Artists : Jetketkarn Taikaew // Yasinee Saeung
Phatcharacom Nopacoh // Palawat Ngamsa-ard
Curator : Thiti Teeraworawit
22 April – 25 May 2023
At WHOOP!
HOP – Hub Of Photography
‘เรือนร่างของเรานี้ มิได้เกิดจากนิยามใด ๆ ที่สังคมกำหนดให้ แต่ล้วนได้มาผ่านการรับรู้จากสำนึกภายใน’
ณ พื้นที่แห่งนี้ เราต่างได้ปลดปล่อยเจตจำนง ความปรารถนาและท่วงท่าแห่งความอ่อนไหวผ่านอิริยาบทตามท่วงทำนอง ผ่านร่างกายที่สว่างเจิดจ้า และสีสันระยิบตาที่กระจายอยู่เบื้องหลัง หากแต่ยังคงเก็บซ่อนไว้ให้ลับตาผู้คน เปิดเผยให้เห็นเพียงเศษเสี้ยวของความพึงพอใจ
“Secret Body” จะบอกเล่าความลับของสรีระที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ผ่านการมองเพียงอย่างเดียว เมื่อหนึ่งชีวิตได้เริ่มต้นขึ้น เราล้วนตามหาความหมายของการดำรงอยู่ในสังคมที่ต้องเพียบพร้อมทั้งหน้าที่ วินัย และสำนึก แต่ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ที่มีความหลากหลายและซับซ้อนในความรู้สึก ทุกคนต่างก็มีความหวังและความปรารถนาซึ่งมิอาจหักห้ามใจให้หยุด “ความนึกคิด” นี้ได้ นิทรรศการนี้ได้นำเสนอภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของเรือนร่างที่เปิดเผย เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องสถานะทางเพศสภาพ อัตลักษณ์ รวมถึงการแสดงออกในฐานะเจ้าของเรือนร่างของเหล่าศิลปินในฐานะมนุษย์ผู้มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับทุก ๆ คน

Yasinee Saeung

Jetketkarn Taikaew

Yasinee Saeung

Jetketkarn Taikaew
เกี่ยวกับศิลปิน
เจตเกษการณ์ ไตแก้ว
ศิลปินภาพถ่ายชาวไทย จบการศึกษาจากคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ สาขาสื่อดิจิทัล ภาควิชาถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจตเกษการณ์ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องเพศและความเป็นหญิง รวมถึงสภาวะทางร่างกายและความรู้สึกของผู้มีประจำเดือน โดยในภาพชุด “อิสตรี” เจตเกษการณ์บอกเล่าเรื่องราวการถูกลิดรอนเสรีภาพของเพศหญิง อันเกิดจากการให้คุณค่าของมนุษย์ตามค่านิยมปิตาธิปไตย ผ่านทั้งขนบธรรมเนียม จารีต ความเชื่อ เรื่อยไปถึงชีวิตประจำวัน จนแม้แต่เลือดประจำเดือนยังถูกตีตราว่าเป็นของต่ำ และต้องเก็บซ่อนไว้เป็นความลับ ผลงานชุดนี้จึงเป็นการเดินทางตามหาอิสรภาพทางร่างกายและความคิดของอิสตรี โดยใช้เลือดประจำเดือนเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดผลงาน

ญาศิณี แซ่อึ๊ง
ศิลปินสื่อผสมชาวไทยที่สนใจเรื่องราวในชีวิตประจำวัน โดยมักบอกเล่าเรื่องราวจากการสังเกตและติดตามความรู้สึกภายในของตน ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ญาศิณีได้ริเริ่มโปรเจกต์ระยะยาว “Dear Myself” ซึ่งเป็นโปรเจกต์ส่วนตัวที่รวบรวมมาจากภาพวาด ภาพถ่าย และฟุตเทจที่ถูกเก็บไว้ ญาสิณีบันทึกภาพร่างกายตัวเองผ่านห้วงความรู้สึกของภาวะซึมเศร้า เพื่อบอกเล่ากระบวนการฟื้นฟูจิตใจและการปลอบโยนตนเอง โดยนอกจากภาพถ่ายแล้ว ญาศิณียังสร้างสรรค์ผลงานหลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเพนต์ งานคอลลาจ งานศิลปะสื่อผสม ไปจนถึงวีดีโอเพอร์ฟอร์แมนซ์ ปัจจุบันญาศิณีเป็นนักวาดภาพประกอบอิสระและช่างภาพอิสระ ควบคู่ไปกับการเข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะในไทยอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเป้าหมายคือการเป็นศิลปินที่ช่วยเหลือและพัฒนาสังคมศิลปะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย

พัชราคำ นพเคราะห์ และ พลวัตร งามสอาด
พัชราคำ นพเคราะห์
ศิลปินชาวไทย เกิดที่จังหวัดชลบุรี ก่อนจะเข้ามาแสวงหาความเจริญในกรุงเทพฯ พัชราคำกำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายในระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง พัชราคำนิยามตนเองว่าเป็นบุคคลนอนไบนารี เฟมินิสต์ และฝ่ายซ้าย โดยมักให้ความสนใจในการเคลื่อนไหวทางการเมือง New Media Art และดนตรีพังก์ นอกจากงานภาพถ่าย พัชราคำยังสนใจประเด็นสังคมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน กลุ่มชาติพันธุ์ และการพลัดถิ่นฐานของผู้คนที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยถ่ายทอดประเด็นดังกล่าวผ่านทั้งบทความ บทสัมภาษณ์ และวีดีโอสารคดี

พลวัตร งามสอาด
เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาศิลปะภาพถ่ายและสื่อทัศนภาพ วิทยาลัยออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต พลวัตรนิยามตนเองว่าเป็นบุคคลนอนไบนารี สนใจในศิลปะภาพถ่าย การเคลื่อนไหวทางการเมือง หนูตะเภา คาปิบาร่า และดนตรีเมทัล ในด้านงานภาพถ่าย พลวัตรถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับร่างกาย เพศสภาวะ และเนื้อหนังมังสาของมนุษย์ ควบคู่ไปกับการสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นผู้คนหรือใบไม้ที่อยู่รอบข้าง ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยใช้องค์ประกอบเหล่านี้ในการบอกเล่าเรื่องราว

เกี่ยวกับภัณฑารักษ์
ธิติ ธีรวรวิทย์
ภัณฑารักษ์และศิลปินไทย จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผลงานของธิติมักบอกเล่าประเด็นเกี่ยวกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ผ่านมุมมองด้านความหลากหลายทางเพศที่ลึกซึ้งแต่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน ในฐานะภัณฑารักษ์ ธิติสนใจเรื่องสิทธิในการแสดงออกทางเพศ (Sex) และอิสระในการเลือกเพศสภาพ (Gender) ในสังคมมนุษย์ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี และมุ่งเน้นถ่ายทอดเรื่องราวของความหลากหลายที่มากกว่า “ผู้หญิง” และ “ผู้ชาย” ที่สังคมกำหนด ผ่านการฉีกขนบของบทบาทและสัญญะต่าง ๆ ที่บ่งบอกความเป็นหญิง (Femininity) และความเป็นชาย (Masculinity) ทั้งการแต่งกาย การแสดงออก การวางตัว และพฤติกรรมที่ถูกกําหนดไว้ โดยใช้งานศิลปะบอกเล่าว่ามนุษย์บนโลกนี้มีความงดงามและหลากหลายได้มากกว่าที่เห็นรวมถึงการแสดงออกในฐานะเจ้าของเรือนร่างของเหล่าศิลปินในฐานะมนุษย์ผู้มีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับทุก ๆ คน

Phatcharacom Nopacoh

Phatcharacom Nopacoh
