นิทรรศการ Dreamday โดย มิตร ใจอินทร์
จัดแสดงที่ The Jim Thompson Art Center
ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566
ห้องแกลเลอรี่ 1 และ 2 หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ชั้น 3
ภัณฑารักษ์ Melanie Pocock และ กิตติมา จารีประสิทธิ์

Dreamday นิทรรศการศิลปะโดย มิตร ใจอินทร์นำเสนอสภาพของความฝันในเชิงอุดมคติกับการวิพากษ์กระบวนการเชิงสังคม การเมืองที่ฉาบเคลือบด้วยสีสันอันหวานแหวว และบทสนทนาของลูกหลานชาวยองระหว่างผู้เขียนและศิลปิน

มิตร ใจอินทร์ ศิลปินร่วมสมัยชั้นแนวหน้าของประเทศไทย เกิดเมื่อปี ค.ศ.1960 เข้าศึกษาด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และเข้าศึกษาต่อที่ University of Applied Arts Vienna ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เขามีบทบาทสำคัญในการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม (1992-1998) ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ของศิลปะร่วมสมัยไทย ผลงานศิลปะของมิตรมุ่งเน้นการนำเสนอมุมมองของตนที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมือง ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่เทคนิคการสร้างสรรค์เฉพาะตัวของมิตร

Dreamday คือนิทรรศการที่นำเสนอผลงานบางส่วนจาก Dreamworld (2021) นิทรรศการเดี่ยวของมิตร จัดแสดงที่ Ikon Gallery (2021) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และมีการรวบรวมผลงานจากโครงการศิลปะที่มิตรเคยสร้างสรรค์ไว้ในอดีตมาจัดแสดงทั้งภายในและภายนอกของพื้นที่หอศิลป์บ้านจิมทอมสัน ประกอบไปด้วยผลงานหลากหลายเทคนิคตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม และศิลปะจัดวาง นับว่าเป็นผลลัพธ์ของการต่อยอดโครงการที่ยังคงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

มิตร ใจอินทร์ (ศิลปิน), กฤติยา กาวีวงศ์ (ผอ. The Jim Thompson Art Center) และกิตติมา จารีประสิทธิ์ (ภัณฑารักษ์)
Dreamday มีที่มาจากความฝัน เพราะเราทุกคนต่างมีความฝันกันทั้งนั้น รวมถึงผู้มีอำนาจ ตั้งแต่ปูติน, สี จิ้นผิง หรือแม้กระทั่งกับผู้มีอำนาจของประเทศไทย และคนเจนเนอร์เรชั่นของลุงนี่เอง ที่มันเป็นยาพิษ เป็นบ่อเกิดของความเจ็บปวด (catastrophic) เพราะความฝันเชิงอุดมการณ์ของพวกเขาทำให้สังคมมีสภาพที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เพราะความอยากมีอำนาจ ฆ่าแกง แก่งแย่ง ทั้งเพื่อความบันเทิง เบียดบังและเหยียบย่ำผู้คน
“อย่างคำว่า ‘dreaming state (ความฝันของรัฐ)’ ก็บอกอยู่ว่า รัฐมันกำลังฝัน และสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐ’ มันก็คือความฝัน เมื่อทุกคนต่างกำลังฝัน มันก็คือ Dreamday”

ผลงานของมิตรได้ดึงคุณลักษณะของจิตรกรรมสนามสี (Color Field painting) มาใช้ ด้วยการใช้สีที่สดใสปาดป้ายลงบนพื้นที่ขนาดใหญ่ สร้างแรงปะทะต่อการรับรู้ของผู้ชมให้ตกอยู่ในภวังค์ที่เงียบสงบ ซึ่งแตกต่างจากผลงานจิตรกรรมนามธรรมอื่นๆ ที่ดูดุดันรุนแรง เช่น abstract expression painting หรือ action painting

ตัวอย่างเช่น Dream Tunnel (2021) ผลงานที่มีลักษณะเป็นโครงสร้างคล้ายกับอุโมงค์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ซึ่งมีการทาสีไว้ทั้งภายในและภายนอกให้ดูแตกต่างกันอย่างชัดเจน ปลายผ้าที่ถูกกรีดให้เป็นแพริ้วช่วยสร้างความพลิ้วไหวให้กับผลงาน เล่นล้อไปกับบรรยากาศของสิ่งรอบข้าง

ที่อยู่ใกล้เคียงกันนั้นคือผลงานศิลปะการจัดวาง Midlands Dwelling (2021) ผ้าใบที่หนาเตอะไปด้วยชั้นสี จัดวางด้วยการปูไว้บนพื้นและตามแนวผนัง ได้เปลี่ยนแปลงพื้นที่ของห้องนิทรรศการให้กลายเป็นสนามกลางแจ้ง โดยมีประติมากรรมแท่งเหล็กที่มีรูปร่างคล้ายกับอาวุธหรือเครื่องมือประกอบพิธีกรรมของชนเผ่าโบราณ ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าแคนวาสและสีอะคริลิก

“ลุงสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าผู้ปกครองในภาคเหนือ ซึ่งทุกจังหวัดเคยมีผู้ปกครองทั้งหมด ตั้งแต่ลำพูน ลำปาง ฝาง ชัยปราการ แพร่ น่าน อย่างกรณีของเชียงรายก็เคยมีผู้ปกครองอยู่ถึง 3 คน พะเยา เชียงแสน และเชียงรายมาทีหลัง ในพื้นที่ตามแม่น้ำกก จนกระทั่งอาณาจักรต่างๆ ค่อยๆ ถูกผนวก ไล่มาจนกระทั่งสมัยเจ้าตากฯ, รัชกาลที่ ๑ และถูกกินรวบ (รวมศูนย์) ตามลำดับ
“และลุงเองก็เป็นคนยอง หรือที่เรียกกันว่า ชาวไทเขิน มาจากที่ราบบวกค้าง จังหวัดลำพูน ให้สังเกตที่สันกำแพง ป่าซาง บ้านถวาย มีแต่คนยองทั้งนั้น
“คนยองยังเก่งเรื่องงานคราฟท์ ทอผ้า ทำอิฐ ทำปูน ปู่ของลุงทำอิฐทำปูนขาว เหมาถนนขึ้นภูเขาเพื่อทำอิฐทำปูน แกสามารถทำรูปปั้นได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ออกมาหน้าตาเหมือนงานคิวบิสม์เลยนะ ทำเร็ว ทำง่าย และถูกสัดส่วนเป๊ะ
“คนยองจะมีเชื้อสายมองโกลอยู่ 5% ซึ่งในปัจจุบันเราสามารถไปตรวจพันธุกรรม (Genetic Testing) ดูได้ เพราะชาวมองโกลเคยลงมาตั้งถิ่นฐานแถวๆ ต้าหลี่ (มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน) เกือบถึงเชียงราย สมัยนั้นเราอยู่เวียงยอง เชียงตุง เชียงรุ้ง นั่นจึงเป็นเหตุให้เรา (คนยอง) มีนิสัยแบบคนมองโกล ไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนของรัฐ มีความเป็นกบฏอยู่หน่อยๆ”

ลักษณะเด่นที่แสดงออกมาผ่านผลงานเหล่านี้คือ “สีเงิน” ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในผลงานของมิตรที่มักจะใช้สีสันสดใสอยู่เสมอ สีเงินที่ปรากฏชวนให้นึกถึง “เครื่องเงิน” งานหัตถศิลป์ของชาวล้านนาที่สามารถพบเห็นได้ตามสถานที่ท่องเที่ยวทางภาคเหนือ ซึ่งสีเงินในที่นี้มีความเชื่อมโยงถึงบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินในประวัติศาสตร์ของประเทศ และพื้นฐานครอบครัวของมิตรเอง

“สีเงิน ในที่นี้ถูกนำมาใช้เพื่อเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมือง เพราะที่อื่นเขาใช้สีทอง แต่คนยองเรานั้น ถูกกวาดต้อนมาเพื่อซ่อมเมืองลำพูนและเชียงใหม่ คนยองที่มาจากแม่น้ำเขินก็เข้ามารับใช้เจ้า ทั้งทำเครื่องเขินและเครื่องเงิน ซึ่งต้องใช้น้ำในการทำ ส่วนคนยองอีกกลุ่มก็มาจากแม่น้ำลื้อ เราเรียกว่า ไตลื้อ เขาก็เป็นคนชอบทำไม้ จึงอยู่ที่ชายเขา ก็ยากจนหน่อย
“นอกจากนี้ งานของลุงทั้งหมดได้ดึงสิ่งที่เรียกว่าการคราฟท์ออกมาใช้อย่างไม่รู้ตัว ต้องใช้มือ ใช้เหงื่ออย่างวิจิตร แต่ไม่ใช่ความวิจิตรแบบที่ราชวัง(อำนาจส่วนกลาง)เขาสอนหรือปลูกฝังมา งานของลุงจึงมีความเป็นคราฟท์ จริงๆ อย่างคำว่า handicraft ซึ่งแปลว่า ‘ยังคงมีรอยมืออยู่’”

ถัดไปคือ Dream Works ผลงานนามธรรมชิ้นเล็กๆ ถูกติดตั้งอย่างกระจัดกระจายบนผนังห้องนิทรรศการ มิตรผลิตผลงานเหล่านี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 จนถึงปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อความฝันเชิงอุดมคติที่มิตรมีต่อการทำงานศิลปะของเขา

“ศิลปะ Impressionism, Expressionism หรือกระทั่ง Renaissance ผลงานของศิลปินเหล่านี้นั้นมีอิทธิพลกับลุงมาตั้งแต่เด็ก ลุงรู้สึกสั่นสะเทือนทุกครั้งที่เห็นผลงานของ Piero della Francesca เพราะสีสันพาสเทลที่อยู่ในงานของเขา” มิตรเล่าถึงความชอบในสีสันพาสเทล ซึ่งยังส่งอิทธิพลมายังสีสันในผลงานของเขา
“ตั้งแต่สมัยหนุ่ม ลุงพยายามที่จะดึงศิลปะที่มีความเป็นวิจิตรศิลป์ ให้กลายมาเป็นงานหัตถกรรมให้ได้ แต่ในกระบวนการร่วมสมัย ยิ่งในบริบทของสังคมไทย มันแบ่งแยกกันชัดเจน ด้วยความเป็นช่าง สล่า หรือศิลปิน
“ศิลปิน คือวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจ มันได้แบ่งแยกชนชั้นความสูง-ต่ำ เกิดเป็นบันได การเหยียดและลำดับชั้นของสังคม (hierarchy) แล้วเราจะทำยังไงให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นมันสามารถลดลงมาได้
“ด้วยความที่ลุงปฏิเสธระบบอำนาจนิยมมาตั้งแต่เกิด แล้วจะทำอย่างไรให้การทำงานศิลปะหรือวิธีการวิพากษ์ วิจารณ์สังคมในชีวิตประจำวันหรือในแง่ของสังคมนั้นเกิดขึ้นได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันลุงไม่ก็ต้องการที่จะประกาศอุดมการณ์ของลุงออกไปอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งมันก็มีความย้อนแย้ง (paradox) อยู่ในตัว
“กระบวนการของชาว modernist ที่พวกเขากำลังทำกันอยู่ในปัจจุบัน คือ การทำซ้ำ ทำเหมือนและทำคล้าย คล้ายกับระบบการผลิตซ้ำในระบบอุตสาหกรรม แต่งานทั้งหมด ลุงจะใช้มือทำ เพื่อให้ศิลปะกลับสู่อ้อมมือของเรา
“ถ้าคุณไปมิวเซี่ยมปกติ เขาจะห้ามคุณจับ ห้ามคุณสัมผัสใดๆ ยืนนิ่งๆ ดู ต้องอยู่ห่างจากผลงานเมตรถึงสองเมตรห้าสิบ ผลงานต้องตั้งสูงให้อยู่ในระดับสายตา หรือ FOCAL POINT และเพื่อปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว ลุงจึงเอางานไปวางอยู่กับพื้น ผลงานชุดนี้ จึงเป็นงานศิลปะเชิงการเมืองและสังคม ทุกอย่างมันคือการเมืองเชิงประจักษ์ด้วยตัวของมันเองทั้งหมด”

อีกห้องหนึ่งของนิทรรศการ จัดแสดงผลงานชุด Bangkok Apartments (2022) เป็นการต่อยอดจากโครงการศิลปะของมิตร เมื่อปี ค.ศ.1991 ในชื่อ Vienna Apartments เป็นการชวนผู้ชมให้เข้ามาเลือกผลงานที่มิตรสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ที่พบตามท้องถนนในเมืองเวียนนา และสามารถนำผลงานเหล่านั้นติดตัวกลับบ้านไปได้ ซึ่งผลงานในห้องนิทรรศการที่สองนี้คือ ผลงานซีรีส์ใหม่ที่จะเป็นการเกริ่นนำให้กับการแสดงผลงานครั้งต่อไปของมิตรในปีหน้าที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) ซึ่งมีแผนที่จะทำงานศิลปะกว่า 6,000 ชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ชม

Bangkok Apartments ประกอบด้วยผลงานศิลปะสีสันสดใสจำนวน 72 ชิ้น ทำขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มแรกมีลักษณะเป็นวัตถุรูปทรงคล้ายก้อนหินในชื่อ “หินบอกเขต” และกลุ่มที่ 2 มีลักษณะเป็นชุดโคมไฟหลากหลายขนาดในชื่อ “แสงสว่างบอกทาง” ซึ่งผลงานชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และการสร้างวัตถุเพื่อให้กลายเป็นดั่งเครื่องรางที่ใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจ

โดยเป้าหมายของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของมิตร มิใช่การทำงานศิลปะเพื่อให้ผู้ชมต้องเข้ามาค้นหาความหมาย ทำความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งเพื่อซาบซึ้งและรู้สึกใดๆ แต่คือการทำให้ผลงานศิลปะกลายเป็นสิ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันของทุกคน

“ความฝันของลุง คือการที่ทุกคนเข้าไปในมิวเซี่ยม และสามารถหยิบเอางานของลุงไป ไม่ต้องจองคิวอาร์โค้ดไม่ต้องอะไรทั้งสิ้นสามารถหยิบจับเอากลับไปได้เลย หรือแม้กระทั่งสามารถสั่งทางออนไลน์เอาก็ได้ เอาบริษัทขนส่งมาตั้งไว้ที่หน้างาน ลุงต้องการให้ผู้ชมนำเอาศิลปะเข้าไปอยู่กับตัวของพวกเขา แล้วค้นหาวิธีที่จะใช้งานมัน และในเมื่อรูปลักษณ์ของมันเป็นก้อนหิน แล้วเราหาวิธีการที่จะใช้งานมันอย่างไร?
“จากการที่ลุงทำผลงานเหล่านี้ขึ้นมากว่า 2,000 ชิ้น มีกรณีของคิวเรเตอร์อเมริกาเชื้อสายอินเดียนแดงคนหนึ่ง ซึ่งลุงแนะนำให้เขาเอาผลงานไปใช้รองไว้ใต้หมอน ปรากฏว่าคืนนั้น เขาฝันถึงบรรพบุรุษ คุณปู่ คุณย่า มันช่างดูสดใสและชัดเจนมากๆ (vivid and obvious)
“ลุงเองก็ยังรู้สึกงงอยู่เหมือนกันที่บางคนยังคงเก็บไว้ บางคนยังคงพูดถึง มันเป็นมนต์ขลังของศิลปะ มันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถทำความเข้าใจหรืออธิบายได้ มันต้องมี matrix อะไรบางอย่าง”

สุดท้าย มิตรได้อธิบายถึงนิยามความแตกต่างระหว่างผลงานที่ถูกทำขึ้นตามท้องถนน กับผลงานที่ถูกทำขึ้นภายในหอศิลป์แล้วแจกจ่ายให้กับผู้คนไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“การรับรู้ทางด้านงานศิลปะของผู้ชม ถูกความเป็นสถาบันศิลปะสถาปนาและการันตีไปแล้วว่า ‘วัตถุนี้’ คืองานศิลปะ เหมือนกับเป็นมติร่วมในทางกฎหมาย มีการลงความเห็น ผ่านกระบวนการ และตัดสิน

เช่นกัน วัตถุเหล่านี้ก็ถูกสถาปนาขึ้นจากที่นี่ (หอศิลป์บ้านจิมทอมสัน) พอมันเกิดสมาทานขึ้นมาแล้ว ผลงานศิลปะจึงมีพลวัตเข้าไปเปลี่ยนบริบทของพื้นที่ส่วนตัว รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ศิลปะด้วย ทั้งหมดนี้มันก็คือเรื่องของการเมือง”