นิทรรศการ Inside Manga Bubbles โดย เอริ อิมามูระ
จัดแสดงที่ WarinLabcontemporary
ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2566
นิทรรศการ Inside Manga Bubbles นำเสนอมุมมองของศิลปินชาวญี่ปุ่น เอริ อิมามูระ ที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในบริบทร่วมสมัย ด้วยการสร้างโลกเสมือนภายใต้ความลักลั่นระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกมายาสองมิติ จากการที่มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมายก่อให้เกิดความทุกข์ขึ้นภายในจิตใจ ความหดหู่และความเศร้าหมองที่ก่อตัวขึ้นมานี้ ส่งผลให้เกิดกระบวนการตอบสนองต่อความรู้สึกด้านลบและค้นหาวิธีการเยียวยาจิตใจไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะเมื่อการมาถึงของเทคโนโลยีและสื่อโซเชียลมีเดียที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างโลกเสมือนสำหรับมนุษย์ทุกคนได้ใช้เป็นพื้นที่หลบภัย

ประวัติของศิลปิน
เอริ อิมามูระ (Eri Imamura / 今村 英理) เกิดปี 2520 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาระดับศิลปศาสตรบัณฑิตทางด้านศิลปะสิ่งทอจากมหาวิทยาลัย Tokyo University of the Art. อิมามูระได้เป็นศิลปินพำนักรัฐนิวเเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2550 ทำได้เธอได้รับการฝึกฝนด้านการร้อยลูกปัดด้วยเทคนิคเฉพาะของชนพื้นเมืองอเมริกัน จาก Teri Greeves ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียน เธอพัฒนาแนวทางการทำงานด้วยการใช้สื่อวัสดุสิ่งทอผสมผสานเข้ากับแนวคิดในการเชื่อมโยงศาสตร์ทางวัฒนธรรมหลายหลากแขนงตั้งแต่ การ์ตูนมังงะ ศิลปะการสักเรือนร่าง ไปจนถึงคติความเชื่อทางสังคมในหลากหลายบริบท
อิมามูระแปลงสภาพพื้นที่ของห้องนิทรรศการด้วยการนำกระจกทรงกลมหลายร้อยชิ้นติดตั้งไว้ทั่วผนัง เปรียบเปรยถึงลักษณะการใช้ชีวิตในโลกที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความจริงเสมือน (virtual reality 2มิติ) และโลกแห่งความเป็นจริง (physical reality 3มิติ) หรือก็คือ “มิติที่ 2.5” สื่อถึงโลกที่เกิดขึ้นจากความเปราะบางของสภาพจิตใจและความต้องการที่จะตัดขาดการรับรู้จากโลกภายนอกดั่งฟองสบู่ อีกส่วนหนึ่งคือ ประติมากรรมนูนต่ำจากเทคนิคการปักลูกปัดของชนพื้นเมืองอเมริกันลงบนผ้ากิโมโนโบราณ โดยเนื้อหาของผลงานแต่ละชิ้นได้รับแรงบันดาลใจจากปัญหาต่างๆ ที่มนุษย์ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน


ลักษณะเด่นที่ปรากฏในผลงานของอิมามูระ คือ การใช้รูปแบบของสื่อวัฒนธรรมอย่าง ลายสักสไตล์ญี่ปุ่น “อิเรซูมิ” ในรูปของลวดลายบนแผ่นหลังของชิ้นงาน และการ์ตูนญี่ปุ่น “มังงะ” ทั้งในด้านของตัวละครและการใช้บอลลูนคำพูดสำหรับแสดงข้อความ การสื่อสารจากตัวละครในชิ้นงาน ควบคู่กับการใช้ซ้ำของสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ชาวญี่ปุ่นมีไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์ วัตถุสิ่งของ ฯลฯ เช่น สัญลักษณ์ของระเบิดนิวเคลียร์ และ ธงจักรวรรดิญี่ปุ่นจากสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นการสื่อถึงภัยพิบัติและความหายนะที่ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญ ทั้งเหตุการณ์อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิในปี 2011 และการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิในปี 1945



ความหวาดกลัวเชื้อโรคที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตท่ามกลางความวิตกและหวาดกลัวที่แม้กระทั่งการสูดอากาศก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงาน Breathe หรือ หายใจ (2022) มีลักษณะเป็นลำตัวของผู้หญิงที่ถูกแขวนอยู่บนกระดานลายดอกไม้สีแดง ช่อดอกไม้ลายลูกปัดบนลำตัวถูกจัดเรียงรูปร่างให้ดูคล้ายกับปอดของมนุษย์ที่ถูกปกคลุมไปด้วยเชื้อโคโรน่าไวรัส ที่ไหล่ขวาเป็นภาพของมือที่กำลังสวดภาวนาในขณะเดียวกันก็คล้ายกับกำลังล้างมือด้วยฟองสบู่
นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์จากการแพทย์และเภสัชกรรมปรากฏทั่วทั้งชิ้นงาน เช่น บริเวณหัวไหล่ไปจนถึงแขนซ้าย ขวดวัคซีน เข็มฉีดยา หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์จากเทพปกรณัมกรีกโบราณ “ปฏักแห่งแอสคลีเพียส” (Rod of Asclepius)ผลงานชิ้นนี้จึงสื่อถึงความสำคัญของการแพทย์ที่ช่วยมอบความหวังและการเยียวยารักษาให้แก่มนุษย์ในการมีชีวิตรอด ผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ไปให้ได้


อีกหนึ่งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการใช้ชีวิตในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งทำให้ผู้คนจำเป็นที่จะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันและกัน Numb หรือ มึนงง (2022) คือผลงานที่อิมามูระตีความถึงสถานการณ์ดังกล่าวเสมือนกับการสัมผัสได้ถึงช่องว่างและระยะห่างจากการที่เราไม่สามารถใช้ชีวิตด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดได้อย่างเต็มที่
ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นลำตัวผู้หญิงครึ่งท่อนสวมเสื้อคลุมยาว เจ้าสาวจากสองยุคกำลังเอื้อมมือเพื่อสัมผัสกันและกัน ทางด้านซ้ายเป็นภาพเจ้าสาวสวมชุดกิโมโนลายนกกระเรียนสีดำ สัญลักษณ์ของนกศักดิ์สิทธิ์ในประเพณีการแต่งงานของชนชั้นซามูไร มาพร้อมกับข้อความ “Feel what worth dying for. (รู้สึกถึงสิ่งที่ควรค่าแก่การตาย)” โดยมีหัวใจของมนุษย์อยู่ร่วมกันในฟองอากาศ สะท้อนความเชื่อของผู้หญิงจากชนชั้นซามูไรในอดีต ถึงการเตรียมพร้อมที่จะตายตามสามีของเธอได้ทุกเมื่อ.. ทางด้านขวา เจ้าสาวมังงะที่ปรากฏในผลงาน JP Girl B ตัวแทนของผู้หญิงร่วมสมัย และข้อความ “Know what worth living for. (รู้ว่าควรมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร)” โดยมีสมองอยู่ในฟองอากาศ แสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ในคุณค่าของตนเอง อิมามูระต้องการที่จะย้ำเตือนให้เห็นถึงระยะห่างและช่องว่างทางมโนทัศน์ของยุคสมัย ที่ทำให้มนุษย์ถูกจำกัดความสามารถในการรับรู้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏบนโลกแห่งความจริงและความสุขที่อยู่ในโลกเสมือน


ถัดมาที่ผลงาน JP Girl B “ฉันจะมีความสุข” (2023) มีรูปร่างลักษณะคล้ายหุ่นลองเสื้อชุดราตรีของผู้หญิง ลวดลายบนงานศิลปะชิ้นนี้ประกอบด้วย เจ้าสาวในชุดแต่งงานรูปแบบประเพณีที่ตำแหน่งหัวไหล่ด้านซ้าย และ เจ้าสาวในชุดแต่งงานสีแดงพร้อมกับสวมแหวนหมั้นไว้บนนิ้ว กำลังยื่นมือให้แก่ปีศาจสีแดงที่ทางด้านล่างของผลงาน และข้อความจากเจ้าสาวทั้งสอง “ฉันจะมีความสุข” แสดงถึงความใฝ่ฝันที่จะมีความสุขกับชีวิตหลังการแต่งงาน
อิมามูระนำเสนอการวิจารณ์ค่านิยมและบทบาทของผู้หญิงที่สังคมญี่ปุ่นคาดหวังผ่านประสบการณ์ส่วนตัว กล่าวถึงเหตุการณ์ในวัยเด็กที่เพื่อนๆส่วนใหญ่ของเธอต่างมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าสาวแสนสวยเมื่อตนเองเติบโตขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงคำสอนเกี่ยวกับการแต่งงานและการสร้างครอบครัวที่ถูกปลูกฝังในหมู่แม่บ้านชาวญี่ปุ่น ส่งผลไปถึงวิธีคิดของชาวญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการทำตามสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาไม่ต่างจากเด็กประถม ตั้งแต่การทำหน้าที่เป็นพลเมือง หรือ แม้กระทั่งการเป็นแม่ที่ดี


ประติมากรรมรูปทรงกระโปรง Always Late A เกิดขึ้นจากการตระหนักถึงอิทธิพลของเวลาต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องแข่งขันกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับแบกรับภาระหน้าที่มากมายในแต่ละวัน นับตั้งแต่ที่พวกเขาตื่น ทานอาหาร แม้กระทั่งการพักผ่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง
อิมามูระใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเวลา ไม่ว่าจะเป็น กระต่ายขาวที่กำลังฟังเสียงนาฬิกาพก จากนวนิยาย อลิซในแดนมหัศจรรย์, ระเบิดเวลาและข้อความ “สายเสมอ” ทางด้านซ้าย นาฬิกาทรายสื่อถึงการนับถอยหลัง เธอยังสอดแทรกสัญลักษณ์ที่สื่อนัยถึงบทบาททางชีวภาพและหน้าที่ของสตรี ดอกบัวและดอกคาร์เนชั่นที่ถูกวางองค์ประกอบให้มีรูปร่างเหมือนมดลูกและรังไข่ สื่อถึงนาฬิกาชีวภาพของผู้หญิงที่ต้องนับวันรอการมาถึงของประจำเดือน ภาระหน้าที่ทางสังคมในการให้กำเนิดบุตร และความรักของมารดา


นอกจากนี้ อิมามูระยังสะท้อนความปรารถนาและค่านิยมเรื่องความงามของผู้หญิงในปัจจุบัน อย่างการต้องควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ รักษารูปร่างให้ดูดี สวยงามและสมบูรณ์แบบอยู่เสมอ ในผลงาน Always Hungry หรือ หิวตลอดเวลา (2023) มีลักษณะเป็นเรือนร่างท่อนบนของผู้หญิงร่างท้วมสวมชุดชั้นในสีแดง รอยสักที่แผ่นหลังรายล้อมไปด้วยภาพปักขนมหวานหลากหลายชนิด ตัวละครสาวมังงะผมสีชมพู บนหัวของเธอมีสัญลักษณ์งูกินหางสื่อถึงวัฏจักรอันไม่มีที่สิ้นสุด มาพร้อมกับข้อความ “ใช่ ฉันต้องลดน้ำหนัก!”
ที่ส่วนล่างของผลงาน มีแว่นกันแดดทรงกลมสะท้อนภาพของฝ่ามือที่กำลังยื่นคัพเค้กทั้งสองด้าน ฝั่งซ้ายปรากฏยาเม็ดแคปซูลสีน้ำเงินดอกบัวที่กำลังผลิบาน ส่วนทางขวานั้นเป็นยาเม็ดแคปซูลสีแดงและดอกบัวตูม ชวนให้นึกถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Matrix ที่ตัวละคร Morpheus กำลังยื่นมือที่มีเม็ดยาทั้งสองให้กับตัวละครเอก Neo โดยยาเม็ดทั้งสอง คือ ทางเลือก ระหว่าง “น้ำเงิน” เพื่อใช้ชีวิตและเชื่อในสิ่งที่คุณอยากจะเชื่อ หรือ “สีแดง” ดำดิ่งลงไปในความเพ้อฝัน



นิทรรศการ Inside Manga Bubbles ของอิมามูระ ได้แสดงสภาพจิตใจของมนุษย์ในโลกฟองสบู่ เปรียบได้กับพื้นที่แห่งความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายในโลกสมัยใหม่ ถ่ายทอดด้วยการหยิบเรื่องราวจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่อิมามูระต้องเผชิญในชีวิตประจำวันมาใช้เป็นเนื้อหาของชิ้นงาน ในขณะเดียวกันกระจกที่ถูกติดตั้งทั่วห้องนิทรรศการก็ได้ทำหน้าที่สะท้อนสภาพจิตใจของมนุษย์อันแสนเปราะบางและเป็นฝ่ายถูกกระทำจากสังคมอันโหดร้าย
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้วว่า เราจะใช้ชีวิตอยู่เพื่อเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริง หรือ ปิดกั้นการรับรู้ทุกสิ่งอย่างและมีความสุขอยู่กับโลกในอุดมคติ