ศิลปิน: ทวี รัชนีกร / ต่อลาภ ลาภเจริญสุข คิวเรเตอร์: นิ่ม นิยมศิลป์
‘Out of this World’ นิทรรศการศิลปะซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์ที่จะขยายขอบเขตของจินตนาการและการสร้างสรรค์ ให้ออกนอกขอบเขตของชีวิตมนุษย์อันแสนจำเจ จัดแสดงที่ MOCA Museum of Contemporary Art

‘Out of this World’ คือนิทรรศการจากแนวคิดที่ว่า ยามที่โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยปัญหา ดูไม่แน่นอน ไม่น่าอยู่ มนุษย์เราจึงมักเบนความสนใจจากโลกภายนอกสู่โลกของความคิดและจินตนาการ เพื่อว่าบางขณะได้หยุดพัก ได้ปลดปล่อยตนเองให้ก้าวพ้นสถานการณ์ที่รุมเร้า สุนทรีย์จากความสร้างสรรค์และงานศิลปะ คือคำตอบหนึ่งของการอยู่รอด เป็นประจักษ์พยานว่ามนุษย์มีศักยภาพอันน่ามหัศจรรย์ นิทรรศการครั้งนี้นำทุกคนเข้าสู่โลกจินตนาการของศิลปิน ทั้งรูปลักษณ์และเนื้อหาอันเต็มไปด้วยกลิ่นอายนิยายวิทยาศาสตร์ สะท้อนถึงการตีความการรับรู้ที่มีต่อชีวิตและสังคม โดยสองศิลปินต่างวัย ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ และ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2548 เกิดวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2477 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่แสดงออกโดยการทำให้เห็นความงดงามของธรรมชาติ ผสมผสานเข้ากับความคิดที่ลุ่มลึกสะท้อนให้เห็นสภาวะของสังคม วิถีชีวิต และความเชื่อของผู้คน เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่ส่งผลให้ผลงานของทวีได้รับรางวัลระดับชาติทางด้านจิตรกรรมและภาพพิมพ์ติดต่อกันจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 9-12
ผลงานในนิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทวี: ปกติเวลาเราจะเขียนรูปขึ้นมา เราจะเลือกเขียนตามสบายของเรา เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่มันมากระทบใจเรา ตอนนั้นเราป่วย พึ่งออกจากโรงพยาบาล จึงอยากเขียนเรื่องราวที่เราสบายใจ ก็ฝันถึงโลกอื่นบ้าง ฝันถึงนอกโลกบ้าง เรื่องราวที่มนุษย์เราเป็นอิสระ เพราะโลกเราผูกพันด้วยพันธะ ฝันถึงโลกที่มันมีแสง สี รูปทรงไม่เป็นปกติ เราก็เป็นสุขดี ถ้าคนดูฝันไปด้วยกับเรามันก็เป็นสุขดี เพราะโลกจริงๆ ที่เราอยู่นี้มันก็ไม่น่าอภิรมย์เท่าไร เมื่อคุณนิ่มเขาไปเห็นผลงาน เขาก็ชอบ เราก็อยากจะมองหาสุนทรียะใหม่ที่ไม่ผูกผันกับผัสสะที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ บางคนที่มาเห็นผลงานเขาก็ตีความถึงโลกในอนาคตต่างๆ นานา ซึ่งดีนะ เราอยากทำงานศิลปะ แสดงสุนทรียภาพที่ศาสตร์อื่นเขาไม่มี อยากให้คนที่มาดูเขามีความสุข

ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาในอดีต ทำให้เป็นแรงผลักดันให้เกิดภาวะของการโหยหาโลกในอนาคตด้วยไหม
ทวี: ด้วยความที่เราอายุมากแล้ว ถ้าเขียนแต่อะไรเดิมๆ ก็จะเหมือน van Gogh ที่ตายเร็วเพราะเขียนรูปแบบนั้น คนเราเมื่ออายุมากๆ เข้า คงไม่สามารถเขียนรูปเดิมๆ ไปตลอดได้หรอก เหมือนอย่าง Picasso มันก็จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนแปลงความรู้สึกด้วย จะให้เขียนอะไรแบบนั้นไปตลอดคงไม่ได้ เพราะเราอายุ 88 แล้ว มันอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องรู้จักเบื่อบ้างสิคนเรา (หัวเราะ)

มีลักษณะครึ่งแมลงครึ่งปลาหมึก เดินอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมแปลกตา
อัตลักษณ์ในงานของทวีที่หลายคนคุ้นเคย คือ การนำเสนอการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ในนิทรรศการนี้ ศิลปินเน้นการเปิด การปลดปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นออกไปนอกขอบเขตความจริง ผลงานของทวีในนิทรรศการครั้งนี้เป็นการนำงานที่สร้างสรรค์ต่อเนื่องจากฐานความคิดของผลงานชุดใหม่ล่าสุดของเขา รวมถึงนำงานบางส่วนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันในอดีตมาร่วมแสดงด้วย เพื่อให้สารที่ต้องการสื่อกว้างและชัดเจน สำหรับศิลปินแล้ว สังคมวันนี้เสมือนถูกกักขังให้หยุดอยู่กับที่ หรือยิ่งไปกว่านั้นคือ ถูกผลักให้ถอยหลัง ทวีฝากความหวังกับอนาคต วันข้างหน้า ไว้กับคนรุ่นใหม่

ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เกิดวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2520 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันเขาเป็นทั้งศิลปิน นักออกแบบ ซึ่งสนใจในการใช้วัสดุต่างๆ เข้ามาผสมผสานเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบทั้งงานสองมิติและสามมิติ อีกทั้งเขายังเป็นเจ้าของแกลเลอรี ซีสเคป (Gallery Seescape) แกเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 มีจุดมุ่งหมายให้งานศิลปะแทรกซึมร่วมกับชีวิตประจำวัน และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับศิลปะร่วมสมัย
ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ต้องการจะบอกเล่าถึงสิ่งใด
ต่อลาภ: จุดเริ่มต้นเกิดจากคิวเรเตอร์ที่เขาสนใจผลงานของผมชุดหนึ่งซึ่งเคยแสดงที่สิงคโปร์ เป็นยานพาหนะที่สร้างขึ้นด้วยของเก่าจากความทรงจำของเราเอง ทั้งงานชิ้นนั้นและงานทั้งหมดที่ผมทำมาตลอดช่วงเวลานี้ มีที่มาจากความเชื่อที่ว่า วัตถุทุกอย่างที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จะมีความทรงจำอยู่ในนั้น จากสถานที่ เวลา หรือประสบการณ์ของผู้ใช้ เมื่อนำกลับมาใช้ในลักษณะของ found object เราจึงไม่ได้โฟกัสที่หน้าที่การใช้งานของมัน แต่คือการเอาเรื่องราวของความทรงจำและความรู้สึกมา เป็นตัวแทนของคน

ในผลงาน Trinity Lines ที่กำลังแสดงอยู่นี้ เป็นประติมากรรมที่มีวงแหวนอยู่สามวงด้วยกัน เรามักเห็นความเป็นสามสิ่งนี้อยู่ในอารยธรรมต่างๆ เพราะมันทำให้เกิดความสมดุลของทุกสิ่ง ในที่นี้ผมจึงเอาประเด็นนี้มาพูดถึงความเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต “อดีต” ผมเอามาผูกโยงเข้ากับวัตถุที่เคยใช้และสถานที่ของเวลา “ปัจจุบัน” ก็คือสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ และ “อนาคต” คือรูปลักษณ์ของความเวิ้งว้างในอวกาศ ผมอยากสร้างความสมดุลของทั้งสามสิ่งนี้ ผลงานชิ้นนี้จึงตั้งอยู่ได้ด้วยสมดุลของตัวชิ้นงานเอง ไม่งั้นก็จะล้ม
สามสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ เหมือนกับปัจจุบันเรากำลังก้าวไปข้างหน้า เพื่อหาสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต ทว่าเราก็ไม่สามารถทิ้งเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตไปได้
Trinity Lines ประติมากรรมเรืองแสงที่สร้างขึ้นจากวัสดุเก็บตก (found object) สิ่งของและภาชนะที่ใช้สำหรับการดำรงชีวิตให้เป็นรูปทรงสัญลักษณ์ของความไม่มีที่สิ้นสุด
ในนิทรรศการนี้ ต่อลาภได้ย้อนกลับไปในอดีต เพื่อค้นหานัยของการทับซ้อนกันของพื้นที่และเวลา เมื่ออดีตคือรากฐานของทั้งปัจจุบันและอนาคต การแสดงออกทางศิลปะผ่านวัสดุเก็บตกที่เต็มไปด้วยร่องรอบของความทรงจำเก่าเก็บ จึงเปรียบเสมือนการสำรวจรากเหง้าของบรรพบุรุษผ่านขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อโบราณซึ่งอยู่ตรงข้ามกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศในโลกปัจจุบัน ไม่แน่ว่าความหวังที่เรากำลังตามหา อาจแทรกตัวอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้วก็เป็นได้

ความท้าทายในการจัดนิทรรศการครั้งนี้คืออะไร
นิ่ม: โดยปกติแล้ว เราจะจัดนิทรรศการโดยเลือกผลงานของศิลปินที่ปกติแล้วเราจะไม่เคยเห็นพวกเขาแสดงงานร่วมกัน ไม่ต้องมาจากสายเดียวกัน เราจึงมักนำมาผสมผสานกันตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาโดยส่วนตัว การเลือกศิลปิน 2 generation มาทำงานร่วมกัน มันทำให้ผลงานน่าสนใจมากขึ้นกว่าการมีแต่ผลงานสไตล์เหมือนๆ กันเข้ามาอยู่ด้วยกัน
เรารู้สึกว่าผลงานของ อ.ทวี และต่อลาภ มีบางสิ่งที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่ค่อนข้างเยอะ นี่เป็นสิ่งที่เราค้นพบเมื่อได้ไปเจอกับผลงานของ อ.ทวี ผลงานของต่อลาภเราก็ติดตามมาอยู่แล้ว เราจึงอยากที่จะเอาผลงานของทั้งสองมาอยู่ด้วยกัน เราไม่ค่อยกังวลกับเรื่องของความต่างของ generation เพศหรืออะไร เราดูที่ผลงานเป็นหลัก ว่าจะสามารถเข้ามาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
ทวี: ผมคิดว่ามันมีจุดเชื่อมนะ เพราะผมเป็นคนชอบอ่านนิยายอวกาศ ชอบมาก พอมาเห็นผลงานของต่อลาภซึ่งก็มีความเป็นอวกาศอยู่เหมือนกัน โลกที่เราเห็น โลกที่เรารู้สึก มันมีความฝันตามวิทยาศาสตร์ไปด้วย เราเห็นแล้วก็เกิดจินตนาการไปด้วย แม้จะอยู่คนละยุค มันก็สามารถอยู่ร่วมกันได้
นิ่ม: เรามีความชอบเรื่องราวของไซไฟ-วิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เราก็จะมีจุดเชื่อมอยู่ตรงนี้ได้ง่าย มันมีเรื่องของมนุษย์ มีเรื่องของปรัชญาเข้ามาอยู่เยอะมาก เพราะมันเหมือนมี condition อย่างหนึ่งเข้ามา มันจึงเชื่อมโยงเข้ากับการใช้ชีวิตของมนุษย์ด้วย
ต่อลาภ: บางครั้งเรามักจะคิดว่านิยายไซไฟ-วิทยาศาสตร์มันจะฟุ้งฝันเกินจริงๆ บางอย่างมันก็จะมีพื้นฐานมาจากความจริงด้วย มันทำให้เราเกิดความเชื่อว่ามันอาจจะเป็นไปได้ หรือ เป็นไปไม่ได้ คล้ายกับความจริงของชีวิต ที่บางครั้งเราไม่สามารถกำหนดสิ่งเหล่านั้นให้เป็นไปได้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง
นิ่ม: เราคิดว่าการจัด Dual exhibition เป็นอะไรที่ยากที่สุด โจทย์คือเราจะทำยังไงให้ผลงานของทั้งสองศิลปินสามารถอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเรานำผลงานทั้งสองมาอยู่ร่วมกัน เราค้นพบบทสนทนาบางอย่างที่เรารู้สึกโอเค เป็นสิ่งที่เรามองเห็น และเราก็พยายามที่จะดึงออกมาให้ผู้ชมได้มองเห็น ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ชมด้วย ว่าพวกเขาจะมองเห็น อย่างที่เราพยายามจะให้พวกเขาเห็นไหม เรา happy นะเพราะตัวงานมันได้ dialog อย่างที่เราต้องการ
เมื่อเราได้คุยกับต่อลาภและ อ.ทวี ทั้งสองมักจะมีมุมมองไปถึงคนในรุ่นต่อๆ ไปว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร อย่างของ อ.ทวี เขาก็จะชอบอะไรก็ตามที่เป็นยุคสมัยใหม่ เพราะด้วยคุณภาพของสังคม ความหวังจึงต้องไปอยู่ที่ตรงนั้น เมื่อคุยกับต่อลาภ เขาก็มีลูก เพราะฉะนั้นความคิดจึงไปในทางที่ว่า แล้วลูกของเราจะโตขึ้นมาอย่างไร ในสภาพสังคมแบบไหน
ทวี: อย่างผมเมื่อได้มาเห็นผลงานของต่อลาภในห้องมืดๆ นั้น มันต้องเกิดความสะเทือนใจ เกิดความรู้สึกขึ้นมาบ้างนะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้คนนั่นแหละว่าชอบหรือไม่ เราคงไปบังคับเขาไม่ได้ ต้องให้เขามาดูเอง
ต่อลาภ: นิทรรศการนี้เป็นหนึ่งในผลงานที่ท้าทายมากๆ ของผมเหมือนกัน เมื่อตอนเรายังเรียนศิลปะ เรารู้จักผลงานของ อ.ทวี ซึ่งล้ำมากๆ ในสมัยนั้น เราชอบผลงานของอาจารย์ อย่างผลงานที่แสดงอยู่ที่ หอศิลปกรุงเทพฯ (BACC) ตอนนี้ มันทรงพลังมากๆ เมื่อคุณนิ่มเชิญมาให้ได้มาทำงานร่วมกัน ตอนแรกก็รู้สึกกดดันว่า เราจะทำได้หรือเปล่า แต่เมื่อผลลัพธ์ที่ออกมา งานของผมซึ่งพูดถึงการเชื่อมยุคสมัยของเวลาและผู้ชม ก็แสดงว่าการที่เราทำงานศิลปะที่สามารถเป็นจุดเชื่อมของคน อย่างเช่นผลงานของผมที่นำวัตถุจากอดีตมาใช้ก็เหมือนการที่คนในยุคหนึ่งมาเล่าเรื่องราวให้เด็กรุ่นฟังว่า พวกเขาเคยใช้วัตถุนี้ในอดีต เข้ามาใช้เลี้ยงชีวิตของเราอย่างไร คล้ายกับว่าเราใช้งานศิลปะเชื่อมคนและเรื่องราวที่ต่างกันได้
“ถ้าสังคมของเรายังเป็นอยู่อย่างนี้ ยังเล่นลิเกอยู่อย่างนี้ ชาติอื่นเขาคงพัฒนาไปกันหมด เราต้องพัฒนา” ทวีกล่าวทิ้งท้าย
Out of this World จัดแสดงที่ MOCA Museum of Contemporary Art
ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2
ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม 2565