จารุพัชร อาชวะสมิต x สาครินทร์ เครืออ่อน

10 สิงหาคม – 14 ตุลาคม 2566

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี

โอกาสในการสร้างชีวิตครั้งที่สองของคนเรามีมากน้อยแค่ไหน? อะไรคือสิ่งกำหนดหรือผลักดันให้ความคิดที่สองเกิดขึ้ในเมื่อเราตั้งมั่นอยู่กับ ณ ปัจจุบันขณะ การมองหาทางเลือกที่สองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ? ทว่าในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก วิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นและยังดำเนินอยู่กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ ปุ๊ก จารุพัชร อาชวะสมิต มีเวลามองไปรอบตัวอย่างถี่ถ้วนและค้นพบชีวิตที่สองของตนเองนอกเหนือจากปัจจุบันที่เป็นดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์ Ausara Surface และอาจารย์ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก็เริ่มต้นมองหาความสมดุลใหม่ของชีวิตกับบทบาทของศิลปิน

ปุ๊ก – จารุพัชร อาชวะสมิต เริ่มต้นการเป็นศิลปินจากพื้นฐานการเป็นนักออกแบบ ผลงานออกแบบและสร้างสรรค์ของเธอเกิดจากการมอบชีวิตที่สองให้แก่สิ่งไร้ค่าที่เรานิยามว่า “ขยะ” ากความต้องการที่จะนำสิ่งเหลือใช้มาพัฒนาให้กลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้เพียงแค่นำกลับมาใช้ใหม่เท่านั้น แต่คือความพยายามออกแบบและสร้างสรรค์ให้ของเหลือใช้กลายเป็นที่ยอมรับและต้องการผ่านงานดีไซน์และเพิ่มรูปแบบการใช้งานให้เหมาะกับชีวิตประจำวัน ก่อนจะเริ่มต้นโปรเจคร่วมกับศิลปินท่านอื่นในการแปลงสภาพผลงานดั้งเดิมให้กลายเป็นผลงานชุดใหม่

Second Life ชีวิต (ครั้ง) ที่สอง คือการสร้างชีวิตครั้งที่สองให้แก่ผลงานในนิทรรศการ Chronicle of the Landscape ของสาครินทร์ เครืออ่อน ที่จัดแสดงในพื้นที่แห่งนี้เมื่อหนึ่งปีก่อน ผลงานภาพถ่ายขนาดใหญ่ถูกถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบขนาดเท่ากับพื้นที่จัดแสดงของ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี (Warin Lab Contemporary) พื้นที่ทางศิลปะที่มีเป้าหมายในการนำเสนอเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลัก ด้วยพื้นที่เดิมของนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล (พ.ศ. 2450-2535) หมอ จิตรกร ช่างภาพ นักเขียน และบิดาผู้บุกเบิกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทย พื้นที่ตรงนี้จึงเต็มไปด้วยเรื่องของสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ ที่ถูกสื่อสารและส่งต่อผ่านรูปแบบของงานศิลปะ ผลงานชุด Chronicle of the Landscape เล่าถึงธรรมชาติที่มนุษย์สร้างขึ้น ผ่านทิวทัศน์ที่ดูเผินๆ คล้ายภูเขาหินขนาดใหญ่ ทะเลสาบกว้าง แต่ทั้งหมดที่เห็นนั้นเกิดขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองหินที่เฟื่องฟูช่วงหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ก่อนถูกทิ้งร้างและธรรมชาติก็กลับมาพยายามมีชีวิตอีกครั้ง พื้นที่ส่วนอุตสาหกรรมจึงเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์จนเสมือนสิ่งที่ธรรมชาติรังสรรค์ ความพยายามที่จะมีชีวิตของธรรมชาติอีกครั้งสอดคล้องกับเรื่องราวที่เป็นวัตถุประสงค์หลักในการทำงานของจารุพัชร และช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ทางแกลเลอรีต้องเข้ามาจัดการกับผลงานที่แสดงเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงได้พูดคุยร่วมกันและออกมาเป็นผลงาน Second Life

ปุ๊ก – จารุพัชร อาชวะสมิต

Second Life เริ่มต้นจากการ “แยก” (Deconstruction) ก่อนที่จะ “สร้าง” (Construction) กระบวนการแยกผลงานของสาครินท์เป็นกระบวนการที่ยากที่สุดของการสร้างในครั้งนี้ เมื่อศิลปินสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่ง การทำลายชิ้นงานเก่าอาจไม่ใช่เรื่องงาน ทว่าผลงานส่วนใหญ่ของสาครินทร์เป็นงานสร้างสรรค์เชิงความคิด (Conceptual) เมื่อความคิดได้สื่อสาร ผู้ชมรับสารไปแล้ว ตัวชิ้นงานก็สามารถเปลี่ยนสภาพกลายเป็นความหมายหรือรูปแบบใหม่ได้ จารุพัชร เริ่มต้นทำงานที่ตัวเองถนัดโดยการแยกชิ้นส่วนผืนผ้าใบชิ้นใหญ่ 3 ชิ้นให้กลายเป็นเส้น คล้ายเส้นใยเพื่อใช้ในการทอ ซึ่งการทอคือกระบวนการนำชิ้นส่วนเล็กๆ มาร้อยประสานให้กลายเป็นงานชิ้นใหญ่ที่สามารถแสดงตัวตนและเล่าเรื่องของตัวเองออกมาได้ จากนั้นได้ผสานเส้นเหล่านั้นเข้ากับวัสดุเหลือใช้ที่มาจากขยะทางทะเล ทั้งพลาสติก ทองแดง ทองเหลือ และสแตนเลส วัสดุทั้งหมดถูกทำให้เป็นเส้นใยขนาดเล็กเพื่อใช้ในการทอผ่านกระบวนทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูง

ผลงานชิ้นแรกที่เข้าปะทะหลังจากที่เขาสู่พื้นที่ Colony รูปทรงของใบไม้แห้งที่กำลังร่วงหล่นสู่พื้นดิน กระบวนการตาย (ของใบไม้) และเกิดใหม่ (กลายเป็นปุ๋ย สารต้นต้นแห่งชีวิต) Colony สร้างสรรค์ขึ้นจากสารตั้งต้นชิ้น 13°33’54″N 99°35’03″F·97.6m ถักทอผ่านเส้นใยทองแดงก่อนที่จะพ่นเคลือบด้วยผงทองแดงที่อาศัยปะจุไฟฟ้าเพื่อให้ติดบนพื้นผิว การล่องลอยอยู่บนอากาศสื่อสารถึงความพยายามในการมีชีวิตใหม่ของเซลล์สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากการระเบิดภูเขาหินเพื่อใช้ทำประโยชน์ทางอุตสาหกรรมจากภาพงาน 13°33’54″N 99°35’03″F·97.6m ที่เป็นภาพภูเขาหินที่ถูกระเบิดจนเป็นแอ่งและกลายเป็นแกรนด์แคนยอน สถานที่ท่องเที่ยงยอดนิยม

Colony

Variant คลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่กำลังเคลื่อนไหว เกิดขึ้นจากผลงาน 13°30’56”N99°36’18”E·74.6m ภาพทะเลสาบ (ปลอม) ที่เกิดขึ้นจากการระเบิดภูเขาจนเกิดเป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ก่อนที่น้ำฝนจะเข้ามาเติมเต็มและให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตรอบๆ เปรียบได้กับน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมากมาย ดังเช่น พื้นที่ริมน้ำเป็นที่แรกๆ ที่มนุษย์เลือกเข้าไปตั้งถิ่นฐาน ก่อนจะขยายออกมาเป็นเมืองดังเช่นปัจจุบัน จารุพัชรเลือกใช้สแตนเลสมาเป็นตัวเชื่อมผลงานชิ้นนี้ ความมันวาวของสแตนเลสช่วยผลักให้คลื่นน้ำมีความเคลื่อนไหว เมื่อกระทบกับแสงไฟปรากฏแสงระยิบระยับคล้ายผิวน้ำที่กระทบแสงอาทิตย์

Variant

ผลงานชิ้นสุดท้าย Mutation เปิดเผยสิ่งมีชีวิตที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด ต้นไม้ หากมองภาพภูเขาหินและพื้นน้ำแล้วไม่เห็นสิ่งมีชีวิตที่พยายามดิ้นรนอยู่ ต้นไม้ คงบอกได้ชัดเจนมากขึ้น 13°33’55″N 99°35’04″E·99.0 m ของสาครินทร์เปิดเผยสิ่งมีชีวิตที่พยายามมีชีวิต การเจริญเติบโตขึ้นของต้นไม้ ต้นหญ้าภายใต้สภาพแวดล้อที่ผิดธรรมชาตินั้นคือการดิ้นรนครั้งสุดท้ายเพื่อให้มีชีวิต จารุพัชรเลือกใช้ ทองเหลือง และทองแดง พลาสติก และสแตนเลส มาชุบชีวิตสิ่งนี้ การรวมตัวกันของวัสดุที่แตกต่างกันสื่อถึงความพยายามมีชีวิตที่กำลังดิ้นรนอยู่ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี

Mutation

ชีวิต (ครั้ง) ที่สองจากศิลปินทั้งสองคนที่ทำงานในช่วงเวลาที่แตกต่าง ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่าง และตีความออกมาในรูปแบบที่แตกต่าง ทว่าเรื่องราวกลับกำลังเล่าถึงสิ่งเดียวกันคือ ความพยามยามในการมีชีวิตของธรรมชาติภายใต้สภาพแวดล้อมที่มนุษย์คืบคลานเข้าไป ภาพสถานที่ท่องเที่ยวกึ่งธรรมชาติของสาครินทร์ กับการพยายามไม่ทิ้งขยะไว้ข้างหลังของจารุพัชร และการสื่อสารถึงความสำคัญของธรรมชาติของ Warin Lab คือบทสรุปที่ชัดเจนของการเกิดขึ้นของนิทรรศการในครั้งนี้ และคือนิยามของการมอบชีวิตที่สองให้แก่บางสิ่ง เพื่อมีชีวิตอีกครั้ง ชีวิตใหม่ที่พวกเขาหวังว่าจะตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ชีวิตที่ไม่ควรทิ้งสิ่งไม่จำเป็นไว้ข้างหลังอีกต่อไป