ทุกวันนี้ เราต่างประสบพบเจอกับปัญหาและเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม การได้ตระหนักว่าเพราะมีบางสิ่งที่คอยกดทับเราอยู่ตลอดเวลา คอยบั่นทอนสุขภาพของร่างกายและจิตใจให้ถดถอยลงไปทุกเมื่อ การต้องต่อสู้และดิ้นรนจากสภาพสังคมบีบบังคับให้ผู้คนต้องแกร่งอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดเป็นนิทรรศการที่ตีแผ่ปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านประเด็นของ “อำนาจ” ที่อยู่ในสังคม
Save Point Exhibition เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานศิลปะจาก 10 ศิลปิน นำเสนอเรื่องราวของ อำนาจ ซึ่งถูกตีความใหม่ด้วยผลงานศิลปะ บนพื้นที่ของการบอกเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันระหว่างศิลปินและผู้ชม ตั้งแต่ปัญหาในระดับปัจเจกไปจนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม ภายในนิทรรศการพบกับ

ไกร ศรีดี กับผลงานศิลปะที่เกิดจากการขุดค้นความทรงจำเมื่อต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของกระบวนการผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อตีแผ่อำนาจนิยมในรูปของพิธีกรรม ที่สถาบันการศึกษาปลูกฝังไว้จนซึมซับเข้าไปถึงกระดูกดำ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกันผ่านผลงาน Installation art ที่เล่นล้อไปกับมุมมองและเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ทดลองเข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตนั้น

ฉัตรชัย พุ่มพวง หนึ่งในทีมงานเพจ พูด และสหภาพคนทำงาน Workers’ Union กับศิลปะที่ตั้งคำถามต่อความสำคัญของกลุ่มคนในสังคม ที่ความเลื่อมล้ำจากระบบทุนนิยมได้สร้างภาพบิดเบือนให้กลุ่มคนผู้มีอำนาจ ดูมีความสำคัญมากกว่าประชาชนเดินดินทั่วไปบนท้องถนน ผู้เป็นกำลังหลักที่แท้จริง ในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้า


ปวริศ ธนปิยะวณิชย์ กับผลงาน Mixed Media รูปแบบผังโครงสร้างที่แสดงความสัมพันธ์ของอำนาจและระบบการศึกษาที่ซับซ้อนกัน ผ่านเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพของคนรุ่นใหม่เพื่อต่อต้านความไม่ชอบธรรม เมื่อสถาบันการศึกษาเป็นสถานที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของระบบอำนาจนิยม จากการผลิตซ้ำของพิธีกรรมที่ส่งเสริมความเป็นไทยโดยเหล่าอนุรักษ์นิยม เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้กับการจำยอมต่ออำนาจ ผ่านระบบอาวุโส

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง จาก (ศิลปะปลดแอก – FreeArts) เมื่อศิลปะถูกผลิตซ้ำภายใต้สังคมทุนนิยม ที่เป็นดั่งสิ่งของทั่วไป ถูกประดับประดา ห้อยแขวนตามราวตากผ้า ได้มอบ “อำนาจในการต่อต้าน” ให้แก่ผู้ชม เพื่อปฏิเสธการถูกจำกัดความหมายโดยพื้นที่และตั้งคำถามต่อความเป็นศิลปะกับสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า

พิชชาภา หวังประเสริฐกุล กับแรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตภายใต้คตินิยมของความเป็นกุลสตรีในสังคม จากเรื่องราวของอำนาจที่ยัดเยียดคุณค่าความเป็นหญิง ไปจนถึงการถูกกำจัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สู่ Performance Art ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับชิ้นงาน (ร่างกาย) ของศิลปิน

FD7 (วีรวัฒน์ มณีวรรณ์) ระบายความอัดอั้นตันใจของคนรุ่นใหม่ แสดงออกด้วยวัฒนธรรมสตรีท ผ่านการแร็ปสดและข้อความรูปแบบ Graffiti บอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาต้องเผชิญกับอำนาจนิยมโดยระบบอุปถัมภ์และการบริหารงานภายใต้ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว


Baphoboy (สิปปกร เขียวสันเทียะ) จากความสนใจในศิลปะ Propaganda ซึ่งช่วงชิงอำนาจในการตัดสินใจของผู้คน กับผลงานที่ตีแผ่ชีวิตของพลทหารจากประสบการณ์ตรงอันหวานขมของศิลปิน ด้วยฉากหน้าที่ถูกฉาบให้มีภาพลักษณ์ที่ดูดีในเครื่องแบบ การทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เสียสละเพื่อประโยชน์ของสังคม เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความดี แล้วผู้ชมอย่างเราจะเชื่อในสิ่งที่ศิลปินนำเสนอหรือไม่ ?
Juli Baker and Summer กับการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของการถูกกดทับจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและค่านิยมทางสังคม ที่ลดทอนความเท่าเทียมของสิทธิ ผลตอบแทน สวัสดิการจากการทำงานของแรงงานหญิงด้วยผลงาน Patchwork เพื่อเรียกร้องให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มผู้หญิงและความเท่าเทียมทางเพศ


Sa-Ard สะอาด กับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรงของการเข้าค่ายคุณธรรม สู่การ์ตูนลายเส้นเกรี้ยวกราดอันเป็นเอกลักษณ์ นำเสนอประเด็นของการแสดงอำนาจจากผู้ใหญ่สู่เด็ก จากครูสู่นักเรียน จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาในรูปของกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างคุณธรรม พร้อมทั้งเสียดสีเรื่องราวของการถูกบังคับให้เชื่อในบางสิ่งโดยปราศจากการตั้งคำถาม
และ Sina Wittayawiroj® ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมกลายเป็นส่วนหนึ่งกับผลงาน Interactive art ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ video call พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิลปิน ว่าด้วยมุมมองต่อสิ่งที่เรียกว่า “อำนาจ” ในสังคม เพราะศิลปะมิใช่แค่เรื่องของวัตถุ หากแต่เป็นไวยากรณ์เพื่อการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
นิทรรศการ Save Point Exhibition จัดแสดงที่ Kinjai Contemporary
ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลิก