ผลสัมฤทธิ์ทางศิลปะย่อมเกิดจากการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่เรียกตนเองว่านักสร้างสรรค์ย่อมไม่ควรหยุดที่จะสร้างสรรค์ เพื่อตอบสนองความคิดให้กับตนเอง เพื่อค้นหาองค์ความรู้ เพื่อค้นหาประเด็นที่ตนสนใจ ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์เพื่อไปพบกับปัญหาใหม่ๆ และบอกต่อให้กับสังคม

เพื่อค้นหาผลสัมฤทธิ์ทางจิตรกรรม ที่ประกอบสร้างขึ้นมาด้วยความสนใจและสะท้อนตัวตนของศิลปินในระดับปัจเจกในนิทรรศการ Behind Black Eyes ที่จะพาเราไปสำรวจโลกหลังม่านตาของนักสร้างสรรค์ศิลปะทั้ง 6 ผู้ที่เป็นทั้งอาจารย์และศิลปินในเวลาเดียวกัน โลกที่พวกเขามองเห็นนั้นเป็นอย่างไร ? พวกเขาต้องการจะสื่อสารอะไรให้กับผู้ชม ผ่านผลงานศิลปะของพวกเขา

ขี้สีบนจิตรกรรมคนเหมือน

เมื่อ “ภาพ” มีหน้าที่เพียงแค่บอกความรู้สึก เมื่อ “เนื้อหา” มิใช่เป้าหมายหลักในการบอกเล่าประเด็นทั้งหมด หากดูแบบผิวเผิน จิตรกรรมของ วราวุฒิ โตอุรวงศ์ นั้น มีความเรียบง่ายทางองค์ประกอบและทางทัศนธาตุ สามารถส่งสารให้กับผู้คนได้โดยกระชับ แสดงความเป็นจิตรกรรมได้อย่างชัดเจน จิตรกรรมคนเหมือนที่สร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์แบบตามหลักสรีระ สอดแทรกสัญญะความเป็นวัตถุนิยมที่ถูกนำเสนอผ่านข้าวของเครื่องใช้บอกเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกระแสสังคม ผลงานที่มีคุณสมบัติของจิตรกรรมที่สมบูรณ์นี้กลับมีอะไรที่น่าพูดถึงมากกว่านั้น

“เพราะทุกการกระทำของมนุษย์คือการสร้างบางสิ่งและทิ้งบางอย่างไว้เสมอ”

วราวุฒิ โตอุรวงศ์

วราวุฒิได้ตระหนักว่ากระบวนการผลิตผลงานศิลปะคือสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยการผลาญทรัพยากรต่างๆ และเพื่อไม่ให้ทุกสิ่งต้องถูกใช้ไปอย่างสูญเปล่า แนวคิดของการ reuse จึงถูกนำเข้ามาใช้ในกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะของตน โดยการนำสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตผลงานศิลปะมาชุบชีวิตใหม่ ขี้สีหรือน้ำยาล้างพู่กันที่ควรจะถูกนำไปทิ้ง ถูกปาดป้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่เรียบง่ายอย่างแนบเนียน เป็นผลลัพธ์จากวิสัยทัศน์ที่ได้ทบทวนประสบการณ์ต่างๆ ตลอดช่วงชีวิตการเป็นศิลปิน

นอกเหนือสูตรสำเร็จของการหยิบยกเรื่องส่วนตัวที่ถูกเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม ให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามและตีความผลงานได้อย่างอิสระ การที่เราได้ตระหนักและสำรวจการกระทำหรือสิ่งเล็กๆ ที่พวกเขามองข้ามไป อาจเป็นความต้องการที่แท้จริงที่วราวุฒิต้องการจะสื่อสารกับผู้ชมก็เป็นได้

วราวุฒิ โตอุรวงศ์

จิตใต้สำนึกที่ตกผลึก

บ่อยครั้งที่การทำงานศิลปะได้ปลดปล่อยสัญชาตญานดิบของมนุษย์ แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของจิตใต้สำนึกที่ปรากฏออกมาผ่านการกระทำโดยไม่อาจรู้ตัว สู่การพยายามทำความเข้าใจกับชีวิต ค้นหาตัวตนบางอย่างที่อยู่ในใจของ นาวิน เบียดกลาง

ผลงานของนาวินได้เปิดเผยพื้นผิวของผ้าใบที่ถูกขูดขีดด้วยเส้นดินสอและการเลือกใช้สีที่ดุดันรุนแรง ทีแปรงที่เกรี้ยวกราด แปรค่าสิ่งต่างๆ เข้ากับสัญชาตญานจากการขีดเขียนอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าพร้อมกับการปล่อยให้จิตใจได้พินิจพิเคราะห์ประสบการณ์ต่างๆ ที่ตนพบเจอมาในอดีต ประกอบกับสถานการณ์ของสังคมปัจจุบันที่ต้องใช้ชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นและความตาย จนเกิดเป็นการตกผลึกทางความคิดที่ถูกนำเสนอผ่านกระบวนการระหว่างการสร้างสรรค์

Behind Black Eyes No. 2 คือสิ่งแทนของตัวตนเหล่านั้น ภาพพอร์เทรตสีน้ำมันขนาดใหญ่ซึ่งมีต้นแบบมาจากใบหน้าของศิลปิน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน แสดงให้เห็นถึงการกลายสภาพจากตัวตนหนึ่งไปสู่อีกตัวตนหนึ่ง ด้วยการผสมผสานอวัยวะของมนุษย์เข้ากับคมเขี้ยวที่แหลมคมและดวงตาที่ส่องแสงประกายของสัตว์เดรัจฉานให้ผิดแปลกไปจากสิ่งที่มนุษย์ควรจะเป็น

การยืนอยู่เบื้องหน้าและถูกจ้องมองมาโดยนัยย์ตาเหล่านั้น เหมือนกำลังถูกสำรวจความเป็นมนุษย์ในตัวของเรา หรือเพื่อที่จะบอกเป็นนัยว่าแท้จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์โดยเนื้อในนั้นไม่ได้แปลกแยกจากสัตว์เดรัจฉานเท่าใดนัก

ผลงานของนาวิน เบียดกลาง

ชีวิตและความหวัง

“แสง” บนงานจิตรกรรมคือหนึ่งในองค์ประกอบทางทัศนะธาตุที่ทรงอิทธิพลทางความรู้สึกต่อผู้คนได้ในหลากมิติ โดยเฉพาะกับ ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร ศิลปินที่มีความหลงใหลในความงามของสีสันจากแสงไฟนีออน สร้างสรรค์เป็นผลงานจิตรกรรมสีสันสดใสถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกอันน่าอภิรมย์ของชีวิตยามค่ำคืน

แต่ในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดยังคงไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ความมีชีวิตชีวาภายในเมืองหลวงได้ถูกพรากไปจากชีวิตของผู้คน การแสวงหาความหวังภายใต้ภาวะวิกฤตจึงเป็นสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจของตนได้

สู่การออกเดินทางครั้งใหม่บนโลกในอุดมคติ การเดินทางของดอกทานตะวัน (Journey of Sun flower) ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยเทคนิคทางจิตรกรรมที่ขับเน้นอารมณ์ความรู้สึก สีสันและฝีแปรงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ท่ามกลางมรสุมและลมกระโชกของโลกที่หม่นหมอง แห้งเหี่ยว เหล่าผู้โดยสารและสิ่งมีชีวิตตัวน้อยเดินทางไปข้างหน้าบนเรือไม้ที่กำลังผุพัง โดยหวังว่าซักวันหนึ่งจะได้พบกับแสงสว่างของฟ้าวันใหม่และจุดหมายที่ปลายขอบฟ้า เปรียบเปรยถึงการคงไว้ซึ่งความหวังเพื่อฟันผ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในชีวิต

หากเปรียบเปรยชีวิตเท่ากับการเดินทางให้ถึงฝั่งฝัน การเผชิญกับภัยมรสุมหรือวิกฤตการณ์ของชีวิต จึงมีคุณค่าเท่ากับบททดสอบและมอบประสบการณ์ให้แก่ชีวิตโดยตรง และถึงแม้ว่าโลกใบนี้จะดูโหดร้ายเพียงใด เราก็มักจะมองเห็นแสงแห่งความหวังบนเส้นขอบฟ้าในผลงานที่ฑีฆวุฒิสร้างไว้มอบให้แก่ผู้ชมเสมอ

ทีฆวุฒิ บุญวิจิตร

มนุษย์ ฟันเฟือง ทุนนิยม

นอกเหนือการจำกัดความที่เกินกว่าศิลปะ “นามธรรม” ของ ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ ศิลปินที่ใช้กระบวนการเคลื่อนไหวของร่างกายค้นหาความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด บนระนาบ 2 มิติที่การวาดเส้นตรงที่ถูกลากขึ้นมาซ้ำๆอย่างเป็นระเบียบ เรียบง่าย สม่ำเสมอจากน้ำหมึกปลายปากกา กลายเป็นภาพที่ไม่ต่างจากการทำงานของเครื่องจักร เนื้อหาสาระกลับไม่ได้อยู่ที่ภาพของเส้นที่ถูกลากอยู่บนเฟรมผ้าใบ หากแต่เป็นประเด็นการวิพากษ์สังคมในปัจจุบันที่ผู้ชมอย่างเราอาจไม่เคยตระหนักถึง

16 Hours ผลงานดังกล่าวมีที่มาจากการเล่นล้อกับระยะเวลา 8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาการทำงานของแรงงานไทยในหนึ่งวัน ศิลปินได้นำพาตัวเองเข้าไปสู่กระบวนการวนลูปหรือการทำซ้ำผ่านท่าทีของการวาดเส้นอย่างต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นของเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งสุดขอบผืนผ้าใบ เพื่อให้ได้มาซึ่งเส้นตรงที่สม่ำเสมอกลับต้องแลกมาด้วยร่างกายที่ต้องแบกรับภาระอย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลาของการทำงานที่ต่อเนื่อง ไม่ต่างไปจากเครื่องจักรที่ทำงานอย่างไม่มีวันหยุดพัก กลายเป็นเครื่องจักรมนุษย์ที่ต้องผลิตงานหมุนเวียนเพื่อหล่อเลี้ยงวังวนของโลกทุนนิยมต่อไป

ตัวผลงานจึงเป็นร่องรอยของคนทำงาน เส้นที่ปรากฏถูกใช้เป็นเพียงไวยากรณ์ มีเพียงการตั้งคำถามกับคนทำงานและพฤติกรรมที่มนุษย์ต่างกลายเป็นฟันเฟืองของเครื่องจักรอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม กลับเป็นสาระสำคัญที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ให้ผู้ชมได้กลับไปตั้งคำถามและสำรวจตนเองว่าในทุกวันนี้ ความเป็นมนุษย์ของเราได้ถูกหล่อหลอมให้กลายเป็นสิ่งใดแล้วในโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยระบบทุนนิยม

ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์

การเรียนรู้อดีต เพื่อก้าวข้ามบางอย่าง

Found Documents กล่าวถึงการย้อนกลับไปทำความเข้าใจต่อความซับซ้อนทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลากว่า 9 ทศวรรษ ผลงานวีดิโออาร์ตจำนวน 3 ชิ้น โดย วิชญ มุกดามณี นำเสนอผ่านการอ่านแถลงการณ์จากเอกสารในอดีตที่จะชวนให้นึกถึงเหตุการณ์บนโทรทัศน์เมื่อวันวาน ที่ประเทศจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งและอีกครั้ง

In the Town of Silence วิดีโออาร์ตสีแดงซึ่งเปิดเผยบันทึกลับของบทสนทนาระหว่างรัชกาลที่ 7 และเหล่าคณะราษฎร หลักฐานชิ้นสำคัญของการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นดังช่วงเวลาของความน่าสงสัยต่อความเป็นไปของประเทศ ถูกเชื่อมโยงเข้ากับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและบรรยากาศของความเงียบงันบนท้องถนนในปัจจุบัน

ถัดมาในผลงาน Negotiation of 2475: 2540: 2560 วิดีโออาร์ตสีขาวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 3 ฉบับ กล่าวถึงการหยิบยกเอาเนื้อหาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน รัฐ และพลเมือง ซึ่งถูกทำให้เปิดเผยและปิดซ่อนเนื้อหาบางอย่างไว้โดยศิลปินมานำเสนอ เพื่อให้ผู้ชมได้วิเคราะห์พัฒนาการของสิ่งที่เราเชื่อว่านี่คือกฎหมายสูงสุดของประเทศ

และวิดีโออาร์ตชิ้นที่ 3 รัฐประหารสีน้ำเงิน Negotiation of 2534: 2549: 2557 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ศิลปินได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึง 3 ครั้ง นำไปสู่การสืบค้นแถลงการณ์ของผู้ทำรัฐประหาร ที่ถูกเผยแพร่และสามารถหาได้บนโลกอินเตอร์เน็ต จนได้ตระหนักถึงเหตุและผลที่ถูกนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำแล้ว ติดอยู่ในวังวนที่พร้อมจะถูกรีเซ็ตเพื่อเริ่มต้นใหม่ได้ทุกเมื่อ
ผลงานของ วิชญ มุกดามณี จึงมิใช่เพียงแค่การกลับไป “อ่าน” เพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจด้วยตนเองเท่านั้น แต่ผลงานชิ้นดังกล่าวยังได้ทิ้งคำถามสำคัญต่อผู้ชมว่า ในปัจจุบันเราได้ก้าวข้ามจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจากในอดีตมาได้เพียงใด หรือการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ได้สอนให้เราเรียนรู้สิ่งใดเลย?

วิชญ มุกดามณี

ความเป็นมาตรฐานที่ไม่สมบูรณ์

คุณธรรม คือ หลักการที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อกำกับมาตรฐานของความดี และเมื่อการกระทำของผู้มีอำนาจรัฐที่ปรากฏบนหน้าสื่อขัดกับหลักการของคุณธรรมที่มนุษย์พึงมี สิ่งเหล่านี้สร้างเครื่องหมายคำถามในมาตรฐานทางคุณธรรมภายในใจ นำไปสู่ความต้องการที่จะแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เป็นจิตรกรรมที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคมเพื่อบอกเล่าความอัดอั้นตันใจของ อานนท์ เลิศพูลผล

แรงบันดาลใจข้างต้นถูกผนวกเข้ากับภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย เหมือนต้องการจะสื่อว่าสิ่งเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำรอยอยู่เสมอ ความหดหู่ที่พบเห็นผู้คนล้มตายด้วยโรคระบาดส่วนหนึ่งก็ด้วยความล้มเหลวในการบริหารจัดการของรัฐตามทัศนะของศิลปิน พื้นผิวของผ้าใบแสดงให้เห็นเค้าโครงการร่างรูปด้วยดินสอสลับกับการป้ายสีน้ำมันจนหนาเตอะ กระบวนการเหล่านี้ถูกเปิดเผยอย่างหมดเปลือก เพื่อให้ผู้ชมได้ตั้งคำถามกับความสมบรูณ์ของชิ้นงานที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า

ความสมบูรณ์แบบตามกระบวนการทางจิตรกรรมถูกเชื่อมโยงเข้ากับความสมบูรณ์ของมาตราฐานของคุณธรรม เป็นการส่งสารให้แก่ผู้คนได้ตระหนักถึงกรอบของความเป็นมาตรฐานในสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อแสดงความไม่สมบรูณ์แบบที่ถูกกาลเวลาของยุคสมัยทำให้เคลื่อนไปข้างหน้าอยู่เสมอ

ผลงานของอานนท์ เลิศพูลผล

การใช้อิสรภาพสร้างทฤษฎีเสรีภาพ

จาก The Opera of Metafiction ผลงานที่ผ่านมาของ ธณฤษภ์ ทิพย์วารี ได้ทำการวิพากษ์ทฤษฎีบนตำราศิลปะซึ่งเปรียบเหมือนคำสั่ง เป็นคำชี้แนะให้ผู้อ่านอาจเผลอคิดไปว่า บรรทัดฐานความถูกต้องทั้งหมดของศิลปะทั้งมวลล้วนถูกคัดสรรมาให้แล้วบนตำราศิลปะเหล่านั้น สู่การพัฒนาการแนวความคิด (concept) ไปสู่ผลงานชิ้นใหม่ในชื่อ Aesthetics of Metafiction ซึ่งขยายขอบเขตการวิพากษ์ออกไปให้นอกเหนือไปจากตำราที่มีอยู่เดิม

ผลงานของธณฤษภ์เรียกได้ว่าเป็นผลงานจิตรกรรม abstract ที่สร้างขึ้นจากจิตรกรรม realistic เกิดจากการหยิบยืมภาพต้นแบบจากผลงานต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะเรื่อยมาจนถึงภาพต้นแบบบนโลกอินเทอร์เน็ต มาจัดวางให้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันบนผืนผ้าใบ ให้เกิดการสื่อสารเป็นภาษาใหม่ทางจิตรกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สามารถสร้างสรรค์ความหมายและเรื่องราว (content) ได้อย่างไม่รู้จบ ไม่มีขอบ เป็นอิสระ โดยไม่ถูกกำจัดการรับรู้อีกต่อไป

“ทุกวันนี้องค์ความรู้หรือทฤษฎีต่างๆ ถูกสะสมสืบต่อเรื่อยมาตั้งแต่ในอดีตจนกลายเป็นกำแพง แล้วจะเป็นอย่างไรหากเราเสพติดการศึกษาที่มากจนถูกครอบงำให้อยู่ใต้อำนาจของมัน จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์สูญเสียอิสรภาพทางความคิดจากการที่ยึดติดในทฤษฎีปฏิบัติมากจนเกินไป?”

ธณฤษภ์ ทิพย์วารี

ทั้งนี้เรื่องราวทั้งหมดคือสิ่งที่เรา ผู้ชมมองเห็นภาพที่ศิลปินเล่ามาได้ไม่แตกต่างกัน แต่ความหมายของภาพคือสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงสำคัญบุคคลนั้นๆ ต้องอาศัยการอ่านและตีความ อาจจะได้ความหมายที่แตกต่างหรือตรงกันกับสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ รสนิยม หรือวุฒิภาวะทางศิลปะ

“การเป็นอาจารย์ หรือเป็นนักสร้างสรรค์ เราทำงานศิลปะเพื่อกระตุ้นผู้อื่นในฐานะของการประกอบวิชาชีพ เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือเพื่อตรวจสอบทฤษฏีที่ใช้สอน ว่าจะสามารถผลักดันนักศึกษาให้ไปข้างหน้าได้มากน้อยแค่ไหน เราได้ท้าทายในสิ่งเหล่านั้น ในฐานะอาจารย์ ศิลปิน หรือบุคคลคนหนึ่ง ที่ไม่ได้ยึดโยงในทฤษฎีอะไร คุณไม่ต้องเชื่อแบบผมไปทั้งหมด ต้องเชื่อในอีกแบบหนึ่ง คิดต้านได้ คิดต่อได้ แต่ควรจะแสดงให้เห็นว่าในสถานะทั้ง 3 แบบ ในฐานะอาจารย์ ศิลปิน และมนุษย์ที่มีครอบครัว ว่าเราจะดำรงอยู่อย่างไร ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญ”

ธณฤษภ์ ทิพย์วารี
ธณฤษภ์ ทิพย์วารี

นิทรรศการ BEHIND BLACK EYES จัดแสดงที่ Number1gallery
ถึงวันที่ 29 January 2022
บทความและภาพถ่าย โดย ณัฐกมล ใจสา