นิทรรศการ The Journey โดย ฟ้าสาง นาวาอรัญ
ภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์
จัดแสดง ณ Richard Koh Fine Art Bangkok
ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม 2566

การเดินทางบนวิถี Minimalism ของศิลปินลูกอีสาน ฟ้าสาง นาวาอรัญ

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 บรรยากาศการศึกษาศิลปะของประเทศไทยในภูมิภาคอีสานนั้น คือช่วงเวลาที่อิทธิพลของศิลปะตะวันตกอันหลากหลายแนวทางต่างหลั่งไหลเข้ามาพร้อมๆกันผ่านเนื้อหาของสิ่งพิมพ์และแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ พร้อมกันนั้นก็เกิดการรับเอาแนวคิดและรูปแบบของศิลปะตะวันตกเข้าไปปรับใช้ ผลิดอกออกผลเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะที่แตกต่างไปจากที่ผ่านมา

ความนิยมของศิลปะรูปแบบ Impressionism, Abstract Expressionism, Surrealism ฯลฯ ในประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนผลงานศิลปะและศิลปินที่มีอยู่อย่างมากมายนับไม่ถ้วน แต่สำหรับศิลปะ Minimal นั้นนับว่ามีจำนวนที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับศิลปะอื่นๆ ข้างต้น บทความนี้จึงเป็นการนำเสนออีกหนึ่งเรื่องราวการเดินทางอันยาวนานกว่า 20 ปีของศิลปินที่ยังคงยึดแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานแบบ Minimalism ผ่านนิทรรศการ The Journey โดย ฟ้าสาง นาวาอรัญ

“Minimalism” เป็นกลุ่มการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีแนวคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อนำเสนอการตอบสนองต่อวัตถุที่อยู่เบื้องหน้าอย่างตรงไปตรงมา นับเป็นการต่อต้านแนวคิดของศิลปะที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์อย่าง abstract expressionism ที่กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ในนิวยอร์ก เมื่อต้นทศวรรษที่ 1960. Minimal art มีความโดดเด่นด้วยรูปแบบของงานศิลปะที่ลดทอนองค์ประกอบทางทัศนธาตุ (เส้น สี พื้นผิว และรูปทรง) ลงให้เหลือน้อยนิดที่สุด ก่อนที่แนวคิดดังกล่าวจะกลายเป็นที่รู้จักและส่งอิทธิพลไปสู่งานสร้างสรรค์ด้านอื่นๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ งานสถาปัตยกรรม แฟชั่น ฯลฯ ในเวลาต่อมา

ฟ้าสาง นาวาอรัญ ศิลปินชาวโคราช เข้าศึกษาด้านจิตรกรรมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา นครราชสีมา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) เขาเล่าย้อนถึงบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการเรียนศิลปะของเขาในอดีต การเป็นสถานการศึกษาในส่วนภูมิภาคที่ห่างไกลจากเมืองหลวง ส่งผลให้ต้องประสบกับปัญหาความขาดแคลน ทั้งทางด้านบุคลากร สื่อการสอน ตลอดจนความหลากหลายของเนื้อหาทางวิชาการที่มุ่งเน้นไปที่ทักษะพื้นฐานทางศิลปะเสียมากกว่า

ฟ้าสาง นาวาอรัญ ศิลปิน
“คณะศิลปกรรม เทคโนฯ ในขณะนั้นยังไม่มีอาจารย์ประจำ จึงมีการเชิญนักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาสอนในฐานะอาจารย์พิเศษ เช่น อ.ทวี รัชนีกร, อ.ดำรง วงศ์อุปราช ฯลฯ
“เมืองไทยในยุค80 นั้น ศิลปะที่ผมรู้จักยังไม่มีคำว่า ‘contemporary’ เท่าไหร่นัก สิ่งเดียวที่สามารถเรียนรู้ได้คือ หนังสือศิลปะภายในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีเพียงแค่ 3-4 เล่ม และมีหนังสือเพียงแค่เล่มเดียวเท่านั้นที่มีเนื้อหาพูดถึงศิลปะตะวันตกและศิลปินร่วมสมัยในระดับนานาชาติ”

