“จำเป็นหรือไม่ ที่จะต้องกำหนดความหมายในจิตรกรรม?”
คือคำถามที่สมรักษ์ได้วางไว้ให้กับการสร้างสรรค์ผลงานของตน เพราะผลงานจิตรกรรมคือภาพสะท้อนความคิดของศิลปิน ผนวกกับความต้องการที่จะมอบอิสระทางจินตนาการให้แก่ผู้ชมบนพื้นที่ที่ให้ผู้ชมสามารถเพลิดเพลินไปกับความคิดในการตีความผลงานของศิลปินได้อย่างอิสระ ในนิทรรศการ Sky A man Land and Sea Art Exhibition หรือ ฟ้า คน แผ่นดิน ทะเล จัดแสดงที่ 333 Anywhere เขตบางรัก กรุงเทพฯ
Sky A man Land and Sea Art Exhibition หรือ ฟ้า คน แผ่นดิน ทะเล ผลงานนิทรรศการเดี่ยวของศิลปิน สมรักษ์ มณีมัย นำเสนอชีวิตและการทำงานศิลปะของสมรักษ์ ซึ่งมีโอกาสได้ไปหาประสบการณ์ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียในช่วงระยะเวลาหนึ่งหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนที่ปัจจุบันจะกลับมาพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย สร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของตน

สมรักษ์ต้องการนำเสนอผลงานจิตรกรรมที่แสดงสภาวะอารมณ์ความรู้สึกและชีวิตของศิลปินที่ถูกบันทึกลงบนผืนผ้าใบ โดยศิลปินได้เปรียบเปรยกระบวนการสร้างสรรค์ของตนเฉกเช่นเดียวกับเด็กน้อยที่แหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วจินตนาการรูปทรงของก้อนเมฆให้กลายเป็นรูปร่างของสัตว์ต่างๆ หรือก็คือศิลปินได้สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ทั้งผู้คน สัตว์ สิ่งของ หรือธรรมชาติ เก็บเกี่ยวความรู้สึกเหล่านั้น กลั่นออกมาเป็นผลงานศิลปะในแนวทางของสมรักษ์เอง
“Me เป็นผลงานที่ผมใช้เวลาในการวาดนานพอสมควร เนื่องจากผมไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึก ณ เวลานั้น จึงหยุดให้เวลากับเขา (ผลงาน) ได้พัก จนเมื่อผมได้ออกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศ ก่อนที่จะกลับมาคุยกับเขาใหม่อีกครั้ง ผลงานชิ้นนี้จึงแล้วเสร็จไม่กี่ปีมานี้เอง”

Acrylic on canvas, 178 x 178 cm
สมรักษ์ได้อธิบายไว้ว่า ความรู้สึกคือสิ่งที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำได้ การทำงานของตนเป็นการทำงานที่ไร้ซึ่งการวางแผน ใช้วิธีการด้นสด (improvise) และความบังเอิญ ไม่ใช้ภาพต้นแบบ (sketch) เพื่อคงความสดใหม่ของอารมณ์ความรู้สึก ณ ช่วงเวลานั้น ศิลปินจึงควรที่จะต้องมีความชำนาญและประสบการณ์ในระดับหนึ่งเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาได้อย่างที่ใจนึก ในเบื้องต้นผลงานของสมรักษ์ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยกระบวนการของศิลปะนามธรรม (abstract) แล้วจึงใช้จินตนาการของศิลปินในการแต่งเติมดวงตาและใบหูลงบนรูปทรงของคราบสี กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกของผืนผ้าใบคล้ายกับเด็กน้อยที่จินตนาการรูปทรงของก้อนเมฆ ผลงานของสมรักษ์จึงมีลักษณะของการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างศิลปะไร้เดียงสา (Naive art) และศิลปะสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract expressionism) ศิลปินได้ยึดหลักแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะรูปแบบดังกล่าวและพัฒนามาตลอดช่วงชีวิตการทำงานศิลปะของตน
บนพื้นที่ 333 Anywhere ผลงานของสมรักษ์ถูกนำเสนอขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ ไม่เพียงแต่ภาพเขียนที่ถูกติดตั้งไว้บนฝาผนังตามปกติแล้ว ยังมีผลงานบางส่วนที่ถูกแขวนลอยไว้กับเพดานบริเวณกลางห้องนิทรรศการ เพื่อให้ผู้ชมได้เอนกายลงบนเก้าอี้ชายหาดและแหงนหน้าขึ้นไปมองเล่นล้อไปกับวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน

นอกจากจิตรกรรมบนผ้าใบแล้ว สมรักษ์ยังได้นำเสนอผลงานจิตรกรรมบนวัตถุธรรมชาติเช่น ก้อนหิน ดิน ทรายที่ตนได้พบโดยบังเอิญซึ่งสามารถพบได้ทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต ปลดปล่อยความคิดให้เพลินเพลินไปกับการพิจารณาลวดลายบนพื้นผิวเหล่านั้น ก่อนจะนำเทคนิคทางจิตรกรรมเข้ามาบันทึกอารมณ์ ความรู้สึกและการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ลงไปเพื่อต่อยอดความคิดให้เป็นรูปธรรม จัดวางไว้กับพื้นห้องนิทรรศการอย่างเรียบง่าย แต่นับเป็นกลอุบายการนำเสนอผลงานที่แสนแยบยล สร้างประสบการณ์และรสชาติที่แปลกใหม่ให้แก่การรับชมผลงานศิลปะได้เป็นอย่างดี

สมรักษ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การทำงานศิลปะเป็นเรื่องของความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนในการแสดงตัวตน ความจริงใจให้ออกมาอย่างซื่อตรงด้วยภาษาของจิตรกรรม พร้อมกันนั้นต้องมีความเชื่อใจในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น รับฟังความคิดเห็นของกันและกัน แล้วพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่สมบรูณ์ที่สุด”



บทความโดย ณัฐกมล ใจสาร
รูปภาพโดย 333 Anywhere