สวัสดี 2519
โดย จิตต์สิงห์ สมบุญ
ภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์
จัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA BANGKOK)
ระหว่างวันที่ 5-31 สิงหาคม 2023

“ไม่ใช่เป็นการเล่าเรื่องย้อนกลับไปในอดีต แต่เป็นการบอกเล่าปัจจุบันที่มองเห็นได้ตั้งแต่ในอดีต” จิตต์สิงห์ สมบุญ

สวัสดี 2519 คือนิทรรศการที่เล่าเรื่องการเดินทางของจิตต์สิงห์ สมบุญ โดยการย้อนกลับไปทำความเข้าใจต่อผลงานในอดีต เพื่อสำรวจความทรงจำของชีวิตที่เชื่อมโยงเข้าหากันแล้วนำมาสร้างสรรค์ใหม่ เพื่อสะท้อนมุมมองที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

จิตต์สิงห์ สมบุญ เป็นที่รู้จักในหลากหลายบทบาท ทั้งในฐานะของศิลปิน นักออกแบบ และแฟชั่นดีไซน์เนอร์ให้กับแบรนด์ Greyhound ที่มีสไตล์การแต่งตัวและเสื้อผ้าหน้าผมอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยแนวทางการทำงานที่มีความชัดเจนจากการเลือกใช้วัสดุ หยิบจับสิ่งของรอบตัวมาใช้ทดลองสร้างสรรค์ผลงาน ดั่งนักประดิษฐ์ที่มองหาการผสมผสานระหว่างสิ่งเก่าและใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ทางศิลปะที่น่าประทับใจ

เริ่มต้นสู่ทางสายศิลปะ

ชีวิตในวัยเด็กนั้น จิตต์สิงห์เริ่มหารายได้เลี้ยงชีพตัวเองด้วยการเขียนภาพการ์ตูนญี่ปุ่น เช่น ยอดมนุษย์ ขบวนการห้าสี หรือ ไอ้มดแดง เขาได้ริเริ่มค้นหาแนวทางในการเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นให้แตกต่างไปจากนักวาดคนอื่นๆ จนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลจากการประกวดเขียนภาพการ์ตูนในปี 2519 จนในเวลาต่อมาความสามารถของเขาเข้าไปเตะตากองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูนแห่งหนึ่ง และชักชวนให้จิตต์สิงห์เข้าไปทำงานเขียนภาพประกอบสำหรับปกหลัง ให้กับหัวหนังสือดังกล่าว

เมื่อโตขึ้น จิตต์สิงห์เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และทำให้เขาได้รู้จักกับรุ่นพี่นักเขียนการ์ตูน ดินหิน รักพงษ์อโศก (ชื่อเดิม ธรรมศักดิ์ สิทธิพงศ์ศุทธิ์) ทั้งคู่ได้พากันตระเวนไปวาดรูปตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพ ในเวลาต่อมา ดินหินได้แนะนำให้จิตต์สิงห์ไปศึกษาต่อด้านศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป กรุงเทพ ประกอบกับการได้เห็นการแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์ของเหล่านักเรียนศิลปะในช่วงเวลานั้น ก็ทำให้จิตต์สิงห์ตัดสินใจสอบเข้าที่วิทยาลัยช่างศิลปในทันทีที่เรียนจบชั้น ม. 3

ทว่าเมื่อกำลังจะเข้าสู่ชั้นปีที่สาม จิตต์สิงห์ตัดสินใจที่จะไม่เรียนต่อ เขาเลือกที่จะย้ายไปเรียนที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถานที่แห่งนี้ คือ ที่ที่จิตต์สิงห์จะได้เริ่มต้นพัฒนาแนวคิดของการทำงานศิลปะบนแนวทางของตนเอง

ในช่วงเวลาที่ศิลปะนามธรรมกำลังเป็นกระแสนิยม จิตต์สิงห์กลับค้นหาแรงบันดาลใจที่จากสิ่งรอบตัวที่ผู้อื่นมักมองข้าม เช่น รอยกรีดของใบมีดคัตเตอร์บนแผ่นไม้ แม่แบบลายฉลุ(stencil) กองเศษเทปกระดาษกาวนิตโต(Nitto) คราบชั้นสีที่เลอะอยู่บนพื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามห้องปฏิบัติงานในคณะจิตรกรรมฯ ทว่าด้วยสายตาของความเป็นศิลปิน จิตต์สิงห์กลับมองเห็นการทับซ้อนกันของมิติเวลาที่ปรากฏอยู่บนร่องรอยการทำงานศิลปะของนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า

