Déjà vu: When the Sun Rises in the West นิทรรศการศิลปะที่เกิดขึ้นจากนำข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ว่าด้วยเรื่องราวของอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตกที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความคิดและองค์ความรู้ซึ่งครอบงำความเป็นตะวันออก ที่ยังคงส่งผลกระทบเหล่านั้นเรื่อยมาโดยที่เราไม่รู้ตัว สู่การตั้งสมมติฐานขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิด จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก?

นที อุตฤทธิ์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มีความสนใจในปรากฏการณ์ต่างๆรอบตัวที่เกิดขึ้น และพยายามที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านั้น ผ่านการนำเสนอผลงานศิลปะ ซึ่งมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงเข้ากับประเด็นและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าไปตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า ผลงานของนทีได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยการจัดแสดงผลงานในหลากหลายประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย และนิทรรศการนี้เป็นการแสดงนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทยในรอบ 8 ปี

แรงบันดาลใจของนิทรรศการ Déjà vu: When the Sun Rises in the West เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่นทีได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่นครเนเปิลส์ประเทศอิตาลี ซึ่งรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ไว้มากมาย ทั้งรูปปั้นตั้งแต่สมัยอารยธรรมกรีกและโรมันอันรุ่งโรจน์ ในสถานที่แห่งนี้ นทีได้พบกับประติมากรรมแกะสลักหินอ่อนของชาวโรมัน โดริโฟรอส (Doryphoros) หรือ นักกีฬาพุ่งหอก ด้วยท่าทางการยืน (pose) ของรูปปั้นดังกล่าวชวนให้นทีได้รู้สึกนึกถึงภาพของพระศรีศากยะทศพลญาณ พระพุทธรูปปางลีลาที่ถูกออกแบบโดยผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ข้าราชการชาวต่างชาติ ที่เข้ามาวางรากฐานให้กับศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย เกิดเป็นภาวะทับซ้อนทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวของนที

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นทีเกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ภาพการทับซ้อนระหว่างภาพของผลงานศิลปะตะวันตกและตะวันออกซึ่งมาบรรจบกัน ชวนให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกทั้งสองขั้วในอดีต ภายใต้อิทธิพลตะวันตกโดยลัทธิล่าอาณานิคมที่แผ่ขยายอำนาจ เข้าครอบงำพื้นที่ จัดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และสลายอัตลักษณ์ความเป็นตะวันออก ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ความมีอารยะ ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันออกเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งศิลปะ วัฒนธรรม ตึกรามบ้านช่องที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณู เป็นภาวะที่ลั่กลั่น เป็นลูกผสม ไม่ใช่ทั้งตะวันออกและตะวันตก ประเด็นดังกล่าวทำให้นทีเกิดการตั้งสมมติฐานของตน “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากพระพุทธเจ้าทรงสเด็จไปทวีปยุโรปก่อนที่อารยธรรมตะวันตกจะเกิดขึ้น” สู่ความต้องการที่จะนำเสนอผลงานศิลปะ ภายใต้กรอบของการผสมผสานความเป็นตะวันตกและตะวันออก บอกเล่าผ่านเทคนิคกระบวนการศิลปะ ปรัชญาทางศาสนาและข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์

นทีได้เลือกพื้นที่ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเขา ด้วยรูปลักษณ์ของอาคารที่มีการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรป พื้นที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือนมรดกชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่สยามมีต่อชาติมหาอำนาจจากฝั่งตะวันตกเมื่อครั้งอดีต

นทีเริ่มทำการท้าทายต่อการรับรู้ทางสายตาของผู้ชมด้วย The Fragment ประติมากรรมรูปหล่อสำริด ซึ่งว่าด้วยการกลับขั้วทางความคิด สลับขั้วทางอารยธรรม ประติมากรรมที่มีลักษณะคล้ายกับชิ้นส่วนจากรูปปั้นของเทพเจ้ากรีกและชิ้นส่วนของจีวรตามรูปแบบของศิลปะพุทธศิลป์สมัยคันธาระในเวลาเดียวกัน เพื่อชวนให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ว่าสิ่งที่อยู่นี้คืออะไรและอย่ารีบด่วนตัดสินใจเมื่อแรกพบเห็น ดังพระพุทธวจนะที่ปรากฏในกาลามสูตร หรือ เกี่ยวกับความเชื่อ 10 ประการ ที่สลักไว้ด้านหลังของชิ้นส่วนประติมากรรมชิ้นดังกล่าว

ก่อนที่จะนำไปสู่ห้องนิทรรศการถัดมา Déjà vu เป็นประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ทั้งสองชิ้น ที่ยืนเด่นอยู่กลางโถง แสดงถึงการมาพบกันระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตก ด้วยรูปจำลองของพระศรีศากยะทศพลญาณปางลีลาซึ่งถูกลดทอนสถานะความอุดมคติลง ด้วยการปรับเปลี่ยนลดทอนเกล้าพระเกศา กำลังกล่าวทักทายให้แก่โดริโฟรอสเยี่ยงปุถุชนทั่วไป ในขณะเดียวกัน เพื่อที่ทำให้ระนาบความห่างค่อยๆจางหายไป นทียังได้ลดค่าของความงามตามขนบทางศิลปะ ด้วยการปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้สร้างประติมากรรมจากหินอ่อนและสำริดไปสู่การบอกเล่าวัฒนธรรมของช่างฝีมือชาวเนเปิลส์ผ่านเทคนิคประติมากรรมกระดาษ (paper mache)

