“คงไม่มีผลงานของศิลปินคนใดที่สร้างสรรค์ออกมาเพื่อให้สังคมเกิดความวิบัติหรือทำให้ผู้คนต่ำทราม อาจไม่ใช่หน้าที่ของศิลปะแต่หากสามารถชักจูงใจคนให้สูงขึ้นได้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นเรื่องน่ายินดี” อานนท์ เลิศพูลผล ศิลปินที่กำลังพยายามสร้างสรรค์ศิลปะที่จะชักจูงใจคนให้สูงขึ้นดังประโยคของเขาข้างต้น ความสนใจในการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารอาจยังไม่เด่นชัดในช่วงที่เริ่มสนใจศิลปะ ในวัยประถมเขาเลือกศิลปะเป็นวิชาพิเศษที่เรียนเพิ่มเติมหลังจากชั้นเรียนปกติ แต่เหตุการณ์บางอย่างทำให้เขาห่างหายจากการหาความพิเศษของศิลปะไปชั่วขณะหนึ่ง จนกลับมาค้นพบตอนช่วงสุดท้ายของชีวิตมัธยมปลายว่าศิลปะยังเป็นเรื่องพิเศษสำหรับเขา จนเลือกที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเมื่อจบการศึกษาก็เลือกทำหน้าที่ชักจูงใจคนให้สูงขึ้นด้วยการเข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตรกรรมในคณะเดิมจนถึงปัจจุบัน
อานนท์เป็นอาจารย์ควบคู่กับการทำงานสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบการทำงานที่วิเคราะห์ผ่านองค์ประกอบ 3 อย่างที่ประกอบสร้างออกมาเป็นตัวตนของเขา Concept แนวความคิดที่บ่มเพาะมาจากประสบการณ์ชีวิต Technic รูปแบบการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝน ทดลอง จนเกิดความความเข้าใจ และ Content เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องที่เข้ามากระทบ และอยู่ในความสนใจ ณ ช่วงเวลานั้น องค์ประกอบที่ส่งผลกับงานของเขาตั้งแต่เริ่มต้นสร้างสรรค์และยังคงพบในงานชุดปัจจุบันก็คือ แนวความคิดเรื่องคุณธรรม ความดี ความเลว ความบกพร่องของคนในสังคม เมื่อมองย้อนสำรวจจากประสบการณ์ของเราก็พบว่าความบกพร่องของคนในสังคม จิตใจที่บิดเบี้ยวทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมทุกยุคทุกสมัย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอานนท์จึงบอกกับเราว่า “สิ่งที่ยืดหยุ่นน้อยที่สุดของผมคือเรื่องของแนวความคิด” สิ่งที่ยืดหยุ่นถัดมาคือเทคนิคเพราะสิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์ได้ทดลองผิดถูกได้อย่างไม่มีใครมาตัดสิน ไม่ต้องยึดติดว่าเทคนิคคือของใครเป็นเฉพาะ เป็นเพียงว่าเมื่อมันสามารถส่งสารไปได้ถึงผู้ชมเทคนิคนั้นก็คือเทคนิคที่ดีในช่วงเวลานั้น ส่วนเนื้อเรื่องหรือเนื้อหาคือสิ่งที่ยืดหยุ่นได้มากที่สุด ถึงแม้ว่ารากฐานความบกพร่องทางสังคมจะยังอยู่ ทว่าเนื้อเรื่องที่บอกเล่าถึงความบกพร่องนั้นกลับหมุนเวียนเปลี่ยนไปยุคสมัย องค์ประกอบทั้งสามสิ่งนี้ปรากฎให้เห็นในงานสร้างสรรค์ของเขาตามยุคสมัยต่างๆ

ผลงานชุดปัจจุบัน MANIFEST DESTINY คืองานที่กำลังบอกว่า ภายใต้สิ่งที่ปรากฎให้เห็น มักมีความจริงแท้บางอย่างซ้อนทับอยู่ ภายใต้ความเชื่อโดยบริสุทธิ์? มีความผิดปกติบางอย่างพยายามส่งเสียงอยู่ สะท้อนเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อดีต ลัทธิที่เชื่อว่าชนชาติตนมีความพิเศษกว่าชนชาติอื่น ลัทธิชาตินิยม และความเชื่อเรื่องความชอบธรรมในการขยายอาณาเขต คุณธรรมที่ถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือสวยหรูในการเหยียบย่ำผู้ที่แตกต่าง เบื้องหลังวาทกรรมสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม กลับเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำที่เจ้าของวาทกรรมยัดเยียดให้ ผ่านเหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้อย่าง สงครามระหว่างประเทศยูเครน และสหพันธรัฐรัสเซีย
ผลงานกว่า 10 ชิ้นในพื้นที่จัดแสดงไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์นองเลือดหรือภาพการสู้รบที่รุนแรง อานนท์นำเสนอภาพสงครามผ่านบริบทเบื้องลึกทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์สงคราม โดยพาผู้ชมกลับที่จุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เกิดการตระหนักรู้เป็นวงกว้างเกี่ยวกับเรื่องความบกพร่องของสังคมและผู้คนผ่านผลงาน American History X เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้เรื่องการเหยียดเชื้อชาติกลับมาเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างอีกครั้ง เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังตั้งคำถามกับผู้คนอีกว่าประเทศที่พร่ำพูดเรื่องความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาเข้าใจและยอมรับมันมากน้อยแค่ไหน ขยับออกมานอกประเทศกับเหตุการณ์สงครามที่เกิดขึ้นที่เรามักเห็นตัวละครสำคัญอย่างประเทศมหาอำนาจที่ถือสิทธิ์ในการเข้าไปรุกล้ำอาณาเขตประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้คำกล่าวอ้างว่าเพื่อพิทักษ์สันติภาพ สร้างความสงบสุข เรียกร้องความยุติธรรมให้แก่คนในประเทศนั้น ซึ่งสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นจากการถือสิทธิ์โดยชอบธรรม? ของคนกลุ่มเล็กๆ ของโลกเท่านั้น Train Station I และ Train Station II ไม่ได้นำเสนอภาพชั่วโมงเร่งด่วนที่ผู้คนออกไปใช้ชีวิตประจำวันแต่เป็นภาพความเร่งด่วนของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากประเทศของตัวเอง

การจับคู่นำเสนอบนผนังเดียวกันของงาน Inspired by the boy in the striped pajamas และงาน Natural born killers สร้างการรับรู้ในมุมมองของเหยื่อที่ถูกหลอกด้วยวาทกรรมความชอบธรรมในการมีชีวิตอยู่ Inspired by the boy in the striped pajamas ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ตามชื่อผลงานภาพฉากในขณะที่กำลังต้อนกลุ่มเชลยชาวยิวเข้าห้องเพื่อสังหารโดยการรมควัน ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความเชื่อเรื่องชนชาติของตนมีความพิเศษกว่าชนชาติอื่นต้องล้มตายไปเป็นจำนวนมากในเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นเหยื่อโดยตรงจากสงครามที่เกิดขึ้น กับอีกภาพหนึ่ง Natural born killers เหยื่อที่ตกเป็นเหยื่อของระบบโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว ภาพของกลุ่มคนที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบทหารกำลังเงยหน้าขึ้นฟังหรือชมอะไรบางอย่างจากใครบางคน การปลูกฝังความยิ่งใหญ่และสูงส่งของชนชาติตัวเองและมอบสิทธิ์โดยชอบธรรมในการกำจัดชนชาติที่แตกต่าง ความเป็นเหยื่อของบุคคลทั้งสองภาพนำเสนอผ่านสีหน้าและแววตาที่ว่างเปล่า ปราศจากความหวังและความคิดที่จะใช้ดำเนินชีวิตต่อในแนวทางที่ตนเองต้องการ


High Mobility Artillery Rocket System (HIMARS) นอกจากจะเป็นคำใบ้สำคัญถึงเบื้องหลังของสงครามครั้งนี้ยังเป็นชิ้นงานที่ทำให้เราเห็นถึงความหมายของงานที่สื่อสารผ่านเทคนิคการสร้างสรรค์ที่แตกต่างจากงานชิ้นอื่น ความเคลื่อนไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาพถูกนำเสนอผ่านเทคนิคการวาดที่อ่อนโยนที่สุดของงานชุดนี้ เพื่อให้ภาพในงานกระทบผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกซ้อนทับ บดบังจากเทคนิคที่ซับซ้อน และอีกนัยหนึ่งคือความเรียบง่าย ตรงไปตรงมาคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นความจริงมากที่สุด

World Police งานที่กำลังเฉลยคำตอบของคำถาม ภาพทหารกลุ่มหนึ่ง ธงชาติสัญลักษณ์ และฐานที่มั่นที่มาในรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างสถานทูต แทนที่จะเป็นฐานทัพดังเช่นสมัยก่อน การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศคือการรุกล้ำอาณาเขตโดยผ่านคำว่าความร่วมมือร่วมกัน พันธมิตร และความสัมพันธ์อันดี งานชิ้นที่บอกชัดเจนถึงท่าที่และทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของประเทศไทย การยอมรับและร่วมมือในระดับประเทศที่ไม่ได้หมายถึงการยอมรับโดยคนทั้งประเทศ จากงานชิ้นนี้จะเห็นการเน้นย้ำรายละเอียดไปที่เหล่าทหาร และปล่อยที่ว่างด้วยลายเส้นอันเบาบางด้วยกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการเหลียวแล ความหมายที่สื่อสารผ่านเทคนิคโดยไม่ได้ใช้สัญญะอะไรเข้าไปตอบโต้ได้เป็นอย่างดี

สิ่งหนึ่งนอกจากเนื้อหาที่อานนท์ต้องการเสนอถึงความบกพร่องของคนในสังคมผ่านภาพสงคราม ก็คือการสื่อสารความหมายผ่านเทคนิควิธีการ จากที่แต่เดิมแนวทางการวาดภาพของเขามุ่งเน้นไปที่ความสมบูรณ์ของภาพเป็นหลัก เมื่อเติบโตขึ้นกับประสบการณ์ที่มากขึ้น ความไม่สมบูรณ์ที่ปรากฏกลับทำให้พบว่าเรื่องราวมันสมบูรณ์มากกว่าที่เคยเป็น เพราะความไม่สมบูรณ์คือส่วนประกอบที่กระจัดกระจายของภาพที่สมบูรณ์และเมื่อเรื่องราวกลับมาเรียงร้อยกันอีกครั้งดังเช่นผลงานแต่ละชิ้นในงาน ความสมบูรณ์ของสิ่งที่เขาต้องการนำเสนอจึงปรากฏขึ้น
สุดท้ายนี้ MANIFEST DESTINY ก็คือความเชื่ออันบิดเบี้ยว ที่ก่อให้เกิดสังคมที่บิดเบี้ยว ความบิดเบี้ยวที่หมุนวน เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจนกลายเป็นความถูกต้องที่เราให้ลืมเส้นเบี้ยวเส้นแรก จนลืมไปแล้วว่าตอนนี้ความเบี้ยวที่ดูเหมือนจะห่างไกลจากตัวเรานั้นอยู่ในตัวเราโดยสมบูรณ์ ดังเช่นสงครามที่อยู่ห่างไกลจากเราในแง่ของภูมิศาสตร์ แต่ในแง่มุมที่เหลือกลับอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
