กระแสการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงบริบทด้านสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โดยมีที่มาจากการตระหนักถึงผลเสียของการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ที่ไม่ได้เพียงแต่จะทำให้สิ่งที่เคยดีงามอยู่แล้วกลายเป็นเพียงความทรงจำ แต่ยังเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมหาศาล
นิทรรศการ กรุงเทพเปลี่ยนแปลง คือภาพสะท้อนของกระแสนิยมที่กำลังมาแรงดังกล่าว กระบวนการศึกษาและสำรวจความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติที่กำลังดำเนินไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในกรุงเทพฯ ถูกนำเสนอผ่านผลงานของนักสร้างสรรค์ 12 คน/กลุ่ม ซึ่งก็ไม่ได้จำกัดอยู่ในวิชาชีพศิลปินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมศาสตร์อีกหลายแขนง อาทิ นักประวัติศาสตร์เมือง นักพฤกษศาสตร์ ภูมิสถาปนิก นักออกแบบผังเมือง นักออกแบบกราฟิก นักออกแบบเซรามิก ศิลปินทัศนศิลป์ และศิลปินนาฏศิลป์ร่วมสมัย ภายใต้การคัดสรรโดยภัณฑารักษ์รับเชิญ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ และภัณฑารักษ์ร่วม ณรงศักดิ์ นิลเขต
นิทรรศการเปิดเรื่องด้วยการย้อนเวลากลับไปยังอดีต สมัยที่กรุงเทพฯ ยังเป็นแค่ “บางกอก” หัวเมืองปากน้ำทางตอนใต้ของอาณาจักรอยุธยา ก่อนจะจับพลัดจับผลูได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีของกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 ตลอดห้วงเวลากว่าสองร้อยสี่สิบปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมของเมืองบางกอกได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กละน้อยเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณนี้สร้างบ้านแปงเมือง

สื่อผสม วัสดุเก็บตก รูปปั้น คอนกรีต และภาพเขียน, ขนาดแปรผันตามพื้นที่
กองซากปรักหักพังของชิ้นส่วนคอนกรีตแตกหัก เหล็กเส้นขึ้นสนิม และเศษไม้เก่าผุ แทรกสอดไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีไทยในบางจุด เป็นผลงานอันคุ้นตาโดย ปานพรรณ ยอดมณี ที่ดูจะสอดคล้องกับหัวข้อของนิทรรศการเป็นที่สุด ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเป็นป่าคอนกรีตของเมือง ฉากหน้าที่ดูทันสมัย ยังคงแฝงไว้ด้วยบริบททางวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งมิได้มีเพียงวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ดังภาพจิตรกรรมไทยเหล่านี้ที่แสดงถึงกลุ่มชาวต่างชาติ ต่างศาสนา ตกตะกอนรวมกันเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยความหลากหลาย
หาก ตะกอนแห่งกาลเวลา ของปานพรรณคือการแสดงออกถึงความเป็นมหานครของกรุงเทพฯ ในเชิงสัญลักษณ์ ภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวนสิบแปดภาพที่ พีรศรี โพวาทอง คัดเลือกมาจากคอลเลคชั่นของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ก็คือการถ่ายทอดให้เห็นเป็นรูปธรรม (แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งความรู้สึกเสื่อมสลาย) พีรศรีใช้ภาพถ่ายสถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายต่อหลายแห่งในการสื่อความหมายถึงพัฒนาการของเมืองตั้งแต่ครั้งอดีต องค์ประกอบต่างๆ ที่มีลักษณะทางกายภาพเฉพาะตัวเหล่านี้ได้ประกอบเข้าด้วยกันเป็นภูมิทัศน์ของเมืองเทพสร้างที่อาจกำลังเสื่อมสภาพไปไม่ต่างอะไรกับฟิล์มกระจกอันเปราะบางเหล่านี้

ภาพฟิล์มกระจก สแกนและพรินท์บนแผ่นฟิล์ม ติดตั้งในกรอบอะคริลิก, 59.4 × 84.1 ซม. (20 ชุด)
โดยเฉพาะในช่วงไม่ถึงห้าสิบปีให้หลังมานี้ ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติกับความเจริญก้าวหน้าของเมือง นับได้ว่าเป็นสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันมาแต่ไหนแต่ไร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรในยุคที่เศรษฐกิจกำลังไปได้สวย เป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าใครก็ต้องรีบทำกันอย่างเร่งด่วน นำมาสู่การก่อกำเนิดของภูมิทัศน์เมืองตามแบบฉบับโลกสมัยใหม่ สะท้อนภาพลักษณ์อันรุ่งเรืองของมหานครอันดับต้นๆ ของโลก
เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ถูกบอกเล่าโดยนักพฤกษศาสตร์ รศ. ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้มีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

วิดีโอ, 15 นาที
สำหรับในนิทรรศการนี้ กิติเชษฐ์ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยา ผ่านคีย์เวิร์ดต่างๆ ที่เป็นประเด็นชวนถกเถียง ยกตัวอย่างเช่น นัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังโครงการ “ปลูกป่า” ทั้งหลายที่หลายภาคส่วนต่างนิยมทำกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมันอาจไม่ต่างอะไรกับ “การทำสวน” เพราะมนุษย์ไม่สามารถปลูกป่าขึ้นมาจริงๆ ได้ ป่าคือผลผลิตอันเกิดจากความสัมพันธ์ในระบบนิเวศวิทยาอันซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล การนำต้นไม้ไปปลูกลงดินเฉยๆ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการแทรกแซงธรรมชาติอย่างหนึ่ง กิติเชษฐ์เสนอว่าวิธีที่ดีสุดที่เราจะทำได้และควรทำมากกว่า คือการพยายามไม่ทำลายป่าที่มีอยู่เดิมไปมากกว่านี้ และปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไปตามวิถีของมัน

พืชพรรณท้องถิ่นแห่งทุ่งบางกอกที่หายไป, 2564
กล้าไม้หลากหลายสายพันธุ์, ขนาดแปรผันตามพื้นที่
อีกหนึ่งประเด็นชวนคิด กิติเชษฐ์ชี้ให้เห็นว่าเรามักจะถูกสอนกันมาตั้งแต่เด็กว่าให้อนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ให้ดี เพราะมันมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประโยคเงื่อนไขนี้แม้จะฟังดูสมเหตุสมผล แต่ก็มีข้อสังเกตเล็กๆ หากลองมองในมุมกลับว่า ถ้าหากธรรมชาติไม่สามารถให้ประโยชน์กับมนุษย์ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องรักษามันเอาไว้หรือเปล่า อันที่จริงแล้ว จุดบกพร่องของแนวคิดเช่นนี้คือการคำนึงถึงผลตอบแทนตามหลักความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เพียงอย่างเดียว (ซึ่งอาจเป็นไปเองโดยสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดของมนุษย์) สิ่งที่เราควรสอนลูกหลานจริงๆ คือการสร้างความเข้าใจในระดับพื้นฐานว่า “มนุษย์ก็คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” หรือมนุษย์ก็คือธรรมชาติ เราต่างมีความสำคัญต่อกันและกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เผ่าพันธุ์ของเราดำรงอยู่ แต่เป็นไปเพื่อให้ “โลก” ยังดำรงอยู่นั่นเอง
ถัดออกไปไม่ไกลคือผลงานที่เป็นเหมือนการต่อยอดจากวิดีโอสารคดีของกิติเชษฐ์ ต้นไม้ต้นเล็กๆ หลายสิบกระถางถูกจัดเรียงเอาไว้บนชั้นนั่งร้านราวกับเรากำลังเดินอยู่ที่ตลาดต้นไม้สวนจตุจักร จุลพร นันทพานิช สถาปนิกและอาจารย์สอนสถาปัตยกรรมจากเชียงใหม่ เสาะหาพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของทุ่งบางกอกที่ในปัจจุบันแทบจะสูญหายไปหมดแล้ว นำมาจัดแสดงให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นและเรียนรู้ หลายต้นอาจจะมีชื่อแปลกประหลาดที่เราแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อน เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงภาพความอุดมสมบูรณ์ของกรุงเทพฯ ในอดีต
นอกจากธรรมชาติสีเขียวที่หายไปแล้ว คุณภาพอากาศดีๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สูญหายไปจากเมืองกรุงเช่นกัน เมื่อประเด็นเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ได้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติอันโด่งดังทุกช่วงต้นปี เมื่อถึงฤดูแล้ง อากาศไม่ถ่ายเท ค่าฝุ่นควันในอากาศจึงเพิ่มสูงขึ้น กลายมาเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพระบบทางเดินหายใจของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นช่วงเวลาหนึ่งไป ผู้คนก็จะลืมเลือนปัญหา และกลับไปชีวิตตามปกติอีกครั้ง กลายเป็นวัฏจักรซ้ำซากที่วนเวียนมาให้ได้ปวดหัวกันทุกปีกันจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ
ฝุ่นละอองเหล่านี้มีขนาดเล็กจนเรามองไม่เห็น วิทยา จันมา จึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวาง Smog Season ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นความร้ายแรงของปัญหาที่หลายคนอาจจะหลงลืมไป โดยเขาใช้การเปรียบเปรยฝุ่นละอองกับควันบุหรี่ที่เรายอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นตัวการทำลายสุขภาพอันดับต้นๆ ศิลปินเชิญชวนให้ผู้ชมสแกน qr code ด้วยมือถือเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์ที่ไม่มีอะไรมากไปกว่าภาพควันสีเทาขมุกขมัว ผู้ชมต้องนำภาพนั้นเข้าไปสแกนเพื่อเปิดการทำงานของเครื่องมือที่วางอยู่ในห้องมืด ภาพชวนหดหู่ของอวัยวะเน่าเฟะหลากหลายชิ้นส่วนที่มักติดไว้ด้านข้างซองบุหรี่ จะปรากฏขึ้นในลักษณะของการหมุนไปมาอย่างรวดเร็ว พร้อมแสดงข้อความแสดงวันที่และค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่วัดได้ในวันนั้นกำกับอยู่ด้านล่าง โดยความเร็วและระยะเวลาในการหมุนของเครื่องจะแปรผันตามค่าดัชนีที่วัดได้จากภาพบนหน้าจอที่เรานำไปสแกนนั่นเอง

ศิลปะจัดวางเชิงปฏิสัมพันธ์, 60 × 60 × 140 ซม.
ผลงานชุดต่อไปนำเราไปนำเสนอเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตร่วมกับมนุษย์ในมหานครอันวุ่นวายนี้ด้วย นกกระจอกเซรามิกหลายตัวที่กระจายตัวอยู่ท่ามกลางถุงขยะสีดำ วัตถุเหล่านี้ไม่ได้มีให้เห็นแต่ในมุมใต้หน้าต่างกลมตรงนี้เท่านั้น แต่เรายังพบได้บริเวณด้านหน้าทางเข้านิทรรศการ และโถงบันไดด้านนอกห้องนิทรรศการอีกด้วย
ผลงานศิลปะจัดวางที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่นี้เป็นฝีมือของ กรินทร์ พิศลยบุตร จากการสังเกตวิถีชีวิตผิดปกติของนกกระจอกในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเผลอบินชนอาคารกระจก เพราะเข้าใจผิดว่าภาพสะท้อนที่เป็นท้องฟ้า การทำรังอยู่ตามซอกหลืบของบ้านเรือน การเกาะสายไฟแทนกิ่งไม้ ไปจนถึงการยังชีพด้วยเศษอาหารเหลือจากมนุษย์ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของสัตว์ตัวเล็กๆ เพื่อให้มีชีวิตรอดในระบบนิเวศแบบใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น ระบบนิเวศที่มีไว้เพื่อตอบสนองวัฒนธรรมของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจบริบทต่างๆ ในธรรมชาติเลยแม้แต่น้อย

