NATURE-Visions / TELE-Visions

จัดแสดงที่ Blacklist Gallery และ Matdot Gallery, MATDOT Art Center
ระยะเวลาจัดแสดง 10 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565

คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์คือการตระหนักรู้ภายในตนเอง หรือก็คือเป็นความสามารถในการตระหนักถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว ด้วยการรับรู้และเข้าใจสภาวการณ์ต่างๆ ทั้งทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์และความคิด นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ ประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านผลงานศิลปะจากสองศิลปินที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของเทคนิคและเนื้อหา ในชื่อนิทรรศการ IMAGINE IMAGE

IMAGINE IMAGE ประกอบไปด้วยสองนิทรรศการเดี่ยว ได้แก่ ‘NATURE-Visions’โดยลูกปลิว จันทร์พุดซา ศิลปินสาวที่สร้างสรรค์ประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ที่สะท้อนสามัญสำนึกของมนุษย์ และ‘TELE-Visions’โดยจานลูกา เวอร์นิซซี ศิลปินและนักธุรกิจชาวอิตาลีที่ใช้ภาพวาดนามธรรมเป็นสื่อในการนำเสนอทัศนะที่มีต่อปรากฏการณ์รอบตัว คิวเรทโดยมาร์โก แมงโก ภัณฑารักษ์และนักบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมจากเมืองโมเดนา ประเทศอิตาลี

NATURE-Visions กับการตระหนักถึงธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงโดยลูกปลิว จันทร์พุดซา

ลูกปลิว จันทร์พุดซา เกิดปี พ.ศ. 2523 เป็นชาวปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรลูกปลิวสนใจในการทำงานศิลปะที่แนวคิดหลักในการนำเสนอผลงานผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ประติมากรรม มาใช้ในการร้อยเรียงเรื่องราวความผูกพันที่มีต่อวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม การดำรงอยู่ด้วยความรักระหว่างแม่และตัวของศิลปิน แปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึก คลี่คลายไปสู่การใช้สัญลักษณ์ของสตรีเพศในรูปของกระดูกเชิงกราน ซึ่งมักจะปรากฏและสอดแทรกในผลงานอยู่เสมอ

NATURE-Visions คือนิทรรศการที่ว่าด้วยการตีความภาวะปัจจุบันของช่วงชีวิตผ่านมุมมองของลูกปลิว จากการได้เฝ้าสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับตนเองและสิ่งรอบข้าง นำเสนอด้วยผลงานศิลปะที่หลากหลายทั้งรูปแบบและวัสดุ แต่ยังคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ที่แฝงนัยถึงบทบาทของความเป็นมนุษย์

So Far So Good, 2022, Fiberglass and plastic, 113 x 246 x 142 cm

อาทิเช่น So Far So Good ประติมากรรมโซฟาจากรูปทรงของกระดูกเชิงกรานขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งด้วยมาลัยอุบะจากดอกรักรูปทรงกระดูกเชิงกราน ให้ความรู้สึกที่บางเบาและหนักแน่นในเวลาเดียวกัน ผลงานชิ้นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับสรีระของมนุษย์ ไว้สำหรับให้ผู้ชมสามารถเข้ามานั่งพักผ่อน เอนกายทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมาในอดีต ลูกปลิวต้องการที่จะเปรียบเปรยภาวะความเป็นปัจจุบัน ดั่งความสุขสบายที่ได้รับเพียงชั่วคราว เหมือนกับธรรมชาติของชีวิตที่ไม่มีสิ่งใดยั่งยืน

มุมมองของชีวิตที่เปลี่ยนไปของลูกปลิวถูกบอกเล่าผ่าน Present Continues ศิลปะจากวัตถุเก็บตก (Readymade) ที่ลูกปลิวนำสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเธอมานำเสนอ จากไม้มงคลที่หาซื้อได้ตามร้านค้า สายสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ที่ถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน ผ่านการเฝ้าคอยดูแลต้นไม้ที่อ่อนแอ ไปจนกระทั่งเติบโตขึ้นมากลายเป็นต้นไม้ที่สวยงาม ภายในกระเป๋ากระสอบที่นี้เองที่ชิ้นส่วนของกระดูกเชิงกรานถูกซุกซ่อนไว้อยู่ใต้โคนต้นเพื่อค้ำยันให้ต้นไม้ต้นนี้ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง

Present Continues, 2022, Plant and bag, 97 x 126 x 113 cm

Our Area ตั่งไม้มะค่าที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีรูปทรงและขนาดเท่ากับโรงศพมาตรฐานของคนไทย ร่องรอยผุพังบนผิวไม้ที่สามารถสื่อได้ถึงสังขารที่ไม่เที่ยง ประกอบเข้ากับฐานรองที่ทำจากรูปหล่อทองเหลืองโดยใช้รูปทรงของกระดูกเชิงกราน จากสิ่งที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักช่วงบนของร่างกาย แต่ตอนนี้กระดูกเชิงกรานได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการรองรับและโอบอุ้มทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต ผลงานชิ้นดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการตีความช่วงชีวิตทั้งหมดของมนุษย์ จากสถานที่ที่ทารกค่อยๆเติบโตภายในครรภ์มารดาสู่พื้นที่สุดท้ายสำหรับร่างกายของทุกคน

Our Area, 2022, Wood and brass, 45 x 196 x 60 cm

เพราะธรรมชาติของชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง วันเวลาคือสิ่งที่เดินไปข้างหน้าและไม่อาจหวนคืนมาได้ การนำพาผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจความทรงจำทุกช่วงชีวิตที่ผ่านมา เพื่อให้มองเห็นถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเองและสิ่งรอบข้าง สำหรับผลงานในนิทรรศการ NATURE-Visions จึงเปรียบเสมือนความพยายามที่จะสร้างบทสนทนาร่วมกันระหว่างลูกปลิวและผู้ชม ก่อนที่จะทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า “เราจะสามารถสร้างนิยามของการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไร?”

ลูกปลิว จันทร์พุดซา ศิลปิน

TELE-Visions กับการตระหนักถึงความจริงที่มนุษย์กำลังเผชิญโดยจานลูกา เวอร์นิซซี

จานลูกา เวอร์นิซซี (Gianluca Vernizzi) เกิดปี พ.ศ. 2507 ที่เมืองโมเดนา อิตาลี จบการศึกษาปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นศิลปินนักธุรกิจที่ทำงานด้านนวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์สีสำหรับงานศิลปะ เวอร์นิซซีมีความสนใจทางด้านศิลปะผ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเองและได้ซึมซับความหลากหลายทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมจากการเดินทางไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ทำให้เขาได้ตระหนักถึงปัญหาบางประการที่ผู้คนในสังคมต่างต้องเผชิญเหมือนกันทั่วทุกมุมโลก

ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และสามารถสร้างประโยชน์ในการเชื่อมต่อผู้คนทั่วทุกมุมโลกเข้าหากันได้อย่างง่ายดาย ในทางกลับกัน เทคโนโลยีการสื่อสารนี้เองก็สามารถสร้างความคลาดเคลื่อนและถูกบิดเบือนให้แก่ผู้รับสารตามแต่เจตนาของผู้ส่งสารได้เช่นกัน เกิดเป็นผลกระทบอื่นๆตามมานับไม่ถ้วน จากสารที่ผิดแปลกเกิดเป็นความไม่รอย นำไปสู่ความขัดแย้งของมนุษย์และในตอนท้ายที่สุด ความขัดแย้งนั้นอาจส่งผลที่เลวร้ายยิ่งกว่าความสูญเสียในระดับบุคคล

เรื่องราวดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านผลงานนามธรรมที่ไร้เรื่องราวของเวอร์นิซซีจำนวนสิบหกชิ้น ในชื่อชุดผลงาน TELE-Visions โดยใช้คุณลักษณะของ “Glitches” ซึ่งเป็นความผิดพลาดของการรับส่งสัญญาณภาพในสื่อดิจิทอล ให้กลายเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ด้วยรูปทรงเรขาคณิตภาพที่ขาดหาย บิดเบี้ยว ทับซ้อนผสมผสานเข้ากับเทคนิคทางจิตรกรรมที่หลากหลาย ผลลัพธ์ของการทดลองเกิดเป็นผลงานนามธรรมจากความกล้าและความคิดที่จะแตกต่างไปจากผู้อื่น

TELE-Visions Channel 3, 2022, Mixed technique on BODHI, 60 x 60 cm
TELE-Visions Channel 8, 2022, Mixed technique on BODHI, 60 x 60 cm

ด้วยกลวิธีเฉพาะตัวของเวอร์นิซซีทำให้ผลงานทั้งหมดของเขาสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้า โดยการใช้แสงสีจากหลอดไฟ blacklight เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรืองแสงอย่างฉับพลัน ก่อนที่ร่องรอยเหล่านั้นจะค่อยๆ เลือนหายไป เปรียบเสมือนภาพแทนของความจริง ภายในโลกที่ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน พร้อมกับสารข้อมูลตามหน้าสื่อต่างๆ ถูกนำเสนอขึ้นมาด้วยการปรุงแต่ง ก่อนที่ความโกลาหลวุ่นวายจากสารที่หลากหลายจะกลายเป็นสัญญาณรบกวนการรับรู้ความจริงของผู้คน

TELE-Visions ผลงานนามธรรมจากการตระหนักถึงความจริงที่มนุษย์กำลังเผชิญ บนพื้นที่ผืนผ้าใบรูปทรงสี่เหลี่ยมที่เปรียบเสมือนหน้าจอโทรทัศน์ไร้เสียงและภาพเคลื่อนไหว สารที่ปรากฏอยู่จึงขึ้นอยู่กับผู้ชมที่จะต้องใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเพื่อตีความเรื่องราวใดๆ ตามความรู้สึกนึกคิดและวิจารณญาณของพวกเขา ซึ่งผลงานของเวอร์นิซซีนั้นได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้าไปสร้างประสบการณ์และดื่มด่ำไปกับสุนทรียภาพเฉพาะบุคคล ซึ่งศิลปินเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาความคิดและสติของพวกเราได้

จานลูกา เวอร์นิซซี ศิลปิน