โดย วันทนีย์ สิริพัฒนานันทกูร
จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม – 11 กันยายน พ.ศ.2565
สถานที่จัดแสดง Gallery VER
นับแต่อดีตกาล ภาษี คือ เครื่องมือที่สร้างความมั่งคั่งของรัฐ จากการที่รัฐเรียกเก็บเงินจากประชาชน ทว่าในโลกปัจจุบันภาษีไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่สร้างความมั่งคั่งให้กับรัฐหรือองค์รัฏฐาธิปัตย์ แต่ยังเป็นนโยบายหลักของรัฐสมัยใหม่ ที่สามารถใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน
นิทรรศการ The “end of history” will not come tomorrow. มีจุดเริ่มต้นมาจากการตั้งคำถามกับสถานะของ “ภาษี” ในสังคมร่วมสมัย วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินผู้สนใจในปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง โดยใช้การสำรวจพฤติกรรมของชนชั้นแรงงานภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจผ่านการจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำโดยรัฐผ่านการร่างกฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่อภิสิทธิ์ชน นำเสนอผ่านผลงานศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual art) เปรียบเสมือนบันทึกความยากลำบากของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่ต้องแบกรับในแต่ละวัน

กระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน เริ่มต้นด้วยการเก็บรวบรวมใบเสร็จจากรับเงินและ ใบกำกับภาษีชนิดต่างๆ ซึ่งมีการแสดงจำนวนค่าใช้จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าภาษีอื่นๆ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงธันวาคมของปี 2562 สำหรับใช้เป็นข้อมูลและหลักฐานทางสถิติจากการอุปโภค บริโภค และกิจวัตรประจำวันของตัวเอง ก่อนจะนำมาถ่ายทอดในรูปของผลงานศิลปะด้วยเทคนิคสีอะคริลิคบนผ้าลินินที่ศิลปินนิยามว่าเป็น “จิตรกรรมภาษี” (Tax painting)

ตัวเลขที่ปรากฏบนชิ้นงาน คือ ร่องรอยที่เหลือจากการลดทอนรายละเอียดทั้งหมดของใบเสร็จ ด้วยการลบข้อความที่ไม่เกี่ยวข้องให้เหลือแค่เพียงตัวเลขที่ระบุถึงค่าใช้จ่าย ซึ่งก็คือจำนวนภาษีที่ประชาชนต้องมอบให้แก่รัฐ ทั้งนี้ตำแหน่งของตัวเลขดังกล่าวจะแตกต่างกันไป ตามแต่ละชนิดของใบเสร็จที่ใช้เป็นต้นแบบ
ส่วนสีที่ศิลปินเลือกใช้นั้น มีที่มาจากสีที่มีความโดดเด่นที่สุดของใบเสร็จชนิดต่างๆ เช่น ใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อที่มีพื้นขาวตัวอักษรสีดำ หรือใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่มีพื้นหลังสีส้มเด่นสะดุดตา ภาพวาดที่ออกมาจึงมีตัวอักษรสีดำ ปรากฏให้เห็นบนพื้นสีส้ม

โดยขนาดของผลงานจิตรกรรมทั้งหมด มีที่มาจากการนำสัดส่วนของใบเสร็จต่างๆ มาขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นตั้งแต่สามถึงยี่สิบเท่า ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของภาษีที่ต้องชำระในแต่ละครั้ง เช่น ผลงานขนาด 70 x 117 ซม. มีที่มาจากการนำใบแจ้งค่าไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดความกว้างและความยาว 10 x 13.7 ซม. คูณด้วย 7 ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% แต่เพื่อให้สะดวกต่อการจัดการจึงมีการปรับขนาดให้เป็นจำนวนเต็ม เป็นการสร้างสัญญะที่ปรากฏเพียงข้อมูลตัวเลขเพื่อเชื่อมโยงไปสู่ลักษณะทางกายภาพของวัตถุอย่างใบเสร็จ ซึ่งเป็นต้นทางความคิดของผลงานชุดนี้

ในทางกลับกัน ผลงานของวันทนีย์ในอีกห้องนิทรรศการหนึ่ง นำเสนอการทำลายลักษณะทางกายภาพของวัตถุ ด้วยการทำลายหลักฐานข้อมูลจากใบเสร็จต่างๆ ที่ตนรวบรวมไว้ นอกจากนี้ยังมีข้อกฎหมาย 3 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มโดยเฉพาะ จากการทำลาย นำไปสู่การก่อร่างชิ้นส่วนเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ในรูปของกระดาษทำมือขนาด A4 จำนวน 9 แผ่น ซึ่งสามารถสังเกตเห็นเศษชิ้นส่วนของวัตถุดั้งเดิมที่ยังคงหลงเหลือไว้ อยู่บนกระดาษได้เช่นกัน กระดาษทำมือเหล่านี้ถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบไว้ในช่องที่ถูกฉลุบนโต๊ะขนาดใหญ่



ผลงานชิ้นดังกล่าวได้เผยร่องรอยของการจัดการบริหารทรัพย์สินภายในประเทศ หรืออาจจะมองได้ว่าผลงานเหล่านี้คือ หลักฐานของความไม่เท่าเทียมระหว่างอภิสิทธิ์ชนและประชาชนทั่วไป ยิ่งแสดงให้เห็นว่าโครงสร้างการปกครองของประเทศถูกออกแบบไว้เพื่อให้คนบางกลุ่มนั้นมีสิทธิพิเศษที่มากกว่าคนทั่วไป ในการเข้าถึงโอกาสและช่องทางที่ทำให้ตนได้ประโยชน์สูงที่สุด ขณะที่เรื่องราวเหล่านี้กลับมีจุดเริ่มต้นจากการจรดปากกาลงบนกระดาษ ภายในห้องทำงานของผู้มีอำนาจในการร่างกฎหมายเพื่อควบคุมความเป็นไปทางเศรษฐกิจและปากท้องของผู้คน

การทำผลงานศิลปะจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ตั้งคำถามต่อการแนวทางในการจ่ายภาษีของประชาชนแต่ละระดับ ซึ่งมีจำนวนสัดส่วนของเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เท่ากัน วันทนีย์กลับพบชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานแต่ละคนซึ่งเป็นพลเรือนหลักของประเทศ และเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับการจ่ายภาษีทางอ้อมให้กับประเทศ ในจำนวนราว 3-4 เท่าของภาษีทางตรงในเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอภิสิทธิ์ชนที่มีหนทางในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีผ่านรูปแบบการลดหย่อนภาษีที่มากกว่า กลุ่มพลเรือนหลักของประเทศ
ภายใต้วาทกรรม “พวกเราทุกคนล้วนต้องจ่ายภาษี” ได้ทำให้เราหลงลืมความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างการจัดเก็บภาษีของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มชนชั้นนำ กลับการเป็นการเพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นให้ขยายกว้างขึ้นไปอีกในที่สุด
