ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในสังคมไทย กระตุ้นเตือนให้ฉุกคิดถึงการขาดหายไปของคุณธรรม ศีลธรรมและจริยธรรมจากการกระทำของมนุษย์ ร้อยเรียงไปถึงการตั้งคำถามต่อหลักการและการนิยามความหมายให้แก่สิ่งที่เรียกว่า ความเป็นมนุษย์ (Humanity) ภายในนิทรรศการศิลปะ HUMAN(E) จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA Bangkok
HUMAN(E) มีที่มาจากคำว่า Humanity (ความเป็นมนุษย์) นำเสนอประเด็นเฉพาะบุคคล ครอบคลุมตั้งแต่สภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจของบุคคล เจตจำนงเสรี อิสระในการเลือกแนวทางดำเนินชีวิต สภาพสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเลื่อมล้ำโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม กระตุ้นให้ผู้คนหันมามองและสำรวจพื้นฐานทางคุณธรรมจริยธรรมจากผู้มีอำนาจและประชาชนพลเมือง ผ่านมุมมองของศิลปิน 4 ท่าน ได้แก่ กัญญา เจริญศุภกุล, ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล, อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ และเต็มใจ ชลศิริ

เต็มใจ ชลศิริ (ศิลปิน), กัญญา เจริญศุภกุล (ศิลปิน) และปราณีนุช นิยมศิลป์ (คิวเรเตอร์)
“ทางใด: ทางเลือก” อิสรภาพและบทกวีแห่งความว่าง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล อาจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ศิลปินผู้ได้รับการยอมรับในระดับชาติ เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์ในสังคม ด้วยเทคนิคที่หลากหลายทั้งจิตรกรรม ภาพพิมพ์สื่อผสมรวมไปถึงศิลปะการจัดวาง
ด้วยบทบาททางวิชาชีพและคุณวุฒิที่มากขึ้นตามช่วงวัยจึงเกิดเป็นการตั้งคำถามถึงการเลือกเส้นทางของชีวิตที่จะต้องก้าวเดินในภายภาคหน้า จากนกพิราบที่พบเห็นได้ทั่วไปบริเวณท้องสนาม สู่สัญญะแห่งความเป็นมนุษย์ อุดมการณ์ และคตินิยม “นกพิราบ (2021)” ถูกนำเสนอผ่านผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่จัดวางกระจัดกระจายทั่วทั้งห้องนิทรรศการ อุปมาถึงการเปลี่ยนผ่านของชีวิต อิสรภาพ เจตจำนงเสรีตามแต่ละปัจเจกบุคคลที่ตั้งอยู่ความหลากหลาย ซึ่งต้องใช้หัวใจในการเรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อเติมเต็มคุณค่าและนิยามความหมายให้กับความเป็นมนุษย์

ศิลปินนำความคิดตั้งต้นพัฒนาผลงานไปสู่ “บทกวีเมฆ (2021)” ชุดผลงานที่จัดวางไว้ตรงข้ามกับผลงานชุดก่อนหน้าเปรียบได้กับอีกก้าวหนึ่งของกัญญา กล่าวถึงการตกตะกอนทางความคิดและได้เข้าใจในธรรมชาติของชีวิต คลี่คลายสัญญะของนกพิราบจากผลงานที่ผ่านมากลายเป็นผลงานนามธรรมที่ไร้รูปสอดแทรกไปกับการหยิบยกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “โลกุตระ-โลกิยะ” ภาวะของการหลุดพ้นจากกิเลสและทางโลก ทั้งนี้ศิลปินต้องการให้ผลงานของตนเป็นสื่อกลางให้ผู้ชมได้ตระหนักและเฝ้าสังเกตตน เพื่อพัฒนาจิตใจให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
“ทุกเส้นทางมีทางเบี่ยง ทางแยก ซึ่งหลายครั้งไม่อาจเลี่ยงหลบได้ แล้วตามมาด้วยข้ออ้างหมื่นประการที่สรรหามาอ้างอิง แต่ที่สุดแล้ว การไตร่ตรองประสบการณ์บนพื้นฐานความจริง ณ ขณะหนึ่ง ไม่มีข้ออ้างหรือข้อต่อรองใดใดอีกต่อไป เราน่าจะตอบตนเองได้ว่า ทางใดคือทางเลือกที่มีค่าควรต่อชีวิตเรา”
กัญญา เจริญศุภกุล

ศิลปะจากเรือนจำ จากคนในส่งถึงคนนอก
ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล สำเร็จการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาเป็นศิลปินที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวในต่างแดนเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ๆให้แก่ตนเอง สำรวจชีวิตของผู้คนรอบข้างผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะหยิบเรื่องราวเหล่านั้นมานำเสนอด้วยกระบวนการทางศิลปะเพื่อบอกเล่าชีวิตของพวกเขาในอีกแง่มุมหนึ่งให้ผู้ชมได้รับรู้ ขณะที่ไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเขาแบกอุปกรณ์ตระเวนวาดภาพของเหล่าคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ ทั่วซานฟรานซิสโกและนิวยอร์ก ตามจุดสำคัญอย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน ไทม์สแควร์ บรุกลิน การกระทำดังกล่าวทำให้ไพโรจน์ถูกตำรวจจับกุม เข้าไปอยู่ในเรือนจำอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ทำให้ไพโรจน์เริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับชีวิตของเหล่าผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ ก่อนที่หยิบยกมาเป็นประเด็นสร้างสรรค์ในนิทรรศการครั้งนี้
ผลงานของไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ต่อยอดมาจากโครงการความหวังในเรือนจำ เป็นการร่วมมือกันระหว่างศิลปินและทีมงานกับผู้ถูกคุมขังจากเรือนจำกลางราชบุรี โดยศิลปินและทีมได้เข้าไปแบ่งปันทักษะด้านศิลปะให้กับนักโทษ และร่วมกันวาดรูปบนผนังกำแพงภายในเรือนจำ ซึ่งไพโรจน์หวังไว้ว่าโครงการนี้จะสามารถมอบความหวังในการดำเนินชีวิตและความรู้ ทักษะทางด้านศิลปะให้แก่เหล่านักโทษ สามารถนำมาปรับใช้เพื่อเป็นอาชีพหลังจากที่พวกเขาพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังและภาพพอร์เทรต 160 ชิ้น


ภายในห้องนิทรรศการ ไพโรจน์ทำการจำลองกำแพงสีขาวขนาดใหญ่ประดับด้วยรั้วลวดหลามไว้ที่ด้านบนสุดของกำแพง โดยติดตั้งไว้ให้มีระยะห่างจากผนัง 4 เมตร เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความรู้สึกที่เหล่านักโทษผู้ถูกคุมขังต้องเผชิญในทุกๆวัน อีกด้านของกำแพงนั้นเป็นภาพจิตรกรรมพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ สร้างสรรค์โดยเหล่าอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งมีที่มาจากแรงศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการใช้ชีวิตของพวกเขา
ตรงข้ามกันนั้นเป็นภาพวาดใบหน้าจำนวนกว่า 160 ชิ้น จากฝีมือของเหล่านักโทษในเรือนจำราชบุรีที่วาดให้แก่กัน ภาพเหล่านี้เป็นดั่งเงาสะท้อนจากแววตาของเพื่อนร่วมห้องขัง เป็นภาพของใบหน้าที่ไม่ได้พบเจอจากกระจกเงามาเป็นเวลาเนิ่นนาน เป็นทั้งตัวแทนของชีวิตที่รอคอยการได้รับโอกาสและอิสรภาพในการกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
“เมื่อ ‘นักโทษ’ ผู้คนที่ไม่ได้ส่องกระจก ไม่ได้มองเห็นใบหน้าของตัวเองชัดๆ นับตั้งแต่เข้าไปสู้สถานกักกัน มองเห็นเพียงเงาในน้ำและคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ในเรือนจำด้วยกันเท่านั้น หากพวกเขาวาดรูปตัวเองออกมาหน้าตาจะเป็นอย่างไรกันนะ? เขาจะมองตัวเอง มองโลกใบที่เขาอาศัยอยู่นี้ สะท้อนผ่านงานศิลปะ ออกมาแบบไหน?”
ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล
การกลายพันธุ์ของอำนาจไปสู่สัตว์ประหลาด
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ศิลปินผู้เป็นที่รู้จักจากการใช้เทคนิคการถักโครเชต์ด้วยเส้นผมในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบาง ความเสื่อมสลาย และวัฏจักรของชีวิต ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลงานศิลปนิพนธ์ระดับปริญญาโท คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานในระยะแรกของอิ่มหทัยนำเสนอเรื่องราวความสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว ก่อนที่จะพัฒนาแนวคิด ขยับเรื่องราวไปสู่การทำงานที่มีเนื้อหาวิพากษ์สังคมและการเมือง ตั้งแต่ ค่านิยมที่มีต่ออาชีพขายบริการไปจนถึงปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยเทคนิคที่ไม่จำกัดเพียงแค่การถักโครเชต์จากเส้นผมอีกต่อไป
ทางด้านผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ อิ่มหทัยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายที่ตนได้ค้นพบจากการเดินตลาดนัดโดยบังเอิญ เป็นภาพถ่ายปฎิบัติการทหารในต่างประเทศ ด้านหลังของภาพถ่ายมีการระบุรายละเอียดของชื่อบุคคล สถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ รายละเอียดดังกล่าวเมื่อเทียบเคียงกับประเทศไทยจะตรงกับช่วงเวลาที่จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ขึ้นมามีอำนาจจากการทำรัฐประหารอย่างน่าอัศจรรย์ ศิลปินจึงผูกโยงเรื่องราวบนภาพถ่ายเข้ากับประเด็นของอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“Reverse” ผลงานที่ศิลปินนำเสนอภาพถ่ายจำนวน 12 ภาพ ติดตั้งทอดยาวไปกับผนังห้องนิทรรศการ แสดงภาพปฎิบัติการทางทหารอย่างตรงไปตรงมา กลับค่าน้ำหนักด้วยเทคนิคโฟโต้ปริ้นท์ขาวดำผสมเข้ากับการทับซ้อนการวาดเส้นด้วยดินสอกราไฟต์ เพื่อสลายเส้นแบ่งของกาลเวลาให้พร่าเลือน เป็นการทับซ้อนกันของอำนาจการทหารที่เกิดขึ้นกับการเมืองในอดีตและปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2505 ประเทศไทยได้มีการจัดซื้อรถถังรุ่น M41 เพื่อใช้ประจำการในกองทัพ และต่อมารถถังรุ่นดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 จากตัวอย่างข้อมูลนี้ทำให้อิ่มหทัยได้ต่อยอดประเด็นไปสู่ผลงานชุดถัดไปในชื่อ “M41.2.0.2.1 – New species of democracy”
M41.2.0.2.1 – New species of democracy ผลงานชิ้นที่ 2 สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนของโมเดลรถถัง รุ่น M41 สัญลักษณ์ของการทำรัฐประหารไทยที่ถูกแยกไว้จำนวน 146 ชิ้น และถูกถักทอเข้ากับเส้นผมที่ศิลปินได้รวบรวมมาจากการเปิดรับบริจาค เล่นล้อไปกับการตั้งชื่อด้วยจุดทศนิยมที่มีที่มาจากรหัสสายพันธุ์ของเชื้อโรค สู่ผลงานประติมากรรมจากชิ้นส่วนโมเดลเล็กๆ วิวัฒนาการกลายเป็นสัตว์ประหลาดรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว แต่คงไว้ซึ่งที่มาและแหล่งกำเนิดของพวกมัน
“เส้นผมถูกใช้อย่างตรงไปตรงมาในเชิงความหมาย เพราะนี่คือเส้นผมของคนไทย ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสังคมไทยในปัจจุบัน ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์ประหลาดเหล่านี้ ผลงานชุดนี้จึงเป็นเหมือนกับบันทึกการมีอยู่ของพวกมัน”
อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์


การรับรู้ในตัวตนและอยู่ร่วมกับปัจจุบัน
เต็มใจ ชลศิริ ศิลปินผู้สนใจศึกษาสภาวะความสมดุลระหว่างกายและจิต นำเสนอแนวคิดของการตระหนักรู้ปัจจุบันขณะ โดยสร้างภาพแทน เพื่อสะท้อนประสบการณ์ในการรับรู้สรรพสิ่ง ค้นหาจุดเชื่อมระหว่างรูปและนามเพื่อเข้าถึงความสงบ พิจารณาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ใช้หลักการเจริญกรรมฐานผสมผสานเข้ากับการสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลายประเภททั้งศิลปะจัดวาง จิตรกรรม และภาพพิมพ์
นิทรรศการครั้งนี้ศิลปินเลือกที่จะหยิบวัสดุเหลือใช้ (found objects) เช่น โต๊ะ ลูกโป่ง หรือลวดหนามนำเสนอในรูปแบบศิลปะจัดวาง ภายใต้แนวคิดของการสะท้อนและสำรวจสภาวะจิตใจและภายในตัวตนของมนุษย์ จากสภาวะความตึงเครียด ความกดดัน และเปราะบางทางอารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้ในขณะเดียวกัน อาศัยกระบวนการของตนในการแสวงหาจุดสมดุลผ่านการสร้างสรรค์ ประกอบไปด้วยผลงาน 4 ชิ้น ได้แก่

“The Swing ชิงช้า (2018)” ศิลปะจัดวางที่นำเสนอความสงบนิ่งในรูปของชิงช้าร่วมกับการจัดวางปราสาทไพ่ “The Core แก่น (2020)” โต๊ะไม้หน้ากว้างขนาด 130 ซม. ที่ถูกเจาะรูรูปวงกลมขนาดใหญ่ ที่ถูกสอดแทรกด้วยวัตถุทรงกลมสีขาวรูปร่างคล้ายลูกโป่ง “Mano (Knowing) มโน (2021)” ศิลปะสื่อผสมที่นำเสนอภาวะความสงบนิ่งผ่านความเป็นนามธรรมของวัตถุสังเคราะห์ และ “The Cloud เมฆ (2019)” ผลงานศิลปะจัดวางรูปร่างคล้ายก้อนเมฆขนาดใหญ่ ประกอบขึ้นจากลวดหนามที่ร้อยเรียงทับซ้อนกัน ช่องว่างระหว่างเส้นลวดหนามถูกสอดแทรกไปด้วยลูกโป่งทรงยาวสีขาว แขวนไว้เหนือศีรษะของผู้ชมกลางห้องนิทรรศการ
“หัวใจหลักของผลงานชุดนี้ ไม่ใช่รูปลักษณ์ของผลงานที่ปรากฏ แต่เป็นกระบวนการได้มาซึ่งผลงาน การได้ใช้สมาธิ ความสงบนิ่ง และการได้จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ ทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เหมือนกับการได้ทำความเข้าใจในตนเอง”
เต็มใจ ชลศิริ

การมองหาคุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์ ในผลงานของศิลปินแต่ละชิ้นในนิทรรศการ Human(e) เปรียบเสมือนการบอกเล่าถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรม เมื่อผู้คนสามารถทำความเข้าใจความหลากหลายเหล่านี้ได้ จะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในท้ายที่สุด
ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับชมนิทรรศการ “Human(e)”
ได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มกราคม 2565
ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน 1 และ 2 ชั้น G MOCA Bangkok
บทความและรูปภาพโดย ณัฐกมล ใจสาร

