หากกล่าวถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 19 หลายคนคงจะนึกถึงการเกิดขึ้นของลัทธิทางศิลปะต่าง ๆ และผลงานศิลปะจากศิลปินที่มีชื่อชวนคุ้นหู ทั้ง Impression Sunrise โดย Claude Monet , The Starry Night โดย Vincent van Gogh ฯลฯ บริบททางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในโลกตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าต่างต้องการที่จะแสวงหาการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแนวทางใหม่ๆ ซึ่งไม่ยึดโยงอยู่กับองค์ความรู้หรือ กรอบทฤษฎีที่สถาบันศิลปะกระแสหลัก ณ ช่วงเวลานั้นยึดถือ พวกเขาได้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะถูกต่อต้านจากผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังคงมีมุมมองทางศิลปะแบบจารีตนิยมแต่ศิลปินเหล่านี้ก็ได้พิสูจน์ตนเองด้วยผลงานศิลปะอันน่าประทับใจจนเป็นที่ยอมรับในที่สุด ถือเป็นรุ่งอรุณของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern art) ยุคสมัยทางศิลปะในเวลาต่อมา

อีกด้านหนึ่ง พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ศาสตร์ของการทำงานศิลปะตามขนบและมีแบบแผนที่เรียกว่า “ศิลปะตามหลักวิชา” (Academic art) ที่เคยรุ่งโรจน์มาตลอดตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 18 ได้ถูกลดทอนความสำคัญและกลับกลายเป็นศิลปะกระแสรอง ส่งผลให้ศิลปินในกลุ่มอะคาเดมิค เหล่านี้ถูกลืมเลือน ไม่ถูกพูดถึง และไม่ถูกบันทึกเรื่องราวของเขาลงในตำราวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างละเอียดเหมือนเช่นที่เหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าได้รับ
เรื่องราวดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้กับ ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ ศิลปินรุ่นใหม่ผู้จบการศึกษาปริญญาโทจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการกลับไปขุดคุ้ยเรื่องราวของศิลปินอะเคเดมิคที่ถูกลืมมานำเสนอใหม่ด้วยกระบวนการทางศิลปะในนิทรรศการ The Oblivion

แนวคิดของนิทรรศการคืออะไร
ผมต้องการนำเสนอศิลปินที่มักจะไม่ถูกพูดถึงบนหน้าประวัติศาสตร์ เพราะประวัติศาสตร์มักนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์ที่มีความสำคัญและถือเป็นจุดเปลี่ยนของช่วงเวลานั้นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบและลัทธิของงานศิลปะในช่วงรอยต่อกรณีของนิทรรศการนี้ มุ่งเน้นไปที่การนำเสนอศิลปินอะเคเดดมิคในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากผมมองว่าเรื่องราวของพวกเขาเป็นเหมือนกับรอยต่อไปสู่ศิลปินอีกยุคสมัยหนึ่งก็คือกลุ่มอินเพรสชั่นนิส (Impressionism)
โดยข้อมูลต่างๆที่นำมาใช้ เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากสื่อ หนังสือ หรืออินเตอร์เนต งานศิลปกรรมต่างๆที่เราพบเห็น มาประกอบสร้างขึ้นมาใหม่เป็นงานสร้างสรรค์ ในรูปแบบของภาพเสมือนจริง ภาพเหล่านี้มันไม่มีความสมบรูณ์ในตัวต้นแบบอยู่แล้ว ต้องอาศัยกระบวนการทางจิตรกรรมเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งภาพเหล่านี้ก็จะแฝงไปด้วยมุมมองของผมเอง ที่ชื่นชมในความยิ่งใหญ่ พยายามนำเสนอความสำคัญในตัวของของเขา

มาค้นพบว่าตนเองชอบผลงานศิลปะอะคาเดมิคตั้งแต่เมื่อไร
เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อได้มาเรียนที่ศิลปากร ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นพี่ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับศิลปะ หนึ่งในนั้นก็คือพี่พัทธ์ (พัทธ์ ยิ่งเจริญ) ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้และชื่นชอบงานศิลปะด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาทำให้ผมได้รู้จักกับศิลปินจากสายอะเคาเดมิค ต่างๆ ที่ในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์มักจะไม่ค่อยกล่าวถึง
กระบวนการค้นคว้าเป็นอย่างไร
ส่วนหนึ่งผมได้มาจากการพูดคุยกับพี่พัทธ์ ประกอบกับความชอบสะสมข้อมูลต่างๆ เป็นเวลานาน เพราะผมเป็นคนชอบฟังบรรยาย ทุกอย่างคือข้อมูลพื้นฐานที่เรามีในหัว มีข้อมูลที่ผมต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ตหรือจากหนังสือที่เราชอบซื้อเก็บสะสมไว้ ซึ่งมีมากพอสมควรเลย มากจนเราสามารถที่จะดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้

เมื่อมีข้อมูลมากพอ เวลาทำงานเราจึงสามารถเลือกข้อมูลมาทำงานได้อย่างอิสระ
ใช่ครับ พอเรารู้จักเกี่ยวกับศิลปินคนนั้นมากเพียงพอ เราก็สามารถที่จะหยิบชิ้นส่วนเหล่านั้นมาเรียบเรียงใหม่ อย่างส่วนที่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมก็คือรูปภาพ พวกภาพถ่ายเก่าๆ หลายๆ ชิ้นเข้ามาประกอบกัน เพื่อให้ได้เป็นภาพที่สมบูรณ์ มีการหยิบยืมองค์ประกอบจากภาพพิมพ์ (engraving) ของเหล่าศิลปินในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่แปลกในสมัยนั้น
ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกชีวิตและผลงานศิลปินคนหนึ่งมานำเสนอ
ส่วนมากผมจะเลือกจากความมีเอกลักษณ์ในผลงาน ซึ่งทำให้เราเห็นความสามารถของเขาตรงนั้น ผมคิดว่านี่คือเกณฑ์สำคัญเลย ผมเคยไปดูงานของศิลปินในแกลเลอรีหรือมิวเซียมที่ต่างประเทศ งานของพวกเขาจะมีแรงดึงดูดอะไรบางอย่างที่ทำให้เราต้องเข้าไปโฟกัสกับมัน ถึงแม้ว่างานหลายๆ ชิ้นจะสวย แต่ว่าบางชิ้นก็ดึงดูดเรา บางชิ้นก็ไม่ ในความเหมือนที่มาจากยุคสมัยเดียวกัน เมื่อมองจากภาพรวมงานพวกนี้จะเหมือนกันทั้งหมดเลย แต่ในรายละเอียดของเทคนิคมักจะมีความต่างอยู่ ซึ่งมันคลิกกับผม ผมจึงใช้เกณฑ์ตรงนี้ในการคัดเลือก

ก่อนที่จะทำนิทรรศการชุดนี้ คุณเคยได้ไปชมผมงานจริงๆ ของพวกเขามาก่อนบ้างแล้วหรือยัง
เคยครับ แต่ไม่ใช่ศิลปินในกลุ่มศตวรรษที่ 19 นี้ เป็นศิลปินอะเคดามิค จากช่วงศตวรรษอื่น ซึ่งพวกเขาจะมีอิทธิพลส่วนหนึ่งในเชิงแนวความคิดเสียมากกว่า อย่างเมื่อตอนผมไปที่ญี่ปุ่นเมื่อสองปีที่แล้ว ผมไปด้วยความชื่นชอบในตัวของ Caravaggio แต่พอผมไปเห็นผลงานจริง ผมรู้สึกเฉยๆ กับผลงานของเขา แต่กลับสนใจวิธีการเขียนรูปของ Jusepe de Ribera ที่หยิบยืมวิธีการเขียนรูปมาจาก Caravaggio มากกว่า ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จัก และด้วยตัวผลงานเอง ผมคิดว่ามันสามารถดึงดูดผมได้ดีกว่าผลงานของ Caravaggio เสียอีก
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่ฝรั่งเศส ผมก็ไปเจองานของเขาอีก มันดีมาก แต่ผมไม่ได้หยิบเอาผลงานของเขามาทำในนิทรรศการครั้งนี้นะครับ เพราะว่าตัวศิลปินเอง เขาไม่ได้อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19

คิดว่าเสน่ห์ของศิลปินอะคาเดมิคคืออะไร
ผมคิดว่า เสน่ห์ตรงนี้คือจุดสูงสุดของการใช้ทักษะ ในช่วงศตวรรษที่ 19 มันยากมากๆ ถึงแม้ว่าศิลปินในยุคปัจจุบันจะเขียนรูป realistic ก็ตาม effect บางอย่างที่อยู่ในงานมันเทียบไม่ได้เลยกับงานในศตวรรษที่ 19 อาจจะด้วยกระบวนการต่างๆ การมีวัสดุอุปกรณ์ มีเดี่ยมต่างๆ (สื่อผสมสีน้ำมัน) ที่มันอำนวยความสะดวกให้กับศิลปินในยุคนี้ ให้สามารถเขียนภาพได้ด้วยความรวดเร็ว ตรงกันข้ามกับศิลปินในยุคนั้นที่ต้องอาศัยกรรมวิธีต่างๆ ที่เป็นแบบแผน ค่อยๆเขียนรูปขึ้นมา และการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในยุคนั้นก็ทำให้เหล่าศิลปินต้องมีความจริงจังในการทำงาน มากกว่าศิลปินในสมัยนี้ที่มีแนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายกว่าแต่ก่อน สามารถทำงานร่วมสมัยโดยไม่จำเป็นต้องทำงานที่อาศัยเพียงแค่ทักษะอย่างแต่ก่อน

จากการที่คุณได้ไปเห็นผลงานจริงๆ ของเหล่าศิลปินมาแล้ว คุณได้นำเทคนิคกระบวนการเหล่านั้นมาปรับใช้ในผลงานอย่างไร
ศิลปินช่วงศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่เขาจะขึ้นภาพด้วยการ draft จากภาพร่างที่พวกเขาเขียนเอง วิธีการวาดแบบนี้มันสามารถถ่ายทอดลักษณะของเส้น outline ได้ดี งานพวกนี้ถ้าชิ้นไม่ใหญ่มากจนเกินไป มันจะยากมากๆเลยถ้าเราไม่ใช้การ draftศิลปินกลุ่มนี้เขาจึงจะให้ความสำคัญกับการร่างภาพผลงานมากๆ
ในการทำ sketch ผมเองจะมีสองรูปแบบ คือ เมื่อเรามีภาพต้นแบบที่มันสมบูรณ์มากๆ จึงไปค้นหาสีจากการค้นคว้าผลงานที่ศิลปินคนนั้นวาด เช่น ผมไปพบภาพของสตูดิโอเบื้องหลังที่ศิลปินคนนั้นทำงานอยู่ ผมจึงสามารถที่จะหยิบยืมสีเหล่านั้นมาใช้ได้ และอีกรูปแบบก็คือผมจะนำภาพหลายๆ ภาพมาปะติดปะต่อใหม่เข้าด้วยกัน นำมาจัดวางอย่างคร่าวๆ เมื่อภาพมันมาจากหลายที่มา แน่นอนว่า perspective ที่อยู่ในผลงานมันจะไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการร่างของเรานี่แหละ แต่งเติมเข้าไปใน sketch โดยหยิบยืมมาจากภาพที่เราค้นคว้ามา ส่วนใหญ่ผมจะเน้นไปที่การร่างด้วยมือมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย สุดท้ายก็ขึ้นงานบนเฟรมด้วยมือ มันเป็นความเคยชินของผมไปแล้ว

ถ้าสังเกตดู ผลงานของผมมักจะมีการหยิบยืมวิธีการเหล่านั้นมาใช้อยู่แล้ว ทั้งวิธีการหยิบยืมองค์ประกอบ การใช้เส้น grid ของศิลปินโบราณ การขับเน้นในส่วนของแสงและทิ้งส่วนเงาให้เกิดความโปร่งแสง การ glazing (การระบายสีแบบเคลือบด้วยสีที่มีความโปร่งแสง) หรือ scumble (การป้ายสีเคลือบทับบนสีชั้นแรกเพื่อให้เกิดมิติจากการซ้อนทับของสี) ก็ยังคงถูกนำมาใช้อยู่ เทคนิคเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งร่วมกับกระบวนการหลัก แต่ว่าทั้งหมดก็ยังคงทิ้งลายมือของผมไว้อยู่
ผมอาจจะเขียนรูปบางกว่าศิลปินในยุคนั้น แต่ยังคงมีการสร้างบรรยากาศบางอย่างในผลงานให้ได้นึกถึงงานเหล่านั้นอยู่ ถ้าเราได้ไปดูผลงานจริงๆ ของศิลปินเหล่านั้น จะเห็นว่ามีการทำให้ส่วนของแสงทึบกว่าส่วนของเงา มีเนื้อสีที่มากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะเขียนสีบางหรือเขียนสีหนาอย่างไร มีการทิ้งโปร่ง เน้นสีให้ทึบ แต่ระบบการมองภาพมักจะเป็นอย่างนั้น เราจะเห็นได้เลยว่าเมื่อมองจากภาพรวม ผลงานเหล่านี้จะมีกระบวนการที่คล้ายกันมาก ตรงนี้คือสิ่งที่น่าสนใจ

ขอขอบคุณ
ภาพ: number1gallery
ข้อมูลประกอบผลงาน: ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์
The Oblivion โดย Kongpop Benjanirat
จัดแสดงที่ number1gallery สาขา Silom
ถึงวันที่ 25 June 2022