ช่วงแรกของการเรียน ฟ้าสางก็เหมือนกับนักศึกษาคนอื่นๆ ที่ทำงานสร้างสรรค์ด้วยการเขียนภาพแบบ impressionism เขียนภาพสีน้ำ เขียนงานสร้างสรรค์รูปทรงอิสระ จนกระทั่งเขาได้ค้นพบกับจุดเปลี่ยนของการทำงานศิลปะของตน

“เมื่อเห็นผลงาน ภาพเขียนสีดำ ของ Frank Stella เป็นครั้งแรกในหนังสือศิลปะเล่มนั้น นั่นทำให้ผมเกิดความประทับใจและมีความคิดที่จะนำรูปทรงเรขาคณิตเข้ามาปรับใช้ทำงานสร้างสรรค์”

ฟ้าสางนำแรงบันดาลใจจากการพบเห็นงานศิลปะของ Frank Stella เข้ามาใช้ร่วมกับความชอบในโครงสร้างของสถาปัตยกรรม และค่อยๆพัฒนาผลงานของตนมาตลอดช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษา ทว่าด้วยรูปแบบของแนวทางการทำงานที่แตกต่างไปจากเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นๆ จึงแทบไม่มีใครที่เขาจะสามารถพูดคุยหรือปรึกษาเกี่ยวกับศิลปะ Minimalism ได้เลย แม้แต่อาจารย์ผู้สอนเองก็ตาม

Panting 2002, 2017, Collage, fabric, sand ,oil on canvas, 140cm x 116cm

โอกาสที่ฟ้าสางจะได้ศึกษาชิ้นงานศิลปะที่มีความเป็น “Minimalism” จึงมาจากการได้ชมผลงานผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่มักจะถูกจัดขึ้นโดยสถานศึกษาเพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่นผลงานของชวลิต เสริมปรุงสุข ซึ่งนับว่ามีความใกล้เคียงกับความเป็น Minimalism ที่สุดในช่วงเวลานั้น

“ในตอนนั้น ทางเทคโนฯ ได้นำผลงานของอ.ชวลิต มาแสดงและนับว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผมที่ได้มีประสบการณ์พบเจอกับผลงานรูปแบบ Minimalism ในประเทศไทย”

เป็นที่น่าเสียดาย ในการศึกษาชั้นปีที่สามนี้เองที่ ฟ้าสางต้องประสบกับปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากการศึกษา เพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยการทำเซรามิก เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน แต่ทั้งนี้เขาก็ยังคงใช้เวลาว่างจากการทำงาน มาทำงานศิลปะที่เขาชื่นชอบอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งโอกาสที่จะได้แสดงผลงานครั้งแรกของเขามาถึง เมื่อมีตัวแทนจากแกลเลอรี่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ไปพบกับผลงานของฟ้าสางที่ถูกแขวนไว้บนฝาผนังของร้านขายเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ด้วยความประทับใจจึงทำให้เขาถึงกับตามไปดูที่บ้านของศิลปิน ต่อมาทางแกลเลอรีจึงได้เชิญฟ้าสางไปแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่กรุงเทพฯ ถึงสองครั้ง

Panting 2004, 2018, Oil on canvas, 150.5cm x 200cm
Panting 0110, 2005, Collage, fabric, oil on canvas, 86cm x 34.5cm

หลังจากแกลเลอรีดังกล่าวมีเหตุให้ต้องปิดตัวลงในปี 2006 ฟ้าสางกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านในจังหวัดนครราชสีมา หาเลี้ยงชีพด้วยการทำเครื่องปั้นดินเผาอย่างเช่นเคย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังคงทำงานศิลปะมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลานี้เองที่ฟ้าสางเริ่มมีการนำวัสดุใหม่ๆ มาทดลองใช้ในงานศิลปะของเขา พัฒนารูปแบบจากงานจิตรกรรมมาสู่งานสื่อผสม

“ด้วยพื้นฐานของการเป็นนักเรียนสถาปัตย์ฯ และความสนใจในวัสดุเก็บตก (found object) งานของผมจึงเป็นเรื่องของการทดลองกับวัสดุอยู่ตลอดเวลา หยิบจับทุกอย่างมาประกอบกัน ตั้งแต่ สายยาง, กล่องไปรษณีย์, เศษไม้ ,กระดาษ reuse จากเพื่อนสถาปัตย์ฯ และอีกมากมาย เพราะผมคิดว่าวัสดุทุกอย่างนั้นสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะได้”
150-2013, 2013, Cardboard box, scrap wood, a bag strap, 38cm x 15cm x 7cm

