักศึกษา ลุกลามไปถึงการใช้ความรุนแรงเช่น เหตุการณ์ฆาตกรรมสองช่างไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม

จนกระทั่งช่วงต้นปี พ.ศ. 2519 เกิดการคุกคามอย่างหนัก ทั้งการปลุกปั่น ใส่ร้ายป้ายสีให้ฝ่ายนักศึกษากลายเป็นพวกหัวรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีกระแสข่าวว่าจอมพลถนอม กิตติขจร กำลังจะกลับเข้ามาในประเทศไทย ก็ยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก การปล่อยข่าวลือว่ามีการเตรียมการก่อจราจลและวินาศกรรมในกรุงเทพฯ โดยกองกำลังติดอาวุธ

POSTCARDS FROM HEAVEN 03 (2022) พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2519 “เผยแผนคอมมิวนิสต์ไทย / ใช้เวลา 4 เดือน- กำหนด 17 สค./ ก่อจลาจลวันถนอมมา”
POSTCARDS FROM HEAVEN 05 (2020) กับพาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2519 ใจความ “ตร.พบปมฝ่ายซ้ายวางแผน / แขวนคอ 2 ศพ / ใช้ปลุกระดมเผาวัดบวรฯ”

19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เดินทางกลับเข้ามาที่ประเทศไทย โดยบวชเป็นสามเณรมาจากประเทศสิงคโปร์ จากนั้นก็ตรงไปยังวัดบวรนิเวศฯ เพื่อบวชเป็นภิกษุ โดยมีพระญาณสังวร เป็นองค์อุปัชฌาย์ และเมื่อบวชเรียบร้อยก็ขนานนามว่า สุกิตติขจโรภิกษุ

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านโดนขบวนการนักศึกษา ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ในช่วงเย็นของวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ก่อนที่จะย้ายเวทีเข้ามาชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครโดยมีฉากหนึ่งเป็นการจำลองเหตุฆาตกรรมสองช่างไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม

POSTCARDS FROM HEAVEN 08 (2021) พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกอกเดลิไทม์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2519 ใจความ “ตร.นับร้อยตรึงสนามหลวง / หวั่นเหตุร้าย / จับหลานสส.พกระเบิด”

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายขวาอย่าง กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล ต่างย้ายสถานที่ชุมนุมจากวัดบวรฯมายังท้องสนามหลวงตรงบริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการปลุกระดมประชาชนจำนวนมากให้มาร่วมการชุมนุมพร้อมกับสร้างความโกรธแค้น เกลียดชัง ยั่วยุฝ่ายนักศึกษามากยิ่งขึ้น ด้วยข้อกล่าวหา โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของกลุ่มคอมมิวนิสต์

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มยิงอาวุธสงครามใส่ผู้ชุมนุม ตามด้วยการนำกองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนเข้ากวาดล้างนักศึกษาในมหาวิทยาธรรมศาสตร์ เกิดเป็นการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนโดยการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่ม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน เป็นที่มาของเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 6 ตุลาคม 2519

เช้าวันถัดมา พาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างลงข่าวที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายที่ผ่านมานั้น จบลงที่ชัยชนะและความสำเร็จของประชาชนผู้รักชาติ ที่สามารถช่วยกันสยบความโกลาหลทั้งหมดเอาไว้ได้ ตามมาด้วยคำแถลงจากเลขาธิการคณะปฏิรูปที่จะนำความสงบสุชให้กลับคืนสู่ประชาติโดยไว

(ซ้าย) POSTCARDS FROM HEAVEN 10 (2020) กับพาดหัวข่าวจากหนังสือพิมพ์ปวงชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ใจความ “ระเบิดมธ. / เผา-แขวนคอ / นศ. 6 ศพ”

ในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการประกอบไปด้วยผลงานสองชิ้นได้แก่ THE GRAND PALACE (2023) ตู้ไฟที่ถูกจัดไว้ให้หันหน้าเข้าหาผนังของห้องนิทรรศการ โดยมีสายไฟฟ้าวางกองไว้บนพื้นอย่างระเกะระกะอยู่ด้านข้าง ภาพของพระบรมมหาราชวังที่ถ่ายจากบริเวณท้องสนามหลวง พร้อมด้วยข้อความส่วนหนึ่งจากคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กล่าวในวันครบรอบปีแห่งการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2502

ข้าพเจ้ายึดมั่นในหลักการว่า การที่จะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขก็ต้องให้คนทำความดี การที่จะให้คนทำความดีก็ต้องปิดทางทำความชั่วร้ายไว้ก่อน ต้องปิดทางมิให้คนร้ายมีโอกาสทำความร้าย แล้วคนดีจึงจะมีโอกาสทำความดีให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้งานเบื้องต้นของการปฏิวัติ จึงต้องปิดกั้นวิถีทางทำความชั่วดังที่กล่าวมาข้างต้น

อีกชิ้นคือ UNIDENTIFIED MAN, SANAM LUANG (2023) ภาพถ่ายของต้นมะขามบริเวณท้องสนามหลวง พร้อมข้อความบรรยายภาพต้นฉบับจากสำนักข่าว AP กรุงเทพ ถูกเขียนขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

ภาพถ่ายโดย Neal Ulevichไปยังสำนักงานของ AP ในโตเกียวในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ต่อมาข้อความเดียวกันได้ถูกส่งต่อไปยังสำนักงานของ AP ในนิวยอร์กและลอนดอน
(BK-12) กรุงเทพฯ, 6 ตุลาคม(AP)— ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาทำการแขวนคอร่างไร้วิญญาณของนักศึกษาไว้ที่ด้านนอกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันพุธ กองกำลังตำรวจได้ใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมภายในสถานศึกษา ขณะที่ด้านนอก ผู้ชุมนุมฝ่ายขวาต่างระบายความโกรธใส่ผู้ชุมนุมฝ่ายซ้ายที่ถูกพวกเขาจับตัวได้
(AP WIREPHOTO) (nu/stf/Ulevivh)1976

สิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้จากนิทรรศการ คือ การที่ศิลปินได้สลายรูปแบบของความเป็นภาพถ่ายเพื่อก้าวไปสู่อีกขั้นหนึ่งของการทำงานศิลปะ โดยเริ่มจากการขุดค้นหาเศษซากประวัติศาสตร์ทางการเมือง ผ่านวาทะกรรมที่หลงเหลืออยู่บนสิ่งพิมพ์ขึ้นมานำเสนอใหม่ พร้อมกับการเปลี่ยนพื้นที่ของห้องนิทรรศการที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศกลางแจ้งของสนามหลวง และสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถานที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม สายไฟที่กองอยู่บนพื้นกับการบ่งบอกถึงภาพสะท้อนของบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงในบ้านเมือง

โดยมีประเด็นของพลังอำนาจการสื่อสารผ่าน “ภาพ” และ “ตัวอักษร” ที่ถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด อย่างการยุยง ปลุกปั่น สร้างความเกลียดให้ผู้คนหันมาทำร้ายผู้เห็นต่าง ซึ่งยังคงสามารถพบเห็นได้ตามการพาดหัวข่าวบนโซเชียลมีเดีย กลายเป็นสูตรสำเร็จที่ยังคงสามารถใช้ได้ดีเสมอ โดยเฉพาะกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีทีท่าว่าทุเลาลงแต่อย่างใดในปัจจุบัน

คงทำได้แต่หวังเพียงว่า ความขมขื่นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก