หากจะพูดถึงอาชีพในวงการศิลปะแล้ว หลายคนอาจนึกถึงอาชีพอย่าง ศิลปิน (artist) ภัณฑารักษ์ (curator) หรือผู้จัดการหอศิลป์ (gallery manager) ขึ้นมาก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มักปรากฏตัวให้เห็นอย่างโดดเด่นท่ามกลางสป็อตไลท์ที่ฉากหน้าของนิทรรศการศิลปะต่างๆ
แต่กับอาชีพที่แทบไม่มีตัวตนในสายตาของใครหลายคน หรืออาจจะไม่เคยทราบมาก่อนว่า สิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็สามารถเป็นอาชีพได้เช่นเดียวกันอย่าง ผู้ช่วยศิลปิน (artist assistant), ช่างติดตั้งงานศิลปะ (art handler) หรือ คนดูแลความเรียบร้อยในหอศิลป์ (gallery sitter) ฯลฯ ผู้มีบทบาทเป็นเสมือนแรงงานที่คอยขับเคลื่อนวงการศิลปะอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากไม่มีพวกเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตงานสร้างสรรค์แล้ว ภาพที่สวยงามของนิทรรศการศิลปะที่จัดแสดงอยู่ตามหอศิลป์คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างที่เป็นในทุกวันนี้
Fine Art Magazine ชวนทุกคนมาพูดคุยกับ เซน–ศุภชา เสน่ห์งามเจริญ และ มอส–รัฐพล ปัญญาทา สองผู้ก่อตั้ง Qubism art space และ Add Art to The Wall ที่มาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานจากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า กับการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางศิลปะในจังหวัดนครปฐม และหล่อเลี้ยงเมล็ดพันธุ์ของวงการศิลปะให้ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆกัน

อะไรคือจุดเริ่มต้นของ Qubism Art Space
มอส: แรกเริ่มเราคิดว่าจะให้ชื่อ “นครปฐม อาร์ตสเปซ” แต่มันก็ดูจะยิ่งใหญ่เกินไป คิดภาพว่าเราต้องไปร่วมงานกับองค์กรใหญ่ๆ คนที่มาเห็นก็คงงงเหมือนกัน ในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเหมือนกับจังหวะชีวิตและรอยต่อที่เราต้องมาทำพื้นที่ตรงนี้ เราก็ใช้คำว่า “รอยต่อ” “จิ๊กซอว์” และชวนให้นึกถึง “cubic” ทีนี้ทางเซนก็เข้ามาปรับคำนิดหน่อยกลายเป็น Cubism Art Space แต่ทีนี้ มีคนมาทักว่าตัว “C” นั้นใช้ไม่ได้ ผิดฮวงจุ้ย ไม่เป็นมงคล ก็เลยเปลี่ยนมาใช้ตัว “Q” กลายเป็น Qubism Art Space
เปิดครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปีผ่านมา (2022) ตรงกับเดือนเกิดของเราพอดี เราทำเองทั้งหมด เราถนัดด้านใช้แรง เพราะเราเคยทำงานด้านการติดตั้งมาก่อน ส่วนเซนก็ทำงานในส่วนของการประสานงาน เขาถนัดด้านการโปรโมทและการใช้สื่อ
เราอยากให้ Qubism art space เป็นรอยต่อให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่แสดงงาน ให้คนที่กรุงเทพฯได้เห็นว่าที่นครปฐมมีเมล็ดพันธุ์ศิลปะที่ดี เพราะที่นี่มีพี่ น้อง และเพื่อนอยู่ เป็นที่ที่ผูกพันกับเรา เราอาศัยและเรียนอยู่ที่นี่มาหลายปี ถ้าหากเราไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็มีเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพ ค่าเดินทางมาแล้ว ถ้าอยากไปดูงานศิลปะที่กรุงเทพฯก็ต้องเสียเงินแล้ว เพราะงั้นอยู่ที่นี่คงจะรู้สึกสบายใจกว่า คนเรียนศิลปะก็อยู่กันที่นี่ คงจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า และไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร

จุดเริ่มต้นการเดินทางของทั้งสองคนเป็นอย่างไร
มอส: ก่อนหน้านี้ หลังจากจบปริญญาตรี (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงใหม่) เราเคยอยู่ที่เชียงใหม่อาร์ตมิวเซียม (ChiangMai Art Museum) ทำงานกับอ.พรชัย ใจมามาก่อน หลังจากนั้นจึงตัดสินใจมาเรียนต่อปริญญาโทที่ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะเรารู้สึกว่าเรียนมาสี่ปีแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกขาดอะไรบางอย่างอยู่ เรามาอยู่ที่นี่ ก็ต้องมานั่งปรับตัวใหม่ทั้งหมด การเรียนก็ต้องค้นหาข้อมูลมากขึ้น สืบค้นในเรื่องที่เราไม่เคยรู้ เจาะลึกในเชิงวิจัย มันมีคำพูดที่ทำให้เราคิดจะพัฒนาตัวเองต่อคือ “ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนงาน ก็ต้องกลับไปอยู่ที่เดิม”
และพอเปลี่ยนมันก็เจอมุมมองใหม่ๆ ได้ก้าวไปข้างหน้า ดีกว่าอยู่ที่เดิม เราก็ไหลไปเรื่อยๆ ยาวๆ จนเรียนจบมา เคยคิดว่าจะหาพื้นที่แสดงงานของตัวเอง ส่งพอร์ทขอพื้นที่แสดงงาน แต่เขาให้เรารอถึงหนึ่งปี จองปีนี้ได้ปีหน้า ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม คิดภาพตามสิ ว่าความรู้สึกของคนที่รอ กับคนที่บอกให้รอ มันต่างกันมากนะ ซึ่งเราก็เริ่มมีความคิดแล่นเข้ามาในหัวว่า ถ้าเราทำแกลเลอรี่เองบ้าง จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไรนะ?
เรารู้จักกับเซนผ่านการทำงานด้วยกันที่ล้ง1919 ตอนนั้นก็ได้ปรึกษากันหลายๆ เรื่อง จนมาเริ่มต้นที่พื้นที่ตรงนี้ ที่จังหวัดนครปฐม ไกลจากกรุงเทพฯ คำถามที่ตามมาคือ “แล้วมันจะมีใครมาไหม?” แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังพูด บางคนเขาไม่เข้าใจหรอกว่าแกลเลอรี่คืออะไร เราก็บอกแค่ว่าเปิดร้าน เรามีทุนอยู่เล็กๆ น้อยๆ พอจบมาก็เอามาลงทุนกับการจัดหน้าร้าน ให้มันดูง่ายๆ เป็นพื้นที่เล็กๆ เพื่อที่จะได้ไปต่อ
เซน: ต้องบอกก่อนเลยว่าเราเรียนจบปริญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรียนด้านการปฏิบัติมาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการจัดการศิลปะหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ในเชิงลึกเท่าไหร่นัก จึงอยากหาความรู้เพิ่มเติมที่นอกเหนือไปจากการวาดรูป เลยเลือกมาเรียนต่อปริญญาโทที่ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านศิลปะ
และก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนเลย จากที่เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการจัดการศิลปะ เรารู้แค่เรื่องการเพ้นท์ พอมาเรียนที่นี่ก็เริ่มตกตะกอนทางความคิด ทำให้เราเริ่มรู้สึกตัวว่าเราชอบอะไร เราได้ทดลอง ค้นคว้า ออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ ทั้งคิวเรเตอร์ นักจัดการศิลปะ เจ้าของมิวเซียม การเรียนที่นี่ทำให้เราได้ออกไปหาประสบการณ์การทำงานจริงๆ ที่ทำให้เราได้เห็นว่า มันมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าสิ่งที่เราเคยรู้ และวงการศิลปะนั้นก็มีอาชีพมากกว่าที่เราเห็น
จากที่เรารู้แค่ว่าอาชีพศิลปะมีแค่ศิลปิน เราได้รู้จักคิวเรเตอร์ ไปถึงฝ่ายงานติดตั้งเลยด้วยซ้ำ เรายังไม่เห็นภาพที่มันชัด จริงๆมันก็ยังมีอะไรที่ยังไม่เห็นอีกเยอะ และมันก็น่าที่จะหยิบเอาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาพัฒนาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ค้นหาประสบการณ์การทำงานครั้งแรกได้อย่างไร
เซน: ตอนแรกเราเริ่มต้นแค่เปิดเพจ Facebook ขึ้นมาก่อนชื่อ Look At Art เสพงานศิลป์ มีเนื้อหาเป็นการรีวิวและเชิญชวนผู้ชมไปดูนิทรรศการศิลปะ ตอนนั้น ไม่ได้คิดอะไรเลย เปิดเพราะเป็นช่วงว่างระหว่างตอนเรียนจบป.ตรี ก่อนเข้าเรียนป.โท เราเป็นคนที่สนใจศิลปะมาตั้งแต่ยังเด็ก เราคิดว่า “ถ้าเราไปดูงานคนเดียว เราก็เห็นงานคนเดียว” เราเลยคิดอยากที่จะเปิดเพจขึ้นมาเพื่อลองเอานิทรรศการศิลปะที่เราได้ไปดูและน่าสนใจมาบอกต่อให้คนอื่นมีโอกาสได้เห็นบ้าง
พอทำไปเรื่อยๆ ซักระยะหนึ่ง คนก็เริ่มมาสนใจ มีอาจารย์หรือคนจากต่างจังหวัดก็ทักมาชื่นชม เพราะคนที่อยู่ต่างจังหวัดหลายๆคน เขาไม่มีโอกาสได้เห็นหรือเข้ามาดูงานศิลปะที่กรุงเทพฯ
สิ่งที่เราทำนั้นก็เป็นเหมือนกับการบันทึกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น มีนิทรรศการของศิลปินคนนี้ ไปแสดงอะไรมา เป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าค่อนข้างมีประโยชน์นะ ยิ่งไปกว่านั้น การทำเพจก็ยังสามารถเป็นอาชีพของเราได้ด้วย มีการจ้างให้เราไปทำสื่อประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน เป็นสิ่งใหม่มากสำหรับเรา
และก็เป็นการสร้างโอกาสให้คุณได้เจอคนในวงการศิลปะมากขึ้น
เซน: เรามีโอกาสได้รู้จักกับพี่บี (สุชาย พรศิริกุล) เขาก็ชวนเราให้ไปทำงานเป็นคิวเรเตอร์ที่ล้ง 1919 (LHONG 1919) ซึ่งเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการคิวเรทมาก่อน เคยเรียนแค่ภาคทฤษฎีว่าจะต้องทำอย่างไร น่าจะพอจัดการหรือพอทำได้บ้าง
พอได้คิวเรทงานแรกของพี่จ้วด (วรเศรษฐ์ นพอภิรักษ์กุล) เรารู้สึกว่าตัวเองมีไฟมาก ทำเต็มที่ทุกอย่าง ออกแบบโปสเตอร์ เขียนแคปชั่น ทุกอย่าง พอลองทำแล้วก็รู้สึกชอบ พอได้ลองทำแล้วก็อยากทำต่อ พอทำครั้งแรกก็มีโอกาสได้ทำครั้งต่อไปเรื่อยๆ และสิ่งที่เราได้ทำก็ค่อยๆ สร้างประสบการณ์ให้กับตัวเองมาตลอด ได้คลุกคลีกับทีมติดตั้งงาน ได้เห็นวิธีการทำงานเบื้องหลัง เรามองว่ามันน่าสนใจนะ
เรามีความคิดว่า ทุกคนมักจะเห็นแต่ภาพรวมของงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่กระบวนการเบื้องหลังก่อนที่งานจะเสร็จนั้นน้อยคนที่จะเคยเห็น


ประสบการณ์การทำงานที่ Mango Art Festival เป็นอย่างไร
เซน: Mango Art Festival คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราเริ่มทำงานเป็นระบบมากขึ้น จากที่เราทำงานเองคนเดียว ไม่ค่อยได้ประสานงานหรือทำงานร่วมกับใครเท่าไหร่ แต่พอได้มาทำเทศกาลศิลปะที่เราไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ถ้าหากว่านั่นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ เราก็เอาเลย ทำเลย อยากรู้ อยากได้ประสบการณ์
เราทำในส่วนของประชาสัมพันธ์ คอยประสานงานกับฝ่ายอื่นๆ เพราะเราก็เริ่มต้นการทำงานมาจากการประชาสัมพันธ์ เขียนคอนเทนต์ เรามีโอกาสได้ทำทั้งหมด แม้กระทั้งทำบัญชี เราก็คิดว่าเราได้ประสบการณ์จากหลายๆส่วนที่สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างที่เราเคยทำก็กลับมาช่วยเราในวันนี้ หลายๆอย่างเราต้องลองทำด้วยตัวเองเองก่อนเป็นอันดับแรก
อย่างตอนที่ Mango Art Festival 2021 จัดที่ ล้ง1919 ด้วยสถานที่ที่เป็นพื้นที่เปิด ก็จะมีปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเรื่องของสภาพอากาศฟ้าฝน ส่วน Mango Art Festival 2022 ซึ่งจัดที่ River city เป็นพื้นที่ปิด การทำงานก็จะยากไปอีกแบบ เพราะมีข้อปฎิบัติของสถานที่บางอย่าง เช่น เรื่องของเวลาเปิด-ปิด ที่บังคับให้เราต้องสามารถจัดสรรเวลาการทำงานให้ได้ เป็นข้อจำกัดของพื้นที่ ความกดดันก็เยอะกว่าด้วย แต่ทั้งหมดเราก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ ทั้งสองอย่างต่างก็มีรายละเอียดที่ต่างกันไป
และ Add Art to The Wall มีที่มาจากอะไร
มอส: เราได้รู้จักกับพี่คอน (ราชวุธ คุรุวงศ์วัฒนา) เมื่อตอนเข้าเรียนที่ป.โท เขาทำงานให้กับหอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล (ARDEL Gallery of Modern Art) คนนี้เหมือนกับเป็นครูของเราเลยนะ เจอกันครั้งแรกก็พาเราไปทำงานที่นู่นเลย เดือนหนึ่งก็ได้ทำสองครั้ง ติดตั้งงาน สนุกนะ เราได้เห็นและได้จับงานของศิลปินชื่อดัง ได้เจาะผนัง ดูเทคนิคการทำงาน แรกๆ ก็เป็นคนดูก่อน สัญชาตญาณทำให้เราจำว่าเราต้องทำงานอย่างไร สังเกต อยากลอง และลงมือทำ
เราคนบ้านนอก ยังยึดติดอยู่กับรูปแบบวิถีชีวิตเดิมๆ ขอแค่ได้ทำงานศิลปะและติดตั้งผลงานก็พอ เราทำงานมาด้วยกันเรื่อยๆ
เซน: จริงๆ งานติดตั้ง คือสิ่งที่อยู่ในหัวของเรามาตั้งนานแล้ว เราเห็นและทำงานกับทีมติดตั้งมาตลอด แล้วทำไมมันถึงไม่ถูกนำเสนอออกมาใช้รูปแบบใหม่ที่ดูจริงจัง เป็นโปรดักชั่น หรือดูเป็นมืออาชีพ? ณ ตอนนั้น เป็นช่วงที่เราพึ่งเรียนจบป.ตรี และเสร็จงานของMangoไปแล้ว เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะนู่นนี่ก็เคยทำมาแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน กำลังมองหาอะไรใหม่ๆทำ จึงเสนอทั้งมอสและพี่คอนไปว่า “เราควรจะเริ่มทำอะไรที่มันเป็นระบบกันดีไหม ถ่ายภาพเบื้องหลังการทำงานไว้ดีไหม?” สุดท้ายจึงมีการตั้งชื่อกลุ่มและมาจบที่ชื่อ Add Art to The Wall
หลังจากได้ชื่อมาปุ๊ป เราก็เริ่มสกรีนเสื้อกันเลย เรารู้สึกว่า ถ้าเรายังมัวแต่ทำอะไรแบบเดิมๆ ก็คงจะไม่มีคนจำเราได้ เราจะไม่มีตัวตน เดิมทีเป็นเสื้อยืดทำกันเอง แต่ทางพี่คอนเขาอยากใส่เสื้อกั๊ก ไปหาเสื้อกั๊กแปลกๆมาให้ดูกัน พวกเราสนุกกันมากที่ได้ช่วยกันออกไอเดีย
และเมื่อเราไปออกงานติดตั้งครั้งแรก ก็เริ่มมีคนเข้ามาติดตามมากขึ้น ตอนนั้นก็เป็นอะไรที่ใหม่และเรียกร้องความสนใจของคนได้มากขึ้นนะ เพราะว่าคนไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อน หรือแม้กระทั่งลูกค้าเราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีอาชีพรับติดตั้งงานศิลปะนี้อยู่ และนั่นก็ทำให้พวกเราเริ่มมีฐานลูกค้าใหม่ๆ ไม่ใช่แค่แกลเลอรี่ แต่ยังรวมไปถึงบ้านของนักสะสมงานศิลปะ
ขยายไปจนได้เข้าไปช่วยคิวเรทหรือช่วยจัดการกับงานศิลปะในบ้านลูกค้า มันไม่ใช่แค่พื้นที่เดิม แต่คือความท้าทายที่ได้เข้าไปเจอกับพื้นที่ใหม่ สนุกไปกับงานที่ได้ทำ ได้พบเจอได้พูดคุยกับลูกค้าหน้าใหม่
มอส: หลังจากที่พวกเราสามคนก็ก่อตั้ง Add Art to The Wall ด้วยกันขึ้นมา ก็ได้แบ่งหน้าที่กันคือ พี่คอนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เซนเป็นฝ่ายประสานงาน เราเป็นฝ่ายบุคล คอยหาคนเข้าทีมมาทำงาน จากที่เมื่อก่อน ได้ทำงานติดตั้งสามวัน ทำงานศิลปะสี่วัน เดี๋ยวนี้กลับกันคือ ได้ทำงานศิลปะสามวัน ทำงานติดตั้งไปสี่วัน (หัวเราะ) และอนาคตคิดว่าพวกเราจะหาคนเข้าทีมเพิ่มอีก เพื่อช่วยงานในส่วนของฝ่ายอนุรักษ์งานศิลปะ (conservator)

ทำไมถึงต้องมีฝ่ายอนุรักษ์งานศิลปะ
เซน: เพราะผลงานบางชิ้นที่ลูกค้าเขาสะสมไว้ บางชิ้นก็ถูกวางกองทิ้งไว้กับพื้น ไม่รู้จะให้ใครเข้ามาช่วยติดตั้ง บางบ้าน ชิ้นงานถูกวางทับกันไว้จนเสียหาย แต่ว่าน้องในทีมก็มีคนที่เรียนอนุรักษ์และมีรุ่นพี่ที่เขาสามารถคุยกับลูกค้าได้ เราจึงอยากที่จะทำให้ Add Art to The Wall มีความครอบคลุมมากขึ้น ยิ่งพวกเราเพิ่งมีโอกาสได้ไปเที่ยวที่เนเธอร์แลนด์ และเห็นระบบการจัดการงานศิลปะที่ต่างชาติทำแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกตื่นเต้นนะ
ได้อะไรจากการไปเที่ยวที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