จนกระทั่งปี 2013 ช่วงเวลาที่มีโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของทุกคน ฟ้าสางพัฒนาการสร้างสรรค์ของเขาด้วยการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการศึกษาหาความรู้ทางศิลปะ และนำเสนอผลงานของเขาผ่านโซเชียลมีเดียเรื่อยมา ส่งผลให้ตัวเขาเป็นที่รู้จักในหมู่ศิลปินต่างชาติที่ทำงานศิลปะรูปแบบ Non-objective art จากช่องทางโซเชียลมีเดียของเขาและทำให้กลุ่มศิลปิน Non-object art ได้เชิญให้ฟ้าสางเข้าร่วมแสดงที่เทศกาลศิลปะ Biennale Internationale d’Art Non Objectif City ที่ Le Pont de Claix (2013) ประเทศฝรั่งเศส

Non-objective art เป็นรูปแบบของศิลปะนามธรรมไร้เรื่องราว มีลักษณะเป็นการประกอบของรูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน สีสัน เส้นสาย และพื้นผิวระนาบเดียว

นอกจากนี้ฟ้าสางยังได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่มที่จัดขึ้นในประเทศโปแลนด์อีกสองครั้ง ได้แก่ Paintinginstallationsobjects จัดแสดงที่ Gallery Kierat เมือง Szczecin (2017) และ In white : Graże Galeria, projektantów (2017) และในประเทศไทย นิทรรศการ Messages (2021) จัดแสดงที่ Musuem of Contemporary Art กรุงเทพฯ เพื่อระลึกถึงชวลิต เสริมปรุงสุข ผู้ล่วงลับ

201-2022, 2022, Oil on canvas, 175cm x 33cm x 7 cm
“สำหรับประเทศไทย ศิลปินที่ทำงานแนวนี้มีค่อนข้างน้อย บางครั้งการพูดคุยหรือวิพากษ์วิจารณ์กับผู้ชมจึงอยู่เพียงแค่ ‘องค์ประกอบดี’ ‘โครงสีสวย’ แต่เมื่อผมได้ไปที่ต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการทำงานกับศิลปินที่สนใจในเรื่องเดียวกันนั้นก็ทำให้ความคิดของผมยิ่งเปิดกว้างขึ้น ก้ได้นำข้อคิดเหล่านั้นมาปรับใช้กับผลงานเรื่อยมา
“เส้นทางการทำงานของผมก็คล้ายกับศิลปินคนอื่นๆ ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นก็ Piet Mondrian ซึ่งเขาก็ทำเคยทำซี่รี่ส์ต้นไม้มาก่อนและต่อมาเขาก็พัฒนา คลี่คลายผลงานของเขาจนกลายเป็นมาซี่รี่ส์ Composition อย่างที่เรารู้จัก
Panting 0257, 2022, Acrylic on canvas, 80cm x 200cm, 80cm x 30cm
“ผลงานของผมจึงเป็นการนำเสนอความเรียบง่าย ซึ่งเป็นสภาวะภายในที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ธรรมชาติ และประสบการณ์ของตัวเอง มิใช่การนำเสนอแนวคิดแบบ Minimalism แบบในอดีตเสียทีเดียว” ฟ้าสางกล่าวปิดท้าย
Panting 0254, 2022, Acrylic on canvas, 90cm x 40cm, 180cm x 150cm

นิทรรศการ The Journey จึงเป็นเหมือนกับการนำเสนอเรื่องราวการเดินทางตลอดระยะเวลากว่า20ปี ผ่านผลงานที่สะท้อนธรรมชาติของความเป็นศิลปิน Minimalism จากเทคนิคอันหลากหลาย ผสมผสานเข้ากับกระบวนการจัดการกับวัสดุเก็บตกสู่งานศิลปะที่ไร้เรื่องราว แต่เต็มไปด้วยความเรียบง่ายของฟ้าสาง นาวาอรัญ

ขอขอบคุณภาพถ่ายผลงาน : Richard Koh Fine Art Bangkok