ทำไมเผด็จการจึงกลัวงานศิลปะ? เพราะงานศิลปะเปรียบเสมือนกับกระบอกเสียงของคนตัวเล็กๆ ที่สามารถส่งต่อข้อความให้แผ่กว้างไกลออกไปพร้อมกับการทลายข้อกำจัดของภาษา เพื่อให้ผู้คนภายนอกได้รับรู้ ถึงการกดขี่ การฉ้อฉล และการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายคนได้รู้จักกับ อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ในฐานะของขบถผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐจีน ศิลปินร่วมสมัยและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกในปัจจุบัน

แต่น้อยคนนักที่จะเคยสัมผัสกับเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของชายผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการหลอหลอมให้อ้าย เว่ยเว่ย เป็นได้ดังทุกวันนี้ เขาคือ อ้าย ชิง (Ai Qing) พ่อผู้เป็นนักกวีที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น นักกวีเอกของแผ่นดินจีน ผู้ต้องเผชิญกับความโหดร้ายท่ามกลางยุคสมัยของการปฏิวัติวัฒนธรรม

อ้าย เว่ยเว่ย กับอ้าย ชิง ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ปี 1959

อ้าย ชิง เกิดในตระกูลเจ้าของที่ดินผู้มั่งคั่งในมณฑลเจ้อเจียง หลังจากจบชั้นมัธยมปลาย เขาเข้าเรียนต่อทางด้า จิตรกรรม ที่สถาบันศิลปะแห่งชาติในหางโจว และมีโอกาสได้เดินทางไปศึกษาศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศส แต่การใช้ชีวิตอยู่ที่ปารีสก็ทำให้เขาได้ซึมซับปรัชญา งานศิลปะ และบทกวีเพื่อสังคมของเหล่านักคิด นักเขียนตะวันตก โดยเฉพาะแนวคิดการทดลองของลัทธิเหนือจริงฝรั่งเศส “ความเป็นอัตโนมัติทางจิตใจ” โดยอองเดร เลอบง ในการปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึกชั่วขณะผ่านภาพวาดลงบนสมุดสเก็ตซ์

อ้าย ชิงต้องเผชิญกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติในต่างแดน และต้องกลับบ้านเกิดโดยปราศจากใบประกาศนียบัตรใดๆ เขาเลือกประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาจีนที่ฉางโจว ก่อนจะถูกทางโรงเรียนเพิกถอนการแต่งตั้งด้วยข้อหาโฆษณาชวนเชื่อในหมู่นักเรียน เขาจึงย้ายไปอยู่ที่ชานเมืองเซี่ยงไห้และใช้เงินทุนของตนเองการตีพิมพ์และเผยแพร่หนังสือกวีเล่มแรกของเขา จนชื่อของอ้าย ชิง ค่อยๆ เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น และได้เข้ารับตำแหน่งบรรณาธิการของ “พีเพิลส์ลิทเทอเรเจอร์” ของสหพันธ์แห่งวงการศิลปะและสิ่งพิมพ์จีน ในช่วงเวลานั้น อ้าย ชิง เคยเขียนบทความ “เข้าใจนักเขียน เคารพนักเขียน” เพื่อปกป้องสิทธิในการแสดงออกของเพื่อนสตรีนักเขียนของเขา ซึ่งบทความดังกล่าวจะกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ทำให้ฝ่ายชาตินิยมหัวรุนแรงนำมาใช้โจมตีเขาในอนาคต

ด้วยรูปแบบและเนื้อหาของบทกวีที่มุ่งเน้นการกล่าวถึงความจริงในสังคม ประกอบกับความโดดเด่นด้านการใช้ภาษาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดยละทิ้งวิธีการใช้สำนวนการเขียนที่ซ้ำซาก หรือสัมผัสคล้องจองตามแบบแผนกวีจีนโบราณ และท้าทายต่อขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมจีน เห็นได้จากบทกวีชิ้นหนึ่งของอ้าย ชิง ที่กล่าวถึงการแสดงเจตจำนงที่จะยืนหยัดเพื่อการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ โดยหันหลังให้กับหลักคำสอนของลัทธิขงจื้อ ซึ่งเป็นที่ยึดถือในธรรมเนียมครอบครัว มีที่มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เขาปฎิเสธต่อคำร้องขอของแม่ ที่ต้องการให้เขากลับบ้านมาทำพิธีฝังศพแก่พ่อของตน แม้การกระทำครั้งนี้จะขัดต่อหลักจารีตประเพณีและสร้างความขมขืนในแก่อ้าย ชิง มากเพียงใด แต่สิ่งที่เขาทำนั้นก็เพื่อรักษาไว้ซึ่ง เจตจำนงในการใช้ชีวิตในฐานะเสรีชนผู้หลุดพ้นจากขนบธรรมเนียมของเขา

“ข้าฯ ขัดความปรารถนาของแม่อย่างคนใจดำ
ขอบคุณกำลังใจที่ได้จากสงคราม
ข้าฯ มุ่งหน้าไปทิศตรงข้ามกับบ้านเกิด เพราะได้เรียนรู้นับแต่นั้นมา
โลกนี้ยังมีอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่า
บ้านไม่ใช่สิ่งที่ข้าฯ ต้องจงรักภักดี
หากแต่อยู่ที่ศรัทธาศักดิ์สิทธิ์
ที่เป็นของประชาชนนับหมื่น”

ช่วงทศวรรษ 1930 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นทำสงครามรุกรานจีน อ้าย ชิง เริ่มมีบทบาทในแวดวงปัญญาชนจากการเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิกของ “สมาคมนักเขียนและศิลปินรวมจีนเพื่อการต่อต้าน สาขาเหยียนอัน” โดยการสนับสนุนของโจว เอินไหล ที่นั่นได้ทำให้อ้าย ชิง ได้มีโอกาสพูดคุยกับเหมา เจ๋อตง เป็นการส่วนตัว และถูกเชื้อเชิญให้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคแรกเริ่ม ที่เน้นการรวบรวมปัญญาชนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพเพื่อต่อต้านอิทธิพลของพรรคก๊กมินตั๋งในการช่วงชิงอำนาจการปกครองภายในประเทศ

เจียง ไคเช็ก ผู้นำพรรคก๊กมิน (ซ้าย) และ เหมา เจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ (ขวา) ในช่วงที่ทั้งสองกำลังร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิ์ญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

จนกระทั่งเมื่อเหมา เจ๋อตง กลายเป็นผู้นำของจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 ชีวิตภายในพรรคคอมมิวนิสต์ของอ้าย ชิง ก็กลับไม่ได้สวยหรูอย่างที่เคยวาดฝันไว้ เนื่องจากอิทธิพลของลัทธิเหมาที่ก่อตัวขึ้น และแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการให้วรรณกรรมและศิลปะรับใช้อุดมการณ์ของพรรคเพียงเท่านั้น รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้ง การชิงดีชิงเด่น ใส่ร้ายป้ายสีกันในหมู่สมาชิกพรรค จนเป็นเหตุให้อ้าย ชิง ต้องถูกขับออกจากสมาคมนักเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์ และถูกเนรเทศให้ไปอยู่ในหน่วยการผลิต 852 ในเวลาต่อมา

อ้ายเว่ยเว่ย กับอ้าย ชิง ที่หน่วยการผลิต 852 มณฑลเฮยหลงเจียง ปี 1958

ในปี 1967 เหมา เจ๋อตงประกาศทำการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้น เกิด การกวาดล้าง “ซากเดนของระบอบสังคมเก่า” ส่งผลให้ชาวจีนจำนวนมากต้องเผชิญกับฝันร้ายจากการถูกริดรอนสิทธิมนุษยชน ไม่เว้นแม้กระทั่งสมาชิกหรือผู้นำระดับสูงภายของพรรคฯ อ้าย ชิง เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาตกเป็นเหยื่อของเกมการเมืองภายในพรรคและถูกตั้งข้อหาระบุไว้ว่าเป็น “ฝ่ายขวา” ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบัญชีดำทั้งห้า ประกอบไปด้วย เจ้าของที่ดิน ชาวนาผู้มั่งคั่ง ฝ่ายปฎิปักษ์ปฏิวัติ ก๊กคนเลว และฝ่ายขวา

แม้เขาจะได้รับการช่วยเหลือจากโจว เอินไหลให้รอดพ้นจากข้อกล่าวหาข้างต้น ทว่าอ้าย ชิง ก็ยังคงมี “มลทิน” เขาถูกชุมนมประณามโดยกลุ่มยุวชนแดง (Red Guards) และถูกเนรเทศพร้อมกับลูกชายของเขา อ้าย เว่ยเว่ย ในวัยสิบปี และเกา เจี้ยน ลูกติดของภรรยา ให้ไปใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในค่ายการผลิต ซึ่งอยู่บนพื้นที่ขอบทะเลทรายกูร์บันทังคุต (Gurbantünggüt Desert) ที่มีอากาศหนาวเย็นจนได้ชื่อว่า “ไซบีเรียนน้อย” ก่อนที่ถูกโยกย้ายที่พักอาศัยไปในที่ต่างๆ และนั่นทำให้เขาต้องสูญเสียการมองเห็นด้วยอาการต้อกระจก เนื่องจากต้องอยู่อาศัยภายในโพรงใต้ดินที่มืดสลัวเป็นเวลานานกว่าห้าปี แต่ยังโชคดีที่ดวงตาข้างซ้ายได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

หลังการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตง ในปี 1976 เกิดการรัฐประหารเงียบนำโดยฮั่ว กั๋วเฟิง พร้อมพรรคพวกเข้าสลายอำนาจอิทธิพลของ “แก๊งสี่คน” นับเป็นการสิ้นสุดการปฎิวัติวัฒนธรรม ตามมาด้วยการหวนคืนกลับมาของเติ้ง เสี่ยวผิง ซึ่งมีการชำระมลทิน กอบกู้ชื่อเสียงและเกียรติยศให้กับเหยื่อจากข้อหาซากเดนของระบอบสังคมเก่า ก่อนที่จะค่อยๆล้างมลทินให้กับผู้ถูกกล่าวหาคนอื่นๆ ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่เสียชีวิตไปแล้วในช่วงของการปฎิวัติวัฒนธรรม ซึ่งมีปัญญาชนเพียง 100,000 คน จาก 500,000 คน เท่านั้นที่เอารอดชีวิตมาได้ โดยอ้าย ชิง นับเป็นบุคคลในช่วงของปีแรกๆ ที่ได้รับการชำระมลทิน แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นบุคคลสำคัญในระดับประเทศมากเพียงใด

“แก๊งสี่คน” ผู้นำของการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้แก่ หวัง หงเหวิน,จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน และเจียง ชิง

เมื่ออ้าย ชิงได้รับตำแหน่งภายในพรรค และสถานภาพทางการเมืองเดิมกลับคืนมา เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิต ทำงานเขียนหนังสือ สร้างสรรค์ผลงานกวีที่เขารักได้อีกครั้ง โดยระหว่างปี 1979 ถึงปี 1982 ผลงานกวีนิพนธ์กว่า 100 ชิ้นของเขาถูกเผยแพร่ให้แก่สาธารณะชนที่รอคอยการกลับมาของเขาอยู่อย่างใจจดใจจ่อ โดยเนื้อหาของผลงานมีการกล่าวถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การวิจารณ์นโยบายเชิงวัฒนธรรมยุคเหมา และการผลักดันเสรีภาพในการแสดงทัศนะผ่านงานศิลปะและบทกวี ฯลฯ ส่งผลให้อ้าย ชิงเริ่มกลายเป็นที่รู้จักและถูกยอมรับในระดับนานาชาติ

ในปี 1979 อ้าย ชิง ยังได้ถูกเชิญให้ขึ้นไปอ่านบทกวีของเขาที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี เพื่อบรรยายสภาพของการแบ่งแยกพื้นที่ออกเป็นสอง และพลังของเสรีภาพที่สามารถทะลวงผ่านกำแพงที่กั้นความคิดที่เป็นอิสระได้ ก่อนที่ในอีก 10 ปีต่อมา กำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์ของการกีดกั้นเสรีภาพจะพังทลายลง ราวกับการปิดม่านความทุกข์ทรมาณภายในจิตใจของเขา ในฐานะนักกวีผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของแผ่นดินจีน

“กำแพงจะสกัดกั้น
ความคิดที่อิสระกว่าสายลม
ของผู้คนนับแสนนับล้านได้อย่างไร
จะแข็งแกร่งมั่นคงกว่าแผ่นดินได้ฤๅ
หรือปราถนาอยู่ยาวนานกว่ากาลเวลาได้ไฉน”
(ส่วนหนึ่งของบทกวี “กำแพง” ปี 1979)

และนั่นก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งสำคัญของลูกชายของเขา. . . อ้าย เว่ยเว่ย

อ้าย เว่ยเว่ย กับอ้าย ชิง ปี 1993
1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น โดย อ้าย เว่ยเว่ย

ที่มา

  • รศ.ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (2566). จีนช่วงเปลี่ยนผ่านกับงานศิลปะขบถของอ้ายเว่ยเว่ย. จัดโดย Doc Club & Pub., กรุงเทพมหานคร.
  • อ้าย เว่ยเว่ย, 1000 ปีแห่งความรื่นรมย์และขมขื่น, แปลโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว. กรุงเทพฯ: บริษัทสวนเงินมีมา จำกัด, 2566.