เซน: พวกเราได้ไปทั้ง Rijksmuseum, Kröller-Müller Museum, Kunstmuseum, Mauritshuis ฯลฯ ได้เห็นว่าการอนุรักษ์งานศิลปะระดับโลกเป็นอย่างไร มันน่าทึ่งมาก เราเคยเรียนเบื้องหลังมาบ้างจากในห้องเรียน แต่พอได้เห็นของจริงแล้ว มันเหมือนกับพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่มีห้องเก็บงานศิลปะไว้อย่างเป็นระบบ คล้ายกับห้องกระจกที่แยกประเภทชิ้นงานไว้ มีการเก็บรักษาควบคุมอุณหภูมิ มีฟิล์มฉายแยกชั้นให้เราได้เห็นชิ้นงาน ไม่ว่าจะด้านหน้าหรือด้านหลังของแคนวาส บางอย่างก็เป็นไอเดียที่เราเอามาใช้พัฒนาต่อได้
มอส: เขาใส่ใจมากๆ นะ แม้กระทั่งการใช้แม็คยิงลวดขึงเฟรม เราเห็นเลยว่า ถ้าหากให้เหล็กชนิดนี้ขึงเฟรมแล้วในอนาคตอีก30ปีข้างหน้าจะเกิดผลเสียอย่างไร จึงเป็นหตุผลว่า งานจิตรกรรมส่วนใหญ่จะใช้ตะปูทองเหลืองทั้งหมดเลย การรักษาที่เป็นระบบ เราได้อะไรเยอะมากจากการไปที่ตรงนั้น เขาใส่ใจศิลปะมากกว่าการเดินห้าง มีแกลเลอรี่ติดกันเต็มไปหมด ทำให้เราเห็นว่าวงการศิลปะระดับโลกมีอะไรมากกว่าที่พวกเราคิด
เมื่อองค์กรต้องขยายใหญ่ขึ้น ทั้งสองคนได้จัดสรร แบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร
มอส: Add Art to The Wall ไม่มีหัวหน้านะ มีแต่คำว่า “ทีม” ทุกคนเท่ากัน เพราะต่างคนต่างมีความสามารถของตัวเอง คนไหนถนัดงานด้านไหนก็แบ่งหน้าที่ให้เขาจัดการกันไป งานไม้ เจาะผนัง วัดระดับน้ำ ทุกอย่างมีรายละเอียดอยู่ ซึ่งผลที่ออกมาก็จะเป็นสิ่งที่ลูกค้ามองเห็นได้มากที่สุด
เซน: เราปรึกษาคนในทีมกันแล้ว ก็มองเห็นในหลายกรณีจากการทำงาน เราเห็นว่าบางกรณีนั้นไม่สามารถใช้เรทราคาที่เคยตั้งไว้ได้อย่างเมื่อก่อนตอนที่พวกเรายังเป็นนักศึกษา ทุกอย่างต้องมีการประเมินจากความยากง่าย ความเสี่ยงจากที่สูง ฯลฯ เราประเมินจากประสบการณ์ตรงนี้และทำให้ต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า เราไม่สามารถใช่การประเมิณแบบเดิมได้ เมื่อก่อนมีการใช้ระบบค่าแรงขั้นต่ำของคนในทีม มีระบบเหมาทั้งช่วยยก ช่วยทำอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากการติดตั้ง
ปัจจุบัน เราจึงต้องแจ้งลูกค้าให้เข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ข้อกำหนดของพวกเราคืออะไร หากทำนอกเหนือจากนั้นก็ต้องมีค่าดำเนินการเพิ่ม ต้องมีขั้นมีตอน ต้องกล้าที่จะพูดกับลูกค้า เพราะนี่คือความเป็นระบบ
พวกเรามีแผนจะจดทะเบียนและทำอะไรในหลายส่วน เราไม่สามารถเอาทุกอย่างมาทำร่วมกันได้ เราจึงต้องทำให้ออกมาในรูปแบบของบริษัท และทำงานร่วมกัน เราพูดคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เริ่มทำธุรกิจหรืออะไรที่คล้ายกับพวกเรา เพราะต้องอย่างลืมว่าเมื่อองค์กรของเราใหญ่ขึ้น รายได้เริ่มมากขึ้น ก็ต้องมีเรื่องของภาษีเข้ามา เราก็ควรจะทำให้เป็นระบบเพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องมาแบกรับภาระไว้คนเดียว ทุกคนต้องการความมั่นคงและความชัดเจนบนเส้นทางตรงนี้ ไหนจะน้องๆในทีมที่เราต้องดูแลพวกเขา หางานและรายได้ให้เข้ามาเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ เขาไม่ชอบทำงานประจำกัน

ทำงานกับเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง
มอส: ส่วนใหญ่แล้วทุกคนมีพื้นฐานจากการเรียนศิลปะมาอยู่แล้วทั้งนั้น ตอนเลือกพวกเขาเข้าทำงานด้วย มีความรับผิดชอบไหม สังเกตคน แต่พอเข้ามาทำงานด้วยกัน ก็ฝึกกันได้ ยิงคำถามง่ายๆ ความรู้เรื่องศิลปะ
เซน: ยิ่งเป็นคนที่เรียนศิลปะมาแล้ว พวกเขายิ่งรู้และระมัดระวังมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับชิ้นงาน เราไม่ต้องสอนกันเยอะ
แนวทางการจัดแสดงนิทรรศการที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
เซน: อย่างนิทรรศการที่ผ่านมาของพี่คาพิน (ชญานิน กวางแก้ว) เราก็ไปเชิญเขามาจัดนิทรรศการ เพราะเราอยากให้พื้นที่ตรงนี้ได้นำเสนอผลงานของเขา แม้การซื้อขายอาจจะไม่ใช่แนวทางของเราก็ตาม แต่ตอนที่พวกเราเสนอโปรเจคตรงนี้ไปให้กับทางศิลปิน เขาก็รู้สึกโอเคมากๆ และตอบตกลงเลย
มอส: บรรยากาศในวันนั้นมันดีมากๆ จนน่าตกใจ น้องนักศึกษามากันเยอะและตื่นเต้นกับผลงานของพี่คาพิน เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้กัน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีคนสนใจมากขนาดนี้
เซน: น้องๆที่มาหลายคน เขาไม่รู้จักระบบแกลเลอรี่เลยนะ เราก็จำเป็นที่จะต้องบอกเขา อธิบายวิธีการทำงาน การหักส่วนแบ่ง เพื่อที่อนาคตพวกเขาจะได้ร่วมงานกับแกลเลอรี่ที่เป็นระบบได้ มีข้อตกลง สอนสิ่งที่พวกเขาจะต้องไปเจอในอนาคต
พวกเราช่วยกันทำงานนะ บางงานก็ช่วยกันเลือกดูศิลปินที่จะเข้ามาจัดแสดง คิดกรุ๊ปโชว์ เขียนคอนเซป ออกแบบโปสเตอร์ เราไม่สามารถทำอะไรคนเดียวได้ การทำงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเราไปแล้ว แม้ว่าบางอย่างจะเป็นการทดลองของพวกเรา แต่เราก็ลงมือทำไป มีผิดพลาด แก้ไข ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้


นอกจากจะเป็นแกลเลอรี่แล้ว ที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วย
เซน: กิจกรรมที่ผ่านมาคือ เวิร์คช็อปภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากอาจารย์วิมลมาลย์ ขันธชวนะ ที่ถือว่าเป็นอาจารย์ที่มีความรู้ด้านภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ท่านอยากที่จะจัดงานตรงนี้ขึ้นมา เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับทุกคน ซึ่งการจะจัดกิจกรรมในพื้นที่มหาลัย ต้องอาศัยขั้นตอนในหลายอย่าง ทางพี่วุฒิ (ธีรวุฒิ คำอ่อน) จึงเข้ามาประสานงานกับพวกเรา และจัดกิจกรรมตรงนี้ขึ้นมา เป็นเวิร์คช็อปแรกของที่นี่ เป็นภาพที่แปลกใหม่สำหรับพวกเรา และก็ทำให้พวกเรามองเห็นความเป็นไปได้ที่จะจัดกิจกรรมอื่นๆในอนาคต
