SELECTIVE MEMORY From potency into being: blue memories (2562, 2563, 2564, 2565)
By Rabin Huissen
At SOKO 12 November – 11 December 2002
photo : Samatcha Apaisuwan
ราบิ้น ฮาสเซิน (Rabin Huissen) ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ ที่เลือกใช้ร่างกายเป็นเครื่องบันทึกความทรงจำ ย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่ราบิ้นจะมาเป็นศิลปินอิสระ เขาได้ทำงานเป็นนักออกแบบที่นิตยสารฉบับหนึ่งโดยงานของเขามุ่งเน้นไปในลักษณะงานที่เป็นนามธรรมและงานคอนเซ็ปชวล นำส่วนประกอบของ สี ความรู้สึก และพื้นผิวของวัสดุ มาเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างงาน โดยตั้งอยู่บนเรื่องราวที่มีพื้นฐานมาจากธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลังจากผันตัวมาเป็นศิลปิน ราบิ้นยังคงนำประสบการณ์และความชื่นชอบที่มีอยู่มาเป็นแรงบันดาลใจในผลงานแต่ละชิ้น SELECTIVE MEMORY From potency into being: blue memories (2562, 2563, 2564, 2565) คือผลงานชุดล่าสุดของเขา โดยเริ่มจากการเก็บเกี่ยวข้อมูลและวิเคราะห์ความทรงจำที่มีต่อพื้นที่ที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัส การเป็นลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์ – อินโดนีเซีย ที่อาศัยและเติบโตมากับประเทศตะวันตกทำให้บางครั้งเขาถูกผู้คนรอบข้างจับไปไว้ในหมวดหมู่ของคนกลุ่มต่างๆ โดยที่เขาไม่ได้รู้สึกเต็มใจ การถูกตัดสินจากคนภายนอกว่าเขาเป็นใครคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขามาตั้งแต่ยังเด็ก แต่เมื่อเดินทางมาเมืองไทย เขากลับไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกหรือแตกต่างซึ่งนี้คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประทับใจประเทศไทย และมีความคิดที่อยากจะเข้ามาศึกษาสังคมและวัฒนธรรม เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และสร้างความทรงจำร่วมกับผู้คนและพื้นที่
SELECTIVE MEMORY เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ผลงานชิ้นแรกเป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายให้เขาเริ่มต้นสำรวจสังคมไทยอย่างจริงจัง ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี เรื่อยมาจนถึงการได้ทำงานในพื้นที่ของ วสันต์ สิทธิเขตต์ ที่ช่วยปลดล็อคเพิ่มอิสระในความคิดและการทำงานของเขาให้สามารถแสดงออกได้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนมากขึ้น จนมาถึงผลงานชุดล่าสุดกับ SŌKO

ด้วยความสนใจทางสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ก่อนเริ่มทำงานเขาเลือกเข้าสำรวจ SŌKO อย่างถี่ถ้วน โดยแต่เดิมนั้น SŌKO เคยเป็นที่พักอาศัยมาก่อน ในช่วงแรกที่เห็นพื้นที่ยังเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้และร่องรอยต่างๆ จากผู้พักอาศัย ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่กว้างโล่งให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ราบิ้นนำเรื่องราวความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ภายในบ้าน มาเป็นประเด็นตั้งต้นในการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับพื้นที่ เพื่อให้สอดประสานไปกับบริยทโดยรอบอย่างกลมกลืน ประเด็นเรื่องความทรงจำจึงถูกเลือกขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักกับการจัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้
ภายใต้คำถามที่ว่า คนเราสามารถใช้ร่างกายของเราในการเล่าเรื่องของเราเองได้หรือไม่? ราบิ้น เลือกจดจำเรื่องราว และบันทึกสิ่งต่างๆ ผ่านการรับรู้ทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งค้นพบว่าคนเราสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีที่สุดโดยการเข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้เห็นเหมือนภาพเหตุการณ์จริงที่เราเคยเจอแต่ความรู้สึกที่ได้รับรู้ ณ ช่วงเวลานั้นคือสิ่งที่ร่างกายและสมองจดจำได้อย่างแม่นยำ ภาพพิมพ์สีน้ำที่ใช้ร่างกายเป็นตัวปั้มถ่ายทอดเรื่องราวลงบนแผ่นกระดาษคือความทรงจำที่เขาเลือกแบ่งปันให้กับผู้ชม สีน้ำที่วิ่งไปบนกระดาษ ยากต่อการควบคุม ที่สื่อสารให้เห็นถึงอิสระที่ทางจิตใจและความคิดของมนุษย์ที่ไม่อาจคาดเดา และผงพิกเมนส์ของสีน้ำยังมีความละเอียดที่สามารถฟุ้งกระจายได้ง่ายเพียงแค่โดนลมเบาๆ มากระทบก็สามารถล่องลอยไปได้ไกล อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ศิลปินสนใจการใช้สีน้ำบนกระดาษเป็นสื่อในการนำเสนอคือ ร่างกายของมนุษย์เราประกอบด้วยน้ำ 70 % ภาพร่างกายที่ประทับลงบนกระดาษที่ซับด้วยน้ำจึงแทนร่างกายของเขาได้เป็นอย่างสมเหตุและผลตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้จากการที่เขาเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับนิตยสารความคุ้นเคยกับการสร้างงานบนกระดาษจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เขาใช้กระดาษในการทำงาน

กระบวนการทำงานของราบิ้นเริ่มต้นจากการเข้าสำรวจและบันทึกเรื่องราวจากการเข้าไปมีประสบการณ์ร่วม ผ่านสภาพแวดล้อมโดยรอบ การลงมือปฏิบัติ ซึมซับและจดจำเรื่องราวผ่านร่างกายของเขา การจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นที่เป็นข้อเท็จจริง โดยเริ่มต้นจากวันที่ เวลา สถานที่ อุณหภูมิ ทิศทางการเคลื่อนไหวที่ตนเองก้าวเดินไป ข้อเท็จจริงเหล่านี้นอกจากจะนำมาใช้ในการทำงานแล้ว ยังใช้อ้างอิงถึงความรู้สึกที่ไม่สามารถวัดค่าความจริงได้ให้เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เป็นการนำเอาวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ (ตัวตน) มารวมกันเป็นความทรงจำที่เขาเลือกนำเสนอ ผลงาน ชิ้นที่ 18[1] และ 19[2] ฝ่าเท้า และ ฝ่ามือ ความทรงจำของราบิ้นต่อสองชิ้นนี้เริ่มต้นที่วัดโพธิ์ สถานที่ที่นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติต่างต้องมาเมื่อมาเที่ยวกรุงเทพฯ ความที่เป็นพื้นที่พิเศษทำให้ราบิ้นสนใจในกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในวัด ซึ่งความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับวัดของเขาคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และศาสนาพุทธก็คือศาสนาหลักประจำชาติไทย เมื่อเขามาในวัดเขาพบกลุ่มคนที่หลากหลาย หลายคนเข้ามาถ่ายภาพ บางคนเข้ามาทำกิจกรรมทางศาสนา และบางมุมในวัดโพธิ์ยังมีมุมนวดแผนโบราณที่มีชื่อเสียง ราบิ้นใช้เวลาอยู่ในวัดโพธิ์ช่วงขณะหนึ่ง ทำสมาธิ เฝ้ามอง ก่อนนำสีและกระดาษออกมาเพื่อบันทึกเรื่องของเขาในวัดโพธิ์ลงบนกระดาษ ฝามือและฝาเท้าที่ประทับลงไป สร้างมิติของงานให้ปรากฏผ่านน้ำหนักของสี ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างสี น้ำ กระดาษ และเหงื่อที่ชื้น (อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ) อยู่บนฝ่ามือและฝ่าเท้าสร้างภาพผลงานที่แปลกตาไปจากงานสีน้ำทั่วไป
[1] Two Feet 31.10.22 (Monday), 12:31-12:38 pm, 225 SW, 38.5 C, Wat Pho (between five pillars), Bangkok, Thailand, Washed in the toilet, 2022, Fabriano paper, photosensitive emulsion, ink, color pigment, 38 x 51 cm
[2] Two hands 31.10.22 (Monday), 12:42-12:49 pm, 200 S, 40.5 C, Wat Pho (between five pillars), Bangkok, Thailand, Washed in the toilet, 2022, Fabriano paper, photosensitive emulsion, ink, color pigment, 30 x 20 cm


ผลงานอีกชิ้นปรากฏสรีระเต็มตัวของเขา[3]ในท่ายืนหรืออาจจะนอนสองชิ้นซ้อนกัน ชิ้นนี้เป็นประสบการณ์ที่เขาได้มีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวที่เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ความรู้สึกถึงอิสระ และความทรงจำที่ประทับใจทำให้เขาเลือกสร้างงานอีกชิ้นที่นั้น ราบิ้นนำกระดาษลงไปชุบในน้ำทะเล ละอองจากเม็ดทรายกระจายอยู่ตามขอบของรูปทรง ผลงานชิ้นนี้เป็นความทรงจำจากเสม็ดจากสองวัน นอกจากจะทราบว่าเป็นสองช่วงเวลาจากกระดาษสองแผ่นที่ซ้อนกันและบันทึกหลังกระดาษ งานของราบิ้นยังแอบบอกวันที่เขาสร้างงานผ่านสีที่เขาใช้ในงานอีกด้วย
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยที่เขาค้นพบคือ สีประจำวัน วันจันทร์สีเหลือง อังคารสีชมพู เรื่อยไปจนถึงวันอาทิตย์สีแดง ราบิ้นบอกใบ้ช่วงเวลาของความทรงจำเขาให้แก่ผู้ชมคนไทยไว้ผ่านสีที่ปรากฏในชิ้นงาน เพราะวัฒนธรรมสีประจำวันนั้นมีเฉพาะคนไทยเท่านั้นที่สามารถเข้าใจได้ ผลงานของเขานอกจากจะตีความได้หลากหลายผ่านประสบการณ์ของผู้ชมแล้ว ยังแตกต่างไปตามวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ด้วย เมื่อชาวต่างชาติเข้ามาดูกลับตีความสีแดงที่ปรากฏว่าเป็นเลือด เรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตบางอย่าง ทว่าคนไทยอาจคิดถึงเพียงแค่วันอาทิตย์ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนั้นคือวันอาทิตย์ และภาพที่สร้างที่เกาะเสม็ดก็คือวันพุธและวันพฤหัสบดีอย่างแน่นอน
[3] Body 26.10.22 (Wednesday), 10:22-10:29 am, 100 E, 40.0 C, Ao Nuan beach, Koh Samet, Ranong, Thailand, Washed in sea water AND 27.10.22 (Thursday), 08:56-09:00 am, 165 W,28.5 C, Ao Nuan beach, Koh Samet, Ranong, Thailand, Washed in sea water, 75 x 198 cm

การนำความทรงจำของเราเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ก่อให้เกิดความทรงจำใหม่ ฝ่ามือและฝ่าเท้าที่อยู่กลางห้อง หากเป็นตัวเราที่นำประสบการณ์ส่วนตัวเข้าไปจับจะปรากฏเป็นท่าโยคะที่กำลังออกกำลังอยู่กลางบ้าน ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันของเราทุกวันยามเช้า ท่าทางและการจัดวางที่บ่งชี้ทิศทางของการเคลื่อนไหวทำให้ผู้ชมสามารถจินตนาการถึงเหตุการณ์หรือชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ของศิลปิน อีกทั้งยังสร้างประสบการณ์ว่า หากเป็นเราที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ แต่ละวันเราจะทำอะไร จะรู้สึกเช่นไร และแสดงออกมาแบบไหน ผลงานจึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงความทรงจำของศิลปินเท่านั้น แต่ยังแอบเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปอยู่ในบ้านหลังเดียวกันอีกด้วย