by Tawatchai Somkong

19 ธันวาคม 2565 – 22 มกราคม 2566

at Blacklist Gallery, Matdot Art Center

จากภาพวาดอายุนับร้อยปีที่ได้มาจากตลาดนัดขายของเก่า สู่ผลงานศิลปะร่วมสมัยจัดแสดงในของแกลเลอรีสีขาว ปฏิบัติการทางศิลปะของ ธวัชชัย สมคง ได้ชุบชีวิตจิตรกรนิรนามผู้ล่วงลับเหล่านี้ และนำพวกเขากลับมามีตำแหน่งแห่งที่อีกครั้งในโลกปัจจุบัน โลกที่นิยามของงานศิลปะถูกยกระดับจากงานฝีมือชิ้นเยี่ยมสำหรับตกแต่งบ้านคนรวย กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกรับรู้และยอมรับในบริบทเฉพาะตัวอันห่างไกลจากนิยามในอดีต

ย้อนกลับไปในปี 2014 ธวัชชัยมีแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานชุดใหม่จากภาพวาดเก่าที่เขารวบรวมมาจากที่ต่างๆ ตั้งแต่ในโลกออนไลน์อย่างเว็บไซต์ ebay.com ไปจนถึงตลาดนัดขายของเก่าที่อิตาลี ภาพวาดเหล่านี้ผ่านการคัดเลือกอันเนื่องมาจากความสนใจส่วนตัวของศิลปินเอง อาจด้วยความประทับใจในเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอด เทคนิคการวาดอันชาญฉลาด หรือการจัดวางองค์ประกอบที่ดึงดูดความสนใจ แต่จุดร่วมเดียวกันของทุกภาพ ก็คือศักยภาพในการจุดประกายทางความคิดที่เขาจะสามารถต่อยอดต่อไปได้ ซึ่งในมุมมองของธวัชชัยเอง ภาพวาดเหล่านี้ก็เหมือนกับว่ากำลังรอคอยให้เขาลงมือทำอะไรสักอย่างกับมันด้วยเช่นกัน

กระบวนการอันหลากหลายที่ศิลปินเลือกใช้จัดการกับภาพวาดเก่า บังเกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจนสามารถจำแนกได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ “ภาพเก่าที่ยังคงเป็นภาพเก่า” หากปราศจากการพิจารณาอย่างใกล้ชิด ผู้ชมก็แทบจะแยกไม่ออกว่าแต่ละภาพดังกล่าวได้ถูกกระทำการบางอย่างมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มผลงานที่ธวัชชัยสร้างสรรค์เอาไว้ในระยะแรก ศิลปินวาดภาพเหมือนตัวเองลงไปเป็นส่วนหนึ่งของภาพอย่างกลมกลืน ยกตัวอย่างเช่นการแทนที่ใบหน้าของพระบุตรที่ยังเป็นเพียงทารกบนตักพระแม่มารีด้วยใบหน้าของตัวเอง หรือการกระโจนเข้าไปนั่งที่เก้าอี้ว่างในฉากห้องนั่งเล่นอันแสนวุ่นวาย  

ในทางตรงกันข้าม ผลงานอีกกลุ่มแสดงให้เห็นว่าธวัชชัยได้ตัดสินใจเดินหน้าไปไกลกว่าการตีเนียน เขาเริ่มทำให้ภาพวาดเก่าๆ เหล่านี้ไม่เก่าอีกต่อไป เป็น “ภาพเก่าที่กลายเป็นภาพใหม่” ด้วยการสอดแทรกองค์ประกอบที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงลงไป เป็นต้นว่าดวงตาแบบแอ็บสแตร็กต์ลอยเด่นในป่า ริ้วเมฆสยายเป็นเส้นประเหนือน่านฟ้าดั้งเดิม ไปจนถึงการใช้สีแดงสดทาทับลงบนตัวละครในฉากการอัญเชิญพระศพลงจากกางเขน ทั้งหมดก่อตัวขึ้นจากพาเลทสีสมัยใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับผลงานกลุ่มหลังซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายในเชิงเทคนิค แสดงให้เห็นพัฒนาการทางความคิดที่เปลี่ยนไปจากผลงานระยะแรก จากการพยายามสอดแทรกตัวบทใหม่ๆ ลงไปแต่งเติมสาระให้กับภาพวาดเก่า โดยยังคงรักษาบรรยากาศดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ไปสู่การตีความโครงสร้างของภาพเก่า ทั้งในเชิงองค์ประกอบภาพ เทคนิคการวาด และการเล่าเรื่อง ก่อนจะแก้ไขดัดแปลงเสียใหม่ ให้กลายเป็นผลงานที่มีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างชัดเจน 

อีกนัยหนึ่ง ปฏิบัติการทางศิลปะทั้งหมดนี้เปรียบได้กับการลบเลือนเส้นแบ่งกาลเวลา และนำวัตถุทางศิลปะจากอดีตกลับคืนสู่พื้นที่ของความเป็นร่วมสมัยอีกครั้ง ซึ่งมิใช่ด้วยฝีมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เกิดขึ้นได้ภายใต้นามของผู้สร้างทั้งสองคน นั่นคือศิลปินยุคโบราณและตัวของธวัชชัยเอง.