Buddha was here (ซ้าย) และ Casa Buddha (ขวา)

ฉากหลังของประติมากรรมกระดาษ แสดงผลงาน Casa Buddha ศิลปะสิ่งทอจากเครื่องจักรอุตสาหกรรมบนผ้าลินินที่แสดงรูปลักษณ์ของอาคารพิพิธภัณฑ์โบราณคดีที่นครเนเปิลส์ ดั่งการตั้งสมมติฐานของนทีที่เปรียบเทียบสถานที่แห่งนี้ ให้เปรียบดั่งศาสนสถานของพระพุทธเจ้าที่เป็นดั่งจุดเริ่มต้น รอคอยการมาถึงของผู้มาเยือน สอดแทรกไปด้วยการนำเสนอหลักพระธรรมตามพระพุทธศาสนาที่ถูกแปรงเป็นภาษาต่างชาติผสมผสานเข้ากับตัวอักษรรูปแบบ graffiti ที่พบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วนครเนเปิลส์

หลักฐานการแสดงถึงการมาประทับ ณ สถานที่แห่งนี้ของพระพุทธเจ้า ปรากฏอยู่บนผลงาน Buddha was here นำเสนอรอยพระพุทธบาทที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างแนวคิด ความเชื่อของของชาวพุทธเข้ากับศิลปะกระเบื้องโมเสสแบบปอมเปอี สัญลักษณ์ของพระธรรมจักรที่ถูกผสานเข้ากับหัวเสาโรมันแบบดอริก (Doric) แสดงถึงความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นของการผสมผสานวัฒนธรรม

ในส่วนของห้องนิทรรศการลำดับถัดไป อยู่ที่ชั้นสองของหอศิลป์ นทีได้นำเสนอภาพจิตรกรรมสีน้ำมันขนาดใหญ่ในชื่อผลงาน The Dream of Siamese Monks ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่งที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งภาพวาดดังกล่าวมีเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ของสยามในช่วงของกระบวนการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูมีความอารยะในสายตาของชาวต่างชาติ กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่การล่าอาณานิคมจากฝั่งตะวันตกกำลังขยายอำนาจเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวสยามเองจึงต้องพยายามปรับตัวเพื่อแสดงให้ต่างชาติเห็นว่าชาวสยามเองก็มีภูมิปัญญาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพวกเขา เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายการเมือง การปกครองต่างๆให้เป็นไปตามกรอบที่ชาติตะวันตกได้วางเอาไว้ รวมไปถึงการประยุกต์สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบชาวตะวันตก

The Dream of Siamese Monks

ในกรณีของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเช่นเดียวกัน ขรัวอินโข่ง สมณเพศที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 3–4 เขาเรียนรู้ผลงานจากศิลปะตะวันตกผ่านการศึกษาจากการดูภาพจากโปสการ์ดแผ่นเล็กๆ จนได้ทดลองใช้สิ่งที่เรียกว่า perspective หรือ หลักทัศนะวิทยา ในการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง จึงเป็นที่มาของจิตรกรรมฝาผนังที่มี perspective ยุคแรกของไทย ทำให้ภาพเขียนมีลักษณะที่มีปริมาตรไม่แบนเรียบ แสดงมิติและระยะใกล้ ไกล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อประวัติศาสตร์ศิลปะของไทย อีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการเนรมิตรวัฒนธรรมเพื่อบอกให้คนอื่นในสิ่งที่อยากจะเห็น

เรื่องราวข้างต้นเป็นที่มาให้นทีได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ ด้วยการหยิบยืมนำเอากระบวนการสร้างสรรค์ของขรัวอินโข่งมาปรับใช้ในผลงาน โดยการคัดลอกภาพเขียนจากแผ่นโปสการ์ดที่ตนได้ซื้อมาสะสมไว้ ทำการขยายส่วนให้มีลักษณะเป็น mural painting ขนาดใหญ่แสดงภาพของสวนยุโรปที่รายล้อมไปด้วยหุบเขาและชาวต่างชาติที่มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ อ่างน้ำพุบริเวณกลางภาพมีดอกบัวสีชมพูขนาดใหญ่ผุดขึ้นมา ประกอบกับพระสงฆ์ที่กำลังชี้นิ้วขึ้นไปที่ดอกบัวนั้น คล้ายกับภาพปริศนาธรรมของขรัวอินโข่งภายในวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งกล่าวถึง การต้อนรับการมาถึงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลงานชิ้นนี้จึงเปรียบเสมือนการสับเปลี่ยนขั้วของความคิดและรูปแบบการนำเสนอผลงานจิตรกรรมที่ผูกโยงเข้าหาเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์

The Death of Buddha

นอกจากผลงานจิตรกรรมแล้ว นทียังได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้เข้ามาสำรวจความเส้นแบ่งระหว่างของความเป็นอุดมคติและความเป็นจริง ผ่านผลงาน Death of Buddha ประติมากรรมรูปหล่อสำริดจำลองลักษณะของพระศพขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเกิดจากการตีความตามสมมติฐานของศิลปิน การผสมผสานแนวคิดของการสร้างสรรค์ประติมากรรมของตะวันตกด้วยมุมมองการพิเคราะห์หลักกายวิภาคและสรีรวิทยาที่ถูกนำเสนอผ่านท่าทางการนอนของศพมนุษย์ ผูกโยงเข้าแนวคิดการตีความลักษณะของพระศาสดาจากหลักลักขณสูตรตามความเชื่อของชาวพุทธ เกิดเป็นประติมากรรมพระศพของพระพุทธเจ้าที่เป็นภาพทับซ้อนกันระหว่างความแนวคิดทั้งสองวัฒนธรรม วางประทับอยู่บนแท่นสีขาว พระศพที่มีร่างกายอันเป็นอุดมคตินอนอย่างสงบนิ่ง ฝ่าเท้าแยกออกจากกัน ต่างจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เห็นจนคุ้นชินตามวัดวาอารามของชาวพุทธ ลักษณะของความศักดิ์สิทฺธิ์ถูกลดทอนลงให้ใกล้เคียงกับความเป็นมนุษย์คล้ายกับภาพวาดสีน้ำมันของศิลปินในยุคบาโรค (Baroque) นับเป็นความท้าทายของนทีที่ต้องการจะทำให้ผู้ชมเกิดการตั้งคำถามต่อสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า ณ ที่แห่งนี้ที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของรูปเคารพทางศาสนาถูกลดทอนลงด้วยกระบวนการทางศิลปะ

Heaven: Trayastrimsa (ขวา)

ผลงานอีกชิ้นที่น่าสนใจคือ Heaven: Trayastrimsa นำเสนอด้วยเทคนิคกระจกสี Stained glass ศิลปะที่สามารถพบเห็นได้ตามหน้าต่างวิหารของโบสถ์คริสเตียนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ติดตั้งเข้ากับกล่องโลหะที่ฉายแสงสว่างของหลอดไฟเผยให้เห็นโครงสร้างของสถาปัตยกรรม โครงสร้างดังกล่าวเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างโครงสร้างของโบสถ์คริสเตียนหลากหลายยุคสมัย เกิดเป็นรูปร่างของสวรรค์วิมานหรือที่ประทับของเทวดาตามความเชื่อของชาวพุทธ ซึ่งนทีได้จากแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาหนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พร้อมกันนั้นยังปรากฏเส้นสินเทาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามจิตรกรรมฝาผนังของไทย เส้นสินเทาซึ่งทำหน้าที่ในการแบ่งฉากของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายในภาพจิตรกรรม และ ณ ตอนนี้เมื่อเส้นสินเทาได้ทำการแบ่งโครงสร้างของสวรรค์วิมานและท้องฟ้าให้ออกจากกัน พื้นที่แห่งความสุขที่แท้จริงจะอยู่ที่ใด ระหว่างสวรรค์วิมานที่อยู่อย่างสุขสภาพหรือความว่างเปล่า (นิพพาน) ไร้ซึ่งรูปลักษณ์และความทุกข์

นอกจากในส่วนของห้องนิทรรศการที่จัดแสดงอยู่ในส่วนของอาคารท้องพระโรงแล้ว ด้านหลังของอาคารยังมีทางเชื่อมต่อไปยังส่วนของตำหนักพรรณราย ที่นทีได้นำผลงานที่ผ่านมา ซึ่งเคยจัดแสดงในนิทรรศการต่างประเทศ อาทิเช่นผลงาน Your Past is My Future (2018), The Past is More than a Memory (2019) หรือผลงานชุด Church of Albers (2021) ที่จะทำให้ผู้ชมได้มองเห็นการเดินทางของนทีที่ได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาผลงานของตนในปัจจุบัน

สำหรับ นิทรรศการ Déjà vu: When the Sun Rises in the West โดยนที อุตฤทธิ์ นับว่าเป็นนิทรรศการแห่งปีที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการหยิบยกประเด็นทางประวัติศาสตร์ทั้งตะวันออกและตะวันตก เชื่อมโยงเข้ากับบริบทของพื้นที่จัดแสดงผลงาน นำเสนอผ่านผลงานหลากหลายรูปแบบ ซึ่งยังมีผลงานอีกมากที่บทความนี้ไม่ได้กล่าวถึง ดังนี้ผู้เขียนจึงมีความต้องการที่จะให้ผู้อ่านได้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์จากการรับชมผลงานศิลปะจากศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอีกคนหนึ่ง.

นิทรรศการ Déjà vu: When the Sun Rises in the West โดย นที อุตฤทธิ์
จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม – 7 พฤษภาคม 2565
วันจันทร์ถึงเสาร์ 9.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)

Photo courtesy of the Artist and The Art Centre, Silpakorn University