ทุกสิ่งอย่างบนโลกล้วนถูกกำหนดมาให้มีรูปลักษณ์ และหน้าที่บางอย่างเพื่อเกื้อกูล พึ่งพา และดำรงอยู่ได้ร่วมกัน โดยมีความมุ่งหวังว่าการดำรงอยู่ร่วมกันนี้จะทิ้งสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของใดๆ ไว้ข้างหลังให้น้อยที่สุด การคิดคำนึงถึงสรรพสิ่งต่างๆ รอบตัวและพยายามทำความเข้าใจคือจุดร่วมกันของศิลปินทั้งสอง คามิคาวะ คานาเอะ และนครินทร์ มงคลชัย ที่ได้รับทุนสร้างสรรค์ภายใต้โครงการ I LOVE YOU Project โดยมหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้มุ้งเน้นที่จะนำศิลปะเข้ามาเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงสังคม วัฒนธรรม และผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีความคิดว่าการร่วมมือและความช่วยเหลือที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดสังคมที่ไม่มีความโดดเดี่ยวอีกต่อไป

ด้วยประเด็นหลักของโครงการที่ต้องการสื่อสารเรื่องการอยู่ร่วมกัน และความต้องการทำความเข้าใจในสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นของทั้งสองคนจึงมุ่งหยิบยกเรื่องราวของ ปลา มาเป็นประเด็นหลักในการสื่อสาร ด้วยพฤติกรรมที่อยู่เป็นฝูง ไม่ว่าจะการดำเนินชีวิตทั่วไปหรือการเฝ้าระวังภัยให้ และความหลากหลายของฝูงปลาที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบนิเวศทางน้ำเสมือนความหลากหลายที่ปรากฏในสังคมที่เมื่อพร้อมใจกันเคลื่อนที่ก็สามารถผลักดันสังคมไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องความผูกพันของปลากับวิถีชีวิตของคนทั้งสองประเทศ ทั้งในวิถีชีวิตและตำนานที่ถูกส่งต่อเรื่องปลานามะซึ (Namazu) และปลาอานนท์ ที่เมื่อขยับตัวจะสร้างภัยพิบัติครั้งใหญ่ให้แก่โลกมนุษย์ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงภัยพิบัติทางน้ำย่อมนึกถึงประเทศญี่ปุ่นที่เผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำเป็นประจำทุกปี ศิลปินแลกเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นอย่าง คามิคาวะ คานาเอะ จึงหยิบยกเรื่องราวจากประสบการณ์ที่ได้รับโดยตรงจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2017 ที่เมืองคุมาโมโตะ จังหวัดคิวชู ซึ่งเป็นบ้านเกิดและสถานที่เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่พัดบ้านทั้งหลังของคุณยายของคานาเอะหายไป จากประสบการณ์ในตอนนั้นนอกจากสิ่งปลูกสร้างที่อันตรธานหายไปแล้วสายน้ำยังพัดพานำสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ทั้งตะกอนที่ฝั่งอยู่ใต้ทะเล และสัตว์น้ำนานาชนิดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ คานาเอะได้พบเจอปลาตัวหนึ่งที่กำลังจะตาย ปลาที่กำลังมีชีวิตอยู่ดีๆ แต่ชั่วครู่หนึ่งกลับต้องมาตายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นซึ่งภัยพิบัติเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้คานาเอะมีความตระหนักถึงความอันตรายที่เกิดขึ้นจากสายน้ำ แต่เมื่อเดินทางมาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทยกลับพบว่า สายน้ำของไทยนั้นไม่ได้น่ากลัว และผู้คนก็ไม่ได้ตระหนกหรือตกใจกับภัยทางสายน้ำมากเท่าที่ควร ซึ่งสิ่งที่เราหลงลืมไปนั้นคือสิ่งที่คานาเอะต้องการที่จะกระตุ้นเตือนให้แก่เรา ผ่านผลงานชุดนี้ที่ได้หยิบจับตำนานเรื่องเล่าของปลา อีกหนึ่งความสนใจของคานาเอะที่ทำให้เลือกปลาเป็นตัวสื่อสารหลักคือการพยายามสื่อสารเพื่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสื่อสารออกมา ซึ่งการพยายามทำความเข้าใจในสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างจากมนุษย์ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่นครินทร์ให้ความสนใจเช่นกัน

ผลงานของนครินทร์ มงคลชัย มุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบ หรือถูกมองข้ามไป ที่ไม่สามารถสื่อสารทำความเข้าใจกับมนุษย์ได้ โดยจำลองรูปแบบของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นขึ้นจากรูปแบบเดิมที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ทั้งรูปทรงของแบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขนาดเล็ก โดยหยิบนำสิ่งมีชีวิตที่ยังเต็มไปด้วยข้อค้นหามาเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่ถูกหลงลืม ถูกทิ้งขว้าง และสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ นำเสนอผ่านรูปทรงแปลกตาที่ปรากฏขึ้นในสภาวะเรืองแสง สภาวะผิดแปลกไปจากปกติผ่านสีสันสวยงามกับความหมายที่ต่างออกไป ความสวยงามคือแรงดึงดูดชั้นดีของมนุษย์ ความต้องการที่จะเข้าไปสัมผัสหรือทำความรู้จักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทว่าความสวยงามด้วยสีสันของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นกลับให้ความหมายที่ต่างออกไป นอกจากจะไม่ได้ดึงดูดแล้วยังเป็นการเตือนว่าอย่าเข้าใกล้ สีสันถูกใช้เป็นเกราะกำบังที่ข้างในเต็มไปด้วยพิษร้ายที่อาจคร่าชีวิตได้ทุกเวลา

แม้จะเป็นงานนิทรรศการของศิลปินสองคน แต่เมื่อก้าวเข้าไปกลับพบว่าผลงานของทั้งสองคนสอดประสานร้อยเรียงและกำลังเล่าเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มต้นด้วยผลงานที่เชื่อมโยงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศที่ผู้ชมเห็นได้ชัดเจนที่สุดผ่านตัวอักษรที่บอกถึงการระวังอันตรายต่างๆ ที่คานาเอะเขียนตัวอักษรไทยและนครินทร์เขียนตัวอักษรญี่ปุ่น ตัวอักษรที่ทั้งสองคนต่างไม่เคยเข้าใจทลายข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารผ่านภาษา และใช้ภาษาสากลอย่างศิลปะมาเป็นสิ่งเชื่อมโยงแทน ตัวอักษรที่ล้อมรอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตในจินตนาการที่กำลังส่องแสงเหมือนกำลังนำเราเข้าสู่เส้นเรื่องหลักของงานที่รออยู่ในห้องถัดไป
เมื่อเดินผ่านม่านสีดำ สิ่งแรกที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสคือสีสันที่กำลังเรียกร้องความสนใจจากผู้ชม ปลาตัวใหญ่ที่เป็นตัวแทนของปลานามะซึและปลาอานนท์ ฝีมือการวาดของคานาเอะด้วยลายเส้นสั่นไหวสร้างความเคลื่อนไหวให้แก่ผลงาน เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวในน้ำทะเล และอีกนัยยะหนึ่งคือการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางน้ำที่สร้างผลกระทบต่อโลก โดยรอบตัวปลาปรากฏสิ่งมีชีวิตรูปร่างแปลกตารายล้อมอยู่ ผ่านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและการค้นคว้าของนครินทร์ ที่ได้จำลองสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบหรือถูกมองข้ามไป เมื่อเฝ้าสังเกตอยู่นานกลับพบว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นกำลังเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ แต่เมื่อพิจารณาอีกครั้งกลับพบว่าด้วยการขึงผ้าใบที่ไม่ได้แนบสนิทกับกำแพงของห้องจัดแสดงทำให้ผ้าใบบางส่วนนูนขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ ประกอบกับรูปร่างของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นที่นครินทร์ตั้งใจให้ล่อหลอกสายตาผู้ชม จึงทำให้รู้สึกว่าเรากำลังล่องลอยอยู่ในห้วงมหาสมุทร นอกจากสิ่งมีชีวิตบนผนังแล้ว ศิลปินทั้งสองยังสร้างผลงานประติมากรรมจากรูปทรงสิ่งมีชีวิตในจินตนาการขึ้นมาจัดวางให้รายล้อมทางเดินในห้องแสดงงาน ความพิเศษของประติมากรรมชุดนี้นอกจากสีสะท้องแสงแล้ววัสดุที่ใช้ในการสร้างมาจากโพลียูรีเทน (Polyurethane) ซึ่งความสามารถพิเศษของโพลียูรีเทนคือเมื่อถูกปล่อยออกมาแล้วจะขยายตัวและสร้างรูปทรงที่อิสระ ทำให้สิ่งมีชีวิตในงานชุดนี้เกิดขึ้นมาอย่างอิสระและเป็นไปตามธรรมชาติสรรสร้างอย่างแท้จริง

นอกจากการรับรู้ทางสายตาแล้ว งานชุดนี้ยังเพิ่มประสบการณ์รับรู้ทางเสียงแก่ผู้ชมด้วย ศิลปินนำเสียงสัญญาณเตือนภัยและเสียงมรสุมต่างๆ มาประกอบสร้างเป็นท่วงทำนองใหม่ เสียงที่กำลังบอกเราว่าให้ระวังตัวจากภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา ภัยที่อยู่รอบตัวเรากับความสวยงามที่อยู่ตรงหน้าที่กำลังล่อหลอกให้เราหยุดนิ่งและเพ่งสมาธิค้นหา ทว่าเสียงดนตรีกลับฉุดรั้งสติของเราให้ก้าวห่างออกมา ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงห้องแสดงจะไม่ได้มีอันตรายอันใด ทว่ากลับยังรู้สึกให้ระแวดระวัง
สุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายหลักของงานนิทรรศการในครั้งนี้ที่ศิลปินทั้งสองต้องการส่งสัญญาณบอกมนุษย์ว่า โลกใบนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่มนุษย์ยังไม่รู้ โลกไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล และมนุษย์ก็ไม่ใช่ศูนย์กลางของวัฏจักร ธรรมชาติได้ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย คัดสรรให้หลายชีวิตได้ดำเนินต่อไป มนุษย์เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่ถูกคัดสรรให้อยู่ต่อ แต่จะอยู่ต่อได้นานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิถีทางการดำเนินชีวิตของมนุษย์เอง การเลือกที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเห็นแก่ตัวในห่วงโซ่อาหารใบใหญ่อย่างที่เคยทำมา หรือจะเลือกเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับสิ่งอื่นๆ ในห่วงโซ่อาหารใบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่มนุษย์ต้องรีบหาคำตอบ