เซรามิกจัดวาง ดินสโตนแวร์เคลือบออกไซด์, เอ็นโกบเพ้นท์มือ เผนที่อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส
ปิดท้ายนิทรรศการด้วยโซน ห้องปฏิบัติการ: กรุงเทพในอีกนิยาม ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติในอนาคต อันเป็นเสมือนพื้นที่สำหรับการคิดสร้างสรรค์แนวทางต่อไปของการพัฒนาเมืองที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติไม่น้อยไปกว่าด้านอื่นๆ
บันทึกประสบการณ์สำรวจเครือข่ายสัญจรทางน้ำในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เป็นผลงานใหญ่กินเนื้อที่ห้องจัดแสดงมากที่สุดในโซนนี้ บนผนังห้องปรากฏเรือพายหลากขนาดหลายรูปทรงเรียงราย ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ จากความหลงใหลในวัฒนธรรมทางน้ำบวกกับความเป็นคนชอบประดิษฐ์สิ่งของ ทำให้เขาเริ่มฝึกฝนต่อเรือด้วยตัวเอง ตั้งแต่การออกแบบ การเลือกวัสดุ การตกแต่ง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน
วิชญ์นำเรือที่เขาทดลองต่อเองเหล่านี้ไปใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวตามแม่น้ำลำคลองทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญที่สุดของชาวบางกอก ก่อนการเข้ามาของถนนหนทางบนบก การเดินทางทางน้ำจึงแทบจะสูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คน ที่ยังพอมีเหลืออยู่ก็กลายเป็นฉากหลังของเมืองสมัยใหม่ การเดินทางอย่างต่อเนื่องทำให้ศิลปินได้พบกับผู้คนตามชุมชนริมน้ำซึ่งยังคงรักษาวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้ พร้อมๆ กับภูมิทัศน์อันสวยงามเรียบง่ายของอาคารบ้านเรือนและธรรมชาติที่ซุกซ่อนอยู่สองฝั่งคลอง จุดสังเกตเล็กๆ คือภาพถ่ายเหล่านี้ถูกติดตั้งเอาไว้โดยจงใจให้ระดับน้ำในแต่ละภาพอยู่ในระนาบเดียวกัน แสดงการเชื่อมต่อของสายน้ำที่ไหลผ่านบริบทอันหลากหลายของเมือง

เรือแคนู เรือคายัค ภาพถ่าย และแแผนที่คลองกรุงเทพฯ, ขนาดแปรผันตามพื้นที่
นอกจากบันทึกประสบการณ์ที่ศิลปินได้สัมผัสมาแล้ว บนโต๊ะยังมีแผนภาพและแผนที่แสดงข้อมูลของเส้นทางน้ำในบริเวณกรุงเทพฯ สื่อสารให้เห็นถึงศักยภาพของแม่น้ำลำคลองที่ถูกหลงลืมไป นำมาสู่คำถามที่ว่า จะดีกว่าไหมหากเราสามารถนำเส้นทางสัญจรทางน้ำเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการคมนาคมอย่างจริงจัง
นอกจากผลงานข้างต้นแล้ว ในนิทรรศการ กรุงเทพเปลี่ยนแปลง ยังมีผลงานอีกหลายชุดที่เรียกได้ว่ามีศักยภาพไม่น้อยในการทำให้ผู้ชมต้องย้อนกลับมามองเมืองที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่อีกครั้ง ผ่านกระบวนการสื่อสารที่ไม่ได้มีแต่งานด้านทัศนศิลป์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงโครงการออกแบบหรือการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ร่วมกันสร้างภาพมหานครที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ มิติ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงนั้นล้วนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเราเสมอ อยู่ที่ว่าเราจะสังเกตเห็นหรือไม่ และท้ายที่สุดแล้ว การตระหนักในปัญหาต่างๆ ย่อมเป็นรากฐานของความพยายามในการที่จะแสวงหาหนทางแก้ไข ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น.