จะเป็นอย่างไรหาก Conceptual art เกิดจากส่วนผสมระหว่างช่างฝีมือพื้นบ้านและทฤษฎีคณิตศาสตร์ตะวันตก ?

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ คือศิลปินผู้นำเสนอความจริงของวัตถุ ด้วยการขีดเขียนแบบร่างสองมิติอย่างตรงไปตรงมา ถอดร่างสู่ประติมากรรมที่มีโครงสร้างโน้มเอียง ผิดแปลกไปจากความเป็นจริงเพื่อท้าทายประสาทการมองเห็นของผู้ชม ด้วยการประยุกต์ใช้ศาสตร์ของงานช่างฝีมือเข้ามาผสมสานกับทฤษฎีคณิตศาสตร์เพื่อการคำนวณที่แม่นยำ

ตัวอย่างผลงานในอดีตของธวัชชัย ได้แก่ บันไดเอียง หนึ่งในผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน“รอยแยก” 2019 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC), ผู้ให้ (A Shadow of Giving) ประติมากรรมเชิงทดลองที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพเขียนฝาผนังสองมิติในโรงทาน จัดแสดงที่วัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ในนิทรรศการบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 เป็นต้น นอกจากนี้เขายังเคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน ประเภทประติมากรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 39, รางวัล Grand prize ประเภทประติมากรรมจาก Osaka Triennale 1995 ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

ปัจจุบัน ธวัชชัยเลือกที่จะกลับมาค้นหาสิ่งที่อยู่ภายในของเขา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงของธวัชชัยทั้งแนวความคิดและรูปแบบการทำงานที่พัฒนาไปอีกขั้น พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อการดำรงอยู่ ผ่านข้อถกเถียงทางปรัชญาและการค้นหาสภาวะทางญาณวิทยาของมนุษย์ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของธวัชชัย

Existence of Void เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของเขาตลอดระยะเวลากว่าห้าปีที่ผ่านมา ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่ธวัชชัยได้นำพาตัวเองเข้าไปสู่การสำรวจค้นหาความสัมพันธ์ของกายและจิต เพื่อค้นหาภาวะภายในผ่านความสงบนิ่ง เฉกเช่นความรู้สึกทรมานจากอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นตามร่างกายที่ค่อยๆ จางหายไกลออกไปสู่ “ความว่าง” แม้จะรู้สึกผ่อนคลายแต่ร่างกายกลับยังคงจดจำการเคยมีอยู่ของสภาวะเหล่านั้นได้ดี จากความรู้สึกนามธรรมผ่านการเชื่อมโยงกันระหว่างโลกภายใน (จิตใจ) และโลกภายนอก (ร่างกาย) เกิดเป็นความคิดเชิงอภิปรัชญาคล้ายกับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่และจากไป

แนวทางการถ่ายทอดความคิดข้างต้นดังกล่าวให้ออกมาเป็นรูปธรรม มีจุดเริ่มต้นจากผลงาน Border of Void (ว่างอย่างมีขอบเขต) ด้วยการนำร่างกายของตนเข้าไปบรรจุอยู่ในกล่องอะคริลิคใสขนาดพอดีตัว ทำการวัดค่า ‘มวล’ ของร่างกายโดยใช้แท่งโลหะเสียบเข้ามารอบทิศทางจากผนังทั้งสี่ด้าน ไล่ระดับจากล่างขึ้นสู่บนทีละชั้น กระบวนการดังกล่าวทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องสแกนภาพสามมิติ (3D Scanner) ในการบันทึกตำแหน่งเส้นตามจุดของมวลร่างกายแต่ละชั้น เกิดเป็นรูปทรงที่นำเสนอในผลงาน Top View & Patter of Face (แผ่นคลี่และการบรรจบ) และ Side & Front View (ด้านข้างและด้านหน้า) ที่แสดงให้เห็นถึงภาพจากมุมมองด้านบนและด้านข้างตามลำดับ

Border of Void (ว่างอย่างมีขอบเขต)

นอกจากนี้ ผลการการวัดค่า “มวล” ข้างต้นมีค่าเท่ากับชุดข้อมูลที่ถูกนำมาปรับใช้ร่วมกับหลักทัศนียภาพ ซึ่งกล่าวถึงสัดส่วนของวัตถุจะแปรผันตามระยะใกล้้-ไกลที่สายตาจ้องมอง ธวัชชัยได้ทำการย่อขยายสัดส่วนของมวลร่างกาย โดยกำหนดให้จุดศูนย์รวม (Focus) ของความสงบนิ่งจากการเพ่งสมาธิเป็นดั่งพื้นที่ว่างและความรู้สึกทางนามธรรมต่างๆ นับเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีเพื่อการออกแบบชิ้นงาน ตามการตีความของศิลปิน

Top View & Patter of Face (แผ่นคลี่และการบรรจบ)
Side & Front View (ด้านข้างและด้านหน้า)
Void (ซ้าย) และ Proper Gravity Checked (ขวา)

ตัวอย่างเช่น Void (ซ้าย) และ Proper Gravity Checked (ขวา) ผลงานประติมากรรมทองเหลืองรูปทรงสามมิติขนาดเล็กทั้งสองนี้ มีลักษณะคล้ายกับการจัดองค์ประกอบทางศิลปะสองมิติขั้นพื้นฐาน เรื่อง “พื้นที่ที่ว่างเชิงบวก (Positive Space) และพื้นที่ที่ว่างเชิงลบ (Negative Space)” แสดงความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกันระหว่างพื้นที่ ลักษณะดังกล่าวถูกเชื่อมโยงสัญญะเข้ากับความสัมพันธ์ระหว่างกายและจิต โดยใช้ ‘เส้น’ ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดลักษณะทางกายภาพของชิ้นงาน และ ‘พื้นที่ว่าง’ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสภาวะนามธรรม

นัยยะของการทำประติมากรรมขนาดเล็ก นับว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า การทำบ้านจำลองของสถาปนิกหรือแบบจำลองโครงสร้างของวิศกร เพราะจุดประสงค์ของการทำแบบจำลองประติมากรรมมีไว้เพื่อใช้ในการศึกษา ทดลอง และแสดงภาพรวมของชิ้นงานให้ออกมาเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะขยายขนาดของชิ้นงานให้เป็นไปตามความต้องการของศิลปิน

แม้ว่าในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเครื่องมือให้มีความทันสมัยมากขึ้น กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้การทำงานต่างๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งด้านการออกแบบ การคำนวนโครงสร้าง เพื่อรังสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับผู้คนได้ดั่งใจนึก ทว่าผลงานของธวัชชัยยังคงไว้ซึ่งกระบวนการทำงานของศาสตร์เชิงช่างด้วยเครื่องมือพื้นฐานไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ร่องรอยกระบวนการทำงานของธวัชชัยปรากฏอยู่ในรูปของชิ้นงานศิลปะในชื่อ Degree of Anotomical Outline และ Precise Information of Dim Painful, 650th Hour / set of 4 ผลงาน ‘การขยายแบบเท่าจริง’ นำเสนอข้อมูลจากแบบแปลน ด้วยการจัดแสดงแบบร่างมือ เช่น ขนาดขององศา ค่าอัตราส่วนผ่านภาพร่างสองมิติ ถูกบันทึกไว้บนแผ่นไม้หลากหลายขนาด เป็นการขยายสัดส่วนของชิ้นงานให้มีขนาด 1 ต่อ 1 ตามแบบเท่าจริง

สำหรับการขยายแบบเท่าจริงนั้น เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการออกแบบ โดยเฉพาะในการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ช่วยให้ควบคุมภาพรวมขององค์ประกอบภายในชิ้นงานเมื่อมีขนาดที่ใหญ่ เนื่องจากช่างฝีมือไม่สามารถใช้การวัดหรือการคำนวณขนาดในแบบร่างได้ จึงต้องใช้การกะส่วนด้วยการเขียนแบบเท่าจริง การเขียนแบบองค์ประกอบทุกชิ้นจึงต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำที่เกิดจากการบ่มเพาะทักษะ ประสบการณ์ และองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

(ซ้าย) Degree of Anotomical Outline และ (ขวา) Anotomical Outline No. 1–2 (การเดินทางที่เริ่มล้า หมายเลข 1–2)

ข้อมูลทั้งหมดจากแบบร่างสองมิติ ถูกนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมสามมิติที่มีรูปแบบและเทคนิคแตกต่างกัน เช่น Anotomical Outline No. 1–2 (การเดินทางที่เริ่มล้า หมายเลข 1–2) ประติมากรรมทองเหลือง ซึ่งมีที่มาจากแบบร่างของ Degree of Anotomical Outline โดยใช้สีในแบบร่างเป็นตัวกำหนดจำนวนชิ้นส่วนโครงสร้างในผลงาน

ในขณะที่ Dim Painful, 650th Hour (รู้อีกทีก็เลือนราง) ประติมากรรมนำเสนอโครงสร้างอันสลับซับซ้อนด้วยเทคนิคประกอบไม้ สามารถจำแนกชิ้นส่วนโครงสร้างได้จากแบบร่างของ Precise Information of Dim Painful, 650th Hour / set of 4 ซึ่งมีจำนวนแบบร่างทั้งสิ้น 4 ชิ้นประกอบเข้าด้วยกัน โดยสีน้ำเงินและสีแดงภายในผลงานของธวัชชัย มีที่มาจากหลักการทำงานของแว่นสีแดง-น้ำเงินเพื่อรับชมภาพยนตร์สามมิติในอดีต

Dim Painful, 650th Hour (ซ้าย) และ Precise Information of Dim Painful, 650th Hour / set of 4 (ขวา)

ผลงานทั้งหมดที่จัดแสดงในนิทรรศการ Existence of Void ล้วนเกิดจากการต่อยอดแนวทางการสร้างสรรค์ประติมากรรม สะท้อนให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญในการผสมผสานองค์ความรู้หลากหลายแขนง ทั้งเทคนิคเชิงช่างฝีมือพื้นบ้าน องค์ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมไทย ทฤษฎีคณิตศาสตร์ตะวันตก ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบของผลงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างแยบยล

“ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เราเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว ในตอนนั้นยังอายุ 21 แต่การได้รับรางวัลที่ 2 ศิลปกรรมแห่งชาติ ที่ท้องพระโรงภายในหอศิลป์แห่งนี้ ในชีวิตไม่เคยได้จับเงินหมื่น ทำให้ผมสามารถเอาเงินรางวัลที่ได้ไปซื้อเครื่องมือต่างๆ ที่ยังคงใช้อยู่ในทุกวันนี้ รู้สึกดีใจ ภูมิใจ และเป็นเกียรติมาก เพราะที่ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นการเป็นศิลปินอาชีพของผม ขอขอบคุณทางผู้อำนวยการหอศิลป์ (ปรมพร ศิริกุลชยานนท์), ภัณฑารักษ์ (กฤษฎา ดุษฎีวนิช) และทีมงานหอศิลป์ที่ได้เข้ามาช่วยติดต่อประสานงานเสมอมา ทำให้ทำงานสำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ทั้งหมดราบรื่นไปได้ด้วยดี” ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ (ศิลปิน)

นิทรรศการ Existence of Void
จัดแสดงที่ ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
ถึงวันที่ 17 กันยายน 2022
วันจันทร์ถึงเสาร์ 9.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)