ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0 นิทรรศการที่บอกเล่าความเป็นไปของความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายของผู้คนโดย วินัย ดิษฐจร ศิลปิน/ช่างภาพอิสระ ผู้บันทึกเหตุการณ์การชุมนุมรอบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา

‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ เป็นสิ่งก่อสร้างของคณะราษฎรในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนระหว่างถนนราชดำเนินและถนนดินสอ เป็นผลงานการออกแบบของหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล และควบคุมการก่อสร้างโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2482 หลังจาก 7 ปีให้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

จนมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483 และได้ถูกกำหนดให้เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของประเทศไทย ดังคำกล่าว

“อนุสาวรีย์นี้จะเป็นศุนย์กลางแห่งความเจริญทั้งมวล เป็นต้นว่าถนนสายต่างๆ ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองก็นับต้นจากอนุสาวรีย์นี้ ถนนราชดำเนินซึ่งเป็นแนวของอนุสาวรีย์ ก็กำลังสร้างอาคารให้สง่างามเป็นที่เชิดชูเกียรติของประเทศไทย”

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในเวลาต่อมา พื้นที่แห่งนี้ได้กลายมาเป็นฉากหลังของการชุมนุมครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยบรรดานักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 และทั้ง 2 เหตุการณ์นี้เองได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับวินัย เริ่มที่จะทำการถ่ายภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อเกิดการชุมนุมบริเวณรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

จนกระทั่งหลังการรัฐประหาร 2549 ที่คำว่า “ประชาธิปไตย” ถูกผู้คนกลับมาพูดถึงกันมากขึ้น ในการชุมนุมของเหล่ากลุ่มคนที่หลากหลาย ตั้งแต่ กลุ่มคนเสื้อเหลือง พันมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่มคนเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ, กลุ่ม กปปส. คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบรูณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ

การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551-2557 นำไปสู่การถกเถียงถึงความหมายของประชาธิปไตยที่แตกต่างกันตามการตีความของแต่ละฝ่าย เป็นการกล่าวอ้างถึงความชอบธรรมที่จะดำเนินกิจกรรมตามจุดประสงค์ของผู้คนเหล่านั้นภายใต้กรอบของคำว่า “ประชาธิปไตย”

จนกระทั่งปีพ.ศ. 2563-2564 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกลับมามีบทบาทอีกครั้งในการเป็นพื้นที่ในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่อย่าง คณะราษฎร 2563, กิจกรรมม็อบเฟส Mob Fest ศิลปะและดนตรี หรือแม้กระทั่งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่าง LGBTQ+

กานชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ช่วงปี พ.ศ. 2563–2565

นับเป็นช่วงเวลากว่า 15 ปีที่กิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายเกิดขึ้นและดำเนินอยู่ภายใต้กรอบของสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” บางเหตุการณ์ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของผู้คน บางเหตุการณ์เกิดขึ้นและส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน เหลือไว้เพียงภาพถ่ายที่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานของสิ่งที่เคยเกิดขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ การใช้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเป็นฉากหลังของการทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่วินัยต้องการจะนำเสนอในนิทรรศการครั้งนี้นั้นทำให้เห็นว่า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คือ พื้นที่ของการแสดงออกถึงความหลากหลายของผู้คนอย่างแท้จริง แสดงถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และประชาชนตามบริบททางการเมืองและความเลื่อนไหลของกาลเวลา เป็นพื้นที่สำหรับให้ผู้คนมากหน้าหลายตาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ไปตามอุดมการณ์ของพวกเขา

นำไปสู่การตั้งคำถามต่อสังคมในปัจจุบัน ที่ประกอบสร้างจากความหลากหลายร่วมกันของผู้คน ซึ่งติดอยู่ในวงเวียนของทางราษฎร์ที่ช่วงชิงอำนาจและความชอบธรรมในการตีความให้กับคำว่า “ประชาธิปไตย” นี้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อประชาธิปไตยที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ไม่เป็นเหมือนเดิม?

วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ ผู้บริหาร VS Gallery

นิทรรศการ ทางราษฎร์กิโลเมตรที่ 0
จัดแสดงที่ VS Gallery
ถึงวันที่ 27 / 3 / 2022