นิทรรศการ Bliss
โดย มิติ เรืองกฤตยา
จัดแสดงที่ The Art Centre, Silpakorn University
28 เมษายน – 8 กรกฏาคม 2023
นับว่าเป็นที่ถูกพูดถึงกันไม่น้อยกับการมาของ Midjourney เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถรังสรรค์ภาพเหนือจินตนาการขึ้นมาได้เพียงแค่มอบคำสั่งให้แก่ AI ด้วยการพิมพ์ข้อความของผู้ใช้ (Text-to-Image). Adobe Photoshop BETA กับฟังค์ชั่นที่สามารถป้อนคำสั่งให้ AI ปรับแต่งภาพตามความต้องการของผู้ใช้งาน ได้อย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งการสร้างบทสนทนาโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับ ChatGPT ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถอันหลากหลาย ที่ถูกใช้เป็นตัวช่วยในสืบค้นและเรียบเรียงข้อมูลต่างๆ แปรค่าออกมาเป็น ข้อความตัวอักษร และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหมู่นักสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นกระแสการสร้างงานศิลปะด้วยปัญญาประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลาย
ปรากฏการณ์นี้ ย่อมนำมาซึ่งความวิตกกังวลและความหวาดกลัวที่มีต่อความสามารถของเหล่าปัญญาประดิษฐ์ และถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบงานศิลปะร่วมสมัยโดยมิติ เรืองกฤตยา ในนิทรรศการ Bliss นิทรรศการที่เกิดจากความสนใจต่อพลวัตทางสังคมร่วมสมัย และการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในทุกมิติ

มิติ เรืองกฤตยา ศิลปินช่างภาพ ผู้สนใจการบันทึกปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านการถ่ายภาพทิวทัศน์ในมุมมองที่แปลกใหม่ โดยเลือกหยิบจับเอาความเป็นธรรมดาสามัญที่อยู่ในสภาพแวดล้อมรอบตัว สอดแทรกด้วยนัยของปัญหาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองขึ้นมานำเสนอ เช่น ภาพถ่ายน้ำท่วมกลางกรุงเทพฯ Imagining Flood (2011), ภาพถ่ายภายในสิ่งปลูกสร้างของโครงการอสังหาฯ DREAM PROPERTY (2016), ภาพถ่ายร้านสะดวกซื้อ A CONVENIENT SUNSET | A CONVENIENT HOLDUP (2019) หรือการนำเสนอผลงานในรูปของแบบของศิลปะร่วมสมัย ด้วยการนำระบบสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต (Search Engine) เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภาพถ่ายใน Thai Politics (2006-2014)
“ผมเริ่มถ่ายรูปในช่วงยุคของการเปลี่ยนผ่านที่คาบเกี่ยวระหว่างการใช้กล้องฟิล์มไปสู่กล้องดิจิตอล จนกระทั่งการมาถึงของอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนที่มาพร้อมกับกล้องถ่ายภาพ ซึ่งสามารถถ่ายและส่งต่อภาพเหล่านั้นให้กับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย จนกลายเป็นอะไรที่ประเดี๋ยวประด๋าว
“ผมสนใจในสิ่งที่ผู้คนมักมองข้าม สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัวของทุกคน เช่นที่ออกมาในชุด Thai Politics ซึ่งแสดงให้เห็นว่า งานศิลปะสำหรับผมนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นของขึ้นหิ้ง หรือ อยู่ในมิวเซียม ขณะที่รูป bliss เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นรูปที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นรูปที่ศิลปินภาพถ่าย(บางคน)มองว่า ‘นั่นไม่ใช่งานศิลปะ’”

โดย Bliss นั้น คือ ผลงานภาพถ่ายของ Charles O’Rear มีลักษณะเป็นเนินเขาเขียวขจีและท้องฟ้าปลอดโปร่งสลับกับปุยเมฆ ภาพดังกล่าวถูกบันทึกขณะที่ Charles กำลังขับรถเดินทางผ่านทุ่งองุ่นบริเวณหุบเขานาปา (Napa Valley) รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อไปพบกับภรรยาของเขาที่อยู่ต่างเมือง และถูกอัพโหลดเพื่อวางขายบนเว็บไซต์ ก่อนที่ในเวลาต่อมา บริษัท Microsoft จะซื้อลิขสิทธิ์ภาพถ่ายดังกล่าว และนำไปใช้เป็นภาพพื้นหลัง (wallpaper) ให้กับระบบปฏิบัติการ Windows XP แม้ในเวลาต่อมา บริษัท Microsoft จะยุติการสนันบสนุนระบบปฏิบัติการ Windows XP ในปี 2014 แต่ภาพถ่าย Bliss ก็ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในยุค 2000s มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในปีนั้นเอง ก็เป็นเวลาเดียวกับที่บริษัท Apple เปิดตัว iPhone 6 โทรศัพท์มือถือที่จะกลายเป็นที่นิยมแทนที่ผลิตภัณฑ์เจ้าตลาดในเวลาต่อมา
มิติได้หยิบเอาองค์ประกอบจากเรื่องราวข้างต้นมาใช้เป็นประเด็นให้กับผลงานศิลปะที่จัดแสดงภายในนิทรรศการ เริ่มต้นจาก BLISS 3D (2023) ผลงานที่ติดตั้งอยู่บริเวณชั้นสองของอาคารท้องพระโรง มีลักษณะเป็นโทรศัพท์มือถือรุ่น iPhone 6 บนหน้าจอแสดงภาพเคลื่อนไหวของโลโก้สามมิติ “Bliss” เช่นเดียวกับชื่อของนิทรรศการในครั้งนี้

ผลงานชิ้นที่สองถูกติดตั้งเอาไว้ด้านตรงข้ามกับผลงานชิ้นแรก โดยศิลปินเลือกที่จะหยิบรูปภาพจากเว็บไซต์ Librely of Congress มานำเสนอ ผลงานภาพถ่ายของศิลปินชาวอเมริกัน Walker Evans (1903-1975) Sharecropper’s grave in Hale County, Alabama (1936) แสดงภาพของหลุมศพในพื้นที่ชนบทของรัฐแอละแบมา (Alabama) ในช่วงที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression 1930s) ต่อมาภาพถ่ายใบนี้ ถูกส่งต่อให้แก่องค์กรของรัฐ Farm Security Administration หน่วยงานที่ทำงานด้านการต่อสู้กับปัญหาความยากจนในพื้นที่ชนบท และถูกตีพิมพ์เผยแพร่ลงบนนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม ก่อนที่ในเวลาต่อมา ภาพถ่ายของ Evans จะถูกรวบรวมเข้าสู่ระบบคลังสะสม (archive) ในฐานะหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์
ผลงานทั้งสองของมิติ จึงเป็นการเผชิญหน้าระหว่างตัวแทนของ สิ่งธรรมดาสามัญ กับ สิ่งที่ถูกจัดเก็บไว้ในระบบ ‘มิวเซียม’ (museum) ราวกับกำลังตั้งคำถามต่อสถานะของความเป็น “ศิลปะ” ที่มีการประเมินคุณค่าอย่างเป็นลำดับชั้น

ส่วนถัดไป มิตินำเสนอสภาวะลักลั่นที่เกิดจากการทับซ้อนระหว่างความจริง และ ความจริงเสมือน ในผลงานชิ้นที่สาม Sunset, Sunrise Ocerture (2023) ประกอบด้วยผลงานวิดีโอจำนวน 2 ชิ้น ฉายบนจอภาพขนาดใหญ่ที่ตั้งขนานไปกับโถงอาคารท้องพระโรง แสดงภาพพระอาทิตย์ในสองช่วงเวลา ท่ามกลางภูมิทัศน์ของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเป็นเพียงพื้นที่ราบกลางหุบเขา กลับได้รับการปรับสภาพให้กลายเป็นสถานที่อันหรูหรา วิดีโอที่ถ่ายบันทึกไว้ก็ได้รับการปรับแต่งให้ดูสวยงามเกินจริงจนไม่เหลือเค้าเดิม เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทั้งในเชิงกายภาพและดิจิทัล ซึ่งถูกเชื่อมต่อเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดตลอดความยาวทั้งหมดของผลงาน



ผลงานชิ้นต่อไป Variations of a Hill op.1 (2022) มีลักษณะเป็นภาพพิมพ์บนแผ่นโลหะที่วางเรียงต่อกันจำนวน 90 ชิ้น โดยภาพทั้งหมดมีฐานข้อมูลจากภาพถ่าย Bliss (1996) ที่ถูกป้อนคำสั่งแปลงข้อมูลจากภาพไปสู่ข้อความ (Image-to-Text) เพื่อใช้พรรณนาลักษณะของภาพต้นฉบับ ก่อนที่จะนำชุดข้อมูลเบื้องต้นป้อนให้กับแอพพลิเคชั่นเพื่อเปลี่ยนข้อความให้เป็นภาพ (Text-to-Image) ขั้นตอนทั้งสองถูกทำซ้ำดั่งการสนทนาโต้ตอบกันเองระหว่างปัญญาประดิษฐ์ แสดงให้เห็นพลังการสร้างสรรค์ของซอฟต์แวร์ที่ค่อยๆ พัฒนาลักษณะทางกายภาพของ Bliss ให้แตกต่างไปจากที่เราเคยรับรู้
นอกจากนี้ ผู้ชมยังสามารถได้ยินเสียงจาก Variations of a Hill op.2 (2023) Sound Installation Art เล็ดลอดเข้ามาภายในห้องนิทรรศการได้เป็นระยะ เสียงของชายผู้กำลังอ่านบทพรรณนา ซึ่งถูกเขียนโดยปัญญาประดิษฐ์จากผลงานชิ้นก่อนหน้ากว่า 90 ตอนนี้เกิดจากการที่มิติ ใช้เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียง (voice cloning) สร้างสำเนาเสียงของตนขึ้นมาใหม่ เพื่อสร้างความคลุมเครือให้กับผู้ชม ในการจำแนกความแตกต่างระหว่าง เสียงสังเคราะห์ และ เสียงที่แท้จริงของศิลปิน



ในส่วนต่อไปของนิทรรศการที่ตำหนักพรรณราย มิติผสมผสานการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยการใช้เทคโนโลยีร่วมกับกระบวนผลิตแบบอนาล็อก ประกอบไปด้วย ผลงานชุดแรก ได้แก่ BLISS 01_Landscape 01 (2022) และ BLISS 01_Landscape 10 (2022) ภาพถ่ายภูมิทัศน์ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นใหม่จากฝีมือมนุษย์ พร้อมกับกระบวนการดัดแปลงเพื่อให้ภาพดูสวยงามเกินจริงในระบบดิจิทัล ถูกนำเสนอด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ Giclée แสดงรายละเอียด ความคมชัดของต้นไม้ ใบหญ้าที่สวยงามท่ามกลางบรรยากาศภายในสนามกอล์ฟของรีสอร์ทแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครราชสีมา



มิติต่อยอดจากผลงานชุดก่อนหน้า ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาร่วมตีความภาพถ่ายดั้งเดิมของตน ผ่านการป้อนคำสั่ง ‘dream property’ อันมีที่มาจากแนวของผลงาน DREAM PROPERTY (2016) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของเมืองและภูมิทัศน์จากฝีมือมนุษย์ นำเสนอผ่านเทคนิคการพิมพ์แบบ silk-screen ที่แม้ว่าจะไม่สามารถให้ความงามหรือความคมชัดได้เท่ากับการพิมพ์แบบดิจิทัล แต่ก็ชวนให้เห็นสภาพความฟุ้งเฟ้อชวนฝันเล่นล้อไปกับวลี “บ้านในฝัน” ที่ได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดบริโภคนิยมแบบอเมริกันได้เป็นอย่างดี


มิติชวนให้ผู้ชมเกิดความตระหนักถึงความเชื่อมั่นที่มนุษย์ควรจะมีต่อปัญญาประดิษฐ์ ผ่านการสนทนาระหว่างโปรแกรม chatbot และศิลปิน ใน Footnote with a Chatbot (2022-23) บันทึกบทสนทนาที่ถูกบันทึกลงบนกระดาษ A4 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการถาม-ตอบเรื่องราวสัพเพเหระ ตั้งแต่ การให้ปัญญาประดิษฐ์นิยามความหมายของคำว่า ‘bliss’? ไปจนถึงการตั้งคำถามเชิงปรัชญาอย่าง ‘Michel Foucault จะมีความรู้สึกต่อเทคโนโลยีอย่างไร หากเขามีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน?’ หรือแม้กระทั่ง ขอร้องให้ปัญญาประดิษฐ์แต่งบทเพลงขึ้นใหม่ด้วยธีม Y2K ฯลฯ ทว่าภายในเนื้อหาของบทสนทนากลับเผยข้อผิดพลาดของข้อมูลหลายประการที่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังคงมิใช่สิ่งที่จะสามารถเข้ามาทดแทนมนุษย์ได้ในเร็ววัน



ในส่วนสุดท้ายของนิทรรศการ มิติพาผู้ชมกลับไปที่ชั้นล่างของอาคารท้องพระโรง ในการค้นหาผลลัพธ์ที่ยากจะคาดเดาของชุดภาพต่อเนื่องจำนวน 100 ใบ Variation of an Erosion op.1 (2022) การสนทนาโต้ตอบระหว่างปัญญาประดิษฐ์ ที่ใช้กระบวนการสร้างชุดภาพเช่นเดียวกับผลงาน Variations of a Hill op.1 (2022) ที่อยู่ชั้นบนของห้องนิทรรศการ ทว่ามิติเลือกที่จะนำเสนอผลงานโดยใช้กล้องถ่ายภาพประเภท Medium format บันทึกภาพที่ถูกสร้างสรรค์จากปัญญาประดิษฐ์ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยฟิล์มที่หมดอายุ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการล้าง-อัดภาพลงบนแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต (Dibond)


มิติแสดงให้เห็นความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ในการเข้าถึงข้อมูลภาพจำนวนมหาศาลจากหลากหลายแหล่งที่มา โดยมีจุดเริ่มต้นจากภาพถ่ายภูมิทัศน์ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ Erosion near Oxford, Mississippi (1936) ที่ค่อยๆ แปรสภาพสู่ลายทางขาว-ดำ ผู้หญิงผิวสี ไปจนถึงภาพนามธรรมไร้เรื่องราว ซึ่งได้ทลายข้อจำกัดของจินตนาการ ศีลธรรม กฎหมาย ความเป็นส่วนตัว หรือ ระบบการคัดสรรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ไปอย่างกู่ไม่กลับและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง ณ ที่แห่งใด ราวกับสาส์นส่งท้ายที่มิติ ต้องการจะย้ำเตือนให้ผู้ชมเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต


“ผมก็คงไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามามีบทบาทต่อสังคมของมนุษย์เรามากขึ้น ยิ่งอะไรๆ ที่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ มันเปลี่ยนไปเร็วมาก อย่างสิ่งที่เป็นกระแสในช่วงปีที่ผ่านมา มันก็คล้ายจะเป็นอะไรที่ประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อหันกลับไปดูที่ปรากฏการณ์ของ NFT ซึ่งบางคนก็มองว่าเป็นของติ๊งต๊องที่คนสะสมและตอนนี้ก็เงียบหายไป
“แต่กับ Ai มันคือสิ่งที่สามารถสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนได้จริงๆ ผมจึงอยากจะบันทึกช่วงเวลาตรงนี้ไว้ เพราะอย่างน้อยในอีกห้าหรือสิบปี ผลงานชุดนี้ก็จะได้อยู่ร่วมกับเหตุการณ์อื่นๆ ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์” มิติกล่าวทิ้งท้าย