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรามองเห็นอะไรหลายอย่าง เช่น ปัญหาภายในของระบบสถานศึกษาที่ไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรม หากเป็นหน่วยงานเอกชนที่เปิดให้ผู้สนใจจัดกิจกรรมเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ซึ่งถ้าเราเปิดพื้นที่ตรงนี้ก็จะเป็นการส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต
มอส: การจัดเวิร์คช็อปก็เลยกลายเป็นไอเดียอีกอันหนึ่งที่เราอยากจะทำในพื้นที่ตรงนี้ อยากให้มีการจัดกิจกรรมบรรยาย ให้ทุกคนมาเรียนรู้ สามารถทำกิจกรรมร่วมกันโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักศึกษาศิลปะก็ได้


การเดินทางตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านนี้ เรียกได้ว่าไม่เป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ในอนาคตเรามีแผนการอะไรอีกบ้างสำหรับพื้นที่แห่งนี้
เซน: พวกเราหารายได้หลายทางนะ เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ตรงนี้ ต้องบอกก่อนว่าสายป่านของพวกเราอาจจะไม่ยาวเหมือนที่อื่น เรามองว่า ณ ตอนนี้ พวกเรายังล้มได้ เราจึงอยากเรียนรู้ ทดลองทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ
มอส: ถ้าเป็นไปได้ก็ขยายพื้นที่เพิ่มนะ (หัวเราะ) หรือลงทุนทำแบรนด์อุปกรณ์ศิลปะ ต่อยอดไปเรื่อยๆ อยากทำแบรนด์เสื้อผ้าที่มีงานศิลปะอยู่ข้างใน คิดอะไรสนุกๆไปเรื่อยๆ มองไปที่อนาคต อาจจะเพิ่มในส่วนของคลินิก มีทีมอนุรักษ์เข้าไปตรวจเช็คสภาพของชิ้นงานที่เคยติดตั้งให้กับลูกค้า ถ้าหากเราสามารถซ่อมแซมได้ก็จัดการกันเอง หรือถ้าชิ้นงานมีความเสียหายหนักมากๆ ก็ต้องส่งไปให้กับแลปที่เชี่ยวชาญกว่า เพราะพวกเรามักจะเจอกรณีชิ้นงานเสียหายค่อนข้างบ่อย
ณ ตอนนี้ เราเริ่มเห็นคนหันมาทำงานติดตั้งกันมากขึ้นนะ ก็เป็นผลดีที่พวกเขาจะเริ่มเก็บรักษางานศิลปะอย่างทะนุถนอมกันมากขึ้น
เซน: คงยังไม่ขยายไปขั้นรับจ้างขนย้ายงานศิลปะ เพราะเราเป็นทีมเล็กๆ ที่จำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพการติดตั้งของทีมงานให้ได้ก่อน เราต้องทำเท่าที่เราไหว ทำไปทีละนิด หากพื้นที่ขยายใหญ่ขึ้นก็อาจจะมีเปิดรับนักศึกษาฝึกงานให้พวกเขาได้เรียนรู้ ทำทุกอย่างตามระบบแกลเลอรี่อย่างที่ควรจะเป็น ฝึกให้พวกเขาเข้าใจว่านี่คือระบบนิเวศของศิลปะ ที่เราทำก็เพื่ออยากที่จะผลักดันพวกเขาในเรื่องนี้
มอส: แลกกับความสนุก พวกเราก็พร้อมนะ พวกเราช่วยกันหางานเข้ามาทำและแบ่งปันกัน รายได้ก็มีส่วนที่ต้องเก็บไว้สำหรับเหตุจำเป็น ไม่อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องของธุรกิจไปซะทั้งหมด เราอยากใช้หัวใจนำ และให้ทุกอย่างตามมา


สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ Qubism Art Space และ Add Art to The Wall
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก Qubism Art Space และ Add Art to The Wall