สิ่งของที่อยู่ภายในห้องปฏิบัติงาน ได้ถูกจิตต์สิงห์นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่แตกต่างไปจากนักศึกษาศิลปะร่วมรุ่นคนอื่นๆ ด้วยแนวคิดของการใช้ “เส้น” สร้างสภาวะลวงตาบนระนาบสองมิติเพื่อท้าทายการรับรู้ทางสายตาและพื้นที่ว่างระหว่างวัตถุ

Inside or Outside (2023) ชิ้นงานเหล็กดัดที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากผลงานเวลาประดิษฐ์ที่เคยร่วมแสดงในนิทรรศการ Messages (2020) ซึ่งเคยจัดแสดงที่ MOCA เพื่อระลึกถึงการจากไปของอ.ชวลิต เสริมปรุงสุข ศิลปินแห่งชาติ

ด้วยความโดดเด่นนี้เอง ทำให้ผลงานของจิตต์สิงห์ได้รับรางวัลจากการประกวดในเวทีต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศ การประกวดศิลปกรรมของธนาคารกสิกรไทย, รางวัลยอดเยี่ยม การประกวดรางวัลศิลปกรรม ปตท. และรางวัลเหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 32

สำหรับผลงานที่ติดตั้งอยู่ภายในส่วนแรกของนิทรรศการ จิตต์สิงห์ได้หยิบยกเอาเรื่องราวความทรงจำของตนในอดีตขึ้นมานำเสนอใหม่ เช่น ‘กระดาษกาวนิตโต้’ ที่เคยถูกนำเสนอในรูปแบบของงานจิตรกรรมได้ถูกหยิบกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ในรูปของประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผา หรือ ภาพเหมือนของเหล่า Superhero บนแผ่นไม้ที่ผสานความทรงจำในวัยเด็กและการค้นหา ‘สไตล์’ ระหว่างการศึกษาในรั้วสถาบันของตน

Superhero [Spectreman] (2023), Superhero [Ultraman One] (2023) และ Superhero [Kamen Rider V1N] (2023)

หลังจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมฯ จิตต์สิงห์ได้รับการชักชวนจากรุ่นพี่จากคณะมัณฑนศิลป์ให้เข้าสมัครงานในตำแหน่งดีไซเนอร์ที่บริษัทแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดัง Grayhound และด้วยเหตุที่ตัวเขาเองเป็นคนชอบความท้าทายและแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้จิตต์สิงห์ตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่บริษัทเกรย์ฮาวด์ในที่สุด

นักออกแบบ แฟชั่นดีไซเนอร์ และ ศิลปิน

เส้นทางชีวิตการทำงานของจิตต์สิงห์ถูกรวบรวมไว้ที่ห้องนิทรรศการในส่วนที่สองกับ การสลายความศักดิ์สิทธิของพื้นที่หอศิลป์ เนรมิตห้องนิทรรศการให้กลายเป็น ‘ร้านเสื้อเฉพาะกิจ’ wallpaper ที่ได้จากการนำวัสดุ ‘กระดาษที่สามารถซักล้างได้’ ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบเสื้อผ้าจากกระดาษของจิตตต์สิงห์มาปรับใช้ และการทำลาย (เจาะ) ผนังของห้องนิทรรศการด้วยการฉลุเป็นลวดลาย template ใบหน้าของตนเอง จัดวางผลงานชิ้นต่างๆ ที่ถูกปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นจากงานศิลปะไปสู่สินค้าตามร้านเสื้อผ้า

เมื่อจิตต์สิงห์ได้เข้าทำงานให้กับบริษัท Grayhound (2531-2545) เขาได้รับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์ให้กับการออกแบบเสื้อผ้าชาย, ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ Playhound by Grayhound แบรนด์น้องใหม่ในเครือ (2545-2558) และที่ปรึกษาฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท Grayhound (2559-2560)

แม้จะไม่มีองค์วามรู้ด้านการออกแบบเสื้อผ้า แต่จิตต์สิงห์ก็ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานศิลปะ สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบแฟชั่นไว้มากมาย โดยใช้ประสบการณ์และรสนิยมการแต่งตัวของตนที่ได้รับอิทธิพลมาจากการใช้ชีวิตเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาศิลปะ กับการทดลองใช้วัสดุที่แปลกใหม่อย่างกระดาษเข้ามาทำเสื้อผ้า หรือ การใส่ฟังก์ชั่น ‘ทรานส์ฟอร์ม’ เพิ่มเติมให้กับการออกแบบแฟชั่น เช่น กระเป๋าสตางค์ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างให้กลายเป็นรูปทรงกางเกงอันเดอร์แวร์ หรือ เสื้อแจ็คเก็ตที่สามารถแปลงเป็นเข็มขัดได้

ไอเดียของเสื้อผ้ากระดาษที่สามารถซักล้างได้ เกิดจากการนำกระดาษที่ใช้กระบวนการเคลือบผิวมันเพื่อเพิ่มความคงทน เช่นเดียวกับกล่องนม UHT และถูกต่อยอดจนกลายมาเป็น wallpaper บนผนังห้องนิทรรศการ
รายละเอียดของ Flop (2023) หนึ่งในผลงานชุด life drawing กับเทคนิคปักผ้าทำโดยใช้งานฝีมือของนักโทษในเรือนจำ

ด้วยการใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในการทำงานทุกชิ้น เสมือนกับว่าการทำงานออกแบบ คือ การทำงานศิลปะ นำมาซึ่งผลลัพธ์และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริหารและลูกค้าของแบรนด์ที่แตกต่างกันไป เพราะความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่างไม่เหมือนใครในวงการออกแบบแฟชั่น ส่งผลให้จิตต์สิงห์เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับรางวัล Excellent Awards จากเวทีนักออกแบบแห่งปี 2547 (Designer of the Year 2004) จัดโดยมหาวิทยาลัยศิลปากร

นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะของบริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำจัด (2535) และบรรณาธิการให้กับหนังสือแฟชั่น Poama co. limited (2546) ในยุคที่การทำงานภาพประกอบยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้อย่างทุกวันนี้ นักวาดส่วนใหญ่จึงนิยมเขียนภาพลงบนกระดาษ แต่จิตต์สิงห์กลับเลือกที่จะทำงานภาพประกอบบนเฟรมแคนวาส ใช้การวาดภาพด้วยสีอะคริลิค ค้นหาแนวทางใหม่ๆ ด้วยการทดลองเทคนิคคอลลาจ ใช้ภาพถ่ายที่ได้จากงานปั้นดิน และการคิดค้นลวดลาย template ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการสร้างแม่พิมพ์ stencil ให้มีลักษณะเป็นลวดลายกราฟิกเส้นแนวนอน จนกลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของจิตต์สิงห์ในที่สุด

ปัจจุบัน จิตต์สิงห์ผันตัวมาประกอบอาชีพเป็นศิลปินอิสระ ที่ปรึกษาด้านสร้างสรรค์ และอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทยและยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ปิดท้ายนิทรรศการ ด้วยการเปลี่ยนห้องนิทรรศการให้กลายเป็นรันเวย์สำหรับแฟชั่นโชว์ บอกเล่าตัวตนและการเดินทางบนวิถีของศิลปินและแฟชั่นดีไซน์เนอร์ของจิตต์สิงห์ ด้วย Drift (2023) video installation ที่ได้วง The Richman Toy เข้ามาช่วยเขียนเนื้อร้องและดนตรีประกอบ นำเสนอผลงานการออกแบบชิ้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าลายเส้นการ์ตูนญี่ปุ่นที่บรรจุความทรงจำเมื่อครั้งจิตต์สิงห์ยังประกอบอาชีพเป็นนักวาดในวัยเด็ก, ชุดคลุมที่ตัดเย็บด้วยเสื้อผ้าวินเทจมือสอง และเครื่องประดับที่มีหลากหลายฟังก์ชั่น แสดงการผสมผสานระหว่างงานศิลปะกับแฟชั่นได้อย่างลงตัว

จิตต์สิงห์ สมบุญ (ศิลปิน) และ นิ่ม นิยมศิลป์ (ภัณฑารักษ์)
This image has an empty alt attribute; its file name is 0164-1024x683.jpg

เรียบเรียงข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ระหว่างภัณฑารักษ์และศิลปินภายในสูจบัตรของนิทรรศการ สวัสดี